ความโด่งดังของทีม “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต” ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกการแข่งขันเกม RoV ในรายการ Arena of Valor International Championship หรือ AIC 2021 พร้อมกวาดเงินรางวัลสูงถึง 13 ล้านบาทมาครอง ได้สร้างกระแสให้คนจำนวนมากหันมาสนใจวงการอีสปอร์ตมากขึ้น
ทีมงาน Main Stand จึงไม่รอช้าที่จะนัดพบเพื่อพูดคุยกับสมาชิกในทีมถึงเส้นทางแห่งความสำเร็จที่กว่าจะได้มาครอบครองในวันนี้ โดยเราได้นัดพบกันในวันสบายๆ หลังจากที่พวกเขาเพิ่งคว้าแชมป์มาหมาดๆ
ถึงแม้สมาชิกบางรายจะติดภารกิจส่วนตัว ไม่สามารถเดินทางมาร่วมพูดคุยด้วยได้ แต่ยังมีผู้เล่นหลักอย่าง “เนส” สรรเพชร มารัตน์ หรือที่มีชื่อในเกมว่า “F1” กัปตันทีม พร้อมด้วย “นุ” อนุรักษ์ แสงจันทร์ (NuNu) เจ้าของตำแหน่ง MVP ในนัดชิงชนะเลิศ และ “ปอนด์” สุริยา ประทาพันธ์ (Munez) อดีตโปรเพลเยอร์ที่ก้าวขึ้นมารับหน้าที่โค้ชของทีม มาร่วมบอกเล่าถึงความสำเร็จในครั้งนี้
จากเด็กร้านเกมสู่โปรเพลเยอร์
“ผมโดนแม่ตามไปตีที่ร้านเกมเป็นประจำ” ทั้ง 3 คนกล่าวพร้อมกันด้วยเสียงหัวเราะอย่างครื้นเครง เมื่อย้อนถึงสมัยก่อนที่พวกเขาจะก้าวเข้าสู่วงการอีสปอร์ต
“เนส” จากนครราชสีมา “นุ” จากปทุมธานี และ “ปอนด์” จากอุดรธานี ถึงแม้พื้นเพแต่ละคนจะอยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร แต่ประสบการณ์ในวัยเด็กที่พวกเขาและเด็กอีกหลายคนมีเหมือนกันก็คือ การโดดเรียนไปร้านเกม
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ยุคสมัยที่เกมคอมพิวเตอร์กำลังเฟื่องฟูและได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เด็กไทย มีร้านเกมมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หลายคนเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้กันมาแล้ว บางคนอาจจะไปเล่นในช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกเรียน แต่บางคนเลือกที่จะโดดเรียนไปหมกตัวขลุกอยู่ที่ร้านเป็นวันๆเช่นเดียวกับ 3 คนนี้
“ผมชอบเล่นเกมอยู่แล้ว เมื่อก่อนก็จะไปเล่นที่ร้านคอมฯ อยู่ในร้านอย่างเดียวทั้งวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้ายันทุ่มนึง ส่วนมากจะเป็นเกมที่เล่นกันภายในร้านมากกว่า ส่วนเกมออนไลน์ก็เล่นไปวันๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ชอบเกมไหนก็เล่น พวก Warcraft, DotA, Point Blank, Special Force อาจจะมีแข่งบ้าง แต่เงินรางวัลก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่” ปอนด์ หนุ่มมาดขรึมวัย 25 ปี เริ่มเล่าเป็นคนแรก
“เนส” กัปตันทีมวัย 27 ปี เสริมต่อทันทีว่าตอนนั้นตัวเขาเองก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่เล่นสนุกไปวันๆ ได้อยู่กับเพื่อน ถึงจะมีจัดแข่งขันบ้างแต่เงินรางวัลก็ไม่ได้เยอะมากมาย หารกันในทีมแล้วเหลือคนละไม่กี่พันบาท นอกจากนี้ ยังมีการขายของ-ขายไอเทมในเกม ซึ่งสามารถหาเงินให้กับตัวเองได้อีกทาง
แน่นอนว่าการโดดเรียนไปเล่นเกมไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และพวกเขาเองก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็กจึงไม่ได้ตระหนักถึงผลดีหรือผลเสียที่จะตามมา ขอแค่เพียงสนุกสนานกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้นก็พอ ซึ่งในยุคสมัยนั้นการเล่นเกมแทบจะไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์ในสายตาผู้ปกครองและไม่มีพ่อแม่คนไหนให้การสนับสนุน
“ตอนนั้นพ่อแม่ยังไม่ค่อยเปิดใจ เพราะมันเล่นไปมีแต่เสียกับเสีย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย การเรียนเสียอีกต่างหาก โดนไปตามที่ร้านเกมบ้าง ห้ามเล่นเกมบ้าง โดนเอาก้านมะยมรูดใบออกมาฟาด โดนลากกลับบ้านก็มี”
“แต่การเล่นเกมตอนนั้นมันหาเงินได้ ผมเลยเริ่มจริงจังตั้งแต่รู้วิธี เริ่มศึกษาและจริงจังไปทีละเกมว่าเกมไหนหาเงินได้บ้าง พอถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ตอนนั้น RoV มีจัดแข่งขันลีกอาชีพเป็นครั้งแรก มีทีมที่จ้างนักเล่นเกมมาเล่น ตอนนั้นมีฐานเงินเดือน 5 หมื่นแล้ว ซึ่งถือว่าเยอะมาก ทุกคนก็เลยอยากเข้าไป ผมเลยจริงจังมากขึ้น” ปอนด์ เผย
สำหรับเกม RoV หรือที่ในหลายประเทศใช้ชื่อว่า Arena of Valor ถือเป็นเกมมือถือยอดฮิตที่เข้ามาตีตลาดในเมืองไทยช่วงปี 2017 โดยรูปแบบการเล่นเป็นแนวเกม MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) หรือเกมวางแผนแบบเรียลไทม์ ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนจะควบคุมตัวละครของตัวเองที่มีความสามารถแตกต่างกันไป แข่งขันกันแบบ 5 ต่อ 5 และต้องใช้กลยุทธ์และการวางแผนต่างๆเพื่อช่วยกันทำลายฐานศัตรู ทีมไหนทำลายฐานหลักของอีกฝ่ายได้ก่อนก็จะเป็นผู้ชนะ
จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ RoV ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬาอีสปอร์ตของเมืองไทย พร้อมได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีการจัดตั้งลีกอาชีพเพื่อแข่งขันในชื่อ “RoV Pro League” ซึ่งนักกีฬาที่ลงแข่งขันทุกคนจะมีทีมสปอนเซอร์สนับสนุนและได้รับเงินเดือนคนละ 5 หมื่นบาท ตลอดจนเงินรางวัลสำหรับแชมป์ที่สูงถึง 5 ล้านบาท (ปัจจุบัน 10 ล้านบาท)
เงิน 5 หมื่นบาทต่อเดือนกับการเล่นเกมอย่างเดียวช่างเป็นสิ่งที่หวานหอมยิ่งนัก ทำให้เด็กหนุ่มทั้ง 3 คนที่เล่นเกมไปวันๆ ตัดสินใจที่จะเอาจริงเอาจังในด้านนี้
“ผมเป็นคนที่บ้านไม่ค่อยมีเงิน ก็เลยต้องมองหารายได้ ผมคิดว่าทางนี้มันหาเงินให้ผมได้เยอะกว่าถ้าผมไปทำงานอย่างอื่นที่ผมไม่ถนัด ผมเลยมองว่าทางนี้แหละที่จะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนได้ จริงๆก็แข่งมาหลายเกม แต่พอเป็น RoV มันมีเงินรางวัลที่เยอะและมีเงินเดือนที่สูงกว่าเกมอื่นเลยตัดสินใจเล่นเกมนี้” เนส เผย
“ปอนด์” กล่าวเสริมในทำนองเดียวกัน หลังจากที่โชว์ฝีมือโดดเด่นจนถูกทาบทามจนมีต้นสังกัดลงเล่น พร้อมรับเงินเดือนก้อนแรกตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย “ผมบอกกับที่บ้านว่าผมหาเงินเองได้แล้วนะ ไม่ต้องให้เงินแล้วนะ พอพิสูจน์ให้เขาเห็นได้เขาก็จะปล่อยเรา ซึ่งผมกับที่บ้านมองเหมือนกันว่าการเล่นเกมมันไม่ใช่ในระยะยาวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันกอบโกยได้ก็อยากจะกอบโกยไว้ก่อน ขอทำตรงนี้ก่อน”
ขณะที่ “นุ” หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ถึงแม้จะไม่มีประสบการณ์การเล่นเกมที่โชกโชนเท่ารุ่นพี่ทั้งสองคน แต่ด้วยความที่เขาเติบโตขึ้นมาในยุคที่เกมมือถือกำลังรุ่งเรือง ประกอบกับทางครอบครัวมีความเข้าใจและเปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่ชอบ ทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำผลงานได้ดีระดับแถวหน้าของวงการ จนได้เป็นโปรเพลเยอร์ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปีเท่านั้น
ทั้ง 3 คนต่างเริ่มเดินบนเส้นทางอีสปอร์ตของตัวเอง บางคนประสบความสำเร็จ บางคนมีหกล้มคลุกคลานบ้าง แต่ก็ยังคงเล่นเกมที่ตัวเองชื่นชอบต่อไป จนกระทั่งในปี 2021 พวกเขาและเพื่อนร่วมทีมอีก 4 ราย คือ “โอม” พฤทธิ์ พรรัตนพิทักษ์ (Difoxn), “ลี่” สถิตธิราชย์ เชษนรงค์ (Overfly), “ท็อป” ภาคินัย ศรีวิจารณ์ (Kssa) และ “เทป” เมธัส มีชม (NT) ได้โคจรมาร่วมทีมพร้อมหน้ากันเป็นครั้งแรกภายใต้สีเสื้อ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต”
เล่นเกมจนเบื่อ
หากคุณทำอะไรแบบเดิมซ้ำๆติดต่อกันทุกวันก็อาจจะมีอาการเบื่อเกิดขึ้น ต่อให้จะเป็นสิ่งที่ชื่นชอบก็ตาม.. พวกเขาก็เช่นกัน
การก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต หมายถึงการที่ต้องฝึกฝนการเล่นเกมอย่างหนักตลอดทุกวัน จากเดิมที่เล่นเพียงเพื่อความสนุก เปลี่ยนเป็นการเล่นเพื่อหาเลี้ยงชีพที่ต้องเอาจริงเอาจริง มีการวางแผนตารางชีวิตที่เป็นระเบียบ มีวินัยในการซ้อม การนอน การตื่น เพื่อแลกกับค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้นตามระดับฝีมือ โดยผู้เล่นระดับท็อปบางรายมีเงินเดือนสูงถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว
สำหรับนักกีฬาของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต ต้องไปเก็บตัวอยู่ในแคมป์ที่สโมสรจัดหาไว้ให้ พร้อมมีรูทีนชีวิตที่ชัดเจน ตื่นนอนประมาณเที่ยง อาบน้ำกินข้าวทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ ต้องลงมาเล่นโหมดเก็บ Rank หรือการเก็บเลเวลของแต่ละคนตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสาม หลังจากนั้นค่อยซ้อมรวมทีมร่วมกันจนถึงห้าโมงเย็น พอซ้อมรวมทีมเสร็จได้พักกินข้าวแล้วกลับมาซ้อมต่อตอนทุ่มนึงลากยาวจนถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน
ทำอย่างนี้ทุกวันเป็นประจำ 6 วันต่อสัปดาห์ และจะได้หยุดพักกลับบ้านเพียงแค่วันเดียว
“เล่นมา 6 วันมันก็เบื่อแล้วพี่ ตอนนี้ไม่ได้เล่นเพื่อความสนุก แต่เล่นเพื่อเงินแล้ว พอถึงวันหยุดก็แทบไม่แตะเลย กลับไปหาครอบครัวหาแฟนกัน” นุ เผยถึงสิ่งที่ต้องเผชิญ
“การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตสมันต้องมีวินัยมากเหมือนกันนะ เวลาซ้อมก็ต้องจริงจัง มีโค้ชคอยวางระบบ เราจะซ้อมแผนการเล่นให้ได้ตามที่วางไว้ ซ้อมเสร็จก็ต้องดูรีเพลย์ที่เล่นไปแล้วเพื่อทบทวนด้วย เพราะแต่ละเกมมีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งซ้อมเยอะเราก็ยิ่งเจอสถานการณ์ที่มากขึ้นและจะรู้ว่าสถานการณ์ไหนควรทำยังไงควรแก้ยังไง”
“ส่วนมากมันจะสนุกกันตอนซ้อมทีมแล้วแข่งกับทีมอื่นมากกว่า เพราะมันได้แข่ง มีเป้าหมาย ได้พูดคุย เฮฮาสนุกสนานกัน พอเริ่มเบื่อก็ต้องพยายามหาอะไรอย่างอื่นทำบ้าง เปิดอย่างอื่นดูบ้าง”
การที่ต้องซ้อมอย่างหนักก็เพราะเมื่อก้าวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพเต็มตัวแล้ว ย่อมมีทั้งการแข่งขันและความกดดันที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทีมบุรีรัมย์ด้วยแล้ว
“บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต” ก่อตั้งขึ้นโดย ไชยชนก ชิดชอบ เมื่อปี 2018 พร้อมวางเป้าหมายด้านผลงานในการแข่งขันคือ “ต้องคว้าแชมป์โลกให้ได้ภายใน 3 ปี”
ซึ่งหากใครติดตามวงการฟุตบอลและสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็คงจะคุ้นชินกันดีกับเป้าหมายอันสูงลิ่วที่ทีมตั้งไว้มาตลอด แน่นอนว่าเมื่อมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ การดำเนินการทุกอย่างจึงเป็นไปอย่างจริงจังและมีมาตรฐานที่สูง
หลายครั้งที่เรามักเห็นทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปลี่ยนแปลงนักเตะเข้าออกเป็นว่าเล่น บางรายเซ็นสัญญาร่วมทีมแล้วยังไม่ทันได้ใช้งานจริงจังแต่ต้องปล่อยตัวออกไปเลยก็มี นั่นเป็นเพราะพวกเขาต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับทีม.. บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต ก็ไม่ต่างกัน
หลังจากก่อตั้งทีมเมื่อปี 2018 ทีมมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกมาหลายต่อหลายครั้ง เพื่อเป้าหมายในการไต่เต้าจากแชมป์ในประเทศสู่แชมป์ระดับนานาชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ทีมจะประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์ในประเทศอย่างศึก RoV Pro League สองสมัยติด ใน Season 4 และ 5 แต่ก็มีช่วงเวลาที่ผิดหวังไม่น้อยเช่นกัน
การคว้าแชมป์ในประเทศทำให้บุรีรัมย์ได้เป็นตัวแทนคว้าตั๋วไปแข่งระดับนานาชาติในรายการ Arena of Valor International Championship (AIC) ซึ่งพวกเขาต้องอกหักคว้ามาได้เพียงรองแชมป์ถึง 2 ครั้งติด โดยในปี 2019 ไปแพ้ให้กับทีม Team Flash จากเวียดนาม ต่อด้วยปี 2020 แพ้ให้ทีม Flash Wolves จากไต้หวัน
ขณะที่ผลงานในประเทศเองก็เริ่มดรอปลง ไม่มีแชมป์ติดมือทั้งในศึก Pro League Winter 2020, Summer 2021 และ Winter 2021 แต่ยังสามารถชิงตั๋วใบสุดท้ายของประเทศเข้าไปแข่งขันในศึก AIC 2021 ได้สำเร็จ
ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า นำมาซึ่งการบั่นทอนจิตใจของผู้เล่น และไม่เพียงเกิดขึ้นกับตัวเองเท่านั้นแต่กระทบต่อภาพรวมของทั้งทีมด้วยเช่นกัน
ช่วงเวลาที่มืดมน
เรื่องฝีมือการเล่น ไม่มีใครปฏิเสธความเก่งกาจของทีมบุรีรัมย์ เพราะที่นี่ได้คัดสรรหัวกระทิของวงการมารวมตัวกัน สมาชิกทุกคนต่างมีศักยภาพที่โดดเด่นเหนือกว่าทีมอื่นๆ แต่กลับมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถรวมทีมไปถึงฝั่งฝันได้
หลังจากผิดหวังคว้ารองแชมป์โลกมา 2 สมัยติด ในลีกพวกเขายังแพ้ติดต่อกันจนเสียแชมป์ให้กับคู่แข่งทีม dtac Talon อีกด้วย
“ตอนแข่งแพ้รัวๆ ตอนนั้นมืดมนมากเลย แต่ละคนสภาพจิตใจย่ำแย่” เนส สมาชิกรุ่นบุกเบิกที่เข้ามาก่อนหน้าอีกสองคนกล่าวถึงช่วงเวลาที่ท้อแท้ที่สุดหลังจากผลงานของทีมย่ำแย่พ่ายแพ้มาติดต่อกัน
“ตอนนั้นทุกครั้งที่แข่งแพ้ก็แทบอยากจะเลิกแล้วไปทำอย่างอื่นเลย แข่งไปทำไมวะ แข่งไปก็โดนด่า พอแพ้มามันก็จะเสียสุขภาพจิต มันจะดาวน์ ทุ่มเทขนาดนี้ทำขนาดนี้แล้วมันไม่ได้อะไรเลย แต่ย้ำกับตัวเองว่าถ้าไม่ได้มาอยู่ตรงนี้ผมก็คงจะเรียนอยู่ ต้องขอเงินพ่อแม่ใช้ ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ จึงต้องพยายามสู้ต่อ” นุ เสริม
ความเครียดจากผลงานที่ไม่สู้ดีเริ่มสั่งสมอยู่ภายในจิตใจของสมาชิกทีมบุรีรัมย์แทบทุกคน แม้นอกเกมทุกคนจะยังเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันตามปกติ แต่ในเกม สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเริ่มบั่นทอนสภาพจิตใจและส่งผลกระทบต่อทีม
“นอกการแข่งเราเป็นเพื่อนกัน ไม่มีทะเลาะกัน ส่วนใหญ่จะทะเลาะกันเรื่องในเกมมากกว่า มันมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเรื่องการเล่น เถียงกันไปเถียงกันมา เรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่เราไม่กล้าพูดออกมาต่อหน้ากัน เพราะพวกเราอยู่ด้วยกันในแคมป์ตลอด เจอหน้ากันทุกวัน ถ้าพูดอะไรไม่ถูกใจก็อาจจะเกิดการผิดใจกันได้” เนส กล่าวถึงปัญหาในตอนนั้น
“เหมือนเล่นเกมกับเพื่อนแล้วเรารู้ว่ามันอ่อน แต่ก็ไม่กล้าพูดออกมาต่อหน้ามัน เลยทำให้เวลาเล่นแล้วไม่ไว้ใจกัน” นุ สมมติภาพออกมาให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัญหาที่ก่อตัวเริ่มสะสมเพิ่มมากขึ้น ต่างคนต่างมีเรื่องคาใจซึ่งกันและกัน แต่ไม่มีใครที่จะออกมาพูดกันต่อหน้าตรงๆ จากเรื่องเพียงเล็กน้อยที่เก็บไว้ นานเข้าก็ไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่รอวันปะทุออกมา
ไชยชนก ชิดชอบ เจ้าของทีมรับรู้ปัญหาเหล่านี้ดี ช่วงแรกเขาเป็นคนที่รับหน้าที่คอยให้คำปรึกษากับน้องๆนักกีฬาในทีม แต่ด้วยความสนิทสนมและความใกล้ชิดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บางครั้งคำพูดที่เจ้าตัวเอ่ยออกไปด้วยความหวังดี แปรเปลี่ยนเป็นความกดดันให้กับตัวนักกีฬาแทน จึงตัดสินใจจ้างนักจิตวิทยาเข้ามาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ
การเข้ามาของนักจิตวิทยาได้ช่วยสะสางปัญหาคาใจที่ก่อตัวขึ้นภายในแคมป์อย่างราบรื่น โดยการให้ทุกคนมานั่งรวมกัน เอาทุกอย่างในใจออกมากองแล้วเปิดใจพูดถึงข้อดีข้อเสียหรือสิ่งที่ไม่พอใจของกันและกันทีละคน พร้อมยังช่วยสอนการใช้ชีวิตประจำวัน การตั้งเป้าหมาย ตลอดจนวิธีการพูดคุยระหว่างกัน
“อีสปอร์ตเป็นกีฬาที่ต้องมีนักจิตวิทยามาช่วย เพราะมันไม่ได้ใช้ร่างกายแต่มันใช้สภาพจิตใจและความคิดล้วนๆ มันมีความเครียดเยอะมาก ซึ่งทีมเราถ้าไม่ได้นักจิตวิทยาเข้ามาช่วยก็คงจะไม่ได้เปิดใจคุยกันแน่นอน เราขาดคนกลางที่จะคอยประสานระหว่างกัน พอมีคนกลางเข้ามาช่วย ทุกอย่างก็เคลียร์ กลับมาเชื่อใจกันเหมือนเดิม” ปอนด์ เผยบทสรุปที่แฮปปี้เอนดิ้ง
ไม่เพียงแค่ช่วยเคลียร์ใจภายในแคมป์เท่านั้น แต่การใช้นักจิตวิทยายังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถคว้าแชมป์โลกในครั้งนี้มาครองได้เลยทีเดียว
ก้าวสู่แชมป์โลก
หลังจากผิดหวังมาหลายทัวร์นาเมนต์ติดต่อกัน บุรีรัมย์ได้โอกาสเข้าไปท้าชนในรายการระดับโลกอีกครั้ง ในศึก AIC 2021 ซึ่งมีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 14 ทีมจาก 8 ชาติ และอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าเป้าหมายของทีมคือการคว้าแชมป์โลกให้ได้ภายใน 3 ปี และนี่คือโอกาสครั้งสุดท้ายหลังจากคว้ารองแชมป์รายการนี้มาแล้ว 2 สมัย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของพวกเขาค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร พวกเขาผ่านเข้ารอบเพลย์ออฟด้วยการจบที่อันดับ 3 ของ Group A และยังต้องตกลงมาเล่นในสายล่างตั้งแต่วันแรก แต่พวกเขายังคงกัดฟันสู้จนทะยานเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ โดยต้องเผชิญหน้ากับยอดทีมอย่าง V Gaming จากเวียดนาม ที่ครองสถิติไร้พ่ายมาอย่างยาวนานตั้งแต่รอบ Group Stage
การแข่งในรอบชิงฯ บุรีรัมย์สร้างเซอร์ไพรส์คว้าชัยชนะได้ก่อนในเกมแรก แต่ด้วยความแข็งแกร่งของคู่แข่งที่เปิดเกมบุกเข้าใส่อย่างดุดันจนสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาขึ้นนำที่ 3-1 เกม และขออีกเพียงวินเดียวก็จะคว้าโทรฟี่ไปเชยชม
สถานการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นกับบุรีรัมย์ในการแข่งรอบรองชนะเลิศกับ HKA จากไต้หวัน แต่พวกเขาก็ยังสามารถกลับมาเอาชนะได้ที่ 4-3 เกม และครั้งนี้ก็เช่นกันที่พวกเขารวมใจสู้จนพลิกกลับมาชนะที่ 4-3 คว้าแชมป์สมัยแรกไปครองได้สำเร็จ พร้อมได้รับเงินรางวัล 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13.4 ล้านบาท)
“เวียดนามเขาเก่งมาก สกิลการเล่นเขาโหดมาก ตามสไตล์เขาเลยคือใส่ยับ เราไม่ทันตั้งตัวเลย เราเล่นตั้งรับให้ดีที่สุดเพื่อรอเขาพลาด ถ้ามีโอกาสก็สวนกลับทันที เราพยายามเล่นด้วยความอดทน ถ้าเขาพลาดแล้วสภาพจิตใจเขาจะแย่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความเชื่อใจกัน เชื่อว่าเราจะกลับมาชนะได้”
“มันเป็นเกมที่นานมาก ยิ่งเป็นเกมนานเขาก็จะยิ่งกดดัน พอเขานำ 3-1 เขาจะใจร้อนอยากปิดเกมให้จบ เลยบุกยับเลย เราแค่ต้องใจเย็นแล้วนิ่งให้ได้มากกว่า พยายามตั้งรับให้แน่น สุดท้ายเขาก็มีจังหวะพลาดนิดๆหน่อยๆให้เรา และทุกครั้งที่เขาพลาด เราก็สวนกลับได้หมดจนสามารถพลิกกลับมาชนะได้ในที่สุด” เนส กล่าวด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ
ผลงานอันยอดเยี่ยมของทีมยังส่งให้ “นุ” ที่โชว์ฟอร์มได้โดดเด่นสามารถคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า หรือ MVP ของรอบไฟนอลส์ พร้อมรับเงินรางวัลอีก 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 670,000 บาท) ด้วยเช่นกัน
โปรเพลเยอร์วัย 19 ปี นับเป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่ได้รับการจับตามองในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเก่งกาจที่โดดเด่นเกินวัย ถึงขนาดเคยคว้าแชมป์โลกในประเภท 1v1 มาแล้ว แต่ในประเภททีม เจ้าตัวกลับยังไม่สามารถพาทีมไปถึงจุดสูงสุดได้ ก่อนจะได้นักจิตวิทยาเข้ามาช่วยเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองในการเล่นเป็นทีมมากขึ้น จนสามารถปลดล็อกได้สำเร็จ
“ตอนโดนนำ 1-3 นี่หลังชนฝาเลย แพ้ไม่ได้แล้ว ตอนนั้นคิดนู่นคิดนี่เยอะไปหมด เพราะเราไม่อยากแพ้อีกแล้ว”
“การมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยมีผลเยอะมาก ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจปล่อยแพ้ไปแล้ว แต่นักจิตวิทยาช่วยดึงอารมณ์พวกนั้นออกไปแล้วให้เรากลับมาโฟกัสกับเกมมากที่สุด พอกลับมาโฟกัสถูกจุดแล้วมีเป้าหมายที่ชัดเจนเราก็กลับมาได้”
“ไม่ใช่แค่ตอนแข่งอย่างเดียว แต่นักจิตวิทยายังได้เข้ามาช่วยเปลี่ยนมุมมองของผมและของทีมตั้งแต่ตอนซ้อม ทำให้เราเชื่อใจกันมากขึ้น เล่นเป็นทีมมากขึ้น จนสามารถร่วมกันพลิกสถานการณ์ที่ตกเป็นรองมาชนะได้ทั้งในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงฯ” นุ เปิดใจ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการปลดล็อกความฝันที่รอคอยมานานของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต แล้ว ยังนับเป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าในโลกยุคปัจจุบันการเล่นเกมนอกจากจะเพื่อความสนุกสนานแล้วยังสามารถสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีวิตได้
ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกให้แคบลง ทำให้เด็กยุคใหม่ไม่ต้องโดดเรียนไปเล่นเกมที่ร้านเหมือนแต่ก่อนแล้ว ขอเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือราคาหลักพันบาทก็สามารถออนไลน์ที่บ้านเล่นกับผู้คนทั่วโลกได้สบายๆ และหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง มีการแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม และตั้งเป้าหมายในการเล่นที่ชัดเจน ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต รวมถึงในบทบาทอื่นๆอีกมากมายที่สามารถเปลี่ยนเป็นอาชีพได้เช่นกัน
“เล่นไปวันๆ เล่นเพื่อสนุก กับเล่นเพื่อหาทีมแข่ง มันต่างกัน หากอยากจะเป็นนักกีฬาก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน พยายามฝึกฝนฝีมือ หาไอดอลมาเป็นแบบอย่างเพื่อศึกษาวิธีการเล่น แล้วพยายามหาคอมมูนิตี้ลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เริ่มจากรายการเล็กๆก่อนก็ได้ เล่นไปเรื่อยๆ ถ้ามีทีมใหญ่มาเห็น เขาก็จะมาดึงตัวเราไปร่วมทีม”
“การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตตอนนี้สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว คนที่กำลังเล่นเกมอยู่ก็อยากให้มีความพยายาม แบ่งเวลาชีวิตให้ดี อยากให้มีเป้าหมายในชีวิตว่าถ้าจะมาแข่งกีฬาอีสปอร์ตเนี่ยเราอยากจะเป็นอะไร? เพราะมีหลายอาชีพมากในวงการนี้ ไม่ใช่แค่การเป็นนักกีฬาอย่างเดียว แต่ยังเป็นได้ทั้งสตรีมเมอร์, ยูทูบเบอร์, อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงเป็นทีมงานเบื้องหลังของค่ายเกมก็ยังได้ ซึ่งมีหลายช่องทางที่สามารถหาเงินได้และได้เงินเยอะมาก ผมเชื่อว่าถ้ามีความพยายาม ทุกคนก็สามารถทำได้” เนส ทิ้งท้าย