ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยกำลังเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆมากขึ้น ขณะเดียวกัน “Sea Group” สตาร์ตอัพรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช้อปปี้ (Shopee) ซีมันนี่(SeaMoney) ผู้ให้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์และการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการีนา (Garena)ผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ ก็มองการณ์ไกล
ด้วยความพยายามจะรุกตลาดไทยเต็มรูปแบบ เนื่องจากมองเห็นโอกาสสร้างการเติบโตที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอย่างมหาศาลในอนาคต ล่าสุดได้ออกมาประกาศยุทธศาสตร์ชัดเจนว่า จะใช้ธุรกิจและแพลตฟอร์มที่มีมาสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
ปั้นไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริการ Sea (ประเทศไทย)กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ “Sea ประเทศไทย” คือ การผลักดันให้ไทยก้าวเข้าสู่ “digital nation” ผ่าน 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy acceleration) ถือเป็นเรื่องสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย โดย Sea จะมุ่งใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและบริการที่มีอยู่เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมหลักที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมา Sea ได้นำดิจิทัลแพลตฟอร์ม และดิจิทัลเซอร์วิส เข้าไปสนับสนุนในหลายอุตสาหกรรม แนวทางที่ 2 คือ พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคดิจิทัล และพัฒนาคนในตลาดที่ Sea เข้าไปดำเนินธุรกิจให้ก้าวทันเทคโนโลยี ด้วยยุทธศาสตร์ “10 in 10 initiative” เพื่อสร้างคนให้มีทักษะด้านดิจิทัล เช่น ทักษะด้านการตลาดและการจัดการธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น
รวมถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัล การให้ความรู้ ความเข้าใจ ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล กระจายความรู้ดิจิทัลสู่ประชากรในทุกอาชีพ ล่าสุดเปิดตัว “Garena academy” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์และอุตสาหกรรมอีสปอร์ต พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้
อีสปอร์ตพุ่ง 2 หมื่นล้าน
นอกจากการให้ความรู้ และใช้แพลตฟอร์มของ Sea เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยแล้ว อีกธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่ Sea หมายมั่นปั้นมือจะสร้างมูลค่าเพิ่มไปพร้อม ๆ กับสร้างการเติบโตให้แก่อุตฯ คือ ธุรกิจเกมออนไลน์ (esports) ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นที่ธุรกิจในเครือ อย่าง การีนา แข็งแรงประกอบกับเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งตลาดอีสปอร์ตในไทยก็แนวโน้มการเติบโตที่ดี
โดย “กฤตย์ พัฒนเตชะ” Head of GarenaOnline (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเกมออนไลน์กล่าวว่า ตลาดอีสปอร์ตในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท โตกว่า13% จากปีก่อน
ขณะที่การเติบโตที่พุ่งขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของอีสปอร์ตได้ขยายวงกว้างขึ้น กลายเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ไม่เฉพาะแค่เยาวชน และภาครัฐที่สนับสนุนกีฬาอีสปอร์ตอย่างชัดเจน ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น จึงตั้งเป้าหมายว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะพัฒนาให้ธุรกิจการีนาในไทยเติบโตเทียบเท่ากับตลาดจีนและเกาหลีใต้
“ปัจจัยที่ทำให้ตลาดนี้โตมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลที่หันมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และกระแส 5G รวมถึงรัฐเข้ามาสนับสนุนวงการอีสปอร์ต เพื่อผลักดันสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”
ผุด “อะคาเดมี” เสริมทักษะ
“กฤตย์” กล่าวต่อว่า สำหรับ Garena academy เป็นเว็บไซต์คลังอาชีพในวงการอีสปอร์ต ที่รวบรวมสายอาชีพในอีสปอร์ตทั้งหมด 11 อาชีพ เช่น เกมแอนิเมเตอร์ เกมดีไซเนอร์ เป็นต้น พร้อมให้รายละเอียดเรื่องคุณสมบัติของอาชีพนั้น ๆ เน้นสร้างความรู้และความเข้าใจด้านอาชีพผ่านบทความวิดีโอจากผู้มีประสบการณ์ โดยจับมือกับ Career Visa ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินอาชีพมาสร้างแบบทดสอบ career assessmentเพื่อให้ค้นหาอาชีพในวงการอีสปอร์ตที่เหมาะสมกับตัวเอง
อาชีพสายเกมมาแรง
ขณะเดียวกัน “ธีรยา ธีรนาคนาท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท แคเรียร์ วีซ่า ดิจิตอล จำกัดผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านการเลือกอาชีพ กล่าวว่า บริษัทเป็นองค์กรที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่อาชีพที่ใช่ โดยได้พัฒนาหลักสูตรที่ชื่อว่า “Career Design” เป็นหลักสูตรที่ช่วยวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์อาชีพที่เหมาะสม โดยปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพด้านอีคอมเมิร์ซดิจิทัลคอนเทนต์ และอีสปอร์ตมากขึ้น
จากผลสำรวจของกลุ่มผู้เล่นเกมที่เข้ามาทำแบบทดสอบ career assessmentพบว่า 21% ต้องการเล่นเกมเป็นอาชีพและสร้างรายได้จากสิ่งที่ตนชอบนอกจากนี้ข้อมูลอาชีพด้านอีสปอร์ตที่สำรวจของบุคลากรของการีนา ที่ทำงานด้านสายเกมโดยเฉพาะ ยังพบว่า สิ่งที่บุคลากรด้านอีสปอร์ตต้องการ ได้แก่การมีเทคโนโลยีที่ดี มีแก็ดเจตที่เหมาะกับการเล่นเกม มีสวัสดิการที่ดี เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นต้น และมีความมั่นคงทางรายได้
“อาชีพด้านอีสปอร์ต ถือว่ามีความมั่นคงสูง เพราะอาชีพในกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล และไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักแคสต์เกม หรือเกมเมอร์เท่านั้น แต่ยังมีอาชีพด้านอื่น ๆอีกเช่น เกมดีไซเนอร์ คนพากย์เกม หรือเจ้าหน้าที่ทางการตลาด ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังสายงานอื่นนอกเหนือจากวงการเกมได้อีกด้วย”