อสังหาฯ รายเล็ก “อัลติจูด” พร้อมขยายตัวเพื่อขึ้นเป็น “รายกลาง” ของตลาด จากแผนลงทุนปี 2565 เปิดหน้าดิน 5 โครงการ มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และปีนี้วางเป้ารับรู้รายได้ 3,000 ล้านบาท วางคอนเซ็ปต์บริษัทพัฒนาโปรดักส์ที่แตกต่างจากตลาด เน้นกลุ่มลูกค้ายอมจ่ายเพิ่มเพื่อ “ไลฟ์สไตล์” สร้างสถานะทางสังคม
“ชยพล หรรรุ่งโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย” กรรมการบริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด แถลงข่าวแผนบริษัทปี 2565 พร้อมแล้วที่จะขึ้นเป็นรายกลางของตลาด ด้วยเม็ดเงินการลงทุนและยอดรับรู้รายได้ปีนี้
โดยอัลติจูดนั้นเริ่มต้นโครงการแรกเมื่อปี 2554 จากโครงการคอนโดมิเนียมในซอย เน้นความคุ้มค่าในการลงทุน และค่อยๆ ขยายตัวจนปัจจุบันแตกพอร์ตโฟลิโอหลายเซ็กเมนต์ทั้งแนวราบและแนวสูง
ขวัญชัยกล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทขึ้นเป็น “รายกลาง” ด้วยการรับรู้รายได้ 3,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นแบ็กล็อก 2,000 ล้านบาท และยอดขายใหม่โอนในปีอีก 1,000 ล้านบาท) และจะมีการลงทุน 5 โครงการ มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่ก้าวกระโดดขึ้นมาก จากเมื่อปี 2563 บริษัทเปิดโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท และปี 2564 เปิดตัวเกือบ 2,600 ล้านบาท
ชยพลให้ข้อมูลโครงการที่จะเปิดในปีนี้จนถึงต้นปี 2566 ได้แก่
1.อัลติจูด ฟอเรสต์ อ่อนนุช-วงแหวน บ้านแฝดและบ้านเดี่ยวแบบพูลวิลล่าทุกหลัง จำนวน 220 ยูนิต ราคาเริ่ม 9.0-14.9 ล้านบาท เปิดตัววันที่ 9-10 กรกฎาคม 2565
2.อัลติจูด ฟอเรสต์ บางนา บ้านแฝดและบ้านเดี่ยวแบบพูลวิลล่าทุกหลัง จำนวน 46 ยูนิต ราคาเริ่ม 9.0-14.9 ล้านบาท เปิดตัววันที่ 9-10 กรกฎาคม 2565 (*อัลติจูด ฟอเรสต์ 2 โครงการรวมกัน มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท)
3.เดอะ คอลเล็กชัน เจริญนคร โครงการคฤหาสน์หรู 11 หลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดินหน้ากว้างกว่า 100 เมตร บ้านเดี่ยวพื้นที่ใช้สอย 750-1,500 ตร.ม. ติดถนนเจริญนคร (ช่วงสะพานกรุงเทพ) ราคาเริ่ม 100 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,290 ล้านบาท
4.Wellness Hub ใกล้คูเมือง เชียงใหม่ โครงการมิกซ์ยูสบนที่ดิน 15 ไร่ ประกอบด้วยโรงแรม คอนโดฯ โรงพยาบาลขนาดเล็ก ร้านอาหาร เน้นการให้บริการด้านเวลเนส สุขภาพ ความงาม มูลค่าโครงการ 5,240 ล้านบาท
5.ทาวน์โฮมรูปแบบใหม่ระดับพรีเมียม มูลค่าโครงการ 1,470 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไม่นับรวมโครงการกลุ่ม Turn Key Project ซึ่งเป็นรูปแบบการรับบริหารโครงการภายใต้แบรนด์ของอัลติจูดให้กับเจ้าของที่ดิน ขณะนี้มีเจรจาโปรเจ็กต์ลักษณะนี้อยู่ 2-3 โครงการ
โครงการทั้งหมดของปีนี้ ปัจจุบันยังไม่มีพาร์ตเนอร์ร่วมทุน แต่ชยพลระบุว่าบริษัทยังคงเปิดกว้างในการรับผู้ร่วมลงทุน ตามวิธีดำเนินธุรกิจที่เป็นมาโดยตลอดของบริษัท โดยเฉพาะโครงการ Wellness Hub ที่เชียงใหม่ ขณะนี้ยังคงมองหาและเจรจากับพาร์ตเนอร์ธุรกิจด้านเวลเนสและโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
เน้นฉีกแนวจากตลาด มองหาลูกค้าที่ต้องการ “ไลฟ์สไตล์”
ด้านการแข่งขันในตลาดอสังหาฯ ปัจจุบัน ขวัญชัยมองว่าตลาดแข่งขันสูงมาก และในฐานะรายเล็กที่กำลังขึ้นเป็นรายกลาง ต้องหาจุดแตกต่าง ซึ่งอัลติจูดเองเริ่มมีแนวทางชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี 2561 มีการพัฒนาโปรเจกต์ที่มีการออกแบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ที่อยู่อาศัยเป็น “เครื่องแสดงสถานะ” ในตัว
โดยบริษัทมีการศึกษาความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มซึ่งคนกลุ่มนี้ขวัญชัยให้นิยามว่า “เป็นคนที่รู้ว่าข้าวผัดกะเพราในตลาดราคา 50 บาท แต่ยอมจ่ายที่ 75 บาทถ้าหากได้อะไรมากกว่า”
ยกตัวอย่างโครงการ “อัลติจูด ยูนิคอร์น สาทร-ท่าพระ” ทำเล BTS สถานีตลาดพลู ปัจจุบันขายราคาเริ่มที่ 2.9 ล้านบาท ห้องชุด 1 ห้องนอน พื้นที่ 24 ตร.ม. ราคาเฉลี่ย 110,000 บาทต่อตร.ม. แต่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลาย เช่น ห้องอีสปอร์ตส, หน้าผาจำลอง และเน้นพื้นที่ ‘สร้างคอนเทนต์’ ออกแบบสวยงาม เช่น สระว่ายน้ำฟรีฟอร์มชั้น 7 ที่ออกแบบสไตล์รีสอร์ต ถูกใจคนรุ่นใหม่ ทำให้มียอดขาย 60% ช่วงตึกสร้างเสร็จ และคาดว่าจะทำยอดขายได้ 75% ภายในสิ้นปีนี้
หรือโครงการที่เปิดตัวแล้วปีนี้คือโครงการตระกูล “อัลติจูด ฟอเรสต์” มาจากการวิจัยพบว่า วิถีชีวิตหลัง COVID-19 หลายคนทำงานแบบไฮบริด ได้อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้บรรยากาศบ้านยิ่งสำคัญ จึงสร้างแบรนด์ที่ “มีสระว่ายน้ำทุกหลัง” แม้ว่าจะเป็นบ้านแฝดก็เป็นพูลวิลล่า เพื่อให้มีสถานที่ผ่อนคลายอารมณ์ โดยทำราคาเริ่มต่ำกว่าสิบล้านบาทก็เป็นเจ้าของได้ ปัจจุบันจากสองโครงการที่เปิดตัวพร้อมกันมียอดจองแล้ว 14 ยูนิต มูลค่ารวม 150 ล้านบาท
- อนันดาฯ จับตลาด “ต่างชาติ” ซื้อ “พูลวิลล่า” ด้านตลาด “คอนโดฯ” เริ่มฟื้นกลับมาหลังเปิดเมือง
ถัดมาคือโปรเจกต์ เดอะ คอลเล็กชัน ที่จะเป็นคฤหาสน์ริมน้ำในย่านใกล้เมือง เลือกทำโครงการลักษณะนี้เพราะเห็นโอกาสว่ามีดีมานด์กลุ่มความมั่งคั่งสูง การมีบ้านริมแม่น้ำถือเป็นสิ่งที่เศรษฐีหลายคนต้องการ แต่โครงการบ้านสร้างใหม่ในตลาดหาได้ยากมาก อัลติจูดจึงเลือกตอบสนอง pain point นี้ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ต่างจากตลาดทั่วไป
ชยพลปิดท้ายถึงสภาวะตลาดอสังหาฯ 2565 เชื่อว่าตลาดส่งสัญญาณบวกกลับมาแล้ว แม้ว่าจะมีประเด็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยอาจปรับเป็นขาขึ้น แต่คาดว่าจะไม่สาหัสเท่ากับช่วงเริ่มเกิด COVID-19 ที่ทำให้ตลาดสะดุดทันที ด้านตลาดนักลงทุนปล่อยเช่า มองว่าโครงการกลุ่มที่เจาะผู้เช่าคนไทยทั้งคนทำงานและนักเรียนนักศึกษาจะไปได้ดีกว่า เพราะทำเลที่เน้นผู้เช่าต่างชาติวันนี้มีซัพพลายล้นตลาด แต่ดีมานด์ต่างชาติไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม