โมโตจีพีกระตุ้นศก. โปรโมต Soft Power ไทย
การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ ชิงแชมป์โลก โมโตจีพี นับเป็นการแข่งขันระดับโลกที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีแฟนความเร็วติดตามทั่วโลก ไม่ว่าจะสนามไหนก็จะมีแฟนๆ ไปติดตามถึงขอบสนามอย่างแน่นขนัด
ส่วนในยูทูบมีแฟนติดตามกว่า 5 ล้านคน เป็นหนึ่งในช่องยูทูบที่มีผู้ติดตามเป็นลำดับต้นๆ ของโลกกีฬา รายได้ของโมโตจีพีเมื่อปี 2021 อยู่ที่ 349 ล้านยูโร (12,930 ล้านบาท) ถือว่ายังลดลงเมื่อเทียบกับก่อนที่โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก จนหลายสนามต้องถูกยกเลิกไป เมื่อปี 2019
โมโตจีพีสร้างรายได้ในภาพรวมถึง 349 ล้านยูโร (14,523 ล้านบาท) ถ้ามองจากรายได้แบบแยกส่วนให้ชัดเจน ในปี 2021 ดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์โมโตจีพี ได้รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ 214.6 ล้านยูโร (7,951 ล้านบาท) ค่าโฆษณา 86.1 ล้านยูโร (3,190 ล้านบาท) และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 48 ล้านยูโร (1,778 ล้านบาท) ข้างต้นเป็นเพียงรายได้ที่ดอร์น่า สปอร์ตได้รับ แต่ยังไม่ได้นับรวมรายได้ของหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับก่อน ระหว่าง และหลังจบการแข่งขันไปแล้ว
อินโดนีเซียได้สิทธิจัดการแข่งขันโมโตจีพีเป็นครั้งแรกในปีนี้ จัดแข่งขันที่มานดาลิกา อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เกาะลอมบอก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ซานเดียก้า อูโน่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า โมโตจีพีสร้างงานให้คน ท้องถิ่น 11,000 คน และมันจะมีผลดีอย่างต่อเนื่องกับสถานที่ท่องเที่ยวและเจ้าของธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณสนามแข่งขัน เห็นได้ชัดว่าโมโตจีพี มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก
ในส่วนของไทยเอง ได้ลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันโมโตจีพี ที่ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มาตั้งแต่ปี 2018 และจัดแข่งขันมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2018, 2019 ก่อนที่จะต้องเบรกไป 2 ปี เพราะพิษโควิด-19 ในปี 2018 ซึ่งประเดิมซิ่งที่ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 205,000 คน แบ่งเป็นชาวไทย ประมาณ 153,750 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด โดยเป็นผู้เข้าร่วมงานจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 10,250 คน หรือร้อยละ 6 ในขณะที่เป็นผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติ ประมาณ 51,250 คน คิดเป็นร้อยละ 25 โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ จากออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ สร้างรายได้รวมประมาณ 3,100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในบุรีรัมย์ จำนวน 2,470 ล้านบาท และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ทั้งขอนแก่น, สุรินทร์, นครราชสีมา รวม 630 ล้านบาท เกิดการจ้างงานใหม่ 7,749 คน และยังได้รับยกย่องให้เป็นสนามแข่งขันที่ดีที่สุดประจำปี 2018 หรือที่เรียกว่า โมโตจีพี กรังด์ปรีซ์ ออฟ เดอะ เยียร์
ถัดมาในปี 2019 เป็นการแข่งขันปีที่ 2 ของไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ จากการประเมินของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา มีผู้ชม 226,655 คน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน ที่สำคัญเป็นสนามที่มีผู้ชมมากที่สุดใน โมโตจีพีปีนั้น รายได้เข้ากระเป๋าภาคเศรษฐกิจมากกว่า 3,100 ล้านบาท มากขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้นเล็กน้อย หลังจาก 2 ปีที่ประสบความสำเร็จ และอีก 2 ปีที่เงียบเหงา เพราะไม่สามารถจัดกิจกรรมที่มีคนเรือนแสนรวมตัวกันได้ โมโตจีพีที่ประเทศไทยกลับมาแล้ว ในชื่อ โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน-2 ตุลาคม ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเปิดประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาสู่อ้อมกอดประเทศไทยอีกครั้ง บัตรเข้าชม โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022 ถูกขายหมดเกลี้ยงก่อนการแข่งขันหลายวัน เพราะการแข่งขันครั้งนี้ เป็นสนามที่ 17 จาก 20 สนามของโมโตจีพีฤดูกาลนี้
เป็นช่วงเวลาที่กำลังจะได้เห็นความชัดเจนว่าใครจะเป็นแชมป์โลก ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร่ นักบิดชาวฝรั่งเศส ของทีมมอนสเตอร์ อีเนอร์ยี ยามาฮ่า โมโตจีพี ยังนำอันดับ 1 อยู่ในตารางคะแนน ที่ 219 แต้ม ฟรานเชสโก้ บันญาย่า นักบิดอิตาเลียนจากดูกาติ ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 201 แต้ม อันดับ 3 อเล็กซ์ เอสปาร์กาโร่ นักบิดสเปนจากอาพริเลีย เรซซิ่ง มี 190 คะแนน ดังนั้น 25 คะแนนในเรซนี้จึงสำคัญมากๆ กับนักวิ่งหัวแถวทุกคน โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022 นอกจากความสนุกเร้าใจ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมพื้นถิ่นแล้ว รัฐบาลไทยคาดหวังว่า จะสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศอยู่ในการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะสั้นจะมีรายได้จากการเดินทางเข้ามาชมการแข่งขันของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เกิดการใช้จ่ายในส่วนของโรงแรม ที่พัก ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดที่จัดการแข่งขันและจังหวัดใกล้เคียง เกิดเม็ดเงินกระจายลงไปถึงท้องถิ่น
ในระยะยาวนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมแผนงานและจัดกิจกรรมการโปรโมตประเทศไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ที่สำคัญไม่ลืมที่จะขาย ซอฟต์เพาเวอร์ อย่างมวยไทย อาหารไทย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามายังประเทศไทย ส่วนวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน ยังคงมี ชัตเติลแต๋น หรือรถอีแต๋น จำนวน 100 คัน พร้อมให้บริการนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่บริเวณการจัดงาน ซึ่งชัตเติลแต๋นกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่แฟนมอเตอร์สปอร์ตจดจำเชื่อมโยงกับไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ไปแล้ว ไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติที่ตื่นตาตื่นใจกับรถอีแต๋น แต่คนไทยจำนวนมากที่ยังไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศในการนั่งรถที่มาจากภูมิปัญญาเกษตรกร ก็ไปสนุกกับการเดินทางภายในงานหรือซิตี้ทัวร์ไปด้วย อาหารการกินขึ้นชื่อในบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บูธสปอนเซอร์ ได้รับความสนใจจากทั้งคนที่มีบัตรและไม่มีบัตรเข้าชม
ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมเนื่องจากตอนนี้กำลังใกล้เข้าสู่ไฮซีซั่นการ ท่องเที่ยวของไทยด้วย ไม่ใช่แค่นั้นอุตสาหกรรมของมอเตอร์สปอร์ตก็ได้ แต่รายได้จากการขายสินค้าต่างๆ ในงาน จากการสำรวจตลาดในหลายปีที่ผ่านมา ได้ผลยืนยันว่า โมโตจีพีช่วยเพิ่มยอดขายให้กับรถยี่ห้อดังได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ความคึกคักที่ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เริ่มต้นไปแล้ว แฟนมอเตอร์สปอร์ตแห่กันไปเชียร์แบบติดขอบสนาม และแฟนอีกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ก็ติดตามผ่านช่องทางการถ่ายทอดสดต่างๆ เพื่อลุ้นว่าใครจะคว้าแชมป์ไปครอง
สำหรับสัญญาการจัดโมโตจีพีของประเทศไทยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน เพราะมีการยืนยันออกมาจากคีย์แมนหลายคน ทั้ง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ว่า การเจรจาสัญญาใหม่เป็นเวลา 5 ปี กับดอร์น่า สปอร์ต เป็นไปได้ด้วยดี โมโตจีพีเป็นการแข่งขันที่ทุกชาติที่มีศักยภาพอยากจะได้ไปครอบครอง เพราะมีเพียง 20 สนามในโลกนี้เท่านั้น ที่จะได้มีโอกาสเป็น เจ้าภาพการแข่งขันที่ตื่นเต้นเร้าใจแบบนี้ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างรายได้ เพิ่มอาชีพ เปิดโลกกว้างให้กับคนท้องถิ่น และส่องสปอตไลต์ให้โลกได้เห็นศักยภาพและตัวตนของประเทศนั้นๆ มากขึ้น
แบบที่เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศไทย ที่ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต!?!