“ดีป้า”เดินหน้าดึงทุนญี่ปุ่น หนุนสตาร์ทอัพ-เมืองอัจฉริยะ | เดลินิวส์

ประเทศไทยได้เร่งส่งเสริม “เศรษฐกิจดิจิทัล” เพื่อช่วยให้ขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะช่วยหนุนเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ทำงานผลักดันในเรื่องนี้

โดย “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า พร้อมด้วย “ปรีสาร รักวาทิน” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ นำทีมสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปโรดโชว์และเยี่ยมชมเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่น โดยมุ่งหวังดึงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนกับบรรดาสตาร์ทอัพไทย เพื่อผลักดันให้ “สมาร์ท ซิตี้” ของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย

เดินหน้าเมืองอัจฉริยะ

“ณัฐพล” บอกว่าได้หารือกับ “Tawara Yasuo” Director-General Global Strategy Bureau ของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ MIC ถึงแนวทางความร่วมมือที่จะส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย พร้อมแนะนำ โครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึงสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับหากเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นศูนย์นวัตกรรม รวมถึงการชักชวน MIC และนักลงทุนญี่ปุ่นให้ร่วมลงทุนใน “ดิจิทัล สตาร์ทอัพ” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ท ซิตี้ ปัจจุบันไทยมีเมืองที่ได้รับรองเป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว 30 เมือง และจะเพิ่มเป็น 45 เมืองในสิ้นปี 2565

ขณะเดียวกันยังได้หารือถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ซึ่งดีป้ากำลังเตรียมแผนจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ในประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ และยังหารือในการพัฒนา ”กำลังคนดิจิทัล” ที่มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยี เอไอ, บล็อกเชน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลหรือดาต้า ด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม

ญี่ปุ่นเร่งปรับกิจกรรม

อย่างไรก็ตามผลการหารือครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีโดย “Tawara Yasuo” ก็ย้ำให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างดีป้าและ MIC ที่มีมานานต่อเนื่อง ทั้งการจัดโครงการ INNO-vation บ้า-กล้า-คิด ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดย MIC เตรียมปรับกิจกรรม โดยหันมามุ่งเน้นการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านไอซีทีให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและในอนาคตจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ กันมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้!! ดีป้ายังยกทีมเข้าดูงานนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะที่ HarvestX Lab (Future Farming) ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว โดย “Yuki Ichikawa” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ  HarvestX Inc. บอกว่า HarvestX คือหนึ่งในโครงการวิจัยนำร่องของมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นอาหารแก่มนุษยชาติ ตอบสนองความต้องการอาหารของโลก 

ทั้งนี้ HarvestX Lab เป็นสถานที่สำหรับวิจัยระบบหุ่นยนต์ปลูกสตรอเบอรี่อัตโนมัติ โดยมีการนำข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีเอไอมาพยากรณ์การเพาะปลูก และใช้หุ่นยนต์ในการผสมเกสรจนถึงขั้นตอนการเก็บผลผลิต ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็น 83.7% มากกว่าการผสมเกสรโดยธรรมชาติ (ผึ้ง) ที่ได้ผลผลิตอยู่ที่ 16.6% 

สัมผัสหุ่นยนต์ผสมเกสร

“ปรีสาร รักวาทิน” บอกว่า ปัจจุบัน HarvestX Inc. เป็นสตาร์ทอัพวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์โซลูชันด้านการเกษตรสำหรับ Indoor Farming เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2563 มีมูลค่าลงทุนปัจจุบันอยู่ที่ 100 ล้านเยน หรือประมาณ 25 ล้านบาท โดยเริ่มแรก HarvestX เกิดขึ้นใน Hongo Tech Garage ซึ่งเป็นพื้นที่คิดค้นนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียว กับโจทย์ธรรมดาที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการผสมเกสร และสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ผสมเกสรสำหรับต้นสตรอเบอรี่ ได้เป็นครั้งแรกของโลก ต่อมาในปี 2564 จึงได้สร้าง HarvestX Lab ขึ้น และมีแผนนำโซลูชั่นพร้อมด้วยฮาร์ดแวร์ ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ภายในปี 2566 นี้ 

เรียนรู้เทคโนฯ 6 จี

ขณะเดียวกันยังได้เข้าพบ “Zaif Siddiqi” Director Global Business Business Solution Division ของ NTT docomo ผู้ให้บริการโครงข่ายไร้สายของญี่ปุ่น เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่น 5จี และ 6จี โดยผู้บริหารของ NTT docomo บอกว่าเทคโนโลยี 5จี ถือเป็นเสาหลักสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเอไอ, ไอโอที และคลาวด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ก่อให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการใหม่ ๆ และยกระดับผลผลิตนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ตรงจุด โดยเทคโนโลยี 6จี จะถูกพัฒนาและนำมาใช้ในหลากหลายมิติ ซึ่งเปลี่ยนคำว่า  Smart ในสังคมยุค 5จี ไปสู่ Well-being พร้อมประเมินว่าในปี 2030 หรือปี 2573 เทคโนโลยี 5จี และ 6จี จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ดีป้ายังได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแผนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในประเทศไทยกับ Sony Interactive Entertainment (SIE) บริษัทในเครือ SONY ผู้ดูแลรับผิดชอบแบรนด์ Play Station รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ โดย  SIE ได้ให้รายละเอียดในการจัดอี-สปอร์ต ที่เป็นทัวร์นาเมนต์ในเกมลีกใหญ่ระดับโลก อาทิ  Playstation Tournament, EVO, FIFA NBA LEAGUE และ CAPCOM ProTour ฯลฯ พร้อมเสนอแพลตฟอร์มเทคโนโลยี อย่าง Repeat.gg ที่ SIE เข้าซื้อกิจการเมื่อกลางปี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเกมคอมมิวนิตี้ที่มาพร้อมบริการ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต เช่น การจัดทำ Leader Board และการจัดทัวร์นาเมนต์แข่งขัน เป็นต้น รองรับการจัดการแข่งขันเกมจากหลากหลายค่ายเกม ปัจจุบันจัดการแข่งขันไปมากกว่า 1 แสนทัวร์นาเมนต์ และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2.3 ล้านคน

ทั้งนี้ทางผู้บริหารของดีป้า ได้ชักชวนให้ SIE มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ ในการสนับสนุนงานอีสปอร์ต ที่เป็นอีเวนต์ใหญ่ ๆ ในประเทศไทยด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักพัฒนาเกม นักกีฬาอีสปอร์ต และส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากอีสปอร์ตให้กับประเทศไทย

ในการเดินทางโรดโชว์และดูงานของดีป้าครั้งนี้ใช่ว่า…จะดึงดูดเงินลงทุนมาได้ทันที!! เพราะ…ตามปกติวิสัยของนักลงทุนญี่ปุ่นแล้ว ต้องมั่นใจแบบเคลียร์คัทชัดเจนทุกอย่างแล้วเท่านั้น ถึงจะ “เทใจ” นั่นเท่ากับว่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อม หากสำเร็จ!! เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยก็โตฉลุย!.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์