วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

งวดเข้ามาทุกทีสำหรับแชมป์ฟุตบอลโลก “กาตาร์ 2022” ที่เต็มไปด้วยความ “พลิกล็อก” แต่ก็เป็นเสน่ห์ให้ผู้คนอยากติดตามชมการแข่งขันกันมากขึ้น …

การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ในครั้งนี้ต้องฟันฝ่ายอุปสรรคและความท้าทายนานับประการ ไล่ตั้งแต่หลังการได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพที่มีกลิ่น “เงินใต้โต๊ะ” โชยมาแรง จนทำเอากาตาร์ถูกครหา และคณะผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า (FIFA) ซึ่งเป็นองค์กรจัดงานหลัก โดนสอบสวนในคดีรับสินบนกันมากมาย

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาของการแข่งขันที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมเดิมที่ปกติจัดในช่วงกลางปีมาเป็นช่วงปลายปีเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนระอุในกาตาร์ในช่วงฤดูร้อน ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างความไม่พอใจกับลีกฟุตบอลของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่ต้องปรับเปลี่ยนตารางครั้งใหญ่ 

หลายลีกดังในยุโรปที่เริ่มเปิดฤดูกาลไปในระยะแรก ก็มีนักเตะบาดเจ็บจำนวนมากและพลาดโอกาสในการร่วมแสดงฝีเท้าที่กาตาร์ในครั้งนี้ ขณะที่นักเตะบางส่วนที่ทีมของตนเองเข้ารอบลึกก็กังวลใจกับอาการบาดเจ็บมากขึ้นหลังจบการแข่งขันฟุบอลโลก เพราะต้องไปลุยฟุตบอลลีกกันต่อแบบไม่ได้ “พักน่อง” กัน

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

ขณะเดียวกัน โดยที่กาตาร์มีอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้มีข้อกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าของหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้สนับสนุนการแข่งขันบางรายก็สูญเสียโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของตนเองที่ขัดกับหลักศาสนา อาทิ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่แฟนบอลที่คุ้นเคยกับการ “ซดเบียร์ เชียร์บอล” ก็อาจรู้สึกเสียอารมณ์ไปบ้าง

นอกจากนี้ เจ้าภาพยังโดนข้อครหาเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือกลุ่มคน LGBTQ รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องในกาตาร์ ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของแรงงานนับพันคนอีกด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความท้าทายใหญ่ของเจ้าภาพก็คือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วง 3 ปีหลัง ส่งผลให้การจัดการแข่งขัน “อยู่บนเส้นด้าย” และขาดความแน่นอนอยู่นาน โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายคนยังเกรงว่ากาตาร์จะเจอ “โรคเลื่อน” หรือจำต้องจัดการแข่งขันใน “ระบบปิด” เลยก็มี

หากจำความกันได้ การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวและโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมด้านกีฬาใหญ่ที่ถูกจัดไปก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องจัดการแข่งขันแบบ “ระบบปิด” ที่เกือบไร้คนดูในสนาม ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวท้องถิ่นและต่างชาติไม่อาจเดินทางไปร่วมชมการแข่งขันได้ ส่งผลให้การจัดการแข่งขันลดสีสันและความน่าสนใจไปมาก แถมผู้จัดงานยังสูญเสียรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นเป็นจำนวนมหาศาล

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

แม้กระทั่งแขกรับเชิญพิเศษของไทยท่านหนึ่งที่เดินทางไปร่วมงานที่กรุงปักกิ่งก็ยังบ่นว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนั้น “ไม่สามารถกระดิกตัวไปไหนได้เลย” โดยใช้เวลาทั้งหมดอยู่ที่โรงแรมที่พักและสนามแข่งขันเท่านั้น ขนาดจะขอแวะเข้าห้องน้ำระหว่างทางก็ยังทำไม่ได้ ทำให้ไม่อาจซึมซับความงดงามของบ้านเมืองและการต้อนรับของเจ้าภาพได้ดีเท่าที่ควร

แต่ครั้นเมื่อฟุตบอลโลกครั้งนี้ใกล้เข้ามา กาตาร์ก็ดูจะ “มากับดวง” กล่าวคือ เชื้อโควิดอ่อนแรงลงในช่วงหลัง ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีมุมมอง “ที่ต้องอยู่กับโควิด” ทำให้เริ่มคลายล็อก และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันจนเกือบเป็นปกติ แถม “กาตาร์ 2022” ก็ยังเป็นกิจกรรมใหญ่แรกในยุคหลังโควิด

นอกจากการทุ่มเงินขยายสนามบินระหว่างประเทศฮาหมัด (Hamad International Airport) รถไฟใต้ดิน สนามฟุตบอล และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมพรั่งอย่างที่คุยกันไปเมื่อคราวก่อนแล้ว เรายังได้เห็นความพยายามของกาตาร์ในการสั่งสมประสบการณ์จัดการแข่งขันกีฬาระดับระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง อาทิ การจัดแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ แฮนด์บอลล์ชายโลก และกรีฑาชิงแชมป์โลก 

ด้วยจังหวะเวลาที่ดีดังกล่าว การเตรียมการจัดงานที่ยอดเยี่ยม และความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างจริงจังของกาตาร์ ทำให้แฟนบอลที่รอคอยเวลามานาน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตั๋วนั่งชมฟุตบอลกว่า 3 ล้านใบได้ถูกจำหน่ายล่วงหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในประเทศใกล้เคียงจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รวมทั้งคอลูกหนังจากบราซิล อาร์เจนตินา สหรัฐฯ เม็กซิโก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และโมร็อกโค ที่ทีมชาติของตนเองเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในวงการกีฬาประเมินว่า ฟีฟ่าจะมีรายได้จากการจัดการแข่งขันในครั้งนี้มากกว่าเมื่อคราวที่จัดขึ้นที่รัสเซียในครั้งก่อนถึง 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งจากการลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งสร้างงานใหม่ราว 1.5 ล้านตำแหน่ง

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนแห่งกาตาร์ (Investment Promotion Agency of Qatar) เปิดเผยว่า นับแต่ปี 2010 ที่กาตาร์ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของกาตาร์ก็ระบุว่า แม้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดในช่วงหลายปีหลัง แต่โอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวกับการตระเตรียมงานและการดำเนินการจัดฟุตบอลโลกยาวไปจนถึงปี 2023 รวมจำนวน 83 โครงการ

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากการเพิ่มขึ้นของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้าสู่กาตาร์ในหลากหลายสาขาธุรกิจ อาทิ บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การโฆษณา การตลาด และด้านไอที อาทิ ซอฟท์แวร์ ระบบปฏิบัติการ และแอพพลิเคชั่น รวมทั้งฟินเทค และการท่องเที่ยว

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าพ่อวงการดิจิตัลอย่างกูเกิ้ล (Google) เปิดสำนักงานท้องถิ่น คลาวด์ระดับภูมิภาค และศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ขณะที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เจ้าแห่งซอฟท์แวร์ ก็เปิดคลาวด์ระดับภูมิภาคและศูนย์นวัตกรรมเพื่อให้บริการลูกค้าท้องถิ่น

ไอไลฟ์ดิจิตัล (iLife Digital) จากสหรัฐฯ ลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไอทีที่เขตฟรีโซนกาตาร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน 1,500 ตำแหน่ง ส่วนกลุ่มยูบีเอส (UBS Group) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ก็วางแผนจะเปิดศูนย์ธุรกิจครบวงจรแห่งใหม่ในกรุงโดฮา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริการการเงินดิจิตัลและการพัฒนาเด็กพรสวรรค์ในท้องถิ่น รวมทั้งจะดึงผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตัล 200 คนเข้าไปในพื้นที่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ทำนองเดียวกันก็ขยายผลทางเศรษฐกิจต่อไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง ส่งผลให้สัดส่วน FDI ในภูมิภาคต่อโลกเพิ่มขึ้นจาก 5% เศษในปี 2019 เป็นกว่า 8% ในปี 2021

เมื่อการแข่งขันเริ่มคิกออฟก็นำไปสู่การขยายตัวของการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แบรนด์แฟรนไชส์โรงแรมชั้นนำอย่างฮิลตัน (Hilton) มาร์ริออต (Marriott) และเซ็นทารา (Centara) ของไทยที่ได้เข้าไปลงทุนและขยายบริการในกาตาร์ในช่วงหลายปีหลัง ก็คาดว่าจะมีแฟนบอลจองห้องพักเต็มตลอดการแข่งขัน 

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

และมาถึงวันนี้ การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ก็ผ่านไปด้วยดี ได้รับความชื่นชมจากแขกรับเชิญพิเศษ แฟนบอล และสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ชาวโลกรู้จักกาตาร์มากขึ้น และเสริมสร้างชื่อเสียงผ่านการเป็นเจ้าภาพ “จัดงานใหญ่” 

ประเทศในภูมิภาคต่างคาดหวังว่า “พลังละมุน” ในครั้งนี้จะ “ทรงพลัง” และช่วยเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว หลายประเทศยังต้องการสร้าง “จุดขายใหม่” ในด้านธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว การกีฬา และการรักษาพยาบาลในเวทีระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเตรียมสานต่อกระแสดังกล่าวผ่านกิจกรรมมากมาย 

อาทิ อาบูดาบี บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันรถยนต์สูตร 1 (Formula One) ทัวร์นาเมนต์กอล์ฟระหว่างประเทศที่อาบูดีบี เทนนิสที่ดูไบ และอี-สปอร์ตในหลายประเทศในภูมิภาค โดยใช้สื่ออัล จาซีรา (Al Jazeera) ของกาตาร์ ที่พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางสื่อของโลกอาหรับช่วยประโคมข่าว

นักวิเคราะห์ของ PWC ยังประเมินไว้ว่า วงการกีฬาในตะวันออกกลางจะขยายตัวถึง 8.7% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลกที่ 3% นอกจากนี้ กาตาร์ยังเตรียมสานต่อกระแสดังกล่าวผ่านการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ในปี 2030 แต่ “การเดิมพันครั้งใหญ่” ดังกล่าวจะเกิดคุ้มค่าการลงทุนและก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นในระยะยาวหรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่รอคำตอบ 

คราวหน้าผมจะชวนคุยเรื่องการเป็นผู้สนับสนุน “กาตาร์ 2022” ของแบรนด์จีนที่ตามมาด้วย “ควันหลง” …

แฟ้มภาพ AFP