Esports อย่างที่เรารู้กันว่าตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องแค่การเล่นเกมแข่งกันอีกต่อไป มันคืออุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย มีเกม, การแข่งขัน และผู้เล่นหน้าใหม่ปรากฏตัวในวงการเพิ่มขึ้นทุกวัน
แม้ขนาดของมันในตอนนี้อาจจะยังไม่ใหญ่เท่าการแข่งขันกีฬาจริง ๆ ที่พัฒนามาแล้วหลายสิบปี แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ก็เชื่อว่าวันหนึ่ง Esports จะกลายเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างกับการเปิดทีวีขึ้นมาดูบอล, เทนนิส, กอล์ฟ, หรือกีฬาอื่น ๆ ที่เราชื่นชอบอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นแล้ว หากเรามองว่า Esports ก็คืออาชีพชนิดหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ใครกันแน่ที่ “ประสบความสำเร็จ” ที่สุดในอาชีพนี้ โดยอาจจะมองที่ความสำเร็จที่คว้าได้ หรือมองที่รายได้ตลอดชีพของพวกเขา วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ในโลก Esports ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีใครบ้างที่ทั้งโลกยอมรับว่าเป็นผู้ที่ยืนหนึ่งในเหล่าผู้เล่นนับพันทั่วโลก แล้วอนาคตของการแข่งเกมจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อมองในเรื่อง “เงิน” ที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับกันแล้ว เชิญชมไปพร้อม ๆ กัน
เกมและผู้เล่นที่ทำรายได้สูงที่สุดของโลกจากการแข่งขัน
เริ่มแรก เราก็ควรเริ่มมองหาจากสิ่งที่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการกันก่อน โดยในจุดนี้ หลาย ๆ คนน่าจะพอทราบกันอยู่แล้วว่า “พ่อใหญ่” Johan “N0tail” Sundstein ผู้เล่น Dota 2 จากทีม OG คือนักกีฬา Espodrts ที่ทำเงินรางวัลจากการแข่งขันตลอดชีพได้สูงที่สุดในโลก สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ เขาสามารถกระโจนเข้าสู่สถิตินี้ได้จากการแข่งรายการใหญ่เพียง 2 ราย ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น
ด้วยสถิติชนะการแข่งระดับ Major ของ Valve 4 รายการ ซึ่งจ่ายให้เขาราว 200,000 ดอลลาร์ ต่อครั้ง และรายการใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง TI 2 ปีติด คือ TI 2018 ที่ได้ไป 2.2 ล้านดอลลาร์ และ TI 2019 อีกราว 3 ล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับการแข่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกจำนวนมากที่ชนะมาได้ ปัจจุบันพ่อใหญ่ N0tial มีรายได้ตลอดชีพราว 6,9 ล้านดอลลาร์ (200 ล้านบาท) จากการแข่งขัน 123 รายการ ซึ่งเป็นรายได้จากเกม Dota 2 ถึง 99.83% โดยที่เหลืออีกเล็กน้อยเป็นรายได้จากเกม Heroes of Newerth อันเป็นช่วงเริ่มต้นอาชีพ Esports ของเขา
นอกจาก N0tail แล้ว สมาชิกทีม OG ทุกคนก็ล้วนเป็น Top 5 ของผู้เล่นที่ทำเงินได้มากที่สุดของโลกทั้งสิ้น ได้แก่
- Johan “N0tail” Sundstein ($6.9 ล้านดอลลาร์)
- Jesse “JerAx” Vainikka ($6.5 ล้านดอลลาร์)
- Anathan “ana” Pham ($6.0 ล้านดอลลาร์)
- Sebastian “Ceb” Debs ($5.5 ล้านดอลลาร์)
- Topias Miikka “Topson” Taavitsainen ($5.5 ล้านดอลลาร์)
สำหรับ Dota 2 ถือว่าเป็นเกมที่มีการแข่งขันที่มี Prize pool สูงที่สุดชนิดที่ไม่อาจมีเกมไหนเทียบได้ โดยการแข่งขันใหญ่ที่สุดอย่าง The International (TI) ถือเป็นรายการที่มีเงินรางวัลสูงที่สุดในโลก และสามารถรักษาสถิตินี้มาได้แล้วกว่า 5 ปีติด โดยเป็นผลจากกลยุทธ์การขาย Battle pass ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมกับเงินรางวัลในแต่ละปีได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ Valve ผู้พัฒนา DOTA2 ใช้มาตั้งแต่ปี 2012 และก็สามารถรวบรวมเงินรางวัลเป็นสถิติโลกได้หลายครั้งตลอดมา
โปร Dota 2 ทั้งหลายคือนักแข่งที่รวยที่สุดในโลกจริงหรือไม่ ?
คำถามสำคัญที่หลาย ๆ คนน่าจะคาใจอยู่ นั่นคือเหล่าผู้เล่น Dota 2 อย่างทีม OG นั้นเป็นกลุ่มคนที่ทำรายได้สูงที่สุดในวงการ Esports จริงหรือไม่ ? เพราะหากเปิดดูสถิติผู้เล่นที่ทำเงินรางวัลสูงที่สุดในโลก 100 อันดับแรกแล้ว มากกว่า 70% ล้วนเป็นผู้เล่นจาก Dota 2 ทั้งสิ้น
เนื่องจากเงินรายได้ต่าง ๆ ในความเป็นจริงแล้วถือว่ามีการเปิดเผยต่อสาธารณะน้อยมาก เช่นเงินที่ได้รับจากการเปลี่ยนมือระหว่างทีมและผู้เล่น, เงินเดือนจากสปอนเซอร์ เป็นต้น แต่ละทีมยังมีความแตกต่างกันอีกหลายจุดที่จะส่งผลกับเงินที่แต่ละคนจะได้รับ ทั้งจำนวนผู้เล่นชื่อดังฝีมือดีที่ได้รับเงินเดือนมากเป็นพิเศษ, โบนัสการเซ็นสัญญาสิ่งจูงใจ หรือแม้กระทั่งปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
win.gg ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมานั้นทำให้ยากที่จะบอกว่าใครมีความมั่งคั่งมากกว่ากันในวงการ Esports ยกตัวอย่างกรณีของ Dota 2 รายได้ของนักแข่งส่วนใหญ่จะมาจากการแข่งขัน ส่วนเงินเดือนในทีมของพวกเขาจะไม่แน่นอนเท่าไหร่อันเป็นผลมาจากการทีมเกมไม่มีระบบลีกขนาดใหญ่เหมือนเกมอื่น ๆ (เช่น League of Legends) ลักษณะของ Dota 2 จึงเป็นเกมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการแข่งได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทีมหน้าใหม่ที่ไม่มีแม้กระทั่งสปอนเซอร์ก็ตาม แลกกับความมั่นคงของพวกเขาก็จะขึ้นอยู่กับผลงานที่ทำได้เป็นอย่างมาก
และในส่วนของเกมอื่น ๆ ผู้เล่นมักมีรายได้หลักในฐานะนักเล่นเกมมืออาชีพ แม้บางครั้งอาจจะดูไม่สูงมากเท่าไหร่ก็ตามแต่ก็ถือว่ามีรายได้เป็นหลักแหล่งที่แน่นอน แต่สำหรับเกมที่มีการแข่งขันสูงมากอย่าง LoL มีรายงานว่าผู้เล่นบางคนได้รับเงินระดับ “เจ็ดหลัก” ในแต่ละปี จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากคิดคำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ผู้เล่น LoL หลายคนอาจมีรายได้รวมมากกว่าผู้เล่น Dota 2
นักกีฬา Esports ที่อาจจะ ? รวยที่สุดในโลก ที่ยังอยู่ในอาชีพ
Lee “Faker” Sang-hyeok คือยอดมิดเลนตัวเก่งของ T1 เจ้าของฉายา “พระเจ้า” แห่งวงการ League of Legends แม้เงินรางวัลรวมตลอดชีพของเขาที่ราว 1.4 ล้านดอลลาร์ฯ นั้นจะดูน้อยเมื่อเทียบกับผู้เล่น Dota 2 อันดับต้น ๆ ที่ได้กล่าวไป โดยเป็นเงินที่ได้จากแชมป์โลก 3 สมัยและ LCK 9 รายการ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Faker จะไม่มีโอกาสได้เป็นผู้มีรายได้สูงสุดตลอดกาลของบรรดาเหล่าผู้เล่น Esports แต่อย่างใด
รายได้ต่อเดือนของ Faker เป็นหัวข้อถกเถียงกันมานานแล้วของเหล่านักวิเคราะห์ว่าเขาได้รับไปเท่าไหร่กันแน่น ขณะที่ Faker และทีม T1 เองก็ไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่นอนออกมาเช่นกัน แต่ตัวเขาเองกลับบอกว่า เคย “ปฏิเสธข้อเสนอเงินเดือน 10 ล้านเหรียญต่อปี” จากทีมจีนที่ยื่นมาให้ รวมถึงข้อเสนอพิเศษอื่น ๆ จากทีมแถบอเมริกาเหนือที่มีมาให้เลือกอยู่ตลอดอีกด้วย
ซึ่งก็ไม่แน่ว่า Faker นั้นพูดจริงหรือไม่ แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าเขาน่าจะทำรายได้มากกว่าล้านดอลลาร์ในแต่ละปีอย่างแน่นอน และล่าสุดเขายังได้เซ็นต์สัญญาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารของทีม T1 เมื่อเขาสิ้นสุดอาชีพนักแข่งแล้ว
Faker เซ็นสัญญากับ T1 ต่ออีก 3 ปี พร้อมสิทธินั่งแท่นผู้บริหารทีมเมื่อจบอาชีพนักแข่ง
ยิ่งไปกว่านั้น Faker ยังมีแหล่งรายได้อื่น ๆ รวมถึงข้อตกลงของแบรนด์และการสนับสนุนที่ไม่ได้เกี่ยวกับ T1 ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องนี้ก็คือความร่วมมือของเขากับ Lotte เพื่อให้เขาไปอยู่บนกรวยไอศกรีมชื่อดังของประเทศ รวมถึงโฆษณาใหม่ล่าสุดของ LoL: Wild Rift อีกด้วย
จากเหตุผลต่าง ๆ หลายฝ่ายจึงชื่อว่า Faker คนคงจะไม่พ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดจากอาชีพ Esports เป็นแน่แท้ น่าเสียดายที่จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเกี่ยวกับความมั่งคั่งของเขา กลายเป็นปริศนาที่ทุกคนยังคงต้อง “คาดเดา” กันต่อไป
ทำไมผู้เล่น LoL ถึงมีรายได้ไม่มากเท่า Dota 2 ? (ตามการบันทึก)
หากใครที่ติดตามวงการ Esports อยู่บ่อย ๆ ก็น่าจะพอทราบว่า ขนาด Esports ของ LoL นั้นถือว่ายิ่งใหญ่มาก ทั้งในแง่ของคนเล่นและคนดู การแข่งขัน League of Legends World Championship (Worlds) อันเป็นการแข่งที่ใหญ่ที่สุดของเกม (เทียบเท่า TI ของ Dota 2) เป็นการแข่งเกมที่มีตัวเลขเป็นสถิติยืนยันชัดเจนว่าเป็นการแข่งขันที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก แต่ในแง่ของเงินรางวัลนั้นกลับถือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว
โดยหากนับปริมาณเงินรางวัลที่ esportsearnings.com ได้รวบรวมเอาไว้ ก็จะพบว่า LoL มีตัวเลขเงินรางวัลรวมทุกทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการเพียง 81 ล้านดอลลาร์ฯ เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 228 ล้านดอลลาร์ฯ ของ Dota 2 ในอันดับหนึ่ง, 103 ล้านฯ ของ CS:GO และ 99 ล้านดอลลาร์ฯ ของ Fortnite ในอันดับสองและสามตามลำดับ จะเห็นได้ว่าหากต้องการรวมเงินรางวัลให้มากกว่า Dota 2 ก็ต้องใช้ตัวเลขของอันดับที่ 2-4 รวมกันถึงจะมากกว่าได้ ดังนั้นหากเทียบด้วยจำนวนเงินรางวัลแล้ว Dota 2 ถือว่ายืนหนึ่งชนิดที่หาตัวจับได้ยากมาก และก็คาดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเลยทีเดียว
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็มีเหตุผลใหญ่ ๆ ด้วยกัน 2 ประการ คือระบบการจัดการแข่งขันของทั้งสองเกม และสองคือวิธีที่แต่ละเกมกำหนดเงินรางวัลของตน
- อย่างแรก ระบบจัดการแข่ง Dota 2 นั้นเป็นเกมที้ไม่มีระบบลีกอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ต้น (พึ่งจะเริ่มมีในปี 2020 นี้) หรือก็คือผู้จัดการแข่งจะเป็นคนกำหนดวิธีและเงินรางวัลด้วยตนเอง (ส่วนมากจะเป็นระบบทัวร์นาเมนต์) โดยอาจมีบางส่วนที่ Valve สนับสนุนโดยตรงด้วย ซึ่งในการแข่งใหญ่ ๆ ก็จะมีเงินรางวัลไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ฯ ส่วนการแข่งย่อย ๆ ขนาดเล็กก็จะมีเงินรางวัลลดหลั่นต่างกันไป
- ส่วนการแข่งของ LoL ทาง quora.com ได้ให้ข้อมูลว่า การแข่งระดับลีกอย่างเช่น LCS ผู้เล่นจะได้รับเงินราว 12,500 ดอลลาร์ฯ ต่อการแข่ง 1 ทัวร์อย่างแน่นอน และจะได้รับมากสุดราว 50,000 ดอลลาร์ฯ หากได้อันดับ 1 ในการแข่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Riot games นั้นจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับนักแข่งอาชีพเป็นพิเศษ การได้รับเงินเดือนที่แน่นอนนั้นช่วยลดความกดดันและความกังวลของเหล่าผู้เล่นได้พอสมควร ไม่เหมือนกับการแข่ง TI ของ Dota 2 ที่การชนะอันดับ 1 นั้นไม่ต่างอะไรกับการหวังให้ถูกลอตเตอรี่ แม้จะได้เงินรางวัลมากแต่ความเสี่ยงก็มากเช่นกัน
- สิ่งนี้ทำให้รายได้ของผู้เล่นทั้งสองต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทีมของ Dota 2 สามารถเป็นได้แม้กระทั่งทีมโนเนมที่พึ่งจัดกลุ่มกันมาเป็นครั้งแรก และสามารถผ่านทะลุเข้าไปใน TI ได้โดยไม่ต้องแบ่งเงินให้กับใคร ตัวเลขเงินรางวัลเหล่านี้สามารถติดตามและบันทึกได้อย่างชัดเจน ในส่วนของระบบลีกของ LoL นั้น เงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขันยังต้องแบ่งให้หลาย ๆ ผ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เงินรางวัลที่ผู้เล่นจะได้จริง ๆ นั้นขาดความชัดเจนเป็นธรรมดา และในส่วนรายได้จากทีม/ลีก นั้นก็ไม่ได้มีการเปิดเผยละบันทึกอย่างชัดเจนอีกด้วย
- และอีกเหตุผลที่รายได้ของผู้เล่นทั้งสองเกมต่างกันเป็นอย่างมากคือ วิธีที่เกมกำหนดเงินรางวัลของตน ในส่วน Dota 2 นั้น มีระบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมวิธีการสนับสนุนเงินรางวัลของวงการ Esports เลยก็ว่าได้ นั่นคือ “Battle Pass” ที่เป็นการขายชุดเควสที่จะมอบของรางวัลให้ผู้เล่น หลังจากนั้น Valve ผู้ให้บริการก็จะนำ 25% ของรายได้จากการขายเพื่อสมทบเป็นเงินรางวัลให้งาน TI ปีนั้น ๆ สามารถชมรายละเอียดของ Dota 2 Battle pass ได้ที่ Link ด้านล่าง
Dota 2: The International Battle Pass 2020 วางจำหน่ายแล้ว
- โดยที่ Battle pass เริ่มการขายและสมทบเงินรางวัลในปี 2013 เป็นปีแรก ทำยอดไว้ที่ 2.8 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ในปี 2014 สามารถทำยอดได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์ฯ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการในทันที และใน TI 2019 ปีล่าสุดที่มีการจัด ก็สามารถทำยอดเงินรางวัลได้ถึง 34 ล้านเหรียญฯ สูงที่สุดในโลกชนิดที่แทบไม่มีทางที่เกมอื่นจะเทียบได้ในตอนนั้น
ด้วยสองเหตุผลหลักนี้เอง ทำให้รายได้ของผู้เล่น Dota 2 ตามการบันทึกนั้นจึงสูงมาก ส่วนรายได้ของผู้เล่น LoL ที่มีหลายส่วนไม่มีการเปิดเผยทำให้จำนวนที่ถูกบันทึกไว้จึงมีน้อยไปด้วย อย่างที่บันทึกไว้ใน esportsearnings.com เป็นต้น
แม้ว่า N0tail และ Faker จะเป็นผู้เล่นที่ทำรายได้สูงที่สุดจากทั้งสองเกมดัง แต่ผู้เล่นที่ได้รับเงินรางวัลจากการแข่ง “ครั้งเดียว” มากที่สุดในโลกนั้นกลับไม่ใช่พวกเขา แต่เป็น Kyle “Bugha” Giersdorf ผู้เล่นจากเกม Fortnite อายุเพียง 16 ปี (ในขณะนั้น) ที่ทำรายได้ไป 3 ล้านดอลลาร์ฯ จากการชนะ Fortnite World Cup Finals 2019 เพียงรายการเดียว ทำให้เขาขึ้นสู่อันดับที่ 12 ของผู้เล่นที่ทำเงินจากการแข่งขันมากที่สุดทันที โดยที่ N0tail สร้างรายได้ 6 ล้านดอลลาร์ฯ จากการแข่งใหญ่ 2 รายการ ส่วน Faker ทำรายได้ 1.4 ล้านฯ จากการแข่งรายการใหญ่น้อยมากกว่า 10 ครั้งด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ต่างจาก Notail และ Faker ตรงที่เขาอาจไม่ใช่ผู้ที่ทำเงินได้มากที่สุดจากเกมที่เขาเล่น แต่สตรีมเมอร์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Tyler “Ninja” Blevins อดีตผู้เล่น Esports ที่เริ่มอาชีพของเขาตั้งแต่ยุคของเกม Halo 3 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคเริ่มแรกของวงการเลยก็ว่าได้
โดยเขาเป็นที่รู้จักในเกม Fortnite ครั้งแรกด้วยการคว้าชัยชนะในรายการเล็ก ๆ ที่ทำเงินให้เขาราว 1.4 แสนดอลลาร์ฯ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับรายได้จากการเป็นสตรีมเมอร์ของเขาหลังจากนั้น หรือก็คือ ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของเขาไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่อยู่ในวงการ Esports นั่นเอง
ช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า Ninja ได้รับเงินกว่า 30 ล้านดอลลาร์จาก Microsoft ในการยกเลิกสัญญาเมื่อ Mixer ปิดตัวไป (เป็นค่าชดเชยที่ช่องของเขาถูกปิด) ซึ่งแค่นั้นมากกว่ารายได้ในการบันทึกของผู้เล่น Esports ทุกคนแล้ว แน่นอนว่าเขายังมีรายได้ที่ไม่ถูกเปิดเผยจากบรรดาสปอนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งแค่เฉพะ 2020 เพียงปีเดียว sportskeeda.com คาดการณ์ว่าเขาน่าจะมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่า 15 ล้านดอลลาร์ฯ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลายฝ่ายให้ความเห็นที่ตรงกันว่า อนาคตแล้วผู้เล่น Esports ชื่อดังส่วนใหญ่ก็น่าจะมีอนาคตไปในทางเดียวกับ Ninja นั่นคือการผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์หลังจากจบอาชีพนักแข่ง ด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์ที่มากกว่าผู้เล่นทั่วไปย่อยจะทำให้พวกเขาได้เปรียบผู้เล่นหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ที่อยู่ในจุดเดียวกันอย่างแน่นอน นี่ยังไม่รวมถึงอาชีพโค้ช, ผู้บรรยาย, และหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการ Esports ที่เหนือกว่าการเป็นนักแข่ง ซึ่งในตอนนี้เราก็จะเห็นว่ามีผู้เล่นหลายคนก็เริ่มก้าวแรกในเส้นทางนี้แล้วเช่นกัน
เพราะฉะนั้นแล้วจุดที่นักกีฬา Esports จะมีความมั่งคั่งสูงสุดนั้นอาจจะยังไม่มาถึงก็เป็นได้ และ Ninja ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้
เมื่อความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่ทีมเดียว เกมเดียว หรือคนเดียว
ที่สุดแล้ว หากเรามองในภาพรวม เมื่อทีม Esports ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อร่วมศึกนี้ด้วยกัน แล้วในบรรดาทีมต่าง ๆ ทีมไหนคือทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดหากนับกันที่เงินรางวัลที่ได้รับ ? เช่นเดิม ข้อมูลจาก esportsearnings.com ได้ทำการรวบรวมไว้ดังนี้
- Team Liquid – 35,732,474.03 (1,844 ทัวร์นาเมนต์)
- OG – 33,943,233.59 (99 ทัวร์นาเมนต์)
- Evil Geniuses – 24,263,698.79 (854 ทัวร์นาเมนต์)
- Fnatic – 15,729,227.88 (929 ทัวร์นาเมนต์)
- Virtus.pro – 14,415,574.39 (510 ทัวร์นาเมนต์)
- Newbee – 14,225,385.59 (231 ทัวร์นาเมนต์)
- Vici Gaming – 13,084,345.79 (302 ทัวร์นาเมนต์)
- Team Secret – 12,076,278.72 (278 ทัวร์นาเมนต์)
- Invictus Gaming – 11,669,190.10 (503 ทัวร์นาเมนต์)
- Natus Vincere – 11,282,585.40 (490 ทัวร์นาเมนต์)
จะเห็นได้ว่า หากไม่นับ OG ที่ชนะรายการใหญ่ไปถึง 2 ปีติด แต่ละทีมที่ติดอันดับต่างก็มีประสบการณ์มากมายในวงการ ลงแข่งไม่ต่ำกว่า 200 ทัวร์นาเมนต์กันมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นทีมนั้นไม่ได้หมายถึงผู้เล่นคนใดคนหนึ่งหรือเกมใดเกมหนึ่ง หลายทีมก็ส่งผู้เล่นหลายรายลงหลายเกมในเวลาเดียวกันทำให้พวกเขาสร้างทั้งรายได้และชื่อเสียงที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการเติบโตในอนาคต และเช่นเดียวกัน ชัยชนะในเกมหนึ่ง ๆ ที่สมาชิกในทีมทำได้ มันก็ไม่แค่ส่งผลต่อพวกเขาในเกมนั้น แต่เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของทีมในภาพรวมพร้อมกันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับกรณีของ N0tail และ Faker ตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นเพียงสถิติที่มีการเปิดเผยไว้อย่างชัดเจนเท่านั้น หากเรามองในด้านของ “มูลค่า” ของแต่ละทีม หลายสโมสรก็ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย เช่นจากทางเกมโดยตรง, แฟน ๆ ที่ซื้อสินค้าของทีม, การขายลิขสิทธิ์, และสปอนเซอร์อีกจำนวนมาก โดยที่ Forbes ได้ทำการรวบรวมสถิติและประมาณการทีมที่มีมูลค่าสูงสุดเอาไว้ดังนี้
- Team SoloMid และ Cloud9 (400 ล้านดอลลาร์ฯ)
- Team Liquid (320 ล้านดอลลาร์ฯ)
- FaZe Clan (240 ล้านดอลลาร์ฯ)
- Immortals Gaming Club (210 ล้านดอลลาร์ฯ)
- Gen.G Esports (185 ล้านดอลลาร์ฯ)
- Fnatic (175 ล้านดอลลาร์ฯ)
- Team Envy (170 ล้านดอลลาร์ฯ)
- G2 Esports (165 ล้านดอลลาร์ฯ)
- 100 Thieves (160 ล้านดอลลาร์ฯ)
- NRG Esports (150 ล้านดอลลาร์ฯ)
จะเห็นได้ว่าตัวเลขอันดับต่างกับความสำเร็จเมื่อนับจากการแข่งขันพอสมควร เนื่องจากแต่ละทีมนั้นมีพื้นฐาน, แนวคิด, สภาพแวดล้อม, โอกาส, และอื่น ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ทีมขนาดใหญ่ก็อาจไม่ใช่ทีมที่ชนะทัวร์นาเมนต์มากที่สุด แต่อาจเป็นทีมที่ครองใจแฟน ๆ มากที่สุด ก็เป็นได้
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกคนก็น่าจะได้คำตอบกันแล้วว่าในเรื่องที่ว่าใครรวย ? ที่สุดในวงการแล้วมันประมาณได้ยากมาก อันเนื่องมาจากเหตุต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไป แต่เราก็พอสรุปคร่าว ๆ ได้ จากมุมมองที่ได้นำเสนอไปดังนี้
- Johan “N0tail” Sundstein คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งตลอดชีพ
- Lee “Faker” Sang-hyeok คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดจากการอยู่ในอาชีพ Esports
- Kyle “Bugha” Giersdorf คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งเพียงครั้งเดียว
- Tyler “Ninja” Blevins คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดหลังจากที่ออกจากวงการแล้ว
- Sasha “Scarlett” Hostyn คือผู้หญิงที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งตลอดชีพ
- Dota 2 คือเกมที่ทำให้ผู้เล่น “รวย” ได้มากที่สุดจากการแข่งขัน
- LoL คือเกมที่ทำให้ผู้เล่น “รวย” ได้มากที่สุดจากการอยู่ในอาชีพ Esports
- Team Liquid คือทีมที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งขันในวงการ Esports
- Team SoloMid และ Cloud9 ทีมที่ “รวย” ที่สุดในวงการ Esports
เพราะฉะนั้นแล้ว “ใครรวย” ก็อาจไม่สำคัญเท่าผลงานที่ทำให้พวกเขา “รวย” ผู้เล่นและทีมเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่า Esports คือประตูสู่ความมั่งคั่งที่เป็นไปได้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีอยู่จริงและสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล ภาพลักษณ์ที่พวกเขาทำเอาไว้จะช่วยดึงดูดโอกาสในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้วงการเติบโตได้ในอนาคตข้างหน้าอย่างยั่งยืนและยิ่งใหญ่ต่อไป
Source win.gg, sportskeeda.com DOTA2.prizetrac.kr esportsearnings.com