ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition โน๊ตบุ๊คในสไตล์ล้ำๆ ที่จะพาคุณท่องอวกาศ ไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ บนแนวทางของ Zenbook ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จุดเด่นที่หน้าจอด้านนอก Zen screen เพิ่มลุคของความล้ำสมัย หน้าจอ 2 ด้าน ปรับแต่งได้ บอดี้เป็นสีใหม่ Zero-G Titanium เหมือนกับอากาศยาน พาแนลในแบบ OLED บนหน้าจอขนาด 14″ ในไซส์กระทัดรัด และได้ Certified ในด้านคุณภาพสีและการแสดงผล PANTONE Validates เพิ่มความทนทานให้กับบอดี้ ที่ผู้ใช้จะมั่นใจได้ด้วย Space-Grade มาตรฐาน SMC-S-016A มาพร้อมระบบเสียง Dolby Atmos และ Smart Amp.
คีย์บอร์ดที่เพิ่มความพิเศษด้วย ASUS ErgoSense กดแน่น ตอบสนองไว มีแสงไฟปรับได้ ทัชแพดขนาดใหญ่ เลือกใช้งาน NumberPad 2.0 ได้แค่การแตะเท่านั้น และยังอินพุตข้อมูล ผ่านทางปากกาสไตลัส ปุ่มเพาเวอร์แบบพิเศษ สามารถล็อกอินได้รวดเร็ว ผ่านการสแกนลายนิ้วมือในตัว มีเว็บแคม 3DNR ที่มีชิลด์ไว้เป็น Privacy Shutter บนบอดี้ขนาดกระทัดรัด น้ำหนักแค่ 1.4Kg. แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 63WHr ให้ใช้งานได้นานขึ้น ให้พัดลมระบายความร้อนแบบคู่ เพื่อช่วยในการลดความร้อนได้รวดเร็ว และอีกหลายเรื่องราวของโน๊ตบุ๊ค ASUS Zenbook 14X ในเวอร์ชั่นพิเศษนี้ จากทาง ASUS กับการครบรอบ 25 ปี ที่ ASUS ส่งโน๊ตบุ๊ครุ่นแรก ออกไปยังอวกาศ และนำสิ่งต่างๆ มาถ่ายทอดลงบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ให้ผู้ใช้ได้เติมเต็ม พร้อมสเปคสุดโหด Intel Core i9 แรม 16GB DDR5 และมี Storage ความเร็วสูง M.2 PCIe 4.0 มาให้ 1TB หน้าจอสวยสดใสความละเอียดสูงระดับ 4K สนับสนุน HDR และปากกา ราคาเริ่มต้นเพียง 53,990 บาท
จุดเด่น
ข้อสังเกต
สำหรับสเปคของ ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition นี้ มีด้วยกัน 2 รุ่น โดยสเปคฮาร์ดแวร์หลักๆ จะต่างกันอยู่พอสมควร โดยมีทั้งรุ่นที่เป็น Intel Core i7-12700H และแรม DDR5 16GB จะเริ่มต้นที่ราคา 53,990 บาท ถือว่าเป็นรุ่นที่เหมาะกับคนทำงาน ที่เน้นประสิทธิภาพ ควบคู่กับไปการพกพา และนำเสนองานพรีเซนเทชั่น หรือจะเป็นนักธุรกิจ ที่เสริมความสามารถในด้านของการปรับเปลี่ยน แก้ไขงาน และทำงานอื่นๆ ควบคู่กันไป ในงบประมาณไม่สูงมาก ส่วนรุ่นท็อปจะมีทุกอย่าง เช่น SSD, หน้าจอแสดงผล และองค์ประกอบอื่นๆ เหมือนกันทุกประการ แต่ใช้ซีพียู Intel Core i9-12900H และให้แรมมาถึง 32GB เรียกว่าขุมพลังตอบโจทย์ในงานด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่มองหาโน๊ตบุ๊คในกลุ่มพกพาและประสิทธิภาพ สำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น ทั้งงานสำนักงาน ตกแต่งภาพ ตัดต่อวีดีโอในเบื้องต้น และการใช้งานด้านมัลติทาส์กกิ้ง หลายๆ งานพร้อมกัน หรือต้องการศักยภาพสำหรับงานที่เรียกใช้แกนหลักที่หนักหน่วงนั่นเอง
ASUS Zenbook 14X UX5401ZAS-KU921WS : Zero-G Titanium
ASUS Zenbook 14X UX5401ZAS-KU721WS: Zero-G Titanium
เริ่มต้นมาชมเรื่องของการออกแบบบน ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition มาในบอดี้ที่มีความกระทัดรัด บนหน้าจอแสดงผลขนาด 14″ เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้สะดุดตาก็คือ สีสันที่เรียกว่า Zero-G Titanium ออกไปในโทนสีเทาไทเทเนียม
บน Cover มาในโทนสีเดียวกัน แต่มีเส้นสาย ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ และวงกลม ล้อมรอบหน้าจอที่ 2 หรือที่เรียกว่า ZenVision โดยกราฟิกหลักๆ ที่อยู่บนบอดี้ของโน๊ตบุ๊ค ASUS รุ่นนี้ จะเป็นทั้งภาพและรหัสมอร์สในตัว สื่อความหมายได้ในหลายๆ รูปแบบ
ภายในบอดี้นั้นมีลวดลาย ที่แฝงความหมายเอาไว้เยอะเลย เช่น ที่วางมือด้านซ้าย จะเป็นกราฟิกของสถานีอากาศ MIR โดยมีเส้นโครงวงกลมด้านนอกเป็นยานอวกาศ และเป็น Cockpit ของยาน
ASUS ออกแบบให้มีจุดเว้าตรงด้านหน้าเครื่อง เพื่อให้เปิดได้ง่ายขึ้น และทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ดี เพราะคุณสามารถเปิด Cover โน๊ตบุ๊ค เพื่อเริ่มการทำงานได้เพียงนิ้วเดียวเท่านั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้สะดวกมากขึ้น
จะสังเกตได้ว่ามีกราฟิกที่อยู่ด้านใต้สติกเกอร์ ตรงจุดวางมือทางด้านซ้าย เป็นสัญลักษณ์รูปสถานีอวกาศ MIR และเส้นโค้งๆ ที่อยู่โดยรอบทัชแพด แสดงถึง Cockpit ของยานอวกาศ ส่วนเส้นที่อยู่บนที่วางมือด้านขวา จะเป็นปี 2011 ที่ ASUS Zenbook ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก
บอดี้ ASUS Zenbook 14X ที่มองจากด้านข้าง จะเห็นถึงความบางพิเศษ อันเป็นเอกลักษณ์ในซีรีส์ Zenbook หลายๆ รุ่น ทั้งในส่วนของหน้าจอ และบอดี้หลัก แม้มิติจะเล็ก แต่ก็เตรียมพอร์ตมาให้ผู้ใช้เกือบครบครัน
ความอลังการของหน้าจอ และขอบจอที่บางมากๆ ทั้ง 3 ด้าน ทำให้ได้พื้นที่แสดงผลกว้างขวาง แม้จะอยู่บนหน้าจอ 14″ แต่ทาง ASUS จัดหน้าจอคุณภาพสูง ที่เป็นแบบ OLED และรองรับ Resolution ได้ถึง 4K หรือ 3840 x 2400 pixels เลยทีเดียว จะทำงานหรือเน้นที่ความบันเทิงก็ครบครัน
คีย์บอร์ดมาในเลย์เอาท์มาตรฐาน พร้อมกับแสงไฟ Backlit ที่สว่างขึ้น และสามารถปรับได้เล็กน้อย จังหวะการกดปุ่มและการตอบสนองอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และเสริมด้วยปุ่มเพาเวอร์ ที่มีจุดสแกนลายนิ้วมือมาด้วย เช่นเดียวกับทัชแพดขนาดกลางๆ แต่ก็ซ่อนฟังก์ชั่นที่เป็น NumberPad มาในตัว เปิด-ปิดการทำงานได้
ปากกา ASUS Stylus Pen (SA203H) ปากกาที่เชื่อมต่อกับโน๊ตบุ๊คผ่านทาง Bluetooth ที่พร้อมใช้งาน และชาร์จแบตได้ในตัว ผ่านช่อง USB ที่อยู่ด้านท้าย เมื่อสไลด์ด้ามปากกาเล็กน้อย ก็ต่อชาร์จไฟ USB-C ได้เลย
น้ำหนักเฉพาะบอดี้ของโน๊ตบุ๊ค ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition อยู่ที่ประมาณ 1.47Kg. ก็เรียกว่าใกล้เคียงกับตัวเลขที่เคลมเอาไว้ในเว็บไซต์เลยทีเดียว
บอดี้ในจุดที่หนามากที่สุด อย่างด้านท้ายของโน๊ตบุ๊คที่เป็นบานพับ อยู่ที่ราวๆ 1.6-1.7cm เท่านั้นเอง แต่ได้บานพับที่แข็งแกร่งอยู่ไม่น้อยเลย
ภาพบนเป็นอีกหนึ่งช่องทางการระบายความร้อน และกระจายเป็นช่องเล็กๆ อยู่ทางด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ส่วนประสิทธิภาพในการลดความร้อน ต้องมาดูในการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องของความทนทาน ASUS Zenbook 14X OLED รุ่นนี้ ถูกออกแบบให้มีความแข็งแกร่ง รองรับการใช้งานในสภาวะต่างๆ ได้ดี บนมาตรฐาน SMC-S-016A ในแต่ละด้าน ตั้งแต่เรื่องการสั่นสะเทือน ในอุณหภูมิตั้งแต่ -24 องศาเซลเซียส ก็ยังทำได้งานได้ดี รวมไปถึงความชื้นที่มาก รวมถึงการตกกระแทกอีกด้วย ผู้ใช้งานจึงมั่นใจได้ในแง่ที่ต้องนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบ
สำหรับคีย์บอร์ดมาในโทนสีเดียวกับบอดี้ กับปุ่มขนาดใหญ่ พร้อมฟอนต์ไทย-อังกฤษมาแบบครบถ้วน และปุ่ม Hot key ด้านบน ที่สะดุดตาจะมีด้วยกัน 2 จุดคือ การเพิ่มปุ่มสีแดงบนปุ่มเพาเวอร์ด้านบนขวา และปุ่ม Spacebar ที่มีโลโก้รูปโลกมาให้
ปุ่มเพาเวอร์สีแดง ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นสแกนลายนิ้วมือ ในการเข้าสู่ระบบผ่านทาง Windows Hello ได้เช่นกัน การรวมรูปแบบเข้าใช้งานเช่นนี้ เราได้เห็นกันในโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นของทาง ASUS กันไปแล้ว และคาดหวังว่าเป็นฟังก์ชั่นที่น่าจะถูกเติมเข้าไปในซีรีส์อื่นๆ มากขึ้น
แต่สิ่งที่แฝงมากับคีย์บอร์ดบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ก็คือ ASUS Ergosense keyboard ซึ่งจะปรับมุมองศาให้กับผู้ใช้ได้อย่างถูกหลัก ด้วยฐานด้านหลัง ที่ยกขึ้นมาแบบ Ergolift Hinge นอกจากจะทำให้คีย์บอร์ดเอียงรับกับการวางมือแล้ว ก็ยังมีพื้นที่ด้านใต้เครื่อง สามารถให้ลมเย็นไหลเวียนมาช่วยระบายความร้อนได้อีกทางหนึ่ง
ตัวปุ่มคีย์มีตัวอักษรคมชัด เข้ากับการใช้งานบนมิติ 14″ เช่นนี้ได้อย่างลงตัว โดยมีระยะการกดที่ 1.4mm ให้การตอบสนองได้รวดเร็ว และแรงสะท้อนของปุ่มที่ใกล้เคียงกับ Zenbook ในหลายรุ่นที่ผ่านมา ระยะห่างของแป้นพิมพ์กำลังพอเหมาะ เข้ากับคนที่พิมพ์สัมผัส และมือใหม่ที่ใช้แป้นพิมพ์ ที่ต้องมองปุ่มบ่อยๆ
ชุดที่เป็นฮอตคีย์อยู่แถวด้านบนของปุ่ม ประกอบไปด้วย
และยังมีแสงไฟ Backlit สีขาว สว่างสดใส ตัดกับสีของปุ่มคีย์ได้อย่างชัดเจน แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องของแสงจะรบกวน ในกรณีที่ต้องใช้ในห้องนอน หรือในที่แสงน้อย และไม่อยากให้ไปกวนสายตาผูอื่น เพราะคุณเลือกปรับความสว่างได้ถึง 3 ระดับ และเปิด-ปิด ได้ตามต้องการอีกด้วย
แต่ที่น่าสังเกตคือ ASUS จัดวางปุ่มเอาไว้เต็มพื้นที่ ต่างจาก Zenbook ในหลายๆ รุ่น เพราะแทบไม่เหลือขอบข้างซ้าย-ขวาไว้ด้วยเลย และเสริมด้วยปุ่ม PageUp, PageDown และปุ่ม End รวมถึงด้านล่างยังยืดระยะของปุ่มลูกศร (Arrow) ให้ออกมาเต็มพื้นที่อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ยังรู้สึกติดในใจเล็กน้อยตรงที่ ปุ่มลูกศร ยังคงถูกใส่มาในแบบครึ่งปุ่มเหมือนเดิม ทำให้การใช้งานในบางโอกาสสะดุดไปบ้าง แต่ก็พอเข้าใจว่ามิติที่แคบลง และการใช้งานที่ไม่ได้บ่อยนัก ทำให้ไซส์ยังคงเป็นแบบ Zenbook ในรุ่นก่อนๆ นั่นเอง
การใช้งานทัชแพดและฟังก์ชั่น NumberPad นี้ ผ่านทางฟีเจอร์ที่เรียกว่า ASUS NumberPad 2.0 ด้วยการกดรูปไอคอนด้านบนมุมขวาของทัชแพดค้างไว้ ประมาณ 1-2 วินาที ก็จะมีตัวเลขที่เป็น Number ปรากฏขึ้นมา สามารถแตะที่ตัวเลขแต่ละตัว เพื่อใช้งานได้ทันที และหากต้องการลดแสงสว่างลง ให้แตะที่ไอคอนมุมบนซ้ายของทัชแพด เพื่อลดแสงลง แม้ว่าจะมีตัวเลขอยู่บนทัชแพด แต่ก็ยังสามารถเลื่อนนิ้วเพื่อใช้งานได้ตามปกติ
ASUS Stylus Pen SA203H ปากกาที่เชื่อมต่อกับโน๊ตบุ๊คผ่านทาง Bluetooth มีปุ่มให้กดตามมาตรฐาน 2 ปุ่มด้วยกัน คือเป็นปุ่มชอร์ตคัทกับปุ่มที่ใช้แทนเมาส์ คลิ๊กเลือกหรือใช้ในการลบออปเจกต์ได้เช่นกัน
แสงไฟจะกระพริบสีแดง เมื่อแบตต่ำกว่า 35% ชาร์จไฟได้เต็มภายในครึ่้งชั่วโมง และปกติใช้งานต่อเนื่องก็อยู่ได้ยาวๆ ประมาณ 140 ชั่วโมง ให้ระดับน้ำหนักในการกดได้ถึง 4096 ระดับ
โดยส่วนตัวเท่าที่ได้ลอง ค่อนข้างชอบและดูเป็นฟังก์ชั่น ที่เริ่มต้นให้กับคนที่เริ่มใช้การจดบันทึกหรือการวาดภาพร่าง ก่อนจะไปจบที่การใช้งาน Stylus แบบที่เป็นกราฟิกแท็ปเล็ตได้ดีเลยทีเดียว หรือใครที่ชอบการจดบันทึกลงบนโน๊ตบุ๊ค และการนำไปพรีเซนเทชั่น ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งคุณจะใช้งานได้ง่ายขึ้น เขียน บันทึก พรีเซนเทชั่น หรือจะส่งอีเมล์ ก็ทำได้ทันที
จอภาพของ ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition เป็นจอภาพขนาด 14″ ในแบบ OLED ความละเอียดสูงในระดับ 4K (3840×2400) ซึ่งเป็นจอที่มีอัตราส่วนแบบ 16:10 จุดเด่นอยู่ที่ความสว่างที่สูง โดยเป็นหน้าจอในแบบ Glossy และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญคือ การสนับสนุน HDR และ HDR True Black 500 ได้การรับรอง PANTONE อีกทั้งเป็นจอแบบทัชสกรีนอีกด้วย ถือว่าเป็นจอที่ให้คุณสมบัติมาอย่างครบครัน สำหรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ
หากดูรายละเอียด Resolution จากใน Display Properties จะรายงานเป็น 3840×2400 ซึ่งเป็นความละเอียดบน Ratio ของ 16:10 ซึ่งทาง ASUS มองว่าสามารถให้พื้นที่ในการแสดงผลได้มากกว่า
อย่างที่ได้เกริ่นเอาไว้ในข้างต้นคือ ASUS ทำสมดุลของตัวเครื่องออกมาได้ดี และยังเว้าตรงช่วงด้านหน้าเครื่อง ให้สามารถเปิดได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือ ใช้เพียงนิ้วเดียวก็กาง Cover ออกมาได้ โดยที่ตัวเครื่องไม่ลอยตามขึ้นมาด้วย
แม้จะเป็นจอโน๊ตบุ๊คขนาด 14″ แต่ด้วยสัดส่วนของหน้าจอที่มากถึง 92% เมื่อเทียบกับบอดี้ ก็ทำให้มีพื้นที่ในการใช้งานมากขึ้น เมื่อรวมกับความละเอียดระดับ 4K แล้วก็ยิ่งดูลงตัวมากขึ้น
ขอบจอที่บางเฉียบทั้ง 3 ด้าน ทำให้ดูเป็นแบบจอที่แทบไร้ขอบ ออกแบบมาเอาใจคนที่อยากได้โน๊ตบุ๊คขนาดกระทัดรัด แต่มีพื้นที่ทำงานที่มาก ผู้ใช้สามารถจัดสรรปรับขนาดฟอนต์จาก Windows ได้เอง เพื่อการมองเห็นที่ดีที่สุด แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อเอามาใช้ร่วมกับโปรแกรมอย่าง Photoshop, illustrator หรือ Adobe Premier ก็จะได้ช่องพรีวิว และการวางเครื่องมือ ที่เยอะขึ้นไม่น้อยเลย เหลือแค่เพียงการ Customize ของแต่ละคน ว่าจะทำให้ดูง่ายต่อการใช้งานเพียงใด
ASUS Zenbook 14X มีขอบจอทั้ง 3 ด้าน ที่บางเป็นพิเศษ โดยด้านบนมาพร้อมกล้องเว็บแคม ความละเอียดมาตรฐาน HD 720p สำหรับการใช้งานในโอกาสต่างๆ ได้ แต่ที่พิเศษก็คือ มี Privacy Shutter มาให้ เพื่อความเป็นส่วนตัว ที่สามารถปิดกล้องได้ เมื่อไม่ใช้งาน และไมโครโฟนคู่ ที่ให้เสียงคมชัด ตัดเสียงรบกวนได้ดี ขณะที่สนทนา รองรับการใช้งานร่วมกับ Cortana และ Alexa voice-recognition ในการเรียกใช้คำสั่งงานด้วยเสียง เป็นอะไรที่ค่อนข้างสะดวกทีเดียว
บานพับเป็นแบบ 2 จุด ทั้งด้านซ้ายและขวาของโน๊ตบุ๊ค ซึ่งเป็นแบบ ErgoLift อันเป็นเอกลักษณ์ของค่าย ด้านใต้ที่ยกขึ้นทำมุม 3 องศากับฐานตั้ง พร้อมหน้าจอกางออกได้สูงสุดที่ 150 องศา แม้จะกางได้น้อยกว่า ZenBook บางรุ่นที่กางได้ถึง 180 องศา แต่ก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกับ ZenBook 14 เกือบทุกรุ่น
ส่วนของหน้าจอด้านนอกที่เรียกว่า ZenVision นี้ เป็นจอขนาดเล็กที่อยู่บน Cover ใช้ในการแสดงสถานะ หรือข้อมูลบางอย่าง ให้ดูเป็นธีมหรือลูกเล่นน่ารักๆ แต่ก็ปรับแต่งได้ ตามความต้องการ มีให้เลือกเป็นภาพกราฟิก และเป็น Text รวมถึงวันเวลา และแบตเตอรี่ หรือจะใส่เป็น Tag ข้อมูลที่คุณต้องการได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าจะแสดงผลเป็นแบบขาว-ดำ เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับธีมของโน๊ตบุ๊ค
ตัวอย่างการปรับแต่ง ZenVision จากโปรแกรมที่มากับโน๊ตบุ๊ค อย่าง My ASUS ในหัวข้อ Customization
กับการทดสอบคุณภาพในการแสดงผล และขอบเขต ความแม่นยำของสีบนหน้าจอ ซึ่งก็ให้ผลออกมาตามคาด เพราะเมื่อดูจากบรรดา Certified ต่างๆ ผลพาแนลที่ทาง ASUS นำมาใส่ในโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น OLED ที่มี PANTONE® Validated, VESA CERTIFIED Display HDR True Black 500 และการันตีด้วย 100% DCI-P3 color gamut ล้วนแต่เป็นการตอกย้ำถึง ความมุ่งมั่นของ ASUS ในการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด และนำมาให้กับผู้ใช้ได้สัมผัสกันอย่างครบรส และผลที่ได้จากการทดสอบ เป็นไปตามตารางนี้
ในส่วนของ DCI-P3 ที่เป็นความแม่นยำของสีอุตสาหกรรมการผลิตวีดีโอและสื่อต่างๆ จะมีขอบเขตสีที่กว้างกว่าค่ายอื่นๆ เล็กน้อย ซึ่งตัวเลขที่ได้ในการทดสอบจอโน๊ตบุ๊ค ASUS นี้ สูงถึง 93% เลยทีเดียว ให้ความเที่ยงตรงของสีได้ดีมาก เช่นเดียวกับ Adobe RGB ที่ได้ถึง 100% ซึ่งหมายถึงการรองรับในงานสีสื่อสิ่งพิมพ์ได้ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงอาจกล่าวได้ว่า ASUS Zenbook 14X รุ่นนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในงานด้านภาพ และวีดีโอ รวมถึงการนำตัวอย่างไปให้ลูกค้าได้ชม และการผลิตงานที่สามารถนำไปเทียบงานโปรดักส์ชั่นที่ค่อนข้างซีเรียสกับความแม่นยำของสีได้ดีพอ และด้วยความแรงของซีพียูที่จัดมาไว้ในเครื่อง จึงเรียกว่าสามารถแก้ไขงานบางส่วนในหน้างานได้เลย
เรียกว่าหน้าจอเป็นสิ่งที่โดดเด่น ไม่แพ้ในเรื่องของซีพียูประมวลผลภายในเครื่องเลยทีเดียว เพราะสามารถแสดงผล ให้กับการใช้งานในด้านต่างๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสันอันสดใส ในการสนับสนุนการเล่นไฟล์ HDR และเปิดได้ทั้งการชมภาพยนตร์และเกมที่รองรับ อีกทั้งให้ภาพที่ดูลื่นไหนสบายตา ใครที่ชอบสไตล์ของแสงสี ที่มีการเกลี่ยแสงได้อย่างนุ่มนวล ต้องพึงพอใจกับภาพที่ปรากฏบนโน๊ตบุ๊ค ASUS Zenbook รุ่นนี้
แม้จะไม่ได้เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค แต่ก็เล่นเกมได้ คอเกมก็สามารถสนุกไปกับเกมโปรด โดยอิ่มเอมกับแสง เอฟเฟกต์ ที่ดูอลังการ ให้ความตื่นเต้นได้ดี แทบจะไม่ต้องไปปรับสิ่งใดเพิ่มเติมเลย เท่าที่ลองดูกับการ DOTA2 และ Diablo: Immortal บอกได้เลยว่าสะใจ แสงสีที่ได้ไม่ธรรมดา
แต่คนที่เน้นทำงานหรือท่องอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต้องคิดว่าใช้ได้ไม่เต็มที่ เพราะจอรุ่นนี้ ยังมาพร้อม 70% less harmful blue light ที่ลดแสงสีฟ้า ทำให้สบายตา แต่ก็ดูกลมกลืน ไม่ทำให้สีหน้าจอผิดเพี้ยนไป รวมถึงการทัชสกรีน และใช้ ASUS Stylus Pen ในการลากเลื่อน วาดหรือจดบันทึก บนหน้าจอได้สนุกสนาน จนอาจลืมไปเลยว่า กำลังใช้งานโน๊ตบุ๊ค ไม่ใช่แท็ปเล็ต สิ่งเดียวที่ต่างก็คือ โน๊ตบุ๊ครุ่นนี้พับจอ 360 องศาไม่ได้เท่านั้น
ลำโพงและระบบเสียงที่ให้มาบน ASUS Zenbook 14X Space Edition รุ่นนี้ เป็นแบบที่ให้มาบน Zenbook ในหลายๆ รุ่น นั่นคือ Harman/ Kardon และลำโพง 2W x2 จุดติดตั้งลำโพงอยู่ด้านใต้ของตัวเครื่อง เอียงกับพื้นโต๊ะ ให้เสียงสะท้อนออกไป
รองรับ Dolby Atmos และมี Smart Amplifier ในการเพิ่มพลังเสียง และเพิ่มมิติในการชมภาพยนตร์และการเล่นเกมได้อย่างสนุก จากการทดลองใช้ แนวดนตรีที่เน้นเสียงกลางทุ้ม มาได้ดี เสียงนักร้องชัด ส่วนเสียงแหลมให้ความใส และเก็บรายละเอียดได้ดีในระดับหนึ่ง การดูหนัง ฟังเพลงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนการเล่นเกม ยังให้มิติที่ชัดพอควร แต่ถ้าจะเน้นไปที่ทิศทางจัดเจน ก็คงต้องพึ่งพาหูฟังเกมมิ่งไว้ด้วย ส่วนด้านการสนทนา ยังคงชัดเจน ให้การประชุมเป็นไปอย่างราบลื่น แต่สายเพลงอคูสติก อาจไม่ได้เติมอารมณ์ได้ใสจัดๆ นัก แต่ก็ยังพอปรับแต่งเสียงจากซอฟต์แวร์อย่าง Dolby Access ได้เช่นกัน
ASUS Zenbook 14X ให้พอร์ตต่อพ่วงอาจจะไม่ได้เยอะมากนัก เป็นเรื่องปกติของโน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ แต่ก็ถือว่าครอบคลุมการใช้งานในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผล การต่ออุปกรณ์ หรือการขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูล พอร์ตทางด้านขวา จะเป็น USB 3.2 Gen2 และ Audio Combo Jack
พอร์ตทางด้านซ้ายมือ ประกอบด้วย Thunderbolt 4 มีให้ถึง 2 พอร์ต และข้างๆ กันเป็น HSMI 2.0 แบบตัวเต็ม
โดยที่พอร์ต Thunderbolt 4 นั้น จะทำหน้าที่ทั้งการรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วที่ 40Gbps, ใช้ในการต่อจอแสดงผลภายนอกในแบบ DP รวมถึงการเป็น USB-C Easy Charge โดยที่ใช้อุปกรณ์อแดปเตอร์ที่ให้มาแบบ 100W ในการชาร์จไฟ รวมถึงอุปกรณ์ที่เป็น PD หรือใช้ตัวชาร์จที่มีให้บริการทั่วไป และเพาเวอร์แบงก์มาชาร์จได้อีกด้วย
เรียกว่าเฉพาะพอร์ต Thunderbolt 4 ที่ให้มาถึง 2 พอร์ต ก็ดูจะได้เปรียบกว่าโน๊ตบุ๊คในระดับเดียวกัน ที่บางรุ่นก็ให้มาเพียงพอร์ตเดียวเท่านั้น
เรื่องของน้ำหนักตัวโน๊ตบุ๊คอยู่ที่ประมาณ 1.47 กิโลกรัม ใกล้กับที่ทาง ASUS เคลมเอาไว้ ส่วนอแดปเตอร์อยู่ที่ราวๆ 380 กรัม รวมสาย DC Cable ทั้งหมดแล้ว ก็ยังถือว่าเบามากๆ เข้าใจสายพกพาได้ดีทีเดียว
ในส่วนของอแดปเตอร์เป็นแบบ 100W ขนาดกระทัดรัดมาก ขนาดไม่ถึงฝ่ามือ โยนใส่กระเป๋า เอาไปใช้งานข้างนอกได้สบาย ชาร์จได้ไวมาก เป็นแบบ USB-C
ASUS Zenbook 14X มาพร้อมซีพียูที่เป็นขุมพลังจาก Intel Core i9-12900H ทำงานในแบบ 14 core (6P + 8E), 20 Thread จัดว่าเป็นตัวท็อปของในซีรีส์นี้ มั่นใจได้ในเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน และการเล่นเกม ด้วยความที่ไม่ได้เน้นไปที่เกมเป็นหลัก แต่ซีพียูรุ่นนี้ ก็ช่วยในด้านการทำงานมัลติมีเดีย ตัดต่อวีดีโอเบื้องต้นและคนที่ทำงานด้านกราฟิกไปต่อได้อย่างลื่นไหล
ในรุ่นที่เราได้มาทดสอบนี้ มีแรมให้ถึง 32GB จัดเต็มมาให้ โดยที่ไม่ต้องอัพเกรดแล้ว อีกทั้งเป็นแรม DDR5 อีกด้วย
การทดสอบพื้นฐานกับโปรแกรม CPUz เมื่อเทียบกับซีพียู Intel Core i7-10700 อันเป็นซีพียูเดสก์ทอป จะเห็นได้ชัดว่า Intel Core i9-12900H ที่เป็นซีพียูโมบาย ทะยานแซงหน้าทั้งในด้านของ Single Thread และ Multi-thread ไปอย่างน้อย 3-4% แต่ในแง่ของการทำงานจริงก็ต้องมาทดสอบกันอีกครั้ง
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เป็น SSD ซึ่งติดตั้งเข้ามาบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ความจุมากถึง 1TB เอาใจคนที่มีทั้งโปรแกรม เกม และไฟล์ที่ต้องการบันทึก มาในแบบ M.2 NVMe PCIe 4.0 x4 ที่แสดงศักยภาพให้เห็นในการทดสอบบน CrystalDiskMark ให้ความเร็วในการอ่านได้ถึง 7,000MB/s และการเขียนข้อมูลที่มากกว่า 5,000MB/s อีกด้วย สิ่้งนี้ช่วยให้ผู้ใช้แทบไม่ต้องรอเวลาที่เปิดเครื่องใช้งาน ไม่ว่าจะเปิดหลังจาก Hibernate/ Sleep หรือจะเพาเวอร์ออนระบบ ก็จะพร้อมทำงานในเวลาไม่กี่วินาที รวมถึงคนที่มีโปรแกรมจำนวนมาก และเปิดไฟล์ที่รวดเร็ว หาไฟล์ได้ไว เช่นเดียวกับการโอนถ่ายข้อมูลในระดับ 10GB ที่ทำได้เพียงชั่วอึดใจเท่านั้น
การทดสอบ PCMark 10 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแทนทดสอบความสามารถของระบบโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านซอฟต์แวร์สำนักงาน ด้านมัลติมีเดีย หรือ Productivity ที่เกี่ยวข้องกับงานวีดีโอ และกราฟิก โดยตัวเลขที่ได้จากการทดสอบ สูงถึง 6,121 คะแนน ซึ่งเทียบเท่ากับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในระดับเริ่มต้น แต่อย่าลืมว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้มาในแบบบางเบา และไม่ได้มีกราฟิกแยกแต่อย่างใด แต่กลับทำคะแนนได้ค่อนข้างสูงทีเดียว โดยเฉพาะในด้าน Essentials ซึ่งเป็นการใช้งานโดยทั่วไปและเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้โน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ และคะแนนด้าน Rendering และ Photo Editor ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน ส่วนหลักๆ ก็คือ อานิสงจากซีพียูตัวแรงอย่าง Intel Core i9 และแรม DDR5 รวมถึง SSD M.2 PCIe 4.0 ล้วนแต่ทำให้ผู้ใช้สามารถอิ่มเอมไปกับการใช้งานในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่
มาที่การทดสอบด้านโมชั่นกราฟิกที่เป็นโปรแกรมตัวแทน CINEMA4D ด้วยการเรนเดอร์กราฟิก 3 มิติด้วย CINEBench ทั้ง 3 เวอร์ชั่น ตัวเลขที่ได้นั้นเป็นไปตามคาด เพราะส่วนใหญ่เรียกพลังการทำงานจากซีพียูทั้งในด้านการทำงานของ Thread และการคำนวณจากซีพียูเป็นหลัก และตัวเลขที่ได้ก็ถือว่าดึมากๆ นั่นก็เพราะ Intel Core i9-12900H ก็ถือเป็นซีพียูโมบายที่มีพลังในการประมวลผลที่สูง และใช้สถาปัตยกรรมใหม่ ทำให้ตัวเลขในหลายส่วน แซงหน้าซีพียูระดับเดสก์ทอปที่เป็นตัวท็อปๆ ไปได้ไม่ยาก ใครที่เน้นการทำงานเหล่านี้ ก็พอวางใจได้
ในเรื่องของการเล่นเกมนั้น อาจจะไม่ได้เน้นหนักมากนัก เพราะหลักๆ น่าจะอยู่ที่พลังในการทำงาน และฟีเจอร์ในการทำงานรอบด้านเป็นหลัก แต่ด้วยกราฟิก Intel Iris Xe Graphic ที่มีมาในซีพียู Intel Core i9 รุ่นนี้ ก็ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะและพอมีเรี่ยวแรงในการเล่นเกมหลายๆ อย่างได้ไม่ยาก เช่น DOTA2, PUBG, Apex Legend หรือจะเป็น Diablo: Immortal ก็ตาม ตัวอย่างเช่นในเกม DOTA2 นี้ เราปรับการเล่นไปที่ Full-HD 1080p และตั้งค่าเป็น Best Looking เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เฟรมเรตที่ได้อยู่ในระดับ 73fps. โดยเฉลี่ย และสูงสุดไปได้ถึง 89fps. แม้ว่าในช่วงที่เจอเอฟเฟกต์หนักๆ จะลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้ๆ กับ 70fps. ได้ ดังนั้นการเล่นเกมแนวนี้ ก็ทำให้คุณสนุกและได้ภาพที่สวยไปด้วย ส่วน PUBG อาจจะต้องปรับไปที่ Low และลด Render scale ลงบ้าง เพื่อให้ได้ภาพที่ลื่น และมองเห็นศัตรูได้ง่ายขึ้น
มาถึงเรื่องของการใช้พลังงาน ASUS Zenbook 14X กันบ้าง แบตเตอรี่ที่ทาง ASUS ให้มานี้ เป็นแบบ 3 cell. 63 Whr ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ หากเทียบกับโน๊ตบุ๊คในแบบบางเบาทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เราจะเจอกันที่ 40Whr โดยเฉลี่ย และด้วยความที่ให้แบตมาแบบนี้ ในการทดสอบที่ใช้การเปิดวีดีโอสตรีมมิ่งต่อเนื่อง เปิดความสว่างหน้าจอที่ 20% และเสียงที่ 30% โดยประมาณ ก็สามารถใช้งานได้นาน 8-9 ชั่วโมงเลยทีเดียว และที่สำคัญยังชาร์จไฟได้ไวอีกด้วย ทำให้ไม่ต้องรอนาน กับงานที่สำคัญของคุณ ชาร์จไม่กี่นาที ก็เอามาใช้ได้ยาวๆ แล้ว
ชุดระบายความร้อนของ ASUS ZenBook 14X นี้ มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า IceCool ซึ่งมีการทำงานของฮาร์ดแวร์ผสมผสาน ด้วยพัดลมที่ออกแบบใบพัดลม 87 ใบ และกลไกที่ช่วยให้ใช้งานได้นานขึ้น และแม้ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊คในกลุ่มทำงาน ที่มีขนาดบาง แต่ก็ให้พัดลมมาถึง 2 ตัวด้วยกัน และฮีตไปป์ 2 เส้น เป็นแบบทองแดง เสียงรบกวนค่อนข้างน้อยที่ประมาณ 35dBA เท่านั้น ในโหมดปกติ แต่จะดังขึ้นก็ไม่มาก เมื่ออยู่ในโหมด Performance เรียกว่าเร่งความเร็วในการทำงานได้ แบบที่คุณไม่ต้องเขินกับเสียงที่เพิ่มเข้ามา โดยในการทดสอบอุณหภูมิการทำงาน ด้วยการเร่งความเร็วของซีพียูในแบบ Full-load 100% ทั้งในส่วนของ P core และ E core อุณหภูมิไปอยู่ที่ประมาณ 79-81 องศาเซลเซียสในระดับแกนหลัก แต่ส่วนของ Package อาจจะดูสูงไปบ้าง แต่ถ้าสังเกตดีๆ การควบคุมอุณหภูมิของซีพียู และประสิทธิภาพการระบายความร้อนของระบบ ดูสอดคล้องและทำให้ซีพียูเย็นลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมั่นใจได้ว่าคุณจะใช้งานได้แบบยาวๆ เพราะโดยปกติการใช้งานทั่วไป ก็แทบจะไม่ได้เจอโหลดหนักๆ แบบนี้มากนัก นั่นหมายความว่าระบบจะเย็นกว่านี้อีกพอสมควร และแทบจะเย็นมากๆ หากเทียบกับโน๊ตบุ๊คบางๆ เบาๆ ในแบบเดียวกันอีกด้วย
นอกจากนี้ Zenbook 14X OLED Space Edition รุ่นนี้ ก็ยังมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ในการตรวจเช็ค มอนิเตอร์ และดูแลระบบ รวมถึงผู้ใช้ให้ด้วยคำแนะนำ จากเจ้าหน้าที่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ MyASUS ที่มีทั้งระบบ แจ้งเตือนการอัพเดต ไดร์เวอร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงการตั้งค่าระบบพลังงาน เช่น Battery Health Charge ที่ให้คุณปรับตั้งค่า Power Options ตอบความต้องการ เช่น ต้องการประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน หรือได้ทั้ง 2 แบบ
รวมถึงการดูแลแบตเตอรี่ ให้ใช้ได้ยาวนาน หรือจะเป็น Fan Profile ที่เลือกได้ว่า ต้องการให้ระบบจัดการความร้อนในช่วงที่ใช้นั้นอย่างไร เน้นเสียงรบกวนน้อยในช่วงประชุม หรือระหว่างเล่นเกม ก็เปิดเป็น Performance รวมถึงการตั้งค่า AI Noise-Cancelling Microphone ได้อีกด้วย รวมถึงการแจ้งข่าวสารจากทาง ASUS และอื่นๆ อีกเพียบ ใครที่ใช้โน๊ตบุ๊คจากค่ายนี้ แนะนำเลยว่าควรจะหาติดตั้งเอาไว้ ได้ใช้งานแน่นอน
โดยกล่องนี้ เมื่อนำโน๊ตบุ๊คมาวาง จะทำมุมเอียง เพื่อรับกับการพิมพ์ เมื่อวางมือที่ 23 องศา ถามว่าใช้งานได้จริงมั้ย ส่วนตัวมองว่าใช้งานได้ดี ยิ่งหากได้โต๊ะที่วางกล่องได้แบบไม่ลื่น หรือใช้แทนแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ได้เช่นกัน หรือต่อคีย์บอร์ดแยกก็ยิ่งสะดวก คือทาง ASUS มองว่าไม่อยากให้เป็นสิ่งของที่ถูกวางไว้เฉยๆ เอามาประยุกต์ใช้งานต่อได้
ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นโน๊ตบุ๊คที่สร้างมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ หรือการเป็น Edition ที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ เพราะ ASUS ได้เติมเต็มสิ่งที่สำคัญเอาไว้มากมาย ตั้งแต่ในเรื่องของรูปลักษณ์ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ให้ความแข็งแรงด้วยวัสดุที่มีความทนทานผ่าน MIL-STD และยังมีน้ำหนักเบา และให้เข้ากับการครบรอบ 25 ปีของโน๊ตบุ๊ค ASUS รุ่นแรก ที่เดินทางไปกับยานอวกาศ และองค์ประกอบต่างๆ เช่น Zen Screen, Zero-G Titanium Color ที่ดูล้ำสมัย จอแสดงผล OLED ความละเอียด 4K HDR, และ PANTONE Validated ที่ล้วนแต่ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการทำงาน ความบันเทิง ในชีวิตประจำวัน เคียงคู่กับขุมพลังอย่างซีพียู Intel Core i9-12900H และแรม DDR5 32GB อีกทั้งใส่ SSD M.2 NVMe PCIe 4.0 x4 ให้ความเร็วในการทำงานได้ถึงขีดสุดมาอีกด้วย เช่นเดียวกับพอร์ต Thunderbolt 4 มาอีก 2 พอร์ตด้วยกัน
นอกจากนี้ยังได้ Microsoft Office Home & Student 2021 สำหรับการใช้งาน Word, Excel, Power Point ติดเครื่องมาให้ ไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม และการรับประกัน 3 ปี On-site Service พร้อมประกันอุบัติเหตุ Perfect Warranty 1 ปีแรก กับราคาโน๊ตบุ๊คที่เป็นลิมิเตทแบบนี้ กับราคาเริ่มต้นเพียง 53,990 บาท ส่วนรุ่นที่เราได้มาทดสอบนี้เป็นรุ่นท็อปอยู่ที่ 63,990 บาท ได้โน๊ตบุ๊คพลังแรง น้ำหนักเบา และดีไซน์พิเศษๆ แบบนี้ นับว่าเป็นราคาที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
รางวัลนี้ดูจะลงตัวและเข้ากับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบอดี้ที่ดูบางและสีสัน Zero-G Titanium ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อย และไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามทันสมัย ต่างจาก Zenbook ทั่วไป แต่ยังมาคู่กับฟีเจอร์ที่เพิ่มคุณค่าให้กับการใช้งานในแต่ละวันเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Zen Screen ที่เป็นจอภาพที่สองอยู่ด้านนอก ปรับแต่งได้ตามต้องการ ชุดสแกนลายนิ้วมือ ที่ซ่อนมากับปุ่มเพาเวอร์ หรือจะเป็นทัชแพดที่มี NumberPad มาในตัว เปิด-ปิดได้ตามต้องการ ความบางของบอดี้และกรอบจอที่บางเป็นพิเศษ ให้การยกตัวด้วย เพื่อเข้ากับมุมการวางมือ รวมไปถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายใต้โน๊ตบุ๊คอันดูกระทัดรัดเช่นนี้ รางวัล Best Design เป็นจุดที่ลงตัวที่สุด
ในส่วนนี้เราขอรวมรางวัลความคล่องตัวเข้าไปด้วยกับความ Mobility นี้ เพราะไม่ใช่แค่เพียงรูปลักษณ์ที่บาง น้ำหนักแค่ 1.4Kg เท่านั้น แต่มองลึกลงไปถึงเรื่องของหน้าจอแสดงผล ที่ให้ความละเอียดระดับ 4K และขอบจอบาง ทำให้พื้นที่ใช้งานมากขึ้น เช่นเดียวกับการใส่พอร์ต Thunderbolt 4 มาให้ถึง 2 พอร์ต ที่รวมฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผล โอนถ่ายข้อมูลหรือการชาร์จไฟก็ตาม รวมถึงไม่ต้องจดจ่ออยู่กับคีย์บอร์ดเพียงอย่างเดียว แต่ยังทัชสกรีนได้ หรือจะใช้การเขียนด้วย ASUS Stylus Pen บนหน้าจอ จะวาด เขียน จด ทำสัญลักษณ์ก็สะดวก
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.