DELL Inspiron 5415 โน๊ตบุ๊คไลฟ์สไตล์ ชาร์จไว แบตใช้ได้กว่า 10 ชั่วโมง เต็มพลัง AMD Ryzen 5 ราคาเบาๆ
Dell Inspiron 5415 โน๊ตบุ๊คที่มีมิติบางเบา เหมาะทั้งงานธุรกิจ และการใช้งานในชีวิตประจำวัน ด้วยการมาพร้อมขุมพลัง AMD Ryzen 5 ที่ทำงานในแบบ 6 core/ 12 thread และกราฟิก Radeon Graphic ที่รองรับทั้งความบันเทิง และงานกราฟิกพื้นฐานได้ดี มาในรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยความบาง กระทัดรัด บนหน้าจอขนาด 14″ FHD ภาพคมชัด และน้ำหนักแค่ 1.44 กิโลกรัมเท่านั้น ปุ่มคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ มีแสงไฟ Backlit มองเห็นได้ชัด แบตเตอรี่สุดอึดใช้ได้นานกว่า 10 ชั่วโมง พอร์ตต่อพ่วง และพอร์ตสัญญาณแสดงผล ก็มีเกือบครบครัน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มองหาโน๊ตบุ๊คบาง กระชับ น้ำหนักเบา พกพาสะดวก และเพิ่มความปลอดภัย ด้วยระบบสแกนลายนิ้วมือ อุ่นใจกับการรับประกัน 2 ปีแบบ Onsite service ในราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น
Dell Inspiron 5415 บางเบา อย่างมีสไตล์
ข้อมูลเพิ่มเติม: DELL Inspiron 5415
จุดเด่น
- น้ำหนักเบาแค่ 1.44 กิโลกรัม
- เปิดเครื่องเข้าสู่ระบบได้รวดเร็ว
- ขุมพลังซีพียู AMD Ryzen 5 5500U ตอบสนองได้ดี
- แบตอึด ใช้งานได้มากกว่า 13 ชั่วโมงในการทดสอบ
- การระบายความร้อนอยู่ในระดับที่ดี
- อัพเกรดแรมและ SSD ได้
- มีฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือ เพื่อเข้าระบบ
- มีไฟ Backlit บนคีย์บอร์ด
ข้อสังเกต
- ปุ่มปรับระดับแสงไฟไม่ได้
- ไม่มีพอร์ต RJ-45
- น่าจะให้ SSD ความจุมากกว่านี้อีกหน่อย
Specification
Dell Inspiron 5415-W5662141012TH | |
Color | Platinum Silver, Peach Dust |
Material | Aluminum |
Display | 14″ Full-HD IPS panel 60Hz |
CPU | AMD Ryzen 5 5500U |
RAM | DDR4 3200 8GB |
Storage | SSD M.2 NVMe PCIe 256GB |
Graphic | Radeon Graphic Integrate |
Keyboard | Chiclet Thai version w/Backlit |
Port connector | 2x USB 3.2 Type-A 1x USB 3.2 Type-C 1x HDMI 1x MicroSD media card reader |
Network | WiFi 6, BT 5.0 |
Webcam | HD 720p |
Weight | 1.44Kg |
Battery | 4-cell, 54Wh |
OS | Windows 10 Home |
Warranty | 2 Year, Onsite service |
Price | 22,490 บาท |
Hardware / Design
DELL ออกแบบบอดี้ของ Inspiron ให้ยังคงความดั้งเดิมอยู่ในหลายจุด และเรื่องของสีสัน ยังเป็นโทนสีเงินที่มีพื้นผิวให้จับสัมผัสง่าย เช่นเดียวกับ Cover ที่มีโลโก้ DELL อยู่ตรงกลาง ให้ดูเรียบง่าย แต่ก็สะดุดตา ในแง่ของมิติ ดูจับต้องง่าย พกพาสะดวก ไม่ต้องกลัวเรื่องเป็นรอยมากนัก ส่วนวัสดุเป็นอะลูมิเนียมเกือบทั้งหมด ทำให้น่าสัมผัสมากยิ่งขึ้น มีให้เลือก 2 สีคือ Platinum Silver และ Peach Dust
น้ำหนักเบาแค่ 1.44 กิโลกรัม ทำให้วางถือบนมือเดียวได้ในระยะหนึ่ง แม้ไม่เข้าขั้นระดับ Slim มากนัก แต่ก็เดินถือไปใช้งานได้สะดวก ไม่ว่าจะใช้ในบ้าน หรือเดินข้ามไปอีกแผนกหรืออีกอาคาร ก็ยังไหว กรอบหน้าจออาจไม่ได้บางเฉียบ แต่เรื่องพื้นที่หน้าจอ 14″ นี้ ผู้ใช้สามารถดูพื้นที่ได้แบบสบายตา
ความบางเป็นพื้นฐานของโน๊ตบุ๊ค DELL รุ่นนี้ ซึ่งสามารถใส่กระเป๋าพกพาไปใช้นอกสถานที่ได้สบาย ไม่ต้องใช้กระเป๋าใบใหญ่โต และด้วยน้ำหนักที่เบา เหมือนเราพกหนังสือหรือนิตยสาร ไปอ่านนอกสถานที่ได้ และใครที่ใช้งานไม่หนักมาก ก็แทบจะไม่จำเป็นต้องพกอแดปเตอร์ไปด้วยเลย เพราะแบตค่อนข้างอึดทีเดียวสำหรับโน๊ตบุ๊คนี้
พอร์ตต่อพ่วง มีให้ใช้พอสมควร แม้จะไม่ได้เยอะมาก แต่ก็มีอยู่ครบ ตามการใช้งานของผู้ใช้ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น USB Type-A, USB Type-C หรือจะเป็น HDMI และ MicroSD card reader ก็ตาม ภายใต้บอดี้ที่บางแบบนี้ จัดว่าทำได้ดี
กล้องเว็บแคม HD 720p ให้ความคมชัดพอสมควร สำหรับการเรียนออนไลน์ ทำงาน WFH หรือจะใช้ในการพรีเซนเทชั่น ก็ยังรับไหว ความลื่นไหลต่อเนื่องทำได้ดี
ตัวโน๊ตบุ๊คแม้จะมีความบางก็ตาม แต่ DELL ก็ยังให้ความสำคัญกับการระบายความร้อน โดยให้ฝาปิด Cover เป็นตัวยกบอดี้ให้สูงขึ้น สำหรับการเพิ่มช่องว่างให้ลมเย็นเข้ามาด้านใต้ได้สะดวก และปรับมุมเอียงของหน้าจอ ให้สอดคล้องกับการใช้งานในแต่ละโอกาส
DELL ใส่ใจในการใช้งานของผู้ใช้ ในการออกแบบคีย์บอร์ด จึงทำปุ่มคีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าปกติ 8.7% เพื่อความแม่นยำในการกด โดยเฉพาะคนที่มีนิ้วค่อนข้างใหญ่ จะได้ไม่พลาด และไม่ลืมที่จะใส่แสงไฟ Backlit บนปุ่มคีย์มาให้ด้วย ทัชแพดขนาดใหญ่ เหมาะกับคนที่เน้นใช้งานโดยตรง ไม่ว่าจะทำเอกสาร ท่องอินเทอร์เน็ต หรือเทรดหุ้น สะดวกมากขึ้น
พื้นที่ด้านใต้ของโน๊ตบุ๊คออกแบบมาเรียบง่ายด้วยเช่นกัน และเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรง พร้อมช่องระบายความร้อน เป็นแนวยาวตลอดด้านใต้
ประสิทธิภาพ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร หากเทียบกับโน๊ตบุ๊คที่มีความบางเบา และราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจากการทดสอบของทีมงาน แสดงให้เห็นว่า DELL Inspiron รุ่นนี้ ไม่ได้มีดีแค่ความบาง หรือแบตที่อึดเท่านั้น แต่ยังรองรับการเล่นเกมเบาๆ ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
เรื่องของน้ำหนักจากการชั่งรวมโน๊ตบุ๊คและอแดปเตอร์ อยู่ที่ประมาณ 1.75 กิโลกรัมเท่านั้น เบากว่าโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในระดับเดียวกัน
Keyboard / Touchpad
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น DELL Inspiron รุ่นนี้ มาพร้อมกับคีย์บอร์ดมาตรฐาน บนเลย์เอาท์ของโน๊ตบุ๊ค 14″ แต่ทาง DELL ออกแบบปุ่มให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ทำให้ใช้พื้นที่บนโน๊ตบุ๊คได้เต็มที่มากขึ้น อีกทั้งผู้ใช้ยังกดได้แม่นยำกว่าเดิม โดยเฉพาะใครหลายๆ คนที่พิมพ์สัมผัส จะมั่นใจได้เลยว่ากดไม่พลาดแน่นอน
คีย์แพดหรือปุ่มกด ออกแบบมาเป็นพื้นสีเทา ให้เข้าไปกับธีมสีของโน๊ตบุ๊ค แต่ดูมีความสว่างมากกว่า พร้อมกับฟอนต์สีขาวที่ทำออกมาได้อย่างสะดุดตา ฟอนต์ภาษาไทยจะเล็กนิดหน่อย แต่ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก เพราะยังเห็นได้ชัดเจน ส่วนระยะการกดและการตอบสนองจะไวพอสมควร หากเทียบกับคีย์บอร์ดเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คบางรุ่น ซึ่งดูแล้วเหมาะกับในหลายๆ งานในชีวิตประจำวัน
ตัวปุ่มด้านบนเป็นฟังก์ชั่น ซึ่งประกอบไปด้วย การเพิ่ม-ลดเสียง, Play/Pause, เปิด-ปิด แสงไฟคีย์บอร์ด, เพิ่ม-ลดความสว่างหน้าจอ, Signal-output, รวมไปถึง ปุ่มที่ใช้จับภาพหน้าจอ
และปุ่ม Insert, Delete และปุ่มขวาสุดใช้เป็นปุ่มเพาเวอร์ และใช้สำหรับสแกนลายนิ้วมือ เพื่อเข้าใช้งานระบบ ใช้ร่วมกับ Windows Hello ได้อีกด้วย
ทัชแพดขนาด กว้าง x ยาว อยู่ที่ประมาณ 7cm x 11.5cm ถือว่าเป็นทัชแพดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และวางอยู่ตรงกลางที่วางมือ ทำให้ผู้ใช้ที่เน้นงานพิมพ์หรือทำงานด้านเอกสารเป็นหลัก สะดวกมากขึ้น ปุ่มกดซ้าย-ขวา ถูกซ่อนเอาไว้ด้านใต้ แต่อยู่ลึกนิดหน่อย ทำให้ต้องใช้แรงในการกดที่มากขึ้นอีกนิด ส่วนการใช้งาน Multi-touch gesture ยังง่ายดายและรวดเร็ว
-
backlit-off -
backlit-on
การปรับแสงไฟและความสว่างของปุ่ม ทำได้เพียงเปิดและปิดแสงไฟเท่านั้น ตัวอย่างภาพทางด้านซ้ายปิดไฟ ส่วนภาพด้านขวาคือ เปิดไฟ ความต่างเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้การใช้งานในพื้นที่แสงน้อย หรือในห้องมืด หรือช่วงระหว่างการเดินทาง ก็ให้ความสว่างได้ดีในระดับหนึ่ง
บริเวณที่วางมือทางด้านซ้าย เป็นรายละเอียดการรับประกัน Dell Premium Support เรื่องของการบริการหลังการขาย และให้คำแนะนำ สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับการรับซ่อมแบบ On-site ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์เลยนะ ติดไว้ให้เห็นชัด เกิดอะไรขึ้นดูเบอร์ติดต่อได้ทันที ไม่เหมือนใคร
ส่วนทางด้านขวา เป็นสติ๊กเกอร์โลโก้ AMD Ryzen 5 และ AMD Radeon Graphic ที่บอกถึงขุมพลังบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้
Screen / Speaker
มาที่หน้าจอแสดงผลกันบ้าง สำหรับ DELL Inspiron 5415 รุ่นนี้ ให้จอแบบ IPS ความละเอียด Full-HD 1080p พื้นที่แสดงผล 14″ เป็นแบบ Anti-glare ลดแสงสะท้อนได้ดีพอสมควร
ขอบจอด้านบนมาพร้อมกล้องเว็บแคม 720p มาพร้อมชัตเตอร์ สามารถเลื่อนปิดได้ เมื่อไม่ใช้งาน พร้อมไมโครโฟนที่ใช้ในการสนทนา ให้เสียงที่คมชัดพอสมควร
ขอบจอถือว่าทำออกมาได้บางทีเดียว แม้จะไม่ถึงกับเป็นแบบไร้ขอบ แต่เรื่องความแข็งแรง จัดว่าทำได้ดี เหมาะกับโน๊ตบุ๊คบางๆ เช่นนี้ ส่วนตัวมองว่า ไม่ต้องบางถึงขนาดที่ว่า เวลาจับหรือเปิดโน๊ตบุ๊ค แล้วมือไปโดนหน้าจอบ่อยๆ จนเป็นรอยนิ้วมือนั่นเอง
แต่ก่อนจะไปเรื่องของมุมองศา และการเปิดหน้าจอโน๊ตบุ๊ค สิ่งหนึ่งที่อยากจะชมก็คือ DELL ยังคงออกแบบบานพับมาได้ดีบน Inspiron รุ่นนี้ เพราะมีความแข็งแรงสูง โดยกางได้มากสุดที่ 140 องศา แม้ว่าจะไม่ได้กางถึง 180 องศา แต่ก็ใกล้เคียง และให้ผู้ใช้สามารถเลือกองศาการมองได้สะดวก
DELL Inspiron 5415 รุ่นนี้ มาในขนาดหน้าจอ 14” ให้ความละเอียด Full-HD เรื่องมุมมองค่อนข้างกว้าง ดูได้จากมุมซ้าย-ขวา แสงสี ก็แทบจะไม่ผิดเพี้ยน
ลำโพง 2W อยู่ด้านใต้เครื่อง ไม่เน้นรายละเอียดมากนัก แต่เอฟเฟกต์หนักใช้ได้ เหมาะกับการดูหนัง เล่นเกมเพลินๆ กับใช้ฟัง Podcast เป็นที่สุด
เรื่องของสีสันยังคงตอบโจทย์ในด้านการเล่นเกมได้ดีพอสมควร ความสวยงาม เอฟเฟกต์และความต่อเนื่องของภาพ เต็มขอบจอให้ดูได้เต็มตา
เรื่องการสตรีมมิ่งดูวีดีโอก็จัดว่าคมชัด อยู่ในเกณฑ์ที่ดี การเล่นไฟล์วีดีโอระดับ 4K ก็ลื่นไหล สีสันสดใส เอาใจคนที่ชอบใช้ชีวิตติดซีรีส์ได้ดีทีเดียว
ภาพที่ได้การการชมวีดีโอผ่านทาง Youtube ในมุมมองต่างๆ และหน้าจอยังลดแสงสะท้อนได้ดีพอสมควร ซึ่งจากที่ได้ลองนำไปใช้นอกสถานที่ หากไม่กางจอเจอแดดจัดจริงๆ ก็ยังสู้แสงได้ไม่ยาก ภาพยังชัดเจนดี
และผลการทดสอบ ขอบเขตของสีสันมาตรฐาน sRGB อยู่ที่ 59.9% และ AdobeRGB 41.2% อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจอภาพทำงาน ไม่ได้เน้นความจริงจังกับการทำงานด้านภาพ สี กราฟิกโดยตรง และโดยพื้นฐานโน๊ตบุ๊คบางเบาแบบนี้ จะเน้นไปที่การพรีวิวมากกว่าการ Edit งานหนักๆ แต่ถ้าต้องการสีสันที่แม่นยำมากขึ้น แนะนำให้ใช้จอคอมแบบแยก ในกลุ่มของสตูดิโอมาต่อเพิ่มเติม เพราะเลือกใช้สัญญาณได้ทั้ง HDMI และ DP จากโน๊ตบุ๊คได้เลย แต่ที่น่าสนใจคือ ให้ความสว่างหน้าจอมาเกือบ 200 cd/m2 ทำให้ตอบสนองการแสดงผลได้ดีทีเดียว ทั้งงานและความบันเทิง
Connector / Thin And Weight
พอร์ตการเชื่อมต่ออุปกรณ์ อาจจะไม่ได้มีมาให้มากมาย เหมือนกับโน๊ตบุ๊คไซส์ระดับ 15.6″ ซึ่งมีน้อย แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
ทางด้านซ้าบยของตัวเครื่อง ประกอบด้วย DC Adaptor, HDMI ตัวเต็ม, USB 3.2 Type-A และ USB Type-C ที่พิเศษคือ USB-C นี้ สามารถส่งสัญญาณออกไปยังจอภายนอกได้ ในช่องทางของ DP นั่นเอง รวมแล้วจะแสดงผลได้ถึง 3 จอเลยทีเดียว
ส่วนทางด้านขวา มีพอร์ต USB 3.2 Gen2 Type-A และ MicroSD media card reader รวมถึง Combo Audio jack
เรียกว่าแต่ละพอร์ตพร้อมสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะใช้ External HDD, USB Flash drive หรืออ่านไฟล์จากเมมโมรีการ์ด รวมถึงการส่งสัญญาณแสดงผลไปยังจอภายนอกก็มีให้ใช้ครบครัน สิ่งที่ขาดไปบ้างก็คือ RJ-45 และน่าจะมี USB-C เพิ่มขึ้นอีกสักพอร์ต เพื่อเพิ่มช่องทางการใช้งานมากขึ้น
เรื่องน้ำหนักไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับชายร่างกำยำ เพราะสามารถเดินถือไปมาได้สะดวก หรือจะใส่ในกระเป๋าเป้สักใบในการเดินทางไปที่ต่างๆ ส่วนสาวๆ อาจจะมีเมื่อยๆ อยู่บ้าง หากจะต้องหิ้วเป็นเวลานานๆ อย่างไรก็ดี โดยพื้นฐานการใช้งานบนโต๊ะ หรือร้านกาแฟ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ข้อดีคือ คุณสามารถเปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานได้ตลอดเวลา เพราะแบตก็อึด และน้ำหนักก็เบาเพียง 1.44 กิโลกรัมเท่านั้น
มิติหนาสุดที่ด้านท้ายตัวเครื่อง 1.8mm เท่านั้น ใส่ไว้ในซองกระดาษหิ้วไปได้เลย หรือกระเป๋าใบเล็กๆ ความจุ 20 ลิตรก็ยังไหว
น้ำหนักเมื่อชั่งโน๊ตบุ๊ค DELL Inspiron 5415 พร้อมกับอแดปเตอร์ อยู่ที่ประมาณ 1.75 กิโลกรัมเท่านั้น
Inside / Upgrade
เมื่อแกะดูด้านใน จะเห็นพื้นที่ที่ถูกจัดวางองค์ประกอบไว้อย่างลงตัว มีบางส่วนอาจจะเบียดไปบ้าง แต่ก็พอมีช่องทางให้ลมไหลผ่านได้ง่าย กับแบตเตอรี่ 4-cell, 54 WHr ขนาดใหญ่ด้านล่าง
พัดลมระบายความร้อนขนาดใหญ่ มาพร้อมฮีตไปป์ 2 เส้น วางคู่ขนานไปยังซีพียู ซึ่งเป็นรูปทรงที่แปลกตาพอสมควร แต่ก็ให้การทำงานได้ดี ไม่เกะกะ ขยับมาด้านข้าง เป็นสล็อตติดตั้งแรม DDR4 มาให้ 2 สล็อต
สล็อตแรกมีแรมพื้นฐานมาให้ DDR4 3200 8GB ในแบบ SO-DIMM ซึ่งยังเหลืออีก 1 สล็อต สำหรับการอัพเกรดในภายหลัง
ส่วนลงมาตรงกลางโน๊ตบุ๊ค จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ใกล้กับพัดลม ติดตั้งโมดูล WiFi 6 มาให้ ใกล้กันจะเป็น SSD ในแบบ M.2 NVMe PCIe 3.0 ความจุ 256GB ขนาด 2230 แต่ก็รองรับการอัพเกรด เป็นในโมดูลในแบบ 2280 ได้ ตามตัวล็อคที่มีให้ไว้นี้
โดยสรุปการอัพเกรด จากการที่เราลองแกะออกมาดูนั้น มีด้วยกัน 2 จุด ที่ผู้ใช้สามารถอัพเกรดได้ สิ่งแรกคือ แรม DELL ให้สล็อตแรม SO-DIMM มา 2 สล็อต อัพได้ที่ 16GB และถัดมาเป็นช่อง M.2 NVMe PCIe โดยเป็นการเปลี่ยนโมดูลให้มีความจุมากขึ้น ส่วนที่เป็นพอร์ต SATA หรือ 2.5” ไม่มีพื้นที่ให้เห็นอยู่ภายใน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมิติที่มีข้อจำกัดอยู่นั่นเอง
Performance / Software
มาดูรายละเอียดของสเปคต่างๆ ที่อยู่ภายในโน๊ตบุ๊ค DELL Inspiron 5415 นี้ ซีพียู AMD Ryzen 5 5500U แม้จะเป็นซีพียูในตระกูล “ประหยัดพลังงาน” แต่เรื่องประสิทธิภาพ ก็ทำให้ในหลายการทดสอบ เป็นเรื่องง่ายไปเลยทีเดียว โดยเฉพาะความโดดเด่นในแง่ของงานมัลติทาสก์กิ้ง ที่แสดงศักยภาพเอาไว้อย่างน่าสนใจ
แรม DDR4 3200 ที่เตรียมมาให้ 8GB จาก SK Hynix สามารถอัพเกรดเพิ่มได้อีกสล็อตที่ว่างอยู่ ส่วนตัวคือ ให้แรมมา 8GB ก็ช่วยให้งานทั่วไปไหลลื่นได้ดีอยู่แล้ว ตั้งแต่ งานเอกสาร ออนไลน์ พิมพ์งาน หรือการท่องเว็บ และสตรีมมิ่ง แต่ถ้าจะเพิ่มการตกแต่งภาพ เปิดไฟล์งานขนาดใหญ่ เปิดเว็บไซต์ครั้งละหลายๆ หน้า แนะนำว่าเพิ่มแรมอีก 8GB จะไหลลื่นขึ้นอีกเยอะ
กราฟิกเป็นแบบ Integrate ในรุ่น Radeon Graphic ตอบสนองในด้านการทำงานกราฟิกพื้นฐาน การเล่นเกม ที่ไม่ต้องใช้พลังมากไปนัก และความบันเทิง เช่นการชมภาพยนตร์ระดับ 4K ได้ไหลลื่น ในการทดสอบซีพียูเปรียบเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Ryzen 7 3000 series ก็เป็นรองแค่ด้าน Multi-thread ที่มีน้อยกว่าเท่านั้น
เพื่อให้เห็นรายละเอียดของกราฟิกให้ชัดขึ้นอีกนิด ด้วยโปรแกรม GPUz
การทดสอบประสิทธิภาพในการอ่าน/เขียนข้อมูล ที่เป็นพื้นฐานการทำงานของ SSD ออกมาได้ตามมาตรฐานของ PCIe 3.0 อยู่ที่ราวๆ 3,400MB/s และ 1,600MB/s แต่ที่น่าเสียดายเล็กน้อยก็คือ ความจุแค่ 256GB เท่านั้น อาจจะดูแน่นไปหน่อยสำหรับการใช้แอพพลิเคชั่นกับการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน แต่ก็ยังพออาศัย Cloud Storage เพิ่มได้ หรืออัพเกรด SSD ใหม่ในภายหลัง
ผลทดสอบ PCMark10 ในส่วน Essentials การันตีได้ดี ถึงความเข้ากันได้กับซอฟต์แวร์ทำงาน และในด้านสำนักงาน รวมถึงใช้ในชีวิตประจำวัน ไหลลื่นดี การให้แรมมา 8GB ก็ช่วยให้งานทั่วไปไหลลื่นได้ดีอยู่แล้ว ตั้งแต่ งานเอกสาร ออนไลน์ พิมพ์งาน หรือการท่องเว็บ และสตรีมมิ่ง แต่ถ้าจะเพิ่มการตกแต่งภาพ เปิดไฟล์งานขนาดใหญ่ เปิดเว็บไซต์ครั้งละหลายๆ หน้า แนะนำว่าเพิ่มแรมอีก 8GB เป็น 16GB จะไหลลื่นขึ้นอีกเยอะ
ในด้านงานกราฟิก มีผลจาก CINEBench ตัวแทนจากงานด้านออกแบบ และโมชั่นกราฟิก ก็ยังพอไหว การประมวลผลก็เกาะกลุ่มอยู่ในอันดับ Top 10 ได้ไม่ยาก
เริ่มจากการทดสอบด้วย 3DMark และผลที่ได้ก็ตามที่เห็นนี้เลยครับ Fire Strike, Night Raid และ Sky Diver ผ่านการทดสอบได้ไม่ยาก แม้ว่าจะคะแนนไม่สูงมาก เหมือนกับการใช้กราฟิกการ์ดแยก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพพอไปไหว
การทดสอบเล่นเกม ด้วยเกม DOTA2 ที่ยังเป็นแนวท็อปฮิตติดชาร์ท ก็ยังเล่นได้แบบลื่นๆ เช่นกัน ด้วย Radeon Graphic ยังตอบสนองในเกมได้ดี ภาพสวย และค่าเฉลี่ยเฟรมเรตที่มากกว่า 60fps อีกด้วย
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ที่มีมาให้บน DELL Inspiron 5415 รุ่นนี้ ค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คในระดับเดียวกัน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 3-cell แต่รุ่นนี้ให้มาเป็น 4-cell, 54 WHr ในแบบโพลิเมอร์
จะพกไปใช้งานด้วยมั้ย ลองมาดูผลทดสอบ Battmon นี้ก่อนครับในการทดสอบ เราปรับความสว่าง 30% และเสียง 30% ได้ยาวๆ ที่ 13 ชั่วโมงกว่าๆ แต่ถ้าดันให้เบาลงมาอีกอาจมี 15 ชั่วโมงให้เห็นได้เลย เรียกว่าออกไปทำงาน ครึ่งวันกึ่งสแตนบาย ใช้ได้แบบยาวๆ แน่นอน
การระบายความร้อน ใช้การดูดลมเย็นจากด้านใต้ ผ่านทางช่องลมที่ทำเป็นแนวยาวไปตลอดบอดี้ และมีทางลมออกมาด้านใต้ของจอภาพ 2 ช่อง (ดูจากมุมบนของจอภาพ)
เมื่อแกะฝาหลัง DELL Inspiron 5415 จะเห็นชุดระบายความร้อนเป็นพัดลมขนาดใหญ่ 1 ตัว ที่ครอบคลุมอยู่เต็มพื้นที่ และมีฮีตไปป์จำนวน 2 เส้น ลากผ่านจากชุดพัดลมไปยังแผ่นเพลตบนซีพียู สำหรับการนำพาความร้อน โดยทิศทางลมที่ไหลออกนั้น จะอยู่บริเวณด้านหลังตัวเครื่อง หรือด้านใต้ของจอภาพนั่นเอง
การทดสอบด้วยการทรมานซีพียูไประดับ 100% ให้เป็นแบบ Full-load ด้วย Furmark ซึ่งปกติเราไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยนัก อุณหภูมิที่ได้ตามกราฟ อยู่ที่ประมาณ 75-86 องศาเซลเซียสเท่านั้น เสียงพัดลมเพิ่มมานิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับดังจนรำคาญแต่อย่างใด
Conclusion / Award
เรามาสรุปความน่าสนใจ หลังจากที่ได้ลองใช้งานมาสัก 10 วัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เปิดเครื่องไวมาก บูตเครื่องเร็ว ไม่ว่าจะ Hibernate หรือเปิดเครื่องหลังจาก Shutdown ก็ตาม มีบานพับหน้าจอแข็งแรง ไม่สั่นคลอนง่าย เมื่อออกแรงพิมพ์บ่อยๆ ความสว่างพอสู้แสงภายนอกได้ ประสิทธิภาพก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะไม่โดดเด่น เช่นเดียวกับซีพียูใน H series ที่เป็นเรือธงด้านเกมมิ่ง แต่ก็ได้จุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงานมาแทน ใช้งานได้นานอย่างที่ทดสอบไปกว่า 13 ชั่วโมง มิติที่บางเบานี้ ก็น่าจะมัดใจใครหลายคนได้เลย แม้ว่าจะองค์ประกอบบางอย่างจะขาดหายไปบ้าง แต่ก็มีหลายสิ่งเข้ามาทดแทน เหมาะกับคนที่อยากได้โน๊ตบุ๊คในระดับพกพาได้ แบตอึด และรองรับด้านความบันเทิงในชีวิตประจำวันได้ ราคาไม่สูงเกินไป ให้ Windows 11 Home มาพร้อมใช้ และยังได้การรับประกัน 2 ปีในแบบ On-site พร้อมบริการด้านข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมงที่มั่นใจได้อีกด้วย
Award
ด้วยน้ำหนักแค่ 1.44 กิโลกรัม และเมื่อรวมอแดปเตอร์ด้วยแล้ว ก็ยังแค่ 1.75 กิโลกรัมโดยประมาณ ซึ่งหากมองในแง่ของโน๊ตบุ๊คบางเบา DELL Inspiron รุ่นนี้ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์เป็นพื้นฐาน แต่เมื่อรวมกับความบาง เทียบกับโน๊ตบุ๊คในระดับเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้ดูสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายมากขึ้น โดยไฮไลต์คือ ระยะการทำงานที่ทำได้มากกว่า 13 ชั่วโมง ในเงื่อนไขของเรา ข้อนี้ถือว่าโดดเด่นอย่างมากทีเดียว แม้จะไม่ได้เป็นโน๊ตบุ๊คแบบ Ultra slim แต่ภายใต้ขุมพลังอย่าง AMD Ryzen 5 รุ่นใหม่เช่นนี้ ก็คว้ารางวัลในด้าน Mobility ไปได้อย่างลงตัว
โน๊ตบุ๊ค DELL Inspiron 5415 รุ่นนี้ เคาะราคาในเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 22,000-23,000 บาทโดยประมาณ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก หากเทียบกับสเปคและฟีเจอร์เดียวกันในท้องตลาด แม้ว่า SSD ที่ให้มาจะน้อยไปบ้างก็ตาม ด้วยคุณสมบัติในหลายๆ ด้าน รวมถึงบอดี้อะลูมิเนียม ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี และทำให้ดูพรีเมียมมากขึ้น แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ และยังได้รับการรับประกัน 2 ปี ในแบบ On-site รางวัล Best Value ก็ถือว่าเหมาะสมกับโน๊ตบุ๊คไลฟ์สไตล์จาก DELL รุ่นนี้