HyperX Cloud Stinger 2 แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหูฟังราคาไม่ถึง 2 พันบาท เพราะเรื่องของดีไซน์และฟังก์ชั่นปรับใหม่เกือบหมด หากเทียบกับ Stinger ในรุ่นแรก โดยเป็นหูฟังสำหรับเกมเมอร์มือใหม่ ที่ใส่ลูกเล่นมาสมกับเป็นซีรีส์ Cloud เลยทีเดียว กับรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย ให้เส้นสายที่เข้ากับสไตล์ของเกมเมอร์ แม้จะไม่ได้เติมเรื่องของสีสันแสงไฟ RGB มาด้วย แต่ก็ดูลงตัว ปรับเลื่อนได้ง่าย และเอกลักษณ์สำคัญอย่าง เมมโมรีโฟม ที่อยู่บนครอบหูฟัง ก็ทำให้กระชับสบายหู ในแบบ Over-ear สวมใส่สบาย ในช่วงพักก็คล้องคอเอาไว้ได้ เพราะปรับหมุนได้ 90 องศา สายให้มายาวมากพอเพื่อความสะดวก เช่นเดียวกับระบบเสียง ที่รองรับ DTS Headphone-X โดยมีไดรเวอร์ในแบบแม่เหล็กนีโอดายเมียม ลดความผิดเพี้ยนให้เสียงที่หนักแน่น ไมโครโฟนแบบงดได้ และพับ-กางออก เพื่อเปิด-ปิด พร้อมระบบตัดเสียงรบกวน น้ำหนักค่อนข้างเบา ประมาณ 300 กรัมเท่านั้น
จุดเด่น
ข้อสังเกต
HyperX Cloud Stinger 2 | Description |
Drivers | 50mm neodymium magnet |
Form factor | Over ear, closed back |
Frequency response | 10Hz – 28kHz |
Frame material | Plastic |
Ear cushion material | Memory foam with leatherette cover |
Microphone | Bi-directional, noise-cancelling condenser microphone / Flip to mute |
Weight | 270g |
Connections | 3.5mm (splitter included) |
Surround sound | Virtual (DTS Headphone:X) |
Platform support | PC, Nintendo Switch, Xbox Series X/S, PlayStation 5, PlayStation 4, Xbox One |
Price | 1,690 บาท |
Source: HyperX
ก่อนอื่นมาเรื่องของแพ๊คเกจ เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ก่อนหน้านี้ที่เราได้รีวิว Cloud Alpha S จะเป็นโทนขาวตัดสีเทา ส่วน Alpha Wireless เป็นโทนสีแดงตัดขาวต่างเป็นกล่องกระดาษแนวเรียบๆ แต่ Stinger 2 นี้ จะเป็นกล่องที่ดูแข็งแรงขึ้น มีความเป็น Glossy และมีลูกเล่นสีสันสวยงามมากกว่า
ด้านหน้าเป็นกราฟิกตัวอุปกรณ์ให้เห็นได้แบบชัดๆ และเทคโนโลยีของหูฟังรุ่นนี้ สามารถอ่านข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ด้านหลังยังคงมาใส่เป็นรายละเอียดสำคัญของหูฟังรุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพกราฟิก ดีไซน์และอุปกรณ์ที่บันเดิลมา รวมถึงเทคโนโลยี แจ้งมาในบริเวณด้านหลังนี้ทั้งหมด
ด้านในมีเอกสาร เช่น คู่มือแนะนำการใช้งาน และโค๊ตสำหรับการ Activate ใช้ฟีเจอร์ของ DTS Headphone:X มาให้ ในการเปิดใช้และปรับแต่งผ่านแอพพลิเคชั่น
คู่มือจะมีรายละเอียดในการใช้งาน ถึงแม้จะไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก สำหรับการใช้งานหูฟังรุ่นนี้ แต่สำหรับมือใหม่ หรือไม่คุ้นเคยกับหูฟังเกมมิ่ง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณใช้งานได้ง่ายขึ้น
เปิดกล่องมาด้านใน HyperX ยังคงเตรียมพลาสติกกันกระแทกเอาไว้ให้อย่างดี ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความเสียหายต่อตัวหูฟัง และยังแกะออกได้ง่ายอีกด้วย
ตัวหูฟัง HyperX Cloud Stinger 2 เมื่อเห็นครั้งแรก รู้สึกถึงความแตกต่างจาก Cloud Stinger ที่เคยสัมผัสมาก่อนหน้านี้ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเส้นสาย ที่รู้สึกถึงความทันสมัย และโครงสร้างที่ปรับมาให้ดูกระชับ ปรับขยับได้มากขึ้น
จากด้านหน้า และด้านหลัง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เส้นสายที่ถูกเติมเข้ามาบนพื้นฐานของบอดี้สีดำ และยังผสมความเป็น Cloud ของรุ่นพี่ ซึ่งปรากฏอยู่บนบริเวณก้านของ Headband ที่นอกจากจะปรับองศาได้ง่ายแล้ว ยังหมุนเป็นแบบ 90 องศา เพื่อแขวนไว้ที่คอ ขณะที่พักเบรกได้อีกด้วย
หัวแปลง PC Extension สำหรับต่อเข้ากับพีซี ที่แยกหูฟังกับไมโครโฟน เพื่อให้ใช้งานไมค์ของหูฟังได้สะดวกมากขึ้น
ไมโครโฟนถูกติดตั้งมาบนตัวหูฟัง ถอดออกไม่ได้ แต่ HyperX ก็ให้ฟังก์ชั่นที่ใช้เปิด-ปิดไมโครโฟน ได้ด้วยการเลื่อนขึ้น-ลงเท่านั้น และยังมีกรองเสียงเอามาให้ รวมถึงก้านไมค์ยังปรับโค้งงอเข้ากับระยะของปากได้ เพื่อเสียงที่ชัดเจน
การดัดโค้งค่อนข้างง่ายทีเดียว แม้ว่าจะไม่ได้ออกแบบก้านไมค์มายาวมาก แต่ในเรื่องของเสียงถือว่าทำได้ชัดเจนดี
Headband หรือครอบศีรษะเป็นพลาสติกทั้งชิ้น ซึ่งจะเป็นสไตล์ที่อยู่บนโน๊ตบุ๊คที่เน้นน้ำหนักเบา และให้ความกระชับ ความโค้งงอมีระยะให้พอสมควร เหมาะกับศีรษะคนเอเซีย เท่าที่สัมผัสกับค่อนข้างกระชับดี ให้ความรู้สึกดีกว่า Stinger ที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ มีก้านที่ใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นที่วางบนศีรษะได้มากกว่า
ก้านปรับระดับความยาวได้ตั้งแต่ 0-6cm เพื่อให้เข้ากับศีรษะของแต่ละบุคคล อีกทั้งมีระดับตัวเลขให้เห็น ทำให้เวลาคุณใช้งาน ก็จะจำได้ว่าระยะที่เหมาะกับศีรษะคุณอยู่ที่เท่าไร การปรับเลื่อนทำได้สะดวก แม้ในช่วงเวลาที่เล่นเกมอยู่ก็ตาม
ส่วนตัวชอบตรงนี้มากครับ เป็นการออกแบบที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อนบน HyperX เหมือนเป็นเทรนด์ใหม่ ที่ทำให้รู้สึกแปลกตา ด้วยการใช้เส้นนำสายตา ให้ดูทันสมัย ตัดกับโลโก้อ HyperX ได้อย่างลงตัว
จุดเด่นของ HyperX Stinger ที่มีเหมือนกันทุกรุ่นก็คือ มีจุดหมุนตรง Earcup ทำได้ 90 องศา เพื่อสะดวกต่อการคล้องคอ จะไม่รู้สึกเกะกะแต่อย่างใด
ระยะของการยืดสุดของก้านหูฟัง ในมุมมองด้านหน้าและด้านข้าง กว้างมากพอสำหรับคนที่ศีรษะใหญ่ในระดับหนึ่ง ส่วนถ้าเป็นเกมเมอร์สาวๆ สวมใส่ได้สบาย และที่ครอบหู ยังปรับมุมได้เหมือนกับ HyperX Cloud ทำให้คนศีรษะเล็ก ก็ปรับให้เข้ากับใบหูได้ง่ายอีกด้วย
ความแตกต่างระหว่างภาพทางซ้าย Stinger 2 และทางขวา Stinger Wireless จะเห็นว่ามีโครงหลักที่คล้ายกันอยู่บ้างในบางจุด แต่ส่วนใหญ่จะต่างกันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Headband, Earcup หรือไมโครโฟนก็ตาม
จุดคอนโทรลของ Stinger 2 มีอยู่จุดเดียว นั่นคือการปรับระดับเสียง ที่เป็นแบบ Scroll wheel สีแดงสะดุดตา อยูที่บริเวณครอบหูด้านขวา ส่วน Stinger Wireless ก็จะมีอยู่ทางด้านขวาเช่นกัน แต่เป็นสีดำ รวมถึงปุ่มเปิด-ปิดอยู่ทางซ้ายมือ
มาดูในส่วนของ Ear cushion หรือ Earpad กันบ้าง บนหูฟังรุ่นนี้ มาในแบบวัสดุแบบหนัง ซึ่งเป็น leatherette หรือหนังเทียม จะให้สัมผัสนุ่มๆ ตามแบบฉบับของวัสดุแนวนี้ แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของ HyperX จะเป็นเมมโมรีโฟมนุ่มๆ ให้ความกระชับ ข้อนี้คือ จุดเด่นที่เข้าคู่กันดีของวัสดุ และการสวมใส่ที่สบายเมื่อใช้งานนานๆ
ความหนาของเมมโมรีโฟม ไม่ได้มากนัก แต่ให้ความกระชับได้ดี ในปัจจุบันหลายค่ายไม่ได้เน้นที่ความหนา แต่ขยับมาที่ดีไซน์ให้ครอบหูได้สบาย ในสไตล์ของ Over-ear รวมถึงปรับให้มีการถ่ายเทอากาศ ไม่รู้สึกอึดอัด เมื่อใช้ไปนานๆ โดยเฉพาะเกมเมอร์ที่มีระยะการเล่นต่อเกม ค่อนข้างนาน เช่น เกม Apex Legend, GTAV หรือจะเป็น PUBG และ DOTA2 ก็ตาม จะให้ความรู้สึกที่ดีขึ้น
ด้านใต้ของ Headband มีเป็นแบบเมมโมรีโฟม และหุ้มด้วยวัสดุแบบหนังเช่นกัน ทำให้ลดแรงกดลงบนศีรษะโดยตรง และกระจายน้ำหนักได้ดีพอสมควร
โครงสร้างในภาพรวมของ HyperX Cloud Stinger 2 ออกมาได้ลงตัวดี ในสไตล์ของ Over-ear ที่ไม่ได้ใหญ่โตมากจนเกินไป น้ำหนักประมาณ 300 กรัมเท่านั้น
ไมโครโฟนเป็นแบบ Flip up to mute คือ ถ้ายกตัวก้านไมค์ขึ้น จะเป็นการปิดเสียงไมค์ เรื่องของการรับเสียงนั้นจะเป็นแบบ Bi-Direction คือรับเสียงทางเดียวโดยตรง ยิ่งใกล้ปาก ก็จะยิ่งชัดขึ้น เสียงรอบข้างก็จะลดลง ได้ฟีเจอร์ Noise Cancellation มาช่วย ปลายทางก็จะได้ยินเสียงที่เคลียร์มากกว่า เหมาะกับเกมเมอร์ที่เล่นกันเป็นทีม และใช้ในการสนทนาออนไลน์ดีทีเดียว
มาทดสอบกับเกมกันบ้าง เริ่มที่ PUBG กันก่อน เสียงเอฟเฟกต์เปิดออกมาได้ดี ถ้าเทียบกับ Stinger ตัวก่อน ถือว่าใกล้เคียงกัน แต่เรื่องความแน่นกับความชัดในรายละเอียด Stinger 2 ให้ได้ดีกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะให้สเตจเสียงที่กว้างกว่ารุ่นเดิม จึงเก็บเสียงในบางอย่างได้มากขึ้น โดยเฉพาะเกมที่มีสภาพแวดล้อมรอบตัวมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ เช่น ในเกมอย่าง COD หรือ God of War เกมเมอร์ในสายนี้ จะได้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงคนที่ชอบแนวความบันเทิง ก็น่าจะชื่นชอบ เพราะให้ระยะของเสียงได้พอสมควร
ในส่วนของเกม DOTA2 เสียงเอฟเฟกต์มาเต็ม และยังสามารถดันระดับเสียงที่สูงๆ ได้ เสียงการโจมตีด้วยเวทใหญ่ ฟังแล้วขนลุกเลยทีเดียว แต่ข้อดีคือ การใช้ Voice chat ก็ชัดเจน เพียงแต่เรื่องของมิติอาจจะไม่ได้จัดจ้าน งานละเอียด แต่ในแง่ของเสียงกลาง ยังคงมาจะแจ้งเสมอ ใครที่เล่นเกมแนว MOBA นี้ บอกได้เลยว่าคุณจะได้ความสนุกมากขึ้น และยังสวมใส่ได้แบบยาวๆ เพราะน้ำหนักที่เบา รวมถึงเมมโมรีโฟมที่กระชับ
ในแง่ของความบันเทิง ผมให้ HyperX Cloud Stinger 2 เด่นกว่าในทุกด้าน โดยเฉพาะการเก็บรายละเอียด กับความบึ้มบั้ม เน้นไปทางหนักเสียงทุ้มได้เยอะ ภาพยนตร์แนวที่เป็นแอ็คชั่น ยังคงเป็นตัวเอก ตัวอย่างเช่น Godzilla, Transformer และ Resident Evil หนังแนวนี้ เตรียมหลอนกับเสียงได้เลย โดยเฉพาะซีนที่เน้นให้ตกใจ มีสะดุ้งเอาง่ายๆ เช่นเดียวกับเสียงก็อตซิลลา เวลาลุยกับ Mechagodzilla จัดได้ว่าสะใจ เพิ่มความเร้าใจได้มากขึ้น เสียงถ้าเทียบกับ Stinger Wireless ให้เสียงแหลมกับรายละเอียดได้น้อยกว่าเล็กน้อย
ส่วนการฟังเพลง ขอให้เป็นรองจากเรื่องการชมภาพยนตร์และการเล่นเกม เพราะเก็บรายละเอียดของเสียงแหลมได้บ้างก็จริง แต่ถ้าจะเอาเบสหนักๆ กับเครื่องดนตรีบางชิ้น อาจจะไม่เต็มมากนัก แต่เสียงนักร้อง สามารถเด่นออกมาได้น่าสนใจ แต่ที่ชอบคือ เพลงแนวป๊อปหรือคลาสสิค จะได้อารมณ์ของเสียงที่ Mix กันได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคลด้วย เพราะยังปรับจูนในส่วนของ Mixer ได้อีกเล็กน้อย สิ่งที่ได้ก็คือ การดันระดับเสียงได้แบบไม่แตกพร่า ถือว่า HyperX ทำออกมาได้ดีทีเดียว
เรื่องของเสียงสนทนาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีให้ความคมชัด ส่วนหนึ่งคือ การเป็น Bi-Directional รับเสียงทางเดียว ก็เป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน ไม่เพียงแค่การแชตในเกมเท่านั้น แต่ยังใช้ในโอกาสอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น การบันทึกเสียง การสนทนาออนไลน์ หรือการประชุม ที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดี ตัดเสียงรบกวนได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ดูจะมีความน่าใช้กว่า Cloud Stinger Wireless อยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ดีการที่เป็นไมโครโฟนแบบ Flip up เพื่อปิดการทำงานหรือ Mute เสียง ก็ดูจะคล่องตัวการกดปุ่มอยู่มากทีเดียว ใครที่เป็นสายแชตหนักๆ ในแต่ละวัน หรือเป็นเกมเมอร์ที่เล่นเป็นทีม ลงดันด้วยกันบ่อยๆ หรือเกมที่แชตเป็นหลัก ภารกิจเป็นรอง ก็น่าสนใจทีเดียว
ถ้าจะให้นิยามของหูฟังเกมมิ่ง HyperX Cloud Stinger 2 รุ่นนี้ “ยกระดับ อัพเลเวล เกมสนั่น ดนตรีมันส์” น่าจะประมาณนี้ แม้ว่าคาแรคเตอร์ของหูฟัง จะเป็นเรื่องเกมเป็นหลักก็ตาม เพราะจากที่ได้ใช้งานมาราวๆ อาทิตย์หนึ่ง หลายๆ สิ่งดูจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง อารมณ์ในการเล่นเกม เสียงยังคงสดใส ใส่ได้เต็ม ลุยกับเกมต่างๆ ได้ดี แม้เรื่องทิศทางเสียงจะไม่ได้มาเต็มแบบพี่ๆ ที่เป็น Cloud ตัวหลัก แต่ในแง่ของเสียงกลาง กับสเตจเสียง เข้ามาทดแทนได้พอสมควร โดยเฉพาะในแง่ของการฟังเพลงนั้น ดูจะทำได้เกินค่าตัวเลยทีเดียว ใครที่คิดว่าจะเริ่มต้นกับหูฟังเล่นเกม ราคาได้ สเปคโดน สวมใส่สบาย หูฟังจาก HyperX รุ่นนี้ ก็ถือว่าเป็นน้องเล็กมาแรง แม้จะดูขาดๆ ไปบ้าง เรื่องฟังก์ชั่น เพราะเป็นแบบต่อสาย ไม่มีคอนโทรลบนสาย และไร้แสง RGB แต่ถ้าคุณได้ลองฟังเสียงสักที ก็อาจจะวางไม่ลงได้เลยครับ
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.