ฟ้องรัฐ 450 ล้าน เยียวยาโควิด ลุ้น 3 คดีประวัติศาสตร์ – ฐานเศรษฐกิจ

21 ส.ค. 2564 เวลา 4:00 น.

ฟ้องรัฐ 450 ล้าน เยียวยาโควิด ลุ้น 3 คดีประวัติศาสตร์ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,707 หน้า 10 วันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2564

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเริ่มมีคดีฟ้องร้องรัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการ “โควิด-16” เพิ่มขึ้นหรือไม่ ที่ทำให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ. โรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา 

โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียด หามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัคร

ว่ากันว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางปกครอง และไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรค ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

น่าจับตาว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการ “สอดไส้” เว้นโทษความผิดให้กับ “นักการเมือง” ผู้กำหนดนโยบายด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องรัฐเกิดขึ้นเกี่ยวกับคดี “เยียวยาโควิด” แล้ว 3 คดี

คดีแรกเป็น คดีที่ 150 ผู้ประกอบการร้านนวด-สปา รวมตัวกันฟ้อง 4 หน่วยงานรัฐต่อศาลแพ่ง โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา นางอักษิกา จันทรวินิจตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพและสปาขนาดกลางและขนาดเล็ก น.ส.จารวี ติสันโต เจ้าของร้านจารวี นวดแผนไทย และกลุ่มบุคคลที่ประกอบกิจการร้านนวดเพื่อสุขภาพ กว่า 150 คนร่วมกันโจทก์ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 10,796,928 บาท

ตามโจทก์ฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจหน้าที่ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินใหม่ทดแทน ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 วรรค 5

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศบค. และประธานกรรมการวัคซีนมีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และได้ประกาศกฎหมายหลายฉบับ เเต่ พล.อ.ประยุทธ์ เเละ นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุขดำเนินนโยบายผิดพลาดทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติิสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก เกิดจากการบริหารจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโควิดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ฟ้องรัฐ 450 ล้าน  เยียวยาโควิด ลุ้น 3 คดีประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งปิดสถานที่ ซึ่งรวมถึงสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ การกระทำของนายกฯ, นายอนุทิน รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆและผู้ว่าฯ กทม. ที่ประกาศปิดสถานที่ดังกล่าว มีสาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อดำเนินนโยบายผิดพลาดล้มเหลว จึงต้องรับผิดชอบความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยทั้ง 4 ต้องร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 7,199,262 บาท ชดใช้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 3,597,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5

โดยศาลรับคำร้องขอดำเนินคดีเเบบกลุ่มเเละให้นัดไต่สวนวันที่ 19 ต.ค. 64 เวลา 09.00 น.

นอกจากนั้น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายสุเทพ อู่อ้น, นาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และทีมทนาย ได้ร่วมเป็นตัวกลางนำ นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย และ น.ส.อักษิกา จันทรวินิจ ตัวแทนกลุ่มธุรกิจร้านนวด-สปา เข้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง

นายพิทักษ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดได้รับผลกระทบจากนโยบายสั่งปิดกิจการร้านนวดตั้งแต่ปี 2563 และถูกสั่งปิดต่อเนื่องทุกครั้งของการล็อกดาวน์ซึ่งร้านนวดไม่เคยเป็นสถานที่เสี่ยง และไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น แต่รัฐก็ยังสั่งปิดร้านนวดทุกครั้ง จนผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ จนถึงขณะนี้ยังไม่รับการเยียวยาจากภาครัฐเลยสักครั้ง และกลุ่มผู้ประกอบการได้เรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐเป็นเงินจำนวน 200 ล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า การฟ้องแพ่งแบบรวมกลุ่ม หรือ Class Action ครั้งแรก ซึ่งอยากให้คดีนี้เป็นคดีแรก และเป็นคดีในประวัติศาสตร์ที่ รัฐบาลจะตัองรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน และความเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการ 

“ขณะนี้ผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้วที่ผู้ประกอบการร้านนวดเหล่านี้ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

โรงแรมฟ้องเยียวยา 242 ล.

อีกคดี เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 64 นายประพันธ์ บุญตันตราภิวัฒน์ เจ้าของโรงแรมในเครือ บริษัท กมลาบีชอินท์ และ บริษัทกัมพลธุรกิจ จำกัด ประกอบด้วยโรงแรมภูเก็ต ทาวน์อินน์ โรงแรมกะรนวิว รีสอร์ทและโรงแรมกมลาบีชอินน์ จ.ภูเก็ต ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง 4 ราย คือ 

1. กระทรวงสาธารณสุข 2. นายกรัฐมนตรี 3. จังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าฯ ภูเก็ตและ 4. กระทรวงมหาดไทย จ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดจากผู้ว่าฯ ภูเก็ต และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งปิดโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตและสถานประกอบการในลักษณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 จากมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อแก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2548 โดยเรียกชดเชยความเสียหาย 242 ล้านบาท

นายประพันธ์ ระบุถึงเหตุที่ฟ้องร้องดังกล่าวเพราะ  ทางจังหวัดภูเก็ตและรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือ หรือชดเชยรายรับที่หายไปในระยะเวลาที่มีคำสั่งให้ปิดโรงแรม 

ฟ้องรัฐละเลยเรียก 4.5 ล้าน

ย้อนไปอีกคดี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 นายกุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของ นายกุลทรัพย์ วัฒนพล หรือ “อัพ VGB” อดีตผู้บุกเบิกวงการอี-สปอร์ตของไทย ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะประสานหาที่ตรวจไม่ได้ และได้รับการรักษาช้า ได้เข้ายื่นฟ้องศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง

โดยขอให้ศาลพิจารณาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 4,530,000 บาท จากกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้ นายกุลทรัพย์ ต้องเสียชีวิต…ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

ทั้ง 3 คดีที่มีการฟ้องร้อง “นายกฯ”  และ “หน่วยงานรัฐ” เรียกเงินเยียวยารวม 450.5 ล้านบาท 

ผลการพิจารณาจะเป็นเช่นไร จะมีการ “เยียวยาโควิด” เกิดขึ้นหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันไป…