“กาตาร์ 2022” จบไปพร้อมกับความตื่นเต้นเร้าใจของการฟาดแข้งมากที่สุดในรอบหลายทัวร์นาเม้นท์ และความประทับใจยิ่งกับการจัดงานของเจ้าภาพอาร์เจนตินาได้ถ้วยฟุตบอลโลกไปครองและได้เงินรางวัลสูงสุดก็จริงแต่จีนกลับทำเงินมากที่สุดจากการขายสินค้าและบริการของจีนจากมหกรรมในครั้งนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
แต่วันนี้ ผมจะชวนไปคุยกันต่อว่า จีนทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาวงการกีฬาของตนเองสู่เวทีโลก …
จีนในยุคใหม่มีกฎหมายด้านการกีฬาแห่งชาติเป็นกรอบหลัก ซึ่งมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1995โดยในเชิงโครงสร้างองค์กร จีนมีสำนักงานบริหารทั่วไปด้านการกีฬาแห่งชาติ (State General Administration of Sports) ภายใต้คณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการของหน่วยงานด้านการกีฬา ศูนย์จัดการแข่งขันกีฬา และสถาบันสนับสนุนและบริการด้านการกีฬาอื่นๆ รวมทั้งองค์สมาพันธ์กีฬาจีนโดยรวม (All-China Sports Federation) และคณะกรรมการโอลิมปิกจีน
นอกจากนี้ SGAS ยังเป็นองค์กรหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการกีฬา และพัฒนาแผนการพัฒนาการกีฬาระยะกลางและระยะยาว
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการกีฬามากขึ้นโดยลำดับ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาวัฒนธรรมกีฬาฝังรากลึกในจีน ในปี 2014 รัฐบาลจีนได้สร้างความฮือฮาด้วยการออกเอกสารเชิงนโยบาย “หมายเลข 46” ที่กำหนดแผนเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมกีฬาของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2025
จีนยังพยายามทำให้วงการกีฬาอยู่บนพื้นฐานของระบบตลาดเสรี ซึ่งนำไปสู่การลดเงินอุดหนุนแก่สมาคมกีฬาท้องถิ่น เปิดกว้างให้เอ็นจีโอ (NGO) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันกีฬา และผลักดันให้สโมสรกีฬาเกิดความแข็งแกร่งมากขึ้นผ่านการเสริมสร้างฐานแฟนคลับของสโมสรกีฬาท้องถิ่นด้วยมาตรการในเชิงรุก
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า บทบาทการลงทุนในวงการกีฬาของจีนจะเปลี่ยนมือจากภาครัฐมาสู่ภาคเอกชนของจีนและต่างชาติมากขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนทำให้ประชาชนเริ่ม “กินอิ่มนอนอุ่น” มากขึ้น คนจีนจำนวนมากก็เริ่มประสบปัญหา “โรคอ้วน” และนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นภาระด้านการสาธารณสุข ส่งผลให้ SGASพยายามปลุกกระแส “กีฬาเป็นยาวิเศษ” ผ่านโปรแกรมการออกกำลังกายในวงกว้างด้วยกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพและเทศกาลกีฬา รวมทั้งกิจกรรมการแข่งขันกีฬาย่อยนานาประเภทอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ รัฐบาลจีนยังได้จัดสรร 60% ของรายได้จากการขายหวยการกีฬาจีน (China Sports Lottery) เข้าโครงการพัฒนาสุขภาพดังกล่าว Lotto กีฬาจีนเป็นเวทีการแทงพนันที่มีรัฐบาลเป็นเสมือน “เจ้ามือใหญ่” ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อโลกออนไลน์ได้รับความนิยมในจีน โดยมียอดขายมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน
รัฐบาลจีนยังใส่เม็ดเงินก้อนใหญ่ในแต่ละปีเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นสนามและอุปกรณ์กีฬาตามชุมชนเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนแผนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ
สถิติของทางการจีนระบุว่า ณ ปลายปี 2021 จีนก่อสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาเป็นเกือบ 4 ล้านจุด ครอบคลุมพื้นที่ 3,410 ตารางเมตร ส่งผลให้พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.4 ตารางเมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ตารางเมตรในปี 2025
จีนยังจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ออกกำลังกายจำนวน 1,200-1,400 แห่งเปิดให้บริการแก่สาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือเรียกเก็บค่าบริการต่ำ อาทิ สนามกีฬาของสถาบันการศึกษา และสวนสาธารณะ
ขณะเดียวกัน จีนยังผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรการกีฬาในทุกระดับของชุมชน และดำเนินโครงการนำร่องให้ศูนย์การกีฬาระดับชุมชนเข้ามาช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ จีนมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาสุขภาพทางกายภาพ ต่อยอดจากจำนวน 500 ล้านคน หรือ 37.2% ของจำนวนประชากรรวมของจีนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และมากกว่า 90% ของประชาชนอยู่ในระดับมาตรฐานทางกายภาพเฉลี่ยในปี 2020
ยิ่งเวลาผ่านไป พื้นที่ออกกำลังกายดังกล่าวก็กระจายตัวและมีคุณภาพดีขึ้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นอุปกรณ์ออกกำลังกายแบบง่ายๆ ตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ของแต่ละเมืองทั่วจีน จีนตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนมากกว่า 100 ล้านคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
เท่านั้นยังไม่พอ เรายังได้เห็นคนชั้นกลางชาวจีนในชุมชนเมือง ลงทุนสมัครเข้าร่วมชมรมกีฬาและฟิตเนส และบางรายยังทุ่มเงินว่าจ้างผู้ฝึกสอนกีฬาส่วนตัวอีกด้วย แต่จีนก็ยังมีสัดส่วนของสมาชิกชมรมกีฬาและฟิตเนสต่อประชากรโดยรวมที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับของประเทศพัฒนาแล้ว
นั่นหมายความว่า ตลาดจีนมีศักยภาพทางธุรกิจในด้านนี้อีกมากรออยู่ส่งผลให้ธุรกิจชมรมกีฬาและฟิตเนสกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งในเมืองใหญ่ของจีนไปโดยปริยาย
ในด้านซอฟท์แวร์ จีนก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬา โดยพัฒนาผู้ฝึกสอนด้านการกีฬาที่ได้รับใบอนุญาตการฝึกอบรมด้านกายภาพและทักษะจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านคน บุคลากรเหล่านี้ประจำในศูนย์พัฒนาทักษะด้านการกีฬามากกว่า 2,300 แห่งทั่วจีน
ในส่วนของการพัฒนากีฬาเพื่อการแข่งขัน จีนก็มุ่งหวังจะใช้ทุกเวทีการแข่งขันระดับระหว่างประเทศสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียว และโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง ในการสานต่อผลงานที่ดีแน่นอนว่า ในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศครั้งต่อไป เราคงเห็นภาพนักกีฬาจีนก้าวขึ้นรับเหรียญรางวัลและทำลายสถิติโลกกันอีกมาก
ในแง่ของประเภทกีฬา จีนก็ตั้งเป้าหมายการพัฒนากีฬาหลายประเภทที่ท้าทายมาก ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาสุดโปรดของสี จิ้นผิง จีนก็ตั้งเป้าที่จะก้าวเป็นหนึ่งในมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลโลกภายในปี 2050
“เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” จีนเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศด้านฟุตบอลอย่างไม่หยุดหย่อน ณ ปี 2020 จีนมีเด็กที่สนใจฝึกซ้อมฟุตบอลถึงราว 30 ล้านคน และมีสถาบันฟุตบอลที่ได้รับการรับรองกว่า 20,000 แห่ง และสนามฟุตบอลน้อยใหญ่อีก 70,000 แห่ง รวมทั้งไชนีสซุปเปอร์ลีก (Chinese Super League) ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ในเอเชีย
นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาความร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำของหลายประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการเฟ้นหา “เด็กพรสวรรค์” และพัฒนานักฟุตบอล “ดาวรุ่ง” ของจีนในระยะยาว
มองออกไปในอนาคต วันที่จีนได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคงสร้างความตื่นตะลึงได้เกินจินตนาการ… พิธีเปิดและปิดที่ยิ่งใหญ่ สถิติจำนวนผู้ชมในสนามใหม่ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม การถ่ายทอดสดผ่านทีวีระดับความละเอียด 8K มูลค่าการขายของที่ระลึก และอีกหลายสถิติอื่นอีกมากมาย
และยิ่งหากทีมชาติจีนผ่านเข้าไปถึงรอบลึกๆ ของฟุตบอลโลกที่จีนเป็นเจ้าภาพได้ด้วยล่ะก็ ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าบรรยากาศในจีนระหว่างและหลังฟุตบอลโลกจะคึกคักมากเพียงใด
แบดมินตันและปิงปองก็ยังคงเป็นกีฬายอดนิยมที่จีนยังคงตั้งเป้าหมายให้นักกีฬาจีนติดอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ต่อไป แต่ในมุมมองของผมแล้ว กีฬาที่ได้รับกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วง20ปีที่ผ่านมาก็ได้แก่ บาสเกตบอล
หลายปัจจัยสำคัญทำให้กีฬาบาสเกตบอลได้รับความสนใจจากชาวจีนกันอย่างกว้างขวาง อาทิ การเข้าตลาดจีนอย่างเต็มตัวของเอ็นบีเอ (NBA) จากสหรัฐฯ และการมีนักบาสจีนเป็นตัวหลักในลีกชั้นนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยา หมิง (Yao Ming) นำไปสู่การถ่ายทอดสดและไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านพันธมิตรรายใหญ่อย่างเทนเซนต์ (Tencent) ตามด้วยการเปิดบัญชีเหว่ยปั๋ว (Weibo) ที่มีคนจีนติดตามหลายสิบล้านคนตลอดจนความพร้อมของสนาม/โซนเล่นบาส สถาบันฝึกอบรม และร้านเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ของเอ็นบีเอที่ผุดขึ้นทั่วจีน
บาสเกตบอลอาชีพของจีน “CBA” ก็ดึงดูดโค้ชและนักบาสชั้นนำของจีนและต่างชาติเข้ามาสร้างสีสัน มีการถ่ายทอดสดไปยังตลาดต่างประเทศ และมีแฟนคลับติดตามชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ประมาณว่ามีคนจีนนิยมเล่นบาสอยู่ราว 300 ล้านคนในปัจจุบัน หรือเท่ากับราวจำนวนประชากรของสหรัฐฯ ทั้งประเทศ!!!
อี-สปอร์ต ก็เป็นอีกกีฬาหนึ่งที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วภายหลังการได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ สถาบันการศึกษาในจีนต่างเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เมืองใหญ่อย่างน้อย 6 แห่ง อันได้แก่ เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) หังโจว (Hangzhou) ฉงชิ่ง (Chongqing) ซีอาน (Xi’an) ไหโค่ว (Haikou) และซานญ่า (Sanya) กำลังแข่งกันสร้างชื่อเป็น “ฮับอี-สปอร์ต” ของจีน
รายงานของอุตสาหกรรมระบุว่า ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่คนจีนต้องใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน ธุรกิจนี้ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกเมื่อไม่กี่ปีก่อน และด้วยอัตราการเติบโตระดับสองหลักก็ทำให้ธุรกิจอี-สปอร์ตของจีนไล่จี้สหรัฐฯ ใกล้ขึ้นทุกขณะ
คราวหน้าเราจะไปเจาะลึกถึง “เคล็ดลับ” ของการคัดสรรและพัฒนานักกีฬาจีนกันครับ …
ภาพจาก AFP