“อนุทิน-ฝ่ายค้าน” โต้ปมรับมือโควิดช้า-ฉีดวัคซีนเด็ก 6 ขวบ – ข่าวไทยพีบีเอส

“อนุทิน” โต้ฝ่ายค้านปมรับมือรับมือสถานการณ์ “โควิด” ล่าช้า ยืนยันบางส่วนข้อมูลเก่าปี 63-64 เคยชี้แจงในสภา แต่สอบผ่านฉลุย ยังมั่นใจวัคซีนมีพร้อมฉีดเต็มแขน เพราะต้องฉีดทุกปี ส่วนวัคซีนเด็ก 6 ขวบต้องผ่านความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญไม่ฉีดใครตามอำเภอใจ

วันนี้ (18 ก.พ.2565) บรรยากาศการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติวันที่ 2 ซึ่งฝ่ายค้านได้หยิบยกประเด็นการรับมือสถานการณ์โควิด-19 มาอภิปรายในวงกว้าง  นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การบริหารงานโควิดผิดพลาด วันนี้พบผู้ติดเชื้อนิวไฮ 18,066 ในรอบปี 65 และเสียชีวิต 27 คน ทั้งที่เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ส่งผลกระทบต่อทุกเพศ ทุกวัย เด็กในครรภ์เสียชีวิต เด็กในโรงเรียนขาดโอกาสในการเรียน และพฤติกรรมก้าวร้าวจากการติดมือถือ ส่วนวัยทำงานเงินเดือนลด ถูกให้ออกจากงาน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นขาดการบริหารจัดการและความไม่พร้อมทั้งที่มีการระบาดมา 3 ปี 

รัฐบาลประยุทธ์มี 3 ป. แต่สถานการณ์โควิดเกิด 3 ช.คือ ช.เชื่องช้า ช.ชีวิต และช.ชดเชย และยังทำให้เกิด 3 ข.คือขาดแคลน อุปกรณ์ป้องกันโควิด ขาดการเยียวยาทันท่วงที และข.ขาดความเชื่อมั่น 

ห่วงเด็กไทยเป็นหนูทดลองวัคซีนซิโนแวค

นอกจากนี้ นายโอชิษฐ์ กล่าวอีกว่า จากโพลที่สำรวจพบว่า สิ่งที่หนักใจสำหรับผู้ปกครองคือ สุขภาพการฉีดวัคซีน 83% การเรียนออนไลน์ 70% แลพฤติกรรมและการพัฒนากร 69% รวมทั้งข้อกังวลเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีน ผลข้างเคียงระยะยาว และอาการข้างเคียงโดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป รวมทั้งวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ในเด็กอายุ 6-12 ปี ที่กรมควบคุมโรคออกมา

การฉีดวัคซีนในเด็กยังไม่มีข้อมูลในหลอดทดลอง ทั้งเรื่องการป้องกัน ประสิทธิภาพความปลอดภัย ดังนั้นเด็กไทยอาจถูกทดลองวัคซีน อยากตั้งคำถามรัฐบาลนำวัคซีนซิโนแวคมาใช้ในเด็ก 6 ปีขึ้นเพราะอะไร เพราะวัคซีนเหลือหรือไม่ รัฐบาลต้องตอบประชาชน  

ต่อมาเวลา 10.30 น.นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปกรณีการฉีดวัคซีนเด็ก พบว่าปัจจุบันฉีดวัคซีน 70% แต่จำนวนนี้เป็นการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม 16% ส่วนเค้กก้อนโตที่ต้องรับวัคซีนอีก 9 ล้านคนกลุ่ม 0-12 ปี หรือ 15% ของประชากร แต่มีข้อสงสัยเรื่องการนำซิโนแวคฝาส้มฉีดเด็ก 3 ขวบ ซึ่งหลังจากมีการท้วงติงจากกุมารแพทย์ ทำให้สธ.มีการปรับเป็นฉีดอายุ 6 ขวบขึ้นไป และปรับสูตรเป็นวัคซีนซิโนแวค-ไฟเซอร์ 

ถ้าคนไข้มาหาหมอ แล้วรู้ว่ายารักษาโรคได้ ก็ต้องยืนยันจ่ายยาตัวนี้ ไม่ใช่คนไข้บอกว่าขมแล้ว ให้กินน้ำเปล่าแทน ใช้ไม่ได้ แต่น้ำเปล่ายังดีกว่า ไม่มีโทษ แต่วัคซีนฉีดไปแล้วอาจเสี่ยงกับผลข้างเคียง 

 

“อนุทิน” ยันวัคซีนพร้อมฉีดเต็มแขน

ต่อมาเวลา 15.35 น.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ลุกขึ้นชี้แจงกรณีอภิปรายปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยบอกว่า ได้มีการบันทึก จด คำแนะนำต่างๆ และจะนำไปปฏิบัติในส่วนที่พิจารณาว่ามีประโยขน์ต่อประชาชน แต่บางเรื่องเป็นข้อมูลเก่าปี 63-64 แต่ยังนำมาใช้ในการอภิปรายครั้งนี้ แต่ถือว่าทุกคนหวังดี และอภิปรายแบบสร้างสรรค์

รมว.สธ.กล่าวว่า กรณีการอภิปรายเรื่องของวัคซีน มาช้า มาเร็ว แพทย์ฉีดมั่วหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้เป็นวิชาการ ที่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ และผู้บริหารสธ.ตั้งแต่ระดับปลัด สธ. บุคลากรทางการแพทย์ และอธิบดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการชี้แจงกับพี่น้องประชาชน มาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ท่านกล่าวหาวัคซีนไม่ดี ช้า ไม่มีประสิทธิภาพได้เคยชี้แจงและถูกอภิปรายมาแล้ว 2 ครั้ง สุดท้ายก็ได้รับคะแนนเสียงที่ไว้วางใจอย่างท่วมท้นเกิน 260 เสียง

ยันวัคซีนมีเต็มแขน-ยังต้องฉีดทุกปี

นายอนุทิน ยืนยันให้ความสำคัญ 3 ประเด็น คือการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ จะได้รับการบำรุงขวัญทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ต่อยอดนโยบายเดิม เพิ่มเติมนโบายใหม่ และประชาชนต้องได้รับการบริการที่ดีที่สุดทั้งในวิกฤตโควิด และโรคอื่นๆ เพราะจนถึงตอนนี้ สธ.ยังวางแผนรับมือสถานการณ์โควิด ที่อาจเลวร้ายมากกว่านี้ มีบุคลากรแพทย์ ระบสาธารณสุข และวัคซีนที่มีเพียงพอ

คนไทยฉีดวัคซีนเกิน 120 ล้านโดส ครอบคุลมกลุ่มด่านหน้า และยืนยันวันนี้ว่า วัคซีนยังเต็มแขน เต็มแขนจริงๆ มีความพร้อมที่จะฉีดวัคซีนต่อไปจนกว่าโควิดจะกลายเป็นโรคปกติทั่วไป เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามที่ว่าจะฉีดวัคซีนไปถึงเมื่อไหร่ ยืนยันว่าต้องฉีดวัคซีนไปจนกว่าคนไทยทุกคนจะปลอดภัยจากโควิด ยังบอกไม่ได้ว่าจะหมดเมื่อไหร่ แต่ตราบใดที่ยังคุกคาม จะมีอาวุธคือวัคซีนที่จะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง อาการหนัก ลดความเสี่ยงเสียชีวิตของผู้ป่วย

ตัวเลขอัตราการตายต่ำกว่า 0.2% ของการติดเชื้อมาจากการฉีดวัคซีน ส่วน 90% ที่ตายไม่ได้ฉีดวัคซีน มีโรคประจำตัว พร้อมยืนยันไม่เคยฉีดวัคซีนให้ใครตามอำเภอใจ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้เชี่ยวชาญต้องไฟเขียวกับสธ.ก่อนที่จะไปฉีด ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ แต่ทำทุกอย่างตามมาตรฐานทางการแพทย์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สบส.ห้าม รพ.เอกชนเก็บค่ารักษาโควิด-19 ชี้ยังเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน 

 เช็กความพร้อมเตียง กทม.หลังผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มต่อเนื่อง