กำเนิด “Garmin ประเทศไทย” 20 ปีไม่สายเกิน! (Cyber Weekend)

สกาย เชน (กลาง) ผู้อำนวยการ การ์มิน ประเทศไทย

สกาย เชน ผู้อำนวยการ ‘การ์มิน ประเทศไทย’ (Garmin Thailand) ยิ้มโชว์ฟันขาวเมื่อได้ฟังคำถามว่า ‘คิดว่าช้าเกินไปไหม? ที่ตัดสินใจเปิดสำนักงานในไทยหลังจากทำตลาดมานานกว่า 20 ปี’

หลังจากยิ้ม หัวเรือใหญ่การ์มิน ประเทศไทยยืนยันว่าไม่มีคำว่าช้าเกินไป เพราะตั้งแต่ปี 2543 ธุรกิจของการ์มินในประเทศไทยสามารถขยายฐานตลาดได้แน่นหนา และมีการเติบโตที่ดีทุกปี รวมถึงพันธมิตรหลักยุคบุกเบิกอย่างบริษัท จีไอเอส จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทซีดีจี ก็ต้องการให้บริษัทแม่ของการ์มินมาลงทุนในไทยให้มากขึ้นในช่วงนี้

เหตุผลสำคัญของการลงทุนเพิ่ม คือ การรับมือกับความนิยมนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่ร้อนแรงขึ้นในเมืองไทย วันนี้ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การ์มินจะเจียดเงินมาลงทุนเพิ่มเพื่อช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าไทยได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตก้าวกระโดด



ที่ใช้คำว่า ‘เจียดเงิน’ นั้นไม่ใช่การกระทบกระเทียบ แต่เป็นคำพูดให้เห็นภาพว่าวันนี้การ์มินเป็นบริษัทเงินหนาตัวจริง จากปี 59 ที่รายได้ 29% ของบริษัทมาจากอุปกรณ์นำทางในยานยนต์ บริษัทสามารถปรับตัวจากภาวะตลาดอุปกรณ์นำทางส่วนบุคคล (PND) ถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟนและระบบ GPS ที่ถูกฝังมาครบในรถยนต์ จนทำให้รายได้ 90% ในปี 63 เกิดจากกลุ่มผู้เล่นกิจกรรมกลางแจ้ง ฟิตเนส เรือเดินทะเล และการบิน เบ็ดเสร็จแล้วรายได้รวมในปี 63 ของการ์มินเติบโตขึ้นเกือบ 40% จากปี 59

ไม่ใช่แค่ความสามารถในการปรับตัวของบริษัท แต่ต้องยอมรับว่าการ์มินได้รับประโยชน์เต็มที่จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผลิตภัณฑ์ใหม่ของการ์มินได้รับความนิยมเนื่องจากบริษัทเพิ่มงบวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อเนื่องหลายปี ทำให้ยิ่งแข็งแกร่งเมื่อผู้บริโภคสนใจทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากการระบาดของโควิด-19 ส่งให้การเติบโตของรายได้รวมปี 63 ของการ์มินเพิ่มขึ้นอีก 11% สามารถกวาดรายได้ทั่วโลก 4,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 125,700 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4 รายได้ของการ์มินเติบโตไม่ธรรมดา 23%



การเติบโตนี้ทำให้การ์มินไม่แคร์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19 ตรงกันข้าม บริษัทเทเงินลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดี จุดนี้ผู้อำนวยการการ์มินประเทศไทยเผยด้วยความมั่นใจว่าเพราะผลิตภัณฑ์การ์มินเหมาะสมในการทำตลาดหลังโควิด-19

***โควิด-19 ให้อานิสงส์

กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจกลางแจ้ง ทั้งการตั้งแคมป์ การวิ่ง การดำน้ำ และการพายเรือ ล้วนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกทั้งช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ความนิยมนี้ส่งผลดีกับยอดขายสมาร์ทวอทช์ของการ์มิน เพราะผู้ใช้สามารถรับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ผ่านระบบนำทาง GPS เทคโนโลยีโซนาร์ที่ใช้ตรวจหาวัตถุในน้ำที่ไม่มีในแบรนด์อื่น รวมถึงการประยุกต์กับหลักการวิทยาศาสตร์การวิ่งซึ่งการ์มินย้ำว่า ‘ไม่มีใครทำ’ แต่การ์มินทำจนกระทั่งผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลายกว่า

ในยุคโควิด-19 เช่นนาทีนี้ การ์มินย้ำว่ามองเห็นศักยภาพการเติบโตของอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearable Devices) ในประเทศไทย และคนไทยมีความต้องการให้สมาร์ทวอทช์ที่ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย หรือทุ่มเทกับการเล่นกีฬาและทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยสามารถวัดผลลัพธ์และมอนิเตอร์ตัวเองอย่างแม่นยำ ปัจจัยบวกที่โดดเด่นในตลาดไทยคือ กระแสของผู้บริโภคที่โฟกัสกับการใช้ชีวิตแอ็กทีฟและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนครั้งในการทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์มการ์มินคอนเทนต์ (Garmin Connect) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สถิติระบุว่า กิจกรรมในร่ม (Indoor Activities) ของผู้ใช้การ์มินเพิ่มสูงกว่า 55% โดยกิจกรรมที่ได้รับความนิยม ได้แก่ คาร์ดิโอในที่ร่ม และโยคะ ในขณะที่กิจกรรมกลางแจ้ง (Outdoor Activities) เพิ่มสูงกว่า 25% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มกีฬากอล์ฟ และจักรยาน และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในตัวเลขรายได้ของกลุ่มสินค้าซีรีส์ DESCENT สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกีฬาดำน้ำ ที่เติบโตกว่า 80% รายได้กลุ่มสินค้าซีรีส์ APPROACH สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกีฬากอล์ฟโตขึ้น 170% ขณะที่รายได้ของกลุ่มสินค้าซีรีส์ EDGE สำหรับผู้ที่รักในการปั่นจักรยาน เติบโตขึ้น 60% ขณะที่รายได้ของกลุ่มสินค้าซีรีส์ VENU เพิ่มขึ้น 20%

สถิติเหล่านี้ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดอุปกรณ์อัจฉริยะสวมใส่ได้ของประเทศไทยปี 63 ที่พบว่าเติบโต 7% ยอดจำหน่ายรวมคือ 970,000 ชิ้น ตลาดมีแนวโน้มเติบโตได้อีกเพราะการสำรวจพบว่าคนไทย 54% ไม่ได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว โดย 26% ระบุว่า เป็นเจ้าของสมาร์ทวอทช์ อีก 11% เป็นเจ้าของอุปกรณ์ติดตามสถิติฟิตเนส และเพียง 9% เท่านั้นที่เป็นเจ้าของทั้งสมาร์ทวอทช์และอุปกรณ์ติดตามสถิติฟิตเนส



ในภาพรวมบริษัทไม่ได้วางแผนจะลดจำนวนผู้บริโภคไทย 54% ที่ไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะสวมใส่ได้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่การ์มินแบรนด์เดียว แต่อยู่ที่ภาพรวมอุตสาหกรรมที่จะยกระดับภาพจำของผู้บริโภคว่าอุปกรณ์สมาร์ทแทรกเกอร์จะสามารถช่วยและสร้างประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากเพียงใด สิ่งที่การ์มินจะทำคือการเปิดให้ลูกค้าได้เห็น และสัมผัสได้ถึงประโยชน์ที่แท้จริง บนเป้าหมายที่บริษัทต้องการเห็น คือ การพาการ์มินไปสู่ข้อมือของทุกคน

***ขายดีหมดสต๊อก

การสำรวจยังพบว่า ความต้องการของผู้บริโภคไทยกำลังย้ายจากรุ่นโลว์เอนด์หรือรุ่นเริ่มต้นไปยังรุ่นระดับกลาง-สูง สัดส่วนตลาดรุ่นราคาประหยัดลดลง สวนทางกับรุ่นราคาสูงที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ดีมานด์ในตลาดไทยกำลังขยายออกนอกตลาดนักกีฬา ไปสู่กลุ่มผู้หญิงและแฟชั่นมากขึ้น เห็นได้ชัดจากรุ่นล่าสุดที่การ์มินเพิ่งเปิดตัวด้วยจุดขายตัวเรือนเล็กที่สุดเหมาะกับผู้หญิงอย่างรุ่น Lily นั้นขายดีมากจนหมดสต๊อกใน 1 สัปดาห์

สิ่งที่การ์มินมองในช่วงหลังจากนี้คือการขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกด้านที่มีโอกาส ทั้งการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการเล่นกอล์ฟ และอุปกรณ์สำหรับการดำน้ำ ซึ่งครอบคลุมตลาดอื่นที่ไม่ใช่สมาร์ทวอทช์ด้วย สำหรับประเทศไทย การเปิดสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการจะทำให้บริษัทคว้าโอกาสในการขายสินค้ามากขึ้นหลังจากเปิดตลาดไทยมานานกว่า 20 ปี และจากนี้ชาวไทยจะได้เห็นสินค้าการ์มินวางจำหน่ายใน 5 หน่วยธุรกิจเครือเซ็นทรัล ทั้งเพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส และห้างเซ็นทรัล รวมถึงร้านค้าย่อยทั่วไทย

การเปิดสำนักงานใหม่ในเมืองไทยของการ์มินนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับเวียดนาม ซึ่งแปลว่าไทยและเวียดนามเป็น 2 ตลาดล่าสุดที่การ์มินมองว่าต้องการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังด้วยตัวเอง คาดว่าการลงทุนใน 2 ประเทศนี้จะมีลักษณะคล้ายกัน ทั้งการตั้งทีมการตลาด ทีมขาย ทีมบริการลูกค้าและบริการหลังการขาย เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้า โดยการ์มินประเทศไทยจะมีบริการรับสินค้าถึงหน้าบ้านแบบ door-to-door (D2D) ในไตรมาสแรกของปี 2564 ร่วมกับการลงทุนทำคอลเซ็นเตอร์ในสำนักงาน การขยายจุดรับส่งสินค้า 300 จุดทั่วประเทศไทย และการทำงานร่วมกับดิสทริบิวเตอร์เพื่อขยายบริการที่ทั่วถึงยิ่งขึ้นในอนาคต

การ์มินย้ำว่า มีแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่ทุกเดือน เช่น ในช่วงเดือนที่แล้วมีการออกนาฬิกาบางที่สุดสำหรับผู้หญิง ขณะที่เดือนมีนาคมมีการออกนาฬิกาสำหรับผู้เล่นอีสปอร์ต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาอีสปอร์ตจะสามารถบอร์ดแคสต์สถิติอัตราเต้นของหัวใจ (heart rate) ขณะเล่นได้ ยังมีนาฬิกาที่นักดำน้ำจะสามารถเห็นปริมาณแก๊สได้จากหน้าจอนาฬิกา ทั้งหมดนี้ทำบนเป้าหมายสูงสุดคือการเซอร์ไพรส์ลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกเดือน

เห็นแล้วใช่ไหมว่า กำเนิด ‘Garmin ประเทศไทย’ ใช้เวลา 20 ปีไม่สายเกินไปแน่นอน