‘ชัยวุฒิ’ ยัน รัฐบาลดันศก.ดิจิทัล เสาหลักหนุนจีดีพี รับ งบกระทรวงน้อย ได้ ‘กสทช.’ ช่วยพยุง
เมื่อเวลา 20.39 น. วันที่ 1 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงว่า
การจัดสรรงบประมาณภาพรวมแบ่งแยกงบไปตามหน่วยงาน และกระทรวง โดยมีการปรับเปลี่ยนบ้าง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประจำ และโครงการต่อเนื่องที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กระทรวงดีอีเอส ได้รับงบ 6.8 พันล้านบาท เชื่อว่าภาพรวมกระทรวงดีอีเอส ที่สมาชิกบอกว่า ควรให้ความสำคัญเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ผ่านมาเรามีโครงการดีๆ หลายอย่างเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งได้ และมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาช่วยด้วย ที่มีรายได้จากการเปิดประมูลใบอนุญาต ประมาณหลายหมื่นล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังร่วมขยายอินเตอร์เน็ตไปทุกหมู่บ้าน เรียกว่าเน็ตประชารัฐ ทำให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตประมาณ 80% เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว การมีธุรกิจออนไลน์ และโมบายแบงก์กิ้ง ทำให้ธุรกิจดิจิทัลเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และจะมีส่วนในการผลักดันเพิ่มจีดีพี
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังจะมีการผลักดันคลาวด์ภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานจัดเก็บข้อมูล เพื่อยกระดับการทำงานของภาครัฐ ไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่วนการนำสายสื่อสารลงดิน จากการพาดสายสะสมมายาวนาน พบว่า 70-80% เป็นสายที่ไม่ใช้งานแล้ว เกิดเป็นปัญหาทางทัศนียภาพ โดยกำลังแก้ไขอยู่ แต่การจัดระเบียบสาย หรือการลงทุนด้านอินเตอร์เน็ต ต้องใช้งบสูง มูลค่านับหมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงต้องเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน โดยมี กสทช. เปิดประมูล ส่วนการสร้างธุรกิจใหม่ๆ มีการผลักดัน เช่น ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเล่ย์ ในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดธุรกิจดิจิทัล และการพัฒนาโครงสร้างต่อไป หากสร้างอาคารเสร็จ คาดว่า จะมีนักลงทุนมาใช้บริการเต็มพื้นที่แน่นอน เพราะมีการสร้างบรรยากาศ และการแก้กฎหมายเพื่อจูงใจ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังส่งเสริมกีฬาอีสปอร์ต ซึ่งเราส่งแข่งจนได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ และยังเป็นการสร้างรายได้ด้วย ส่วนที่ประชาชนถูกหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ รัฐบาลติดตามงานเรื่องนี้ตลอดเวลา โดยเปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่านสาย 1212 และผ่านระบบออนไลน์ด้วย เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์
ส่วนพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล มีขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชน จากการซื้อขายเงินดิจิทัล ที่มีการหลอกลวง จนสร้างความเสียหาย จากกฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดตลาดซื้อขายในไทยมี 9 บริษัทที่ได้รับการรับรอง และมีกลต. ร่วมกับธปท. กำกับดูแล
ส่วนความมั่นคงปลอดภัยในคอมพิวเตอร์ เราได้ตั้งหน่วยงานกำกับดูแลมาดูแลโดยเฉพาะ ทำให้เกิดการป้องกันที่มีมาตรฐาน และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลของประชาชน เช่น ข้อมูลสุขภาพ และประวัติการซื้อสินค้า เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว ร้านค้าและองค์กรต้องมีระบบป้องกันไม่ให้นำข้อมูลของประชาชนรั่วไหล ทั้งหมดที่กระทรวงดีอีเอส ทำเป็นไปเพื่อมุ่งหวังสร้างความเข้มแข็ง และทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเป็นเสาหลักของไทยให้ได้