สถานการณ์การระบาดโควิดระลอกล่าสุดสร้างความเสียหายทางสังคม เศรษฐกิจอย่างหนัก ที่น่ากังวลมากกว่าความเสียหายอันเกิดจากเชื้อโรค คือความสามารถในการควบคุมการระบาดของประเทศก็อยู่ในระดับน่าห่วง
เชื้อไวรัสยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ยอดติดเชื้อพุ่งขึ้นรายวันในระดับหลักพัน ทำลายสถิติติดเชื้อมากกว่า 3 พันราย มียอดติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตสถิติสูงสุดที่ปรากฏแล้วคือ 15 รายต่อวัน จนยอดติดเชื้อสะสมในการติดเชื้อระลอกใหม่เดือนที่ผ่านมาพุ่งเกิน 30,000 รายเป็นที่เรียบร้อย
คนไทยได้เห็นข่าวรายวันที่น่าตกใจ เริ่มจากการติดเชื้อคนเดียว แต่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลรักษาได้ ต้องกลับมากักตัวที่บ้าน กลายเป็นจากติดเชื้อหนึ่งคน เปลี่ยนเป็นติดเชื้อทั้งบ้าน สถานการณ์เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ กรณีของผู้ติดเชื้อชื่อ “อัพ” หนึ่งในผู้บุกเบิกกีฬาอีสปอร์ต ที่ก่อนเสียชีวิต ก็พยายามติดต่อโรงพยาบาล ขอรถมารับ แต่ก็ไม่มีใครมารับ โดยตลอดเวลา ได้ไลฟ์สด โพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์ของตัวเองตลอดเวลา จนกระทั่งเสียชีวิต
หรือจะเป็นกรณี ครอบครัวอาม่า 3 คน ที่คนพี่สาวติดเชื้อจนเสียชีวิต น้องสาวยกมือไหว้ขอความช่วยเหลือ โดยมีเพื่อนบ้านที่ถ่ายคลิปโพสต์ลงโซเชียล เป็นที่น่าสลดใจ ยังมีเคสเช่นเดียวกับอาม่า และ “อัพ” อีกหลายเคส ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลออกมาอย่างต่อเนื่อง
แต่แถลงของ ศบค.ให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตหลายราย โดยพยายามให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะโรคประจำตัว ขัดกับสายตาคนจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า สาเหตุหลักมาจากการไม่ได้รับการเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีต่างหาก
ในท่ามกลางการระบาดของเชื้อก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะนี้มีรายงานว่า สถานการณ์ในชุมชนแออัดต่างๆใน กทม. ก็ยิ่งน่าห่วง เนื่องมาจาก กทม.ยังมีชุมชนแออัดหลายชุมชน มีคนป่วยติดเชื้อโควิดระลอกใหม่จำนวนไม่น้อย เหตุที่น่าห่วงเพราะลักษณะชุมชนแออัด คนที่อยู่ในชุมนุมทำงานหลากหลาย ส่วนใหญ่ต้องเข้าเมือง พบปะ เดินทางไปทั่วเมือง ทำงานอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะไปเช้าเย็นกลับ ยิ่งง่ายต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อ
ที่น่ากังวลคือขณะนี้มีคนติดเชื้อแล้ว ในส่วนกลุ่มเสี่ยง จะอยู่กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วันได้ ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก
เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผจก.มูลนิธิดวงประทีป เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ขณะนี้ว่า ชุมชนแออัด เขตคลองเตยขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น บ้านแต่ละหลังก็อยู่กันอย่างหนาแน่น ไม่มีระยะห่าง ไม่มีห้องส่วนตัว มีผู้เสี่ยงสูงเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อเยอะมาก อย่างในวันนี้ผู้เสี่ยงสูงที่เรารวบรวมได้ทั้งหมด เกือบ 400 คน อันนี้คือยังไม่หมดทุกชุมชน แล้วก็ยังมีผู้ที่วอล์กอินเข้ามา บอกว่าเป็นผู้เสี่ยงสูง อีกประมาณ 100 คน ขณะที่ส่วนของมูลนิธิเอง มีโควต้าที่จะรับตรวจได้เพียง 500 คน ตอนนี้บัตรโควต้าเหลือเพียง 10 กว่าใบ แสดงว่ากลุ่มเสี่ยงสูงวันนี้ประมาณ 500 คน กลุ่มคนที่นับเป็นผู้เสี่ยงสูงส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีปเล่าต่อว่า ทั้งนี้มูลนิธิทำงานมาตั้งแต่ โควิดระบาดระลอกสอง มีการรวมตัวกับกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ตอนนั้นส่วนใหญ่ก็คัดกลุ่มเสี่ยงมาตรวจราว 200 คน ส่วนใหญ่ก็ลบหมด และติดเชื้อไม่กี่คน ไม่ถึงสิบ
แต่รอบนี้ติดเยอะขึ้น เราจึงมารวมตัวกันใหม่ ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงรับมือไม่ไหว มีเจ้าหน้าที่น้อย กลุ่มเราจึงทำหน้าที่เพื่อกรองข้อมูลและไปบอกผู้ที่รับผิดชอบ มีการประสานงานกับคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ในการส่งตัวผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลสนามของกรุงเทพฯ เพราะขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชนมากขึ้น ช่วงสองสามวันนี้มีการปรับระบบ ส่งตัวไปโรงพยาบาลสนามได้เร็วขึ้น แต่ขณะนี้พบผู้เสี่ยงสูงในชุมชนมีจำนวนมาก เราจึงเร่งทำข้อมูลหาตัวผู้เสี่ยงสูง และรับบริจาคสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่กักตัว ส่งข้าวส่งน้ำส่งทุกอย่างที่ต้องการให้
ขณะที่ผู้ติดเชื้อเวลานี้ในชุมชน ณ วันที่ 26 เมษายน นับได้ประมาณ 19 คน ส่งตัวไปรพ.สนามหมดแล้ว ส่วนผู้เสี่ยงสูงนับได้ 85 คน ขณะนี้ก็ยังมีปัญหา บางคนในชุมชนไม่ได้ไปตรวจในระบบสาธารณสุขของรัฐ ไปตรวจเองข้างนอก ไม่ได้แจ้งใครเพราะกลัว คนในชุมชนก็ไม่รู้จนกว่าเค้าจะป่วยแสดงอาการ
เมื่อถามถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีประบุว่า “เวลาหน่วยงานรัฐมองจะมองปัญหาเป็นภาพแบบชนชั้นกลาง ที่มีบ้านมีห้องแยกส่วนตัว ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น แต่ในชุมชนแออัดถ้าคุณเข้ามาสัมผัสคุณจะรู้เลยว่า ไม่ต้องพูดถึงห้องส่วนตัว ที่ว่างที่จะต้องสร้างระยะห่างระหว่างกันครึ่งเมตรหรือหนึ่งเมตร ก็แทบไม่มี ตอนค่ำทุกคนกลับไปนอนที่บ้านก็แทบจะนอนเรียงกันเลย หลายๆบ้านเป็นแบบนั้น โอกาสที่คนติดเชื้อแล้วจะติดกันก็เยอะมาก ยกตัวอย่าง มีบ้านหนึ่งเขาเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยอีกหลังหนึ่ง แต่เขารู้ตัวว่าเขาไปนั่งกินข้าวด้วยกัน เขาก็รู้ตัวว่ามีโอกาสติดเยอะมาก เขาก็กักตัวเองทั้งหกคนในบ้าน ก็มาประสานให้เอาอาหารไปส่งให้ ปรากฏว่าเมื่อวานพบว่าเขาติดเชื้อสองคน อีกสี่คนก็ไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่าเพราะมันอยู่ในบ้านเดียวกัน บ้านมันหลังเล็ก นี่คือความเสี่ยงอยู่ได้บ้านก็อาจจะติดกัน ออกมาก็อาจจะติดกับคนอื่นที่ไม่ระวัง”
“กองทัพเคยประกาศว่าจะผลักดันสนับสนุน กทม.ให้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนเต็มที่เลยค่ะ เชิญ แต่จะให้ดีมาลองหาทำที่กักตัวของผู้เสี่ยงสูง เพราะตอนนี้คนที่จะแพร่เชื้ออีกส่วนหนึ่งคือผู้เสี่ยงสูง เพราะมันเยอะมากค่ะตอนนี้ อย่างวันนี้ที่เราบอกเกือบ 400 ราย รวมคนที่วอล์กอินเข้ามาก็เกือบ 500 ราย”
“ชุมชนแออัดที่คลองเตยมีประมาณ 40 กว่าชุมชน ตอนนี้ทำข้อมูลอยู่แค่ประมาณ 10 กว่าชุมชนเองนะคะ”
“1.ถ้าทำได้ก็คือหนึ่งอยากให้ตั้งโรงพยาบาลสนามใกล้ที่สุด 2.อยากให้หาทางแยกคนเสี่ยงสูงออกมา ตอนนี้คนเสี่ยงสูงเค้าให้กลับบ้าน ทั้งที่บ้านก็แคบ ชาวชุมชนส่วนใหญ่ทำมาหากินแบบไม่ได้กินเงินเดือน ถ้าเขาจะต้องกักตัวอยู่บ้านเค้าจะกินอะไร แม้จะมีคนส่งข้าวส่งน้ำเวลากักตัว เค้าก็ยังมีภาระอื่น มันก็ยากเวลาทำงาน ถ้ามีที่แยกให้กักตัวคนเสี่ยงสูง ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง” เพ็ญวดี ผจก.มูลนิธิดวงประทีป ระบุ
ขณะที่ ครูส้ม คณิตา โสมภีร์ ครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุ 11 ชุมชน และเป็นกรรมการชุมชนทรัพย์สินเก่า เขตวังทองหลาง เล่าให้ฟังว่า ชุมชนแออัดใกล้เคียงกันมีทั้งหมดประมาณเจ็ดชุมชน เช่น ชุมชนเทพลีลา ชุมชนน้อมเกล้า ชุมชนทรัพย์สินเก่า-ทรัพย์สินใหม่ ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ตอนนี้ได้รับแจ้งว่าเกือบจะทุกชุมชนก็มีคนติดโควิด ตอนนี้ยังไม่ทราบจำนวน ที่แน่ชัด บางชุมชนมีคนเสียชีวิตแล้ว ส่วนผู้ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็มีจำนวนมาก หน่วยงานที่ดูแลในชุมชนอย่างศูนย์เด็กเล็กก็ต้องปิดตัวลงเพราะมันมีคนติดเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ได้รับรายงานว่าติดต่อรถพยาบาลได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ติดต่อยากมาก บางคนติดต่อไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่งจะมีรถมารับไปเมื่อวันก่อนนี้เอง ขณะนี้พวกเราก็ต้องช่วยกัน ที่จะให้คนป่วยได้ไปรักษา ส.ส.ในพื้นที่ ก็พยายามช่วยเหลืออยู่ บางเคสถ้าไม่ได้ส.ส.ช่วยไว้ก็คงได้ไปแล้วรักษายาก
จากการประเมินผู้ติดเชื้อเบื้องต้นในแต่ละชุมชนน่าจะรวมกันเกิน 10 ราย ส่วนกลุ่มเสี่ยงตอนนี้น่าจะประมาณ 50 ถึง 60 คน คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ต้องกักตัวรวมกันทั้งบ้าน เพราะในชุมชนมันจะมี ห้องน้ำห้องเดียว แล้วก็จะเป็นบ้านหลังคาชนกันบ้าง บ้านที่เป็นผนังติดกันบ้าง ก็กักตัวลำบาก ห้องน้ำก็ต้องใช้ด้วยกัน โอกาสที่จะติดเชื้อจาก 50% มันก็จะเพิ่มเป็น 80% 90% หรือ 100%
ส่วนตัวกังวลสถานการณ์ในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้ามากๆ เพราะมันเริ่มใกล้ตัวเข้ามามากขึ้น การตรวจโควิดของกลุ่มเสี่ยงถ้าจะไปเองก็ลำบาก จะขึ้นรถสาธารณะไปตรวจก็เสี่ยง มีหลายคนมาพูดกับตนเอง กังวลว่าไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยงหรือเปล่า การตรวจเชิงรุกน่าจะมีเข้ามาในชุมชนบ้าง การจะต้องไปหาตรวจเอง ค่าตรวจมันแพงมาก เงิน 3,000 กว่าบาท ประชาชนก็ไม่ค่อยกล้าไป ถ้าเป็นคนในชุมชนค่าตรวจเท่านี้มันเป็นเรื่องใหญ่มาก กว่าปากท้องของเขาเขาก็จะไม่ไป มีประชาชนเขาพูดแบบนี้เลยว่ายินดีปล่อยให้ตัวเองเป็นโควิด มากกว่าที่จะไปตรวจ ประธานชุมชนเค้ามาเล่าให้ฟังเลย ที่ผ่านมากว่าจะได้รถพยาบาลมารับ ขนาด ส.ก. – ส.ข. ช่วยกัน ส.ส.มาช่วย ก็ยังช้ามากกว่าจะได้มา ในส่วนกลุ่มเสี่ยงก็ต้องมีคนไปให้ข้าวให้น้ำ บางชุมชนช่วยได้ บางชุมชนก็ไม่ได้ รัฐบาลก็ให้ความรู้คนในชุมชนไม่ได้ทั่วถึง
ผู้คนในชุมชนแออัดมีความอ่อนไหวในด้านการอยู่อาศัยมากกว่าที่อื่น อยู่ใกล้ชิดกันมาก ถ้ามันระบาดแล้วควบคุมไม่ทัน มันจะเสี่ยงแพร่กระจายกันไปหมดเลยอย่างรวดเร็ว ภาครัฐควรดูแลชุมชนแออัดในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้มากกว่านี้ คนในชุมชนเขาก็กลัวแต่เค้าก็ไม่รู้จะทำยังไง มันหนีจากที่นี่ไม่ได้เพราะมันคือบ้านเขา มันคือที่หลบภัยที่ไม่มีความปลอดภัย
“มีคุณยายส่งลูกไปหาหมอแล้วลูกติดโควิด เคยปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าแบบนี้เสี่ยงไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยบอกว่าเสี่ยงน้อย มันก็ขัดกับความรู้สึกเราว่าแบบนี้เสี่ยงน้อยตรงไหน เราอยากให้เคสแบบนี้ได้ตรวจ คนที่ป่วยแล้วก็ไปโรงพยาบาล แต่ มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากที่ไม่ได้ตรวจ คนที่มีก็ต้องไปจ่ายเงินตรวจเอง คนที่ไม่มีเงินก็กักตัว”
“ไม่แน่ใจนะว่าระบบสาธารณสุขมันไม่ถึงพวกเราได้ยังไง ทั้งทั้งที่พวกเราก็อยู่ในกรุงเทพฯ” ครูส้ม คณิตา กล่าวทิ้งท้าย