ในอดีตเมื่อพูดถึงรถยนต์พลังไฟฟ้าภาพที่ถูกสะท้อนออกมามักจะเป็นรถยนต์คันเล็กสำหรับการใช้งานในเมืองเป็นหลัก แต่ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายและกำลังจะขายในตลาดไม่ได้มีแค่รถยนต์ไซส์เล็กเท่านั้น หลายแบรนด์นำเสนอผ่านตัวถังต่าง ๆ ทั้งเก๋งเล็กเก๋งใหญ่ รวมถึงเอสยูวีและรถสปอร์ต แต่ที่น่าสนใจคือการเจาะกลุ่มตลาดปิกอัพที่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะถูกผูกขาดโดยเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ I.C.E. มาโดยตลอด
จริงอยู่ที่หลายคนอาจจะมองว่าการเปิดตัวของ Tesla Cybertruck เมื่อปี 2562 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดปิกอัพไฟฟ้า แต่เอาเข้าจริงด้วยรูปลักษณ์ สเป็ก และราคาที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่ามันจะเป็นของเล่นเศรษฐีมากกว่าที่จะเข้าถึงการใช้งานในวงกว้างเชิง Mass Production
ดังนั้น เมื่อฟอร์ดเปิดตัว F-150 Lightning รุ่นใหม่ที่เป็นเวอร์ชัน EV ออกมาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความน่าสนใจหลายอย่างจึงเกิดขึ้น และตรงนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่างของทิศทางและแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภค
การข้ามข้อจำกัดเรื่องการใช้งาน
ประเด็นหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็น Pain Point ของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าคือ ข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางการแล่น และส่งผลต่อเนื่องไปยังความสะดวกของการใช้งาน และนั่นทำให้หลายต่อหลายครั้งการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าจึงเน้นขนาดเล็กเพื่อการเดินทางในระยะสั้นสำหรับในเมืองกรณีที่เป็นรถยนต์สำหรับคนทั่วไป ส่วนพวกที่มีประสิทธิภาพสูงในเรื่องของระยะทางการแล่นต่อการชาร์จ 1 ครั้งมักจะอยู่ในรถยนต์ระดับหรูหรา หรือไม่ก็รถสปอร์ตราคาแพง แต่การเปิดตัวของ F-150 Lightning เวอร์ชันปี 2565 สามารถบอกเป็นนัยๆ ได้ถึงความสำเร็จในการก้าวข้ามข้อจำกัดตรงนี้สำหรับการผลิตใช้งานเชิงพาณิชย์
F-150 Lightning ถือเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์มูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯของฟอร์ดในการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าสำหรับจำหน่ายในตลาดทั่วโลกเพื่อเป็นการปูทางไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับฟอร์ดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในตลาด และพวกเขาก็เริ่มต้นกันมาแล้วกับ Mustang Mach-e และรถตู้ Transit ในปีที่แล้ว
ฟอร์ดพัฒนา F-150 Lightning ขึ้นมาภายใต้พื้นตัวถังใหม่ที่เป็น Electric Platform โดยสามารถเติมความสามารถในการใช้งานเข้าไปโดยที่ไม่ลดทอนประสิทธิภาพการใช้งานที่ได้รับจากการใช้รุ่นปกติ ซึ่งมีเครื่องยนต์สันดาปภายในประจำการอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้ากับพลังขับเคลื่อน 563 แรงม้าและแรงบิดสูงสุดระดับ 775 ฟุต-ปอนด์ หรือ 100.9 กก.-ม. ใช้เวลาต่ำกว่า 4 วินาทีในการทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงต่ำกว่า 4 วินาที และคงความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดระดับ 2,000 ปอนด์ หรือกว่า 900 กิโลกรัมได้เหมือนกับรุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่นเดียวกับความสามารถในการลากจูงน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4,500 กิโลกรัมได้อย่างสบายๆ … นี่คือสิ่งที่ F-150 Lightning ทำได้
ส่วนสเป็กแบตเตอรี่และระยะทางที่ทำได้มีการระบุว่า ปิกอัพรุ่นนี้จะทำตลาดด้วยกัน 2 แบบคือ Standard-Range ซึ่งใช้แบตเตอรี่ขนาด 115-125 kWh สามารถแล่นทำระยะทางได้ 230 ไมล์ หรือ 370 กิโลเมตรเมื่อชาร์จเต็ม และอีกรุ่นคือ Extended-Range ที่มีขนาดแบตเตอรี่ 155-170 kWh และแล่นได้ 300 ไมล์ หรือ 483 กิโลเมตรเมื่อชาร์จเต็ม
สเป็กดูน่าสนใจ แต่เหนืออื่นใด ที่น่าสนใจมากสุดคือ ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้ราคาที่จับต้องได้ และแทบมีราคาที่ไม่แตกต่างจากรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในโดย F-150 Lightning EV มีราคาอยู่ที่ 33,974-52,974 เหรียญสหรัฐฯแพงกว่า F-150 รุ่นธรรมดาซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ 28,940 เหรียญสหรัฐฯ อยู่ราว 5,000 เหรียญสหรัฐฯ
นั่นเป็นการบอกนัยๆ ว่า รถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม BEV หรือ Battery Electric Vehicle ไม่ใช่สินค้าที่มีราคาแพงอย่างที่คิดกันอีกต่อไป
เมื่อผู้บริโภคก้าวข้ามความกลัว
งานวิจัยในทศวรรษที่ 2000 ชิ้นหนึ่งเคยระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้บางเทคโนโลยีไม่สามารถก้าวข้ามจากการเป็นเทคโนโลยีต้นแบบมาเป็นเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานในวงกว้างได้ก็เพราะความกลัวของผู้บริโภค และตอนนั้นรถยนต์ไฟฟ้าก็เจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไฮบริด เคยเจอในขณะที่กำลังถูกนำเสนอเข้าสู่ตลาด
แต่ ณ ปัจจุบัน แม้ว่าหลายคนอาจจะยังมีความกังวลในเรื่องการใช้งาน แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาได้ดีผ่านทาง F-150 Lightning คือ ตัวเลขยอดจองที่เกิดขึ้น กับตัวเลข 44,500 คันภายในระยะเวลา 48 ชั่งโมงหลังเปิดตัว ถ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tesla Cybertruck ก็พอจะอนุมานได้ว่ามันคือของเล่นเศรษฐี และหลายคนอาจจจะอยากได้เพราะการเก็งกำไรในอนาคตฐานะของรถยนต์สะสม แต่กับรถบ้านๆ อย่าง F-150 Lightning ลืมเรื่องนี้ไปได้เลย เพราะยากที่จะทำกำไรได้ในแง่ของการสะสม หรือแม้แต่การขายใบจองที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศ
ดังนั้น คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียวคือผู้บริโภคได้ก้าวข้ามความกลัวของพวกเขาไปแล้ว และ 44.9% ของยอดจองทั้งหมด หรือ 20,000 คันเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมงแรกหลังการเปิดตัวและเปิดราคา ซึ่งอีกปัจจัยย่อยที่เข้ามาช่วยส่งเสริมคือราคาที่จับต้องได้เมื่อเปรียบเทียบกับสเป็ก
แน่นอนว่าเรื่องของการก้าวข้ามความกลัวเรื่องการใช้งานนั้น ทางฟอร์ดย่อมต้องมีอะไรเข้ามาประกอบเพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานของปิกอัพพลังไฟฟ้ารุ่นนี้ โดยเฉพาะความง่ายและความสะดวกถึงถูกสะท้อนผ่านคำกล่าวที่ว่า ‘Going Electric, Made Easy ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการชาร์จอย่างรวดเร็วของตัวรถ โดยอย่างแรกมีการแถม Charging Station ขนาดความจุ 80 แอมป์มาให้กับทุกคัน โดยเมื่อชาร์จผ่านแท่นชาร์จนี้ในทุก 1 ชั่วโมง ตัวรถจะสามารถแล่นได้ 30 ไมล์ หรือ 48 กิโลเมตร และการชาร์จจาก 15% ของแบตเตอรี่ไปยัง 100% ของความจุใช้เวลา 8 ชั่วโมง ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติมาตรฐานสำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า
เรื่องของระบบสาธารณะในการรองรับกับการใช้งานก็เช่นเดียวกัน การสื่อสารผ่านข้อมูลเพื่อให้คนได้รับทราบถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งฟอร์ด ก็ใช้เรื่องตรงนี้ในการเผยแพร่ออกไป โดยการใช้สิ่งที่เรียกว่า Ford Pass ผ่านทางเครือข่ายแท่นชาร์จสาธารณะที่กระจายอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งมีแท่นชาร์จสาธารณะกระจายอยู่มากถึง 63,000 แห่ง รวมถึงความพยายามในการเพิ่มแท่นชาร์จแบบ Quick Charge ขนาด 150 กิโลวัตต์ให้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้แค่ชาร์จ 10 นาทีจะมีกระแสไฟฟ้ามากพอที่จะให้รถแล่นทำระยะทางได้ 54 ไมล์ หรือ 86 กิโลเมตร และใช้เวลาเพียง 41 นาทีสำหรับการชาร์จจาก 15% ไปยัง 100% นั่นทำให้ความกลัวและความกังวลของผู้ใช้ที่เคยมีในอดีต แทบจะมลายหายไปเลยทีเดียว
Game Changer ที่มาถูกที่ถูกเวลา
ฟอร์ดถือเป็นแบรนด์อเมริกันที่จริงจังกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่สุด แม้ว่าโดยบริบทของตลาดรถยนต์อเมริกันนั้นพวกเขาอาจจะไม่ค่อยสนใจรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็น BEV มากกว่าพวก Hybrid หรือ Hybrid Plug-in โดยสัดส่วนตลาดของ BEV มีเพียงแค่ 1.8% เท่านั้น และยังน้อยกว่าเยอะเมื่อเปรียบเทียบตลาดยุโรปที่ตอนนี้ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ในด้านยอดขายของรถยนต์ BEV โดยตลาด BEV ส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาถูกถือครองโดย Tesla
อย่างไรก็ตาม การเริ่มจำหน่าย Mustang Mach-e ในปีที่แล้วถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันเริ่มหันมาสนใจกับตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น และรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ได้รับยอดจองครบจำนวน 50,000 คันสำหรับปีแรกของการผลิตแล้ว แต่สำหรับปีต่อ ๆ ไป ตัวเลขการผลิตก็จะเพิ่มขึ้น โดยสำหรับ F-150 Lightning นั้น ทาง Jim Farley CEO ของฟอร์ดเผยว่าจะใช้แนวทางในการรับจองและผลิตแนวเดียวกับ Mustang Mach-e คือ มีจำนวนจำกัดการผลิตในปีแรก แล้วค่อยเพิ่มขึ้นปีต่อไป แต่ตัวเลขจำนวนการผลิตปีแรกของ F-150 Lightning จะมีมากถึง 80,000 คัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟอร์ดเองต้องการประเมินศักยภาพของ Supplier ที่ทำหน้าที่ในการผลิตชิ้นส่วนป้อนมายังไลน์ผลิตด้วย
นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ถือว่าน่าสนใจและน่าจะทำให้ฟอร์ดกลายเป็นพี่เบิ้มในวงการรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของอเมริกันด้านยอดขาย คือการเลือกรุ่นที่ทำตลาดซึ่งเหมาะเจาะอย่างยิ่ง เพราะอย่าลืมว่า F-150 คือ ปิกอัพที่ครองความนิยมมานานและขึ้นแท่นยอดขายเบอร์ 1 ของตลาดแห่งนี้มาตลอด 44 ปีที่ผ่านมา (1977-2020)
ดังนั้น เมื่อมีการเพิ่มทางเลือกสำหรับ MY2022 เป็นเวอร์ชันพลังไฟฟ้า แถมอยู่ในช่วงราคาที่จับต้องได้โดยที่สเป็กอยู่ในระดับที่น่าสนใจด้วย การเปิดรับของลูกค้าย่อมมีมาก และง่าย ซึ่งตัวเลขยอดจองในช่วงเวลา 2 วันหลังเปิดตัวคือสิ่งที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญเหนืออื่นใด ในแง่ของการลงทุน การเป็นผู้นำที่กล้านำเสนอสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นอนาคตซึ่งอยู่บนพื้นฐานแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีตนั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฟอร์ดในแง่มุมของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการเปิดเผยออกมานั้นระบุว่า ตัวเลขของหุ้นฟอร์ดเพิ่มขึ้นถึง 6.7% มาปิดที่ 13.33 เหรียญสหรัฐต่อหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และถึงกับคาดการณ์ว่าเมื่อตลาดเปิดวันจันทร์ตัวเลขของหุ้นฟอร์ดอาจจะไต่ขึ้นไปในระดับ 15-16 เหรียญสหรัฐต่อหุ้นกันเลยทีเดียว
เรียกว่าเป็นการพลิกเกมและโฉมหน้าของฟอร์ดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง และคราวนี้ต้องมาดูกันว่าแล้วเวอร์ชันพลัง EV แบบ BEV ในกลุ่มปิกอัพจะแพร่กระจายลงมายังรุ่นที่รองลงมาอย่าง Ranger หรือไม่…ตรงนี้แหละที่บ้านเราเฝ้าลุ้นและจับตามองกันอย่างตั้งใจ
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.