การีน่า (Garena) บริษัทพัฒนาเกมออนไลน์จากประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่ บทความหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายบนเส้นทางการสร้าง Soft Power สู่พลังพิเศษขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ระบุปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy มากขึ้น โดยมีเป้าหมายสร้าง Soft Power หรืออิทธิพลทางวัฒน ธรรมที่สามารถใช้ในการสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
คำว่า Soft Power จากการจำกัดความของโจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือ 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ ซึ่งมักจะแฝงไปในสื่อบันเทิงแขนงต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เพลง หรือ ศิลปะ อย่างแนบเนียนและทำให้ผู้รับสื่อมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรม ค่านิยม นโยบายเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ
ตัวอย่างการใช้ Soft Power เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ชัดเจน ได้แก่ Squid Game ซีรีส์สัญชาติเกาหลี ที่โด่งดังไปทั่วโลกและสามารถกลับมาปลุกกระแส Korean wave อีกครั้ง ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ ประกอบกับการสอดแทรกศิลปะและวัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างลงตัว ตอกย้ำความสำเร็จของ Korean Wave ผ่านซีรีส์ ศิลปิน K-Pop ที่ทำให้เทรนด์ สินค้าและบริการจากเกาหลีเป็นที่นิยม ทั้งอาหาร, ภาษาเกาหลี, บริการศัลยกรรมและเครื่องสำอาง
ความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของเกาหลี สะท้อนจากรายงานของ The Korea Economic Daily โดยในปี 2562 การส่งออกเนื้อหาทางวัฒนธรรม ผ่านซีรีส์เกาหลีมีมูลค่าอยู่ที่ 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ รายงานของ Bloomberg ยังชี้ให้เห็นว่า 13% นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ในปี 2562 เพราะต้องการสัมผัส วัฒนธรรม K-Pop และสร้างรายได้เข้าประเทศ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 91,000 ล้านบาท
เช่นเดียวกับญี่ปุ่น อีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ Soft Power ด้วยการนำเสนอมุมมองการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นผ่านสื่อบันเทิง เช่น รายการทีวี เพลง หนังสือการ์ตูนหรือมังงะ ภาพยนตร์อนิเมะ และส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักชื่นชอบและเกิดเป็นก้าวต่อมาคือ Cool Japan นโยบายส่งเสริมและส่งออกวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้แพร่หลายไปทั่วโลก จนกลายเป็นประเทศแห่งความคิดสร้างสรรค์ใครๆต่างรู้จักโปเกมอน โดราเอมอน เฮลโลคิตตี้ การ์ตูนมังงะ เกมนินเทนโด้ ภาพยนตร์อนิเมะหรือเพลง J-Pop กลายเป็นวัฒนธรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศ
มาดูที่ฝั่งประเทศไทย ซึ่งมีความพยายามผลักดันการใช้ Soft Power เช่นกัน โดยเฉพาะด้านอาหารไทย เช่น โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โครง การ Thai Select ตลอดจนผ่านสื่อบันเทิง ยกตัวอย่าง ความสำเร็จของละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์อย่างบุพเพสันนิวาสในตลาดอาเซียนและจีน รวมทั้งภาพยนตร์วัยรุ่นสะท้อนสังคมอย่างฉลาดเกมส์โกง
บทความของการีน่าเสนอแนะว่า นอกจากสื่อบันเทิงที่คุ้นเคยในยุคนี้ความบันเทิงดิจิทัล (Digital Entertainment) ยังช่วยส่งเสริม Soft Power ได้เป็นอย่างดีด้วย โดยเฉพาะผ่านอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตที่มีการเติบโตก้าวกระโดด ข้อมูลจาก Newzoo บ่งชี้ว่าปีนี้อุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 177,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5.6 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนผู้เล่นเกมทั่วโลก 2,800 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปีนี้จำนวนผู้ชมอีสปอร์ตทั่วโลกจะทะลุ 474 ล้านคน ประกอบกับดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เกมออนไลน์ ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างลื่นไหลในการนำเสนอ สามารถสอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมไทยลงไปได้ เช่น การนำรถตุ๊กๆมาทำเป็นยานพาหนะในเกม การใส่ฉากบ้านริมน้ำ เพื่อนำเสนอความเป็นไทยให้ทั่วโลกได้เห็น สร้าง Soft Power ไทยสู่ตลาดโลกกับเขาบ้าง.