หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีนสั่งให้ Tencent ระงับการควบรวมกิจการของเว็บชมสตรีมเกมอันดับ 1 และ 2 ในประเทศ พร้อมสั่งห้ามเซ็นสัญญาผูกขาดกับค่ายเพลงอีกต่อไป
ห้ามผูกขาดตลาดสตรีมเกม
หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีนหรือ State Administration of Market Regulation (SAMR) สั่งให้ Tencent ยกเลิกแผนการควบรวมกิจการของเว็บไซต์สตรีมเกม Huya และ DouYu เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาด โดย Tencent วางแผนควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทนี้ตั้งแต่ปี 2020 โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Huya ที่ 36.9% และถือหุ้นมากกว่า 1 ใน 3 ของ DouYu ซึ่งทั้งสองบริษัทอยู่ในอันดับที่ 1 และ 2 ของตลาดสตรีมเกมจีน
ทั้งสองบริษัทนี้จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐด้วยมูลค่าบริษัทรวมที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.73 แสนล้านบาท) MobTech คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดของ Huya และ DouYu จะรวมกันมากกว่า 80% ในตลาดสตรีมเกมจีน ที่ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.78 หมื่นล้านบาท) และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานเข้าไปรับชมการแข่งขันอีสปอร์ตและการสตรีมเกมจากนักกีฬาอีสปอร์ตหรือเกมแคสเตอร์ผ่านบริการของทั้งสองบริษัท
หน่วยงาน SAMR อธิบายว่าส่วนแบ่งตลาดรวมของ Huya และ DouYu ในตลาดสตรีมเกมที่มากกว่า 70% จะทำให้ตำแหน่งผู้นำของ Tencent ในอุตสาหกรรมเกมแข็งแกร่งขึ้นไปอีก ด้วยส่วนแบ่งตลาดเกมออนไลน์ที่ Tencent มีอยู่แล้วถึง 40%
Zhang Chenying ตัวแทนจาก SAMR อธิบายว่า “เมื่อพิจารณาปัจจัยอย่างรายได้ จำนวนผู้ใช้งานปัจจุบัน ทรัพยากรด้านการสตรีม และปัจจัยหลักอื่นๆ พวกเราสามารถมองเห็นได้ว่าหากการควบรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น การแข่งขันที่ยุติธรรมจะถูกขัดขวาง ไม่ก็หายไปอย่างแน่นอน”
Tencent และ DouYu ออกมาประกาศว่าจะทำตามข้อกำหนดแล้ว ส่วน Huya ยังไม่มีประกาศ ณ ปัจจุบัน
กิจการเกมของ Tencent
Tencent ทำรายได้จากธุรกิจเกมออนไลน์ถึง 1.56 แสนล้านหยวน (ประมาณ 7.87 แสนล้านบาท) ในปี 2020 คิดเป็น 32% ของรายได้ทั้งหมด เป็นหน่วยธุรกิจที่ทำเงินได้มากที่สุดในเครือ รวมถึงเป็นผู้ผลิตเกมที่รายได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย
ตัวอย่างเกมระดับโลกชื่อดังที่เป็นของ Tencent คือ PlayerUnknown’s Battlegrounds (PUBG) และ Honor of Kings หรือที่รู้จักกันในไทยว่า Arena of Valor (RoV)
แอปฟังเพลงของ Tencent ก็ไม่รอด
หน่วยงาน SAMR ได้สั่งให้ Tencent เลิกเซ็นสัญญาผูกขาดกับศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ แต่ยังไม่มีรายละเอียดออกมาชัดเจน ซึ่ง Tencent เคยใช้จุดขายนี้ในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มฟังเพลงอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก่อน
ในอดีต Tencent Holdings เคยเซ็นสัญญาผูดขาดสิทธิ์การสตรีมเพลงกับค่ายดังอย่าง Universal Music Group, Sony Music Group และ Warner Music เพื่อขัดขวางคู่แข่งมาก่อน ซึ่งทาง Tencent ได้พยายามเซ็นสัญญาเหล่านี้ให้น้อยลงในปี 2018 ตอนที่ SAMR เข้ามาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม Tencent ก็ยังเซ็นสัญญาผูกขาดกับศิลปินระดับโลกบางคน เช่น Jay Chou (โจวเจี๋ยหลุน) ศิลปินชาวไต้หวัน ต่อไป
ก่อนหน้านี้ ทาง SAMR เตรียมปรับ Tencent ถึง 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) กรณีผูกขาดตลาด พร้อมบังคับขายกิจการ Kuwo และ Kugou อีกด้วย ซึ่งทาง Tencent ก็หาทางผ่อนปรนเต็มที่
ในที่สุด Tencent จะโดนปรับเพียง 500,000 หยวน (ประมาณ 2.5 ล้านบาท) ข้อหาไม่รายงานการซื้อกิจการของทั้งสองบริษัทดังกล่าวในปี 2016 และไม่ต้องขายกิจการใดทิ้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่กระทบตำแหน่งผู้นำตลาดของ Tencent แน่นอน
ปัจจุบัน Tencent Music ครอบครองธุรกิจแพลตฟอร์มฟังเพลงถึง 4 บริษัท ได้แก่ QQ Music, Kugou Music, Kuwo Music และ WeSing โดยรวมๆ แล้วถือครองส่วนแบ่งตลาดสตรีมเพลงในจีนถึง 60% ในปี 2021 ทิ้งห่างคู่แข่งในด้านของจำนวนผู้ใช้ถึงหลักหลายร้อยล้านคน
สรุป
เครือ Tencent ถือว่าทำธุรกิจด้านบริการออนไลน์ในหลายอุตสาหกรรม พร้อมลงทุนในหลายบริษัททั่วโลกอีกด้วย ทว่า ทางการจีนเหมือนจะไม่พอใจในการเติบโตที่เร็วหรือมากเกินจะควบคุม และได้เริ่มจัดการบริษัทแนวหน้าที่ทำธุรกิจในต่างประเทศหลายรายแล้ว
- Didi แอปเรียกแท็กซี่จีนงานเข้า รัฐบาลสั่งลบแอปจากสโตร์ หลังเก็บข้อมูลผู้ใช้แบบผิดกฎหมาย
- รัฐบาลจีนตรวจสอบ 3 แอป ของบริษัทเทคจีนที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐ เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ
ที่มา – Reuters 1 2, Asia Nikkei
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา