ทัพไทยลุยศึก 'ซีเกมส์ ฮานอย 2021' ประกาศศักดา 'เจ้ากีฬาสากล'

ทัพไทยลุยศึก ‘ซีเกมส์ ฮานอย 2021’ ประกาศศักดา ‘เจ้ากีฬาสากล’

ทัพนักกีฬาทีมชาติไทย มีภารกิจสำคัญในมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียน การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 “ฮานอย 2021” ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเลื่อนการชิงชัยเกือบครึ่งปีจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จนเลื่อนมาจัดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 12-23 พฤษภาคมนี้

เจ้าภาพเวียดนาม ได้กระจายจัดการแข่งขันทั้งหมด 12 เมือง รวมทั้งปรับลดจำนวนนักกีฬาลง เพื่อลดความแออัด โดยในส่วนของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยจากเดิม 1,050 คน ลดลงเหลือที่จำนวน 871 คน แบ่งเป็นชาย 483 คน และหญิง 388 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนามที่มีจำนวนสูงสุด 965 คน

สำหรับการเตรียมความพร้อมของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยได้เก็บตัวฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน รวมกว่า 5 เดือน ซึ่ง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้สนับสนุนทุกมิติ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้ทัพไทยมีความพร้อมมากที่สุดสำหรับซีเกมส์ครั้งนี้

คาดหวังของทัพไทย ซึ่งแต่ละสมาคมกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันได้ประเมินผลงานไว้ที่ 123 เหรียญทอง จาก 40 ชนิดกีฬา จำแนกเป็น ชนิดกีฬาสากล 81 เหรียญทอง ประกอบด้วย กรีฑา 13 เหรียญทอง, ยิงปืน 8 เหรียญทอง, เทควันโด 6 เหรียญทอง, มวยสากล 5 เหรียญทอง, ยิมนาสติก 5 เหรียญทอง, กอล์ฟ 4 เหรียญทอง, ยูโด 3 เหรียญทอง, ฟันดาบ 4 เหรียญทอง, เรือแคนูคยัค 4 เหรียญทอง, เรือกรรเชียง 4 เหรียญทอง เทนนิส 3 เหรียญทอง

วอลเลย์บอลในร่ม 2 เหรียญทอง, แฮนด์บอล 1 เหรียญทอง, ฟุตบอล 2 เหรียญทอง, คาราเต้ 2 เหรียญทอง, ว่ายน้ำ 1 เหรียญทอง, ยกน้ำหนัก 1 เหรียญทอง, มวยปล้ำ 1 เหรียญทอง, บาสเกตบอล 1 เหรียญทอง, เทเบิลเทนนิส 2 เหรียญทอง, ยิงธนู 2 เหรียญทอง, แบดมินตัน 2 เหรียญทอง, จักรยาน 2 เหรียญทอง, ไตรกีฬา 3 เหรียญทอง และวอลเลย์บอล ชาดหาด 1 เหรียญทอง

ขณะที่ ชนิดกีฬาทั่วไป 42 เหรียญทอง ประกอบด้วย ลีลาศ 6 เหรียญทอง, มวยไทย 5 เหรียญทอง, ตะกร้อ 4 เหรียญทอง, เปตอง 4 เหรียญทอง, ยูยิตสู 3 เหรียญทอง, เพาะกาย 3 เหรียญทอง, อีสปอร์ต 3 เหรียญทอง, ฟุตซอล 2 เหรียญทอง, ปันจักสีลัต 2 เหรียญทอง, โบว์ลิ่ง 2 เหรียญทอง, คูราช 2 เหรียญทอง, บิลเลียด 1 เหรียญทอง, หมากรุกเซี่ยงฉี 1 เหรียญทอง และวูซู 1 เหรียญทอง

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 และข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ กกท.ต้องปรับแผนในการเตรียมทัพนักกีฬาทีมชาติไทย ชุดเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ฮานอย 2021 ซึ่งได้ทำงานเพื่อรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ร่วมกับสมาคมกีฬาต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือ ช่วยทำให้มีความชัดเจน จนได้เก็บตัวฝึกซ้อมกันยาว 6 เดือน

นอกจากนี้ กกท.สนุนเรื่องงบประมาณ และมาตรการป้องกันโควิด-19 รวมถึงจัดหาวัคซีนให้เป็นที่เรียบร้อยดี เพื่อให้ทัพไทยทำผลงานตามความคาดหวัง ซึ่งอาจจะไม่ถึงการเป็นเจ้าเหรียญทองในตารางเหรียญรวมทั้งหมด แต่ก็จะต้องครองเจ้ากีฬาสากลให้ได้

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ระบุว่า ต้องยอมรับว่าซีเกมส์ครั้งนี้ เวียดนามได้เปรียบเราทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องการเป็นเจ้าภาพ การใส่กีฬาพื้นบ้านเข้ามา รวมถึงการเพิ่มอีเวนต์กีฬาที่เขาถนัด ขณะที่นักกีฬาเวียดนามก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ อย่าง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งกัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งต่อไปในปี 2023 ก็พัฒนาก้าวขึ้นมาได้อย่างน่ากลัว ดังนั้นในซีเกมส์ครั้งนี้ ทัพไทยจึงมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งหลายประเทศ และคงไม่สามารถเป็นเจ้าเหรียญทองได้

“อยากให้แฟนกีฬาเข้าใจว่า อาจจะไม่ได้เห็นทีมชาติไทยเป็นเจ้าเหรียญทองในตารางเหรียญรวมทั้งหมด แต่ในชนิดกีฬาสากลที่มีบรรจุแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ เรายังคงต้องการเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนให้ได้” ผู้ว่าการ กกท.กล่าว

นอกจากเป้าหมายการเป็นอันดับ 1 ในชนิดกีฬาสากลแล้ว ในส่วนจำนวนเหรียญทอง กกท.ก็คาดหวังจะทำให้ดีกว่าครั้งก่อนคือ มากกว่า 92 เหรียญทอง และหวังลึกๆ ว่าอยากจะแตะให้ถึง 100 เหรียญทอง แม้รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากก็ตาม

ขณะที่ “บิ๊กต้อม” ธนา ไชยประสิทธิ์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะหัวหน้าคณะนักกีฬาไทย เปิดเผยว่า ยอดนักกีฬาไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อยไป เราต้องเข้าใจว่าเป็นช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งต้องขอบคุณทุกสมาคมกีฬา ที่ให้ความร่วมมือในการตัดตัวนักกีฬาด้วย

หัวหน้าทัพไทยยืนยันว่า สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับ 1 คือเรื่องสุขภาพนักกีฬา และมาตรการการป้องกันโควิด-19 ในเบื้องต้นทราบมาว่าหากใครติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างแข่งขันซีเกมส์ ก็จะต้องจ่ายเงินรักษาเอง ดังนั้นก่อนไปแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ นักกีฬา ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ ก็ควรทำประกันไวรัสโควิด-19 ด้วย เพราะจะได้ไม่เป็นปัญหาตามมา

“ช่วงโค้งสุดท้ายแล้วก็อยากฝากไปถึงนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ทุกคนว่าต้องดูแลรักษาตัวเองให้ดี อย่าให้ติดโควิด-19 เด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เสียโอกาส เชื่อว่าการที่นักกีฬาไทยไม่ได้ลงแข่งขันในมหกรรมกีฬามานานหลายปี ทุกคนจะมีความกระหายลงชิงชัยเต็มที่ และผมยังมั่นใจว่าทีมไทยจะทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน” บิ๊กต้อมกล่าว

เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเปิดฉากกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 “ฮานอย 2021” ซึ่งจากการเตรียมความพร้อมที่ผ่านมาเชื่อว่า ทัพนักกีฬาไทยจะพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ กับการก้าวไปประกาศศักดาครองเจ้ากีฬาสากล แม้จะเป็นเพียงเวทีระดับภูมิภาคอาเซียน แต่ก็มีศักดิ์ศรี และมีคุณค่า รวมถึงจะเป็นบันไดก้าวแรกไปสู่ระดับเอเชียต่อไป

ถ้าหากก้าวข้ามไม่พ้นระดับอาเซียนก็คงไม่ต้องมองถึงในระดับเอเชีย…

ย้อนผลงานทัพนักกีฬาไทยในซีเกมส์ที่ผ่านมา

    • แบงค็อก 1959 (อันดับ 1 / 35 ทอง 26 เงิน 16 ทองแดง)
    • ย่างกุ้ง 1961 (อันดับ 2 / 21 ทอง 18 เงิน 22 ทองแดง)
    • กัวลาลัมเปอร์ 1965 (อันดับ 1 / 38 ทอง 33 เงิน 35 ทองแดง)
    • แบงค็อก 1967 (อันดับ 1 / 77 ทอง 48 เงิน 40 ทองแดง)
    • ย่างกุ้ง 1969 (อันดับ 2 / 32 ทอง 32 เงิน 45 ทองแดง)
    • กัวลาลัมเปอร์ 1971 (อันดับ 1 / 44 ทอง 27 เงิน 38 ทองแดง)
    • สิงคโปร์ 1973 (อันดับ 1 / 47 ทอง 25 เงิน 27 ทองแดง)
    • แบงค็อก 1975 (อันดับ 1 / 80 ทอง 45 เงิน 39 ทองแดง)
    • กัวลาลัมเปอร์ 1977 (อันดับ 2 / 37 ทอง 35 เงิน 33 ทองแดง)
    • จาการ์ตา 1979 (อันดับ 2 / 50 ทอง 46 เงิน 29 ทองแดง)
    • มะนิลา 1981 (อันดับ 2 / 62 ทอง 45 เงิน 41 ทองแดง)
    • สิงคโปร์ 1983 (อันดับ 3 / 49 ทอง 40 เงิน 38 ทองแดง)
    • แบงค็อก 1985 (อันดับ 1 / 92 ทอง 66 เงิน 59 ทองแดง)
    • จาการ์ตา 1987 (อันดับ 2 / 63 ทอง 57 เงิน 67 ทองแดง)
    • กัวลาลัมเปอร์ 1989 (อันดับ 3 / 62 ทอง 63 เงิน 66 ทองแดง)
    • มะนิลา 1991 (อันดับ 3 / 72 ทอง 80 เงิน 91 ทองแดง)
    • สิงคโปร์ 1993 (อันดับ 2 / 63 ทอง 70 เงิน 63 ทองแดง)
    • เชียงใหม่ 1995 (อันดับ 1 / 157 ทอง 98 เงิน 91 ทองแดง)
    • จาการ์ตา 1997 (อันดับ 2 / 83 ทอง 97 เงิน 78 ทองแดง)
    • บันดาเสรีเบกาวัน 1999 (อันดับ 1 / 65 ทอง 48 เงิน 56 ทองแดง)
    • กัวลาลัมเปอร์ 2001 (อันดับ 2 / 103 ทอง 86 เงิน 89 ทองแดง)
    • ฮานอย-โฮจิมินห์ ซิตี้ 2003 (อันดับ 2 / 90 ทอง 93 เงิน 98 ทองแดง)
    • มะนิลา 2005 (อันดับ 2 / 87 ทอง 78 เงิน 118 ทองแดง)
    • นครราชสีมา 2007 (อันดับ 1 / 183 ทอง 123 เงิน 103 ทองแดง)
    • เวียงจันทน์ 2009 (อันดับ 1 / 86 ทอง 83 เงิน 97 ทองแดง)
    • จาการ์ตา-ปาเล็มบัง 2011 (อันดับ 2 / 109 ทอง 100 เงิน 120 ทองแดง)
    • เนปิดอว์ 2013 (อันดับ 1 / 107 ทอง / 94 เงิน 81 ทองแดง)
    • สิงคโปร์ 2015 (อันดับ 1 / 95 ทอง 83 เงิน 69 ทองแดง)
    • กัวลาลัมเปอร์ 2017 (อันดับ 2 / 72 ทอง 86 เงิน 88 ทองแดง)
    • มะนิลา 2019 (อันดับ 3 / 92 ทอง 103 เงิน 123 ทองแดง)