“นักพากย์ E-Sport” ผสานคนกับเกม สร้างรายได้ในชีวิตจริง – ไทยรัฐ

อาร์ท-วีระศักดิ์ บุญชู หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ KirosZ (คีรอส) แคสเตอร์ สังกัด Online Station กล่าวถึงนิยามของ “อาชีพนักพากย์เกม” ผู้ที่ทำหน้าที่บรรยายการแข่งขัน ลักษณะงานจะคล้ายกับ นักพากย์ฟุตบอล นักพากย์กีฬาทั่วไป มีการพูดเปิดรายการ ขอบคุณสปอนเซอร์ อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ชมได้รู้และเข้าใจ

แต่บางคนจะเข้าใจผิดระหว่าง นักพากย์เกม กับ แคสเตอร์ในยูทูบ ซึ่งจริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันคือ นักพากย์เกม จะไม่ได้เป็นผู้เล่น แต่จะอธิบายเหตุการณ์ระหว่างการแข่งขัน ขณะที่ แคสเตอร์ จะเป็นผู้เล่นที่เล่นเกมไปด้วย บรรยายไปด้วยเพื่อความบันเทิง เช่น เอก-HEARTROCKER, แป้ง-zbing z. ซึ่งช่วงหลังจะใช้คำเรียกว่า ยูทูบเบอร์

อาร์ท วีระศักดิ์ เล่าว่า ตนเองเป็นคนเล่นเกมอยู่แล้ว เริ่มเข้าวงการเกมจากการเป็นเกมเมอร์คนหนึ่งที่เข้าร่วมการแข่งขัน World Cyber Games (WCG 2005) จากนั้นก็เริ่มรู้จักคนในวงการ ต่อยอดมาเรื่อยๆ ก่อนจะมาพากย์เกมได้ประมาณ 4-5 ปีก่อน

“จำได้ว่าครั้งแรกที่ต้องพากย์เกม เป็นจังหวะที่ พี่แว่น MiTH กลับบ้านไม่ทัน จึงให้ผมเตรียมตัวพากย์แทน เรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่ไม่ค่อยเป็นทางการเท่าไร แต่ดีที่เป็นเกมที่ผมเล่นเอง เข้าใจและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

หากถามว่าตื่นเต้นไหม ต้องมีอยู่แล้ว เพราะต้องเริ่มต้นทำคนเดียว แม้จะมีความรู้และเตรียมพร้อมอยู่บ้างแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างคือเราจะเอาคนดูให้อยู่ได้ยังไง บางครั้งคนดูไม่คุ้นกับเรา ก็ต้องใช้น้ำเสียง อธิบายตัวเกมเป็นกลางให้เข้าใจง่ายที่สุด แต่หลังจากทำไปเรื่อยๆ จะสนุกเพราะเป็นตัวของเราเอง ไม่ต้องฝืนสร้างคาแรกเตอร์ให้เหมือนกับคนนั้น คนนี้ คำพูด วิธีการพูด สำเนียง การออกเสียง ก็จะเป็นสไตล์ของเรา”

ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับงานพากย์มาก่อน แต่ที่ได้โอกาสพากย์เกมครั้งแรกเป็นเพราะเคยทำรีวิวสินค้า ทำให้มีทักษะในการพูดช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงจบได้ ทำให้มีภาพในหัวอยู่แล้วว่าจะต้องพูดแบบใด ใช้น้ำเสียงแบบไหน ซึ่งเราได้เรียนรู้มาจากการทำ การเห็นมาก่อน รวมไปถึงวิดีโอรีวิวต่างๆ ที่ได้ทำลงในช่องยูทูบ FPSThailand


นักพากย์เกม จำเป็นต้องเล่นเกมเก่งไหม?

ส่วนตัวมองว่า การพากย์ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน คนพากย์จำเป็นต้องเล่นเกมนั้นด้วย แต่ก็มีบ้างที่คนพากย์ไม่ได้เล่น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องอธิบายในเชิงลึก เขาจะไม่รู้เลยว่าเทคนิคที่ใช้เล่นแบบนี้เกิดจากอะไร ดังนั้นต้องรู้จักเกม และเคยเล่นเกมที่จะพากย์เองด้วย

สำหรับการเตรียมตัวก่อนรับงานพากย์เกม ต้องเลือกเกมที่ตัวเองรู้จัก และเคยเล่นมาก่อน เช่น PUBG, PUBG MOBILE, FIFA อันดับแรกต้องรู้ว่างานนี้มีสเกลขนาดไหน เป็นแบบคอมมิวนิตี้เล็กๆ แข่งขันไม่กี่สิบทีม หรือการแข่งขันคัดเลือกตัวแทนประเทศ

ต้องรู้ว่ามีสปอนเซอร์อะไรบ้าง ชื่อรายการอะไร มีใครเป็นแม่งาน เราต้องเตรียมตัวทุกอย่าง ทั้งบทพูด ตั้งแต่กล่าวเปิดงาน ขอบคุณสปอนเซอร์ เพราะบางรายการ ออแกไนซ์ไม่ได้เตรียมข้อมูลไว้ให้ หากเราทำการบ้านมาดี เมื่อถึงหน้างาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น และลดความกดดัน

อาร์ท วีระศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการพากย์เกม คือ การที่เราไม่รู้จักทีม บางครั้งเป็นงานที่ฉุกละหุก ไม่มีเวลาเตรียมตัว ความยาก คือ การอ่านชื่อผู้เล่น หรือชื่อทีมที่เราไม่รู้จัก หากออกเสียงผิดอาจจะทำให้ความหมายเปลี่ยน

ดังนั้น นักพากย์ จำเป็นต้องเรียนรู้การอ่าน วรรณยุกต์ต่างๆ ไม่เช่นนั้นคนดูอาจจะรู้สึกติดขัด หรือคนที่รู้ภาษาอาจจะมาต่อว่าได้ อีกหนึ่งความยาก คือ การวางตัวให้เหมาะสมกับทัวร์นาเมนต์นั้นๆ ว่าเป็นระดับใด ต้องชี้นำให้คนดูอินไปกับเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน

“แน่นอนว่า ถ้าเราทำงานที่คุ้นเคยก็เป็นเรื่องง่าย แต่หากทำงานกับรายงานหรือทัวร์นาเมนต์ที่ไม่คุ้นก็จะกลายเป็นเรื่องยาก เพราะการที่จะละลายพฤติกรรมให้คนดูยอมรับเรา เป็นสิ่งที่ยาก ผมจำโมเมนต์ที่ผมโดดข้ามจาก PUBG PC มาพากย์ PUBG MOBILE ฐานคนดูเป็นคนละกลุ่มกันเลย เราต้องมาละลายพฤติกรรมคนดูด้วยการทำให้รู้ว่า เรามีศักยภาพมากพอที่จะบรรยายเกมให้คนสนุก ไม่ให้คนดูรู้สึกว่าเราเป็นตัวประหลาด คนแปลกหน้า”

สำหรับอุปสรรคในการทำงาน ส่วนมากเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เช่น มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเข้ามา นักพากย์จะต้องมีทักษะมากพอที่จะอ่านชื่อผู้เล่นให้ออก หรือถ้าไม่สามารถอ่านชื่อได้ ต้องอ่านให้เป็นกลางที่สุด หรือ ภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงกับชื่อเขาที่สุด รวมไปถึงชื่อแผนที่ในเกม


นักพากย์เกมในอดีตกับปัจจุบัน

การพากย์เกมในปัจจุบันหากเทียบกับ 4 ปีที่แล้ว มีความแตกต่างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งบทบาทของนักพากย์จะช่วยเพิ่มอรรถรสของคนดูด้วย มีคนดูมากขึ้น

ผมเริ่มพากย์จากคนดูหลักสิบ จากนั้นขยับมาเป็นหลักร้อย ตอนนี้กลายเป็นหลักหมื่น บางทัวร์นาเมนต์รวมทุกช่องทางอยู่ในหลักแสน ซึ่งปัจจุบันนักพากย์เกมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้คนดูตัดสินใจว่าจะเลือกรับชมหรือไม่

อาร์ท วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงอาชีพนักพากย์เกม คนจะมองเข้ามาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เล่นเกม จะรู้จักเราอยู่แล้ว เมื่อเราแนะนำตัวว่าเป็นใคร คนกลุ่มนี้จะเข้าใจ แต่อีกกลุ่มที่ไม่ได้เล่นเกม จะต่างกัน ยกตัวอย่างเวลาไปทำเรื่องกู้บ้าน แล้วบอกว่า มีอาชีพเสริมเป็นนักพากย์เกม เป็นผู้บรรยายเกม ส่วนมากพนักงานธนาคารไม่เข้าใจ เขาก็จะถามกลับมาว่า การทำงานเป็นอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ที่เจอมา เขาจะรู้สึกตื่นเต้น แล้วก็แปลกใจที่วงการเกมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่คนที่นั่งเล่นเกมไปวันๆ มันเป็นเรื่องของการแข่งขัน มีเงินรางวัล คนจะถามว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมเกมเป็นอย่างไรบ้าง บางคนก็จะเล่าต่อไปถึงครอบครัวเขา เช่น ลูกชาย หลาน ก็เล่นเกมอยู่เหมือนกัน

นักพากย์เกม จำกัดอายุไหม

ในประเทศไทย ตนคิดว่า พวกเราน่าจะเป็นรุ่นแรกๆ ที่พากย์เกม อย่างเช่น พี่ Voo ตอนนี้อายุ 37 ปี พี่ Winzy อายุ 30 กว่าปี ส่วนผมเองก็อายุ 32 ปี ส่วนตัวมองว่าผู้บรรยายเกมแทบไม่มีข้อจำกัดของอายุ ถ้าไม่ถึงขั้นแก่มากแบบพูดไม่รู้เรื่องแล้ว

ซึ่งตนมองว่า ยิ่งแก่ยิ่งเก๋าประสบการณ์ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี หากเป็นนักพากย์มือใหม่อาจจะรับมือไม่ได้ เช่น จอตรงหน้าดับระหว่างพากย์ แต่คนดูยังเห็นภาพอยู่ เราก็ต้องจินตนาการต่อว่าเหตุการณ์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น พยายามพูดกลางๆ ให้สามารถพากย์ต่อไปได้ พร้อมกับติดต่อทีมงานหลังบ้าน หรือบางครั้งอาจจะมีเสียงอื่นๆ ลอดเข้ามาในหูฟังระหว่างการพากย์ นักพากย์มือใหม่บางคนอาจจะพูดออกมาเลยว่า เสียงอะไร ทั้งที่คนดูไม่ได้ยิน เหตุการณ์แบบนี้จะเป็นเสียงที่ได้ยินเฉพาะนักพากย์กับทีมงานเท่านั้น

แต่หากเป็นทีมที่มีประสบการณ์ ทุกอย่างต้อง The Show Must Go On เดินหน้าต่อ ไม่ว่าจะมีเสียงอะไรมารบกวนระหว่างการพากย์ ต้องมีสมาธิ โฟกัสไปที่การแข่งขัน แล้วบรรยายให้ผู้รับชมอินไปกับเกม

รายได้ของนักพากย์เกม

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว การทำหน้าที่นักพากย์เกม หรือผู้บรรยายเกม สำหรับตนยังไม่มีรายได้ เพราะ FPSThailand จัดทัวร์นาเมนต์อยู่แล้ว ดังนั้นเวลาพากย์เกมจึงเหมือนเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ จนเกิดการยอมรับ แบรนด์ต่างๆ ให้คุณค่ากับผู้บรรยายเกมมากขึ้น ผู้พากย์ที่ดีจะทำให้มีผู้ชมเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากมีการเปลี่ยนตัวคนพากย์ ผู้ชมอาจเกิดการต่อต้าน มีคอมเมนต์กลับมาว่า ทำไมไม่ใช่นักพากย์คนนี้ ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเกม

ปัจจุบันยอมรับว่า จากที่ไม่มีรายได้เลย นักพากย์เกมมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ค่าตัวอยู่ที่ 3,000-20,000 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับชื่อเสียง ฝีมือ และประสบการณ์ของแต่ละคน

เด็กรุ่นใหม่อยากเป็นนักพากย์เกม

นักพากย์เกม จริงๆ แล้วไม่ได้มีตำรา ไม่มีการนับหนึ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ลองคือ การทำความรู้จักกับตัวเอง เวลาดูการแข่งขันเกม ให้เริ่มปิดเสียงแล้วลองเป็นผู้บรรยายด้วยตัวเอง หรือลองบันทึกเสียงพากย์ของตัวเองเก็บไว้เป็นโปรไฟล์ ซึ่งตอนนี้มีหลายช่องทาง หากคุณเป็นนักพากย์โนเนม ลองเริ่มจากการนำผลงานของตัวเองลงไว้ในยูทูบ ในอนาคตหากมีการเปิดรับสมัครนักพากย์ จะได้นำผลงานเหล่านั้นไปเป็นโปรไฟล์

แต่ในปัจจุบันนี้ นักพากย์เกม ยังไม่ถึงขั้นที่จะเปิดรับออดิชั่น ดังนั้นผู้บรรยายเกมหน้าใหม่จึงมาจากคนรู้จักของนักพากย์เดิมๆ ที่แนะนำงานให้มาทำงาน หรือเป็นคนปั้นขึ้นมา ยกตัวอย่าง “ชล Zofearz” ก็เป็นอีกคนที่เริ่มจากการทำช่องยูทูบของตัวเองขึ้นมา ทำห้อง PUBG พากย์อยู่อย่างนั้น จนมีคนรู้จักมากขึ้น ตอนนี้ “ชล Zofearz” เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญในการแข่งขัน PUBG


การสนับสนุนจากรัฐบาล

หากพูดถึงการซัพพอร์ตของรัฐบาล ตนไม่เรียกร้องถึงขั้นให้รัฐบาลมาควบคุมดูแลสนับสนุน แค่อยากให้รัฐบาลมีส่วนร่วมในวงการอีสปอร์ตอย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญ หรือตัดสินใจอะไรที่เกี่ยวกับอีสปอร์ต หรืออุตสาหกรรมเกม จะทำให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้จัดงาน สปอนเซอร์ต่างๆ ขยับตัวตาม เพราะเห็นว่าสังคมให้การยอมรับ เมื่อเอกชนเริ่มลงทุนกับอีสปอร์ตมากขึ้น ตนเชื่อว่าจะเกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้อย่างก้าวกระโดดแน่นอน และอีเวนต์ที่มากขึ้น ก็จะทำให้นักพากย์หน้าใหม่มีโอกาสได้ทำงานมากขึ้นด้วย.

ผู้เขียน : J. Mashare