ว่าแล้ว ‘SIAMSPORT’ จึงขอจัดนักเตะ ไทยลีก ที่เคยผ่านเวที เวิลด์ คัพ มาแล้ว ให้คุณได้อ่านกัน
1 ไนออลล์ ควินน์
ทีมชาติ: ไอร์แลนด์
ฟุตบอลโลก: 1990 และ 2002
สโมสรในเมืองไทย: บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน)
ตำนานศูนย์หน้าทีมชาติไอร์แลนด์ ผู้ผ่าน เวิลด์ คัพ มาแล้ว 2 สมัย (จริงๆ ควรจะ 3 หน หากไม่เจ็บเสียก่อนในปี 1994) แต่ก็สะสมสถิติรับใช้ทัพยักษ์เขียวไปถึง 92 เกม
ควินน์ จัดเป็นหัวหอกที่โด่งดังในยุคทศวรรษที่ 90′ โดยเฉพาะผลงานสมัยเล่นให้ ซันเดอร์แลนด์ ที่จับคู่กับ เควิน ฟิลลิปป์ จนยิงระเบิดระเบ้อใน พรีเมียร์ลีก
เขาแขวนสตั๊ดในปี 2003 แต่ก็กลับมาลงสนามอีกครั้งให้กับ บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) ในศึก ไทยลีก เมื่อปี 2006 แต่ก็เล่นเพียงนัดเดียว ก่อนจะกลับบ้านเกิดไป
2 ร็อบบี้ ฟาวเลอร์
ทีมชาติ: อังกฤษ
ฟุตบอลโลก: 2002
สโมสรในเมืองไทย: เมืองทอง ยูไนเต็ด
นักเตะที่แฟนๆ ลิเวอร์พูล ต่างเรียกขานกันว่า ‘ก็อด’ ทว่าผลงานในระดับชาตินั้นไม่โดดเด่นเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังติดทัพอังกฤษ ไปตะลุย เวิลด์ คัพ 2002 โดยได้ลงสนามหนึ่งเกมในรอบ 16 ทีม นัดที่ชนะเดนมาร์ก 3-0
ฟาวเลอร์ ย้ายมาเล่นในเมืองไทย กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อปี 2011 ซึ่งดีลนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งยังทำให้ฟุตบอลลีกของแดนสยามเป็นที่พูดถึงในวงการลูกหนังทั่วโลก ก่อนจะนำมาซึ่งผู้เล่นฝีเท้าดีที่ตบเท้ามาเล่นที่นี่
3 รี ควาง-ชอน
ทีมชาติ: เกาหลีเหนือ
ฟุตบอลโลก: 2010
สโมสรในเมืองไทย: เมืองทอง ยูไนเต็ด และ พัทยา ยูไนเต็ด (สมุทรปราการ ซิตี้ ในปัจจุบัน)
ทัวร์นาเมนต์เมเจอร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติเกาหลีเหนือ เมื่อปี 2010 แต่ต้องมาอยู่ในกลุ่มมหาหินที่มีนักเตะอย่าง ยาย่า ตูเร่, ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา (ไอวอรี่โคสต์) เดโก้, คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (โปรตุเกส) และ กาก้า, โรบินโญ่ (บราซิล)
แม้สุดท้ายทัพโสมแดงตกรอบไปแบบไร้คะแนน ทว่าผลงานของ รี ควาง-ชอน นั้นอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ก่อนจะถูก เมืองทอง ยูไนเต็ด ดึงตัวมาเล่นในเมืองไทย เมื่อซีซั่น 2012 และก็พากิเลนผยองคว้าแชมป์ลีกด้วยสถิติ ‘ไร้พ่าย’
4 พัก นัม-โชล
ทีมชาติ: เกาหลีเหนือ
ฟุตบอลโลก: 2010
สโมสรในเมืองไทย: เมืองทอง ยูไนเต็ด, ศรีสะเกษ เอฟซี
เพื่อนร่วมทัพของ รี ควาง-ชอน ใน เวิลด์ คัพ 2010 ประเดิมสนามด้วยการเล่นแนวรับในเกมพบบราซิล ก่อนจะถูกขยับมาเล่นกองกลางตามถนัดในนัดที่ 2 และ 3 กับโปรตุเกส ตามด้วยไอวอรี่โคสต์
นัม-โชล ย้ายมาเมืองไทย ที่ เมืองทอง ยูไนเต็ด พร้อมกับ ควาง-ชอน แม้จะไม่โดดเด่นเท่าปราการหลังเพื่อนร่วมชาติ แต่เขาก็นับเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญของกิเลนผยองชุดแชมป์ไร้พ่ายเช่นกัน
5 คิม ดอง-จิน
ทีมชาติ: เกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก: 2006 และ 2010
สโมสรในเมืองไทย: เมืองทอง ยูไนเต็ด
ปี 2006 เขาติดทีมไปในฐานะเบอร์สองต่อจาก อี ยอง-เพียว แบ็กซ้ายผู้ถนัดเท้าขวาจาก สเปอร์ส ทว่า ซอง ชอง-กุ๊ก แบ็กขวาของชุดนั้นไม่ฟิตสมบูรณ์ทำให้ต้องขยับ ยอง-เพียว ไปแทน ส่งผลให้ คิม ดอง-จิน ได้โอกาสลงวาดลวดลายในการปะทะกับ ซีเนอดีน ซีดาน และ เธียร์รี่ อองรี
ผลงานของ ดอง-จิน อยู่สม่ำเสมอก่อนจะถูกเรียกติดทีมชุด เวิลด์ คัพ 2010 แต่ไม่ได้เป็นผู้เล่นตัวหลัก ทว่ายังได้โอกาสเปลี่ยนตัวลงมาแทน พาร์ค ชู-ยอง ในเกมสุดท้ายของรอบแรกที่พบกับ ไนจีเรีย
กองหลังรายนี้คือแข้งเกาหลีใต้ ดีกรีฟุตบอลโลก ที่ย้ายมาร่วมทัพ เมืองทอง โดยเข้าลัดฟ้าจาก หังโจว กรีนทาวน์ สู่ ไทยลีก เมื่อซีซั่น 2014
6 จอร์จี้ เวลคั่ม
ทีมชาติ: ฮอนดูรัส
ฟุตบอลโลก: 2010
สโมสรในเมืองไทย: บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) และ ราชนาวี เอฟซี
ผู้ยิงประตูชัยให้ฮอนดูรัส ผ่านเข้าไปเล่น โอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีน ก่อนจะติดทีมชาติชุดใหญ่ในเวลาต่อมา
เวลคั่ม ในวัย 25 ปี ได้ลุย เวิลด์ คัพ 2010 และก็ได้ลงสนามทั้ง 3 นัด ในรอบแรก โดยหนึ่งในนั้นคือการได้ปะทะกับสเปน แชมป์โลกของปีนั้นเอง
เขาย้ายจากลีกบ้านเกิดมุ่งสู่สยามประเทศในซีซั่น 2014 โดยเริ่มจาก บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) ก่อนจะไปต่อที่ ราชนาวี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร กระทั่งย้ายไปอินเดีย ในปี 2015
7 ไดกิ อิวามาสะ
ทีมชาติ: ญี่ปุ่น
ฟุตบอลโลก: 2010
สโมสรในเมืองไทย: บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน)
ตำนานนักเตะ คาชิมะ แอนท์เลอร์ส ที่ควรจะมีสถิติรับใช้ทีมชาติญี่ปุ่น มากกว่า 8 นัด แต่ที่ไม่ถึง เนื่องจาก เดอะ บลู ซามูไร ในยุคนั้นมี ยูจิ นากาซาวะ กับ มาร์คุส ทูลิโอ ทานากะ ยืนเป็นตัวหลักอยู่ ทว่าเขาก็เป็นหนึ่งในขุนพลชุดฟุตบอลโลก 2010
อย่างไรก็ตาม ความเก่งกาจของ อิวามาสะ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และการย้ายมาเล่น ไทยลีก แบบสุดเซอร์ไพรส์ในฤดูกาล 2014 ก็ทำให้ บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) คว้าแชมป์ ลีก คัพ ได้อย่างเหลือเชื่อ
เขาถือเป็น ‘ต้นแบบ’ ให้กับบรรดาแข้งดาวรุ่งทีมมังกรไฟ (ในขณะนั้น) อย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, อดิศร พรหมรักษ์, นฤบดินทร์ วีรวัฒนโนดม และ พระพัฒน์ โน๊ตชัยยา เติบใหญ่สู่ทีมชาติไทย อย่างภาคภูมิ
8 เทรุยูกิ โมนิวะ
ทีมชาติ: ญี่ปุ่น
ฟุตบอลโลก: 2006
สโมสรในเมืองไทย: บางกอกกล๊าส เอฟซี (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน)
ปราการหลังผู้ผ่านเกมใน เจลีก มากกว่า 250 เกม ก่อนจะย้ายมาเมืองไทย ในฤดูกาล 2014 โดยปลายทางอยู่ที่ บางกอกกล๊าส เอฟซี (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน)
จริงๆ แล้วในทีแรกเขาไม่มีชื่ออยู่ใน 23 ขุนพลทีมชาติญี่ปุ่น ชุดตะลุย เวิลด์ คัพ 2006 ทำให้เขาไปพักผ่อนที่ฮาวาย ทว่า มาโกโตะ ทานากะ ดันเจ็บก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่ม ทำให้ โมนิวะ ต้องบินด่วนสู่เยอรมัน ก่อนจะได้ลงสนามในฟุตบอลโลกหนนั้น 1 เกม
9 โดมินิค อาดิเยียห์
ทีมชาติ: กานา
ฟุตบอลโลก: 2010
สโมสรในเมืองไทย: นครราชสีมา เอฟซี, ศรีสะเกษ เอฟซี และ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด
อยู่ในทีมชุดประวัติศาสตร์ของกานา ที่มี มิโลวาน ราเยวัช อดีตกุนซือทีมชาติไทย คุมทัพ และเกือบทะลุผ่านถึงรอบ 4 ทีม สุดท้าย
ในเกมรอบก่อนรองชนะเลิศ อาดิเยียห์ ที่ลงมาในฐานะตัวสำรองเกือบเป็นผู้โหม่งประตูชัยให้ทีมพลิกล็อกชนะอุรุกวัย แต่ถูกปฏิเสธโดย ‘มือ’ ของ หลุยส์ ซัวเรซ ที่ยอมโดนใบแดงไล่ออกจากสนาม ก่อนที่ทัพดาวดำจะปราชัยในช่วงดวลลูกจุดโทษตัดสิน
ขาย้ายมาเล่นในเมืองไทย ในปี 2015 โดยเริ่มต้นกับ นครราชสีมา เอฟซี ตามต่อด้วย ศรีสะเกษ เอฟซี และไปปิดฉากที่ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด
10 คิม ซอง-วู
ทีมชาติ: เกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก: 2010
สโมสรในเมืองไทย: บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน)
หนึ่งในมิดฟิลด์ตัวรับที่ดีที่สุดเท่าที่เกาหลีใต้เคยมีมา ผู้ลงรับใช้ชาติไปมากกว่า 71 นัด โดยผ่านฟุตบอลโลก 2010 ที่มีส่วนสำคัญกับการผ่านสู่รอบ 16 ทีม สุดท้าย จนถูกสโมสรในลีกยุโรป หมายปอง
ซอง-วู ซึ่งเคยเป็นเจ้าของสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดใน เคลีก ย้ายจาก บานิยาส ทีมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเล่นที่เมืองไทย กับ บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) เมื่อฤดูกาล 2016 ทว่าไม่มีผลงานที่เด่นชัดมากนัก เนื่องจากมีปัญหาบาดเจ็บคอยรบกวน
11 อี โฮ
ทีมชาติ: เกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก: 2006
สโมสรในเมืองไทย: เมืองทอง ยูไนเต็ด
ขณะนั้น อีโฮ กำลังเตรียมย้ายไป เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นหนึ่งใน 23 ขุนพลภายใต้การนำของ ดิ๊ค อัดโวคาท กุนซือชาวฮอลแลนด์ โดยมีเพื่อนร่วมทัพอย่าง พาร์ค ชี-ซอง , อี ยอง-เพียว, อี ชุน-ซู รวมไปถึง อาห์น จุง-ฮวาน
มิดฟิลด์ตัวรับรายนี้ได้ลงสนามตลอดทั้ง 3 เกม ในรอบแรก โดยทำผลงานได้ดีมากๆ ในเกมเสมอฝรั่งเศส 1-1
อี โฮ ย้ายมาเมืองไทย โดยมีที่หมายคือ เมืองทอง ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2017 ก่อนจะไปต่อที่ อยุธยา ยูไนเต็ด เมื่อปี 2020
12 คิม จิน-คยู
ทีมชาติ: เกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก: 2006
สโมสรในเมืองไทย: พัทยา ยูไนเต็ด (สมุทรปราการ ซิตี้ ในปัจจุบัน)
เซนเตอร์ฮาล์ฟดาวรุ่ง (อายุ 21 ปี ในขณะนั้น) ที่ได้ออกสตาร์ตเป็นตัวจริงในฟุตบอลโลก 2006 ทั้งหมด 2 เกม และก็มีผลงานที่พอใช้ได้ ก่อนจะสะสมสถิติรับใช้ชาติไปกว่า 42 นัด
จิน-คยู ย้ายมาเล่นในเมืองไทย เมื่อปี 2016 กับ พัทยา ยูไนเต็ด (สมุทรปราการ ซิตี้ ในปัจจุบัน) ซึ่งเพิ่งเลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงพอดี โดยลงเล่นให้โลมาน้ำเงินไป 16 แมตช์
13 เมห์ราด๊าด ปูลาดี้
ทีมชาติ: อิหร่าน
ฟุตบอลโลก: 2014
สโมสรในเมืองไทย: แบงค็อก ยูไนเต็ด
แนวรับสารพัดประโยชน์เจ้าของแชมป์ลีกอิหร่าน ร่วมกับ เอสเตกัล ผู้มากด้วยประสบการณ์ในดินแดนตะวันออกกลาง และย้ายมาหาความท้าทายในเมืองไทย เมื่อปี 2017 ที่ แบงค็อก ยูไนเต็ด ทว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาบาดเจ็บคอยรบกวน
ปูลาดี้ ลงสนามครบทั้ง 90 นาที ทั้ง 3 เกม ในตำแหน่งแบ็กซ้ายในทัวร์นาเมนต์ที่ประเทศบราซิล โดยได้เผชิญหน้ากับ ลีโอเนล เมสซี่ ที่พาอาร์เจนติน่า ไปไกลถึงรอบชิงชนะเลิศในปี 2014
14 โอ บัน-ซอค
ทีมชาติ: เกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก: 2018
สโมสรในเมืองไทย: เมืองทอง ยูไนเต็ด
เซนเตอร์ฮาล์ฟรายนี้ย้ายมาเล่น ไทยลีก ในปี 2019 ซึ่งคือซีซั่นเดียว หลังจบฟุตบอลโลก 2018 ที่เขาอาจจะไม่ได้สัมผัสเกมในสนามเลย แต่ก็ถือเป็นหนึ่งใน 23 ขุนพลโสมขาวชุดตะลุยรัสเซีย
ผลงานของ บัน-ซอค ในรั้ว ธันเดอร์โดม ถือว่าพอใช้ ก่อนจะย้ายกลับไปเกาหลีใต้ โดยเล่นให้ ชนบุค ฮุนได มอร์เตอร์ส และปัจจุบันที่ อินเชือน ยูไนเต็ด
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.