บุก New Business เมื่อ ‘AIS’ นำดิจิทัลผสมผสานธุรกิจประกันภัย



นับจากวันที่ AIS ประกาศขยายการให้บริการจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมาคม มาเป็นดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรวายเดอร์ ภาพของการเจาะเข้าไปในธุรกิจใหม่ของ AIS เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการเปิดเผยถึง 6 ธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโต ไม่ว่าจะเป็น AIS Play อีสปอร์ต สตาร์ทอัป ดิจิทัลเพย์เมนต์ เพย์เมนต์เกตเวย์ และธุรกิจประกันภัย

เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมา AIS จะเริ่มนำเสนอธุรกิจใหม่จากกลุ่มที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายๆ อย่าง AIS Play ที่เป็นบริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพื่อความบันเทิง และธุรกิจอีสปอร์ตซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโต และมีกำลังซื้อสูงจากการสมัครใช้งานทั้งแพกเกจ และดาต้า ที่เชื่อมโยงไปยังธุรกิจหลักของ AIS และล่าสุดถึงช่วงเวลาที่จะนำดิจิทัลเซอร์วิส เข้าไปผสมผสานกับธุรกิจประกันภัย เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลพร้อมที่จะเปิดช่องให้นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ได้



อลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตั้น กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่า AIS เป็นผู้นำทั้งในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะ AIS 5G รวมถึงความแข็งแรงของการให้บริการ AIS Fibre ที่เป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และได้เริ่มทรานฟอร์มธุรกิจสู่การเป็นดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรวายเดอร์

“การให้บริการดิจิทัลไลฟ์ของ AIS มีเป้าหมายเพื่อขยายบริการที่เข้าไปตอบสนองการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่มีความน่าสนใจหนีไม่พ้นธุรกิจประกันภัยที่ AIS สามารถนำเทคโนโลยีที่มีเข้าไปช่วยเสริมรูปแบบของการให้บริการที่หลากหลาย จนถึงความสะดวกในการชำระค่าเบี้ยประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ”

อลิสแตร์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจประกันภัยดิจิทัลของ AIS เริ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการเข้าไปเป็นตัวแทนประกันภัย (โบรกเกอร์) ภายใต้ธุรกิจที่เรียกว่า AIS Insurance Service ในบริษัท แอดวานซ์ ดิจิทัล ดิสทริบิวชั่น จำกัด (ADD) ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้แก่ลูกค้า และผู้บริโภคทั่วไป



เพียงแต่ด้วยรูปแบบของธุรกิจที่เน้นเรื่องของดิจิทัล ทำให้ทาง AIS ได้มีการต่อยอดพัฒารูปแบบ และวิธีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่แตกต่างออกไป ด้วยการนำ InsureTech หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมประกันภัยเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ประกันภัยรูปแบบใหม่

“เบื้องหลังของการทำธุรกิจประกันภัยของ ADD คือการนำข้อมูล พฤติกรรมของลูกค้า มาวิเคราะห์ เพื่อนำเสอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยสร้างความแตกต่าง อย่างการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้ในการเก็บข้อมูล จนถึงการเคลมสินไหมผ่านระบบอัตโนมัติ และการนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อป้องกันการหลอกลวงต่างๆ”

ปัจจุบัน ADD ให้บริการผลิตภัณฑ์ประกันภัย ครอบคลุมทั้งประกันภัยการเดินทาง ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันมะเร็ง และประกันรถยนต์ เพียงแต่ที่ผ่านมา จะเป็นในลักษณะของช่องทางการจำหน่ายประกันภัยในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มาพร้อมระบบชำระเงินที่สะดวกต่อลูกค้าเท่านั้น

กับอีกรูปแบบหนึ่งคือการนำอุปกรณ์ IoT เข้าไปเป็นตัวช่วยในการคำนวณการใช้งานอย่าง “ประกันรถเปิดปิด” ที่นำอุปกรณ์ NB-IoT ติดตั้งเข้าไปในรถยนต์ เมื่อสตาร์ทรถ ระบบก็จะส่งข้อมูลไปเปิดการทำงานของประกันภัยรถยนต์ที่สมัครไว้เท่านั้น ไม่ได้มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติม จนกระทั่งทาง คปภ. ได้อนุมัติให้ภาคเอกชนได้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) เพื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้กับการประกันภัยในรูปแบบต่างๆ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่าง “ประกันขับดี”



รพีพรรณ แนวบุญเนียร หัวหน้าส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมันนี่ และประกันภัย AIS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า AIS ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเข้าไปตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าในแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ในแต่ละช่วงเวลา

“นวัตกรรมเหล่านี้จะเข้าไปช่วยดูแลลูกค้าทั้งในแง่ของความปลอดภัย ชีวิต และทรัพย์สินในทุกช่วงวัย ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ คปภ. เปิดโครงการอย่าง IRS ขึ้นมา เพื่อให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค และยกระดับความสามารถของวงการประกันภัยไปอีกขั้น”

***ช่วยการขับขี่บนท้องถนนปลอดภัยมากขึ้น

รูปแบบของการนำเทคโนโลยีไปใช้ในประกันขับดี ก็คือการนำอุปกรณ์ IoT ที่เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลการขับขี่รถยนต์ของผู้ใช้ผ่านอุปกรณ์ MSIG Car Informatics ที่ใช้ OBD II ในการเชื่อมต่อกับรถยนต์ และภายในอุปกรณ์นี้จะเชื่อมต่อกับโครงข่ายทั้ง 3G และ 4G ของ AIS ผ่านซิมการ์ดในการส่งข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์

อุปกรณ์ Car Informatics จะทำการเก็บค่าตัวแปรทั้งหมด 5 ประเภท ประกอบด้วย ระยะทางในการขับขี่ ช่วงเวลา ความเร็ว ระยะเวลาในการขับ และพื้นที่ในการขับขี่ ซึ่งแต่ละตัวแปรจะถูกนำไปคำนวณออกมาเป็นเบี้ยประกันตามพฤติกรรมการขับขี่ ช่วยลดค่าเบี้ยประกันให้ลูกค้าได้สูงสุด 50%

รัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมตลาดประกันภัยในประเทศไทยว่าสูงถึง 2.54 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 3.9% ในจำนวนนี้จะเป็นประกันรถยนต์ 57% หรือราว 145,000 ล้านบาท เติบโต 1.4%

“ประกันภัยรถยนต์ถือเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประกันภัยทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมาตลาดประกันภัยรถยนต์ เบี้ยประกันภัยลดลง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ทำให้คนใช้รถยนต์น้อยลง อัตราความเสียหายน้อยลง ขณะเดียวกัน ก็มีลูกค้ากว่า 60% ที่มีพฤติกรรมขับรถที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย กลายเป็นผู้ที่มีประวัติดี แต่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเท่าๆ กับคนอื่น”

ในจุดนี้ ทาง MSIG เลยมองหานวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยสอดคล้องกับเป้าหมายก่อนหน้านี้ อย่างการสร้างความสะดวกในการซื้อประกัน ให้สามารถซื้อได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ค่าเบี้ยประกันสมเหตุสมผล และมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ จึงเกิดเป็น “ประกันขับดี” ขึ้นมา ที่จะคำนวณค่าเบี้ยประกันจากพฤติกรรมการขับขี่ผ่าน 5 ตัวแปรดังกล่าวในแต่ละวัน และคิดค่าเบี้ยประกันออกมาเป็นรายเดือน โดยมีค่าเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 เริ่มต้นที่ 6,499 บาท และประกันรถยนต์ 2+ เริ่มต้นที่ 3,299 บาท

เบื้องต้น ทาง MSIG ตั้งเป้าว่าจะมีลูกค้าที่สนใจสมัครใช้งานประกันขับดี 20,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ คิดเป็นรายได้ราว 160 ล้านบาท จากรายได้รวมของกลุ่มประกันรถยนต์ที่อยู่ราว 3,000 ล้านบาท ในปี 2020 ที่ผ่านมา

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ “ประกันขับดี” จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ที่ใช้รถน้อย กลุ่มผู้สูงวัยที่มีการขับรถยนต์เฉพาะไปทำกิจกรรมต่างๆ และคนทำงานที่ไม่ได้ใช้รถเป็นประจำ มีการใช้งานร่วมกับใช้รถสาธารณะ เป็นต้น

***จากโซลูชันทดลองทดสอบ สู่การใช้งานจริง

ในความเป็นจริงแล้ว AIS เริ่มนำเสนอโซลูชันเกี่ยวกับการนำ NB-IoT เข้าไปประยุกต์ใช้งานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มาตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าในช่วงปีที่ผ่านมานั้นเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายๆ โครงการที่กำลังพัฒนาหยุดชะงักไป

ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องว่างให้สามารถต่อยอดพัฒนาโซลูชันเกี่ยวกับอุปกรณ์ IoT ให้สามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมเชิงลึกได้มากยิ่งขึ้น ภายใต้การนำนวัตกรรม และดิจิทัล แพลตฟอร์ม เข้าไปร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ

ในการพัฒนา “ประกันขับดี” นั้นใช้ระยะเวลาในการพัฒนาราว 6 เดือน โดยเริ่มจากทาง MSIG เริ่มมองหาพันธมิตรที่ให้บริการเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งทาง AIS มีความพร้อมอยู่แล้ว และมีหน่วยงานที่พร้อมร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ และโซลูชัน IoT เข้าไปใช้งาน ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้นมา

***ฟื้นแบรนด์ “mPay” สู่เพย์เมนต์เกตเวย์

อีกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น จากการที่ AIS เริ่มให้บริการ “ประกันขับดี” รวมถึงการเปิดช่องทางชำระค่าเบี้ยประกันผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ก็คือการนำเอ็มเปย์ (mPay) ที่แต่เดิมผู้บริโภคจะรู้จักกันในแง่ของการเป็นดิจิทัลเพย์เมนต์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปัจจุบันทาง AIS ได้หันมาให้บริการผ่าน Rabiit LINE Pay ไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน mPay ถือเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาตจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการให้บริการมาเป็นช่องทางการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล หรือการเป็นเพย์เมนต์เกตเวย์แทน

โดยภายในกลางปีนี้จะเริ่มเห็นถึงความชัดเจนของการที่ AIS นำ mPay ไปใช้งานภายในธุรกิจใหม่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่บทบาทของการเป็นช่องทางชำระเงินค่าสินค้า และบริการที่ง่ายและสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ใช้งาน