ภาพของการยกระดับบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยเครือข่าย 5G ของกลุ่มทรู เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีแพลตฟอร์ม และบริการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานร่วมกับ 5G โดยเฉพาะ ทั้งในแง่ของการตอบสนองไลฟ์สไตล์เพื่อความบันเทิง จนถึงการนำไปใช้งานบริการทางการแพทย์ให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา True ได้มีการประยุกต์นำ 5G เข้าไปใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงประสบการณ์ 5G ผ่านคอนเทนต์ในลักษณะของ Virtual Reality จากการลงทุนสร้าง True 5G XR Studio เพื่อแสดงให้เห็นมิติของการนำ 5G มาใช้เพื่อความบันเทิง
จนล่าสุดได้เข้าไปผนึกพันธมิตรร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลกจากสหรัฐฯ อย่าง Nonvoice Alive ที่รวบรวมแอปฯ 5G AR มาให้ได้ใช้งานกันที่แรกที่เดียวในประเทศไทย เสริมประสบการณ์ในการเข้าใช้งาน AR เสมือนจริง รวมถึงการเข้าไปจับมือกับทางเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (แกล็กโซสมิทไคล์น : จีเอสเค) นำโครงการ ‘Telehealth Together’ ผ่านแพลตฟอร์มสุขภาพอัจฉริยะ ‘ทรู เฮลท์’ มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยดูแลผู้ป่วย ช่วยยกระดับชีวิต และบริการสาธารณสุขในวิถีชีวิตใหม่แก่สังคม
พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มทรู ต้องการนำเสนอปรากฏการณ์ 5G ให้ลูกค้าได้เข้าถึงผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและมาแน่นอนคือ AR (Augmented Reality) ที่ผู้บริโภคทั่วไป และในภาคอุตสาหกรรมจะได้นำไปปรับใช้งานกันแน่นอน
‘ปัจจัยที่จะทำให้ 5G เกิดการใช้งานมากขึ้นในไทยอย่างแพร่หลาย คือ มีเซอร์วิส หรือบริการที่ทำให้เกิดการใช้งานจริงหรือไม่ อย่างการพยายามผลักดันประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่ง 5G จะมีส่วนอย่างมาก ในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดนำไปใช้งาน’
เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่าง AR ได้สะดวกขึ้น กลุ่มทรู จึงได้เข้าไปร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน 5G และ AR เสมือนจริงชั้นนำของโลก Nonvoice Alive นำบริการ ‘True 5G Innovative Cloud AR with Nonvoice Alive’ มาเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้สัมผัสโลกเสมือนจริงครอบคลุมทุกความต้องการ โดยภายในบริการดังกล่าวจะมีทั้งแอปพลิเคชันส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนไทย รวมถึงแอปพลิเคชันเกมมือถือที่หลากหลายทั้งแนว FPS (First Person Shooter) หรือ AR Sport Game จนถึงการสร้างการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต
ที่น่าสนใจ และเข้ากับยุคดิจิทัลในปัจจุบันคือ ภายในแพลตฟอร์มนี้ยังมีพื้นที่เปิดให้นักลงทุนได้เข้ามาเก็บสะสมสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) ด้วย GFT Exchange ตลาดดิจิทัลที่เปิดให้ศิลปิน บริษัทภาพยนต์ นักดนตรี และครีเอเตอร์ เข้ามาพัฒนาและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังเปิดประสบการณ์ใช้งาน 5G สำหรับการเล่นเกมในลักษณะของ Social Gaming ที่เชื่อมต่อผู้เล่นได้สูงสุด 7 คน พร้อมความสามารถในการสตรีมมิ่งไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ต่อเนื่องไปยังการสร้าง Active Augmented Reality ให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนไหว โต้ตอบระหว่างภาพเสมือนกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วย
ขณะเดียวกันในภาคอุตสาหกรรม ก็มีการนำ 5G AR ไปใช้อย่างการเทรนนิ่ง หรือการนำเสนอ ที่ทางกลุ่มทรูเข้าไปร่วมงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา รวมถึงบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ AR ที่จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศของทั้งARและXRในประเทศไทย
พิรุณ ระบุอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้ทรู 5G เป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการอย่างเดียว แต่จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศ 5G ในเมืองไทยให้เกิดขึ้น ก่อนต่อยอดไปสู่การใช้งานในด้านอื่นๆ ต่อไป
‘ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของบุคลากรในประเทศไทย เพราะนอกจากผู้ใช้แล้ว ต้องมีระบบนิเวศขึ้นมาเพื่อผลิตคอนเทนต์ ที่มีการตื่นตัวกันสูงขึ้นโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆ และทางทรูก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งรวมถึง True 5G XR Studio ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ของ AR และ XR ในประเทศไทย’
***ประยุกต์สู่แพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์ทางไกล
อีกหนึ่งประโยชน์ของการนำเครือข่าย 5G มาใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือเรื่องของการทำ Telehealth หรือ บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล ภายใต้แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะอย่าง ‘ทรู เฮลท์’ ในกลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจ
เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ ทั้งโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ไม่สามารถเดินทางไปรักษาที่โรงพยายาลได้ทั้งจากการที่อาการของโรคจะเกี่ยวกับปอดเหมือนอาการของโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงในการไปโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดกว่า 3 ล้านคน แต่จากข้อจำกัดในการเดินทาง และความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด และในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่จะมีอาการรุนแรงได้ ทางจีเอสเค จึงได้เข้าไปร่วมกับกลุ่มทรู ในโครงการ ‘Telehealth Together’ คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี โดยนำศักยภาพของการสื่อสารผ่านทางไกล โดยเฉพาะเครือข่าย 5G ที่สามารถใช้งานวิดีโอคอลล์เพื่อปรึกษา และพบแพทย์ ถือเป็นการยกระดับบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม ตรงตามยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เน้นให้ความสำคัญในปี 2564 นี้
ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า กลุ่มทรูต้องการส่งเสริมและผลักดันการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล มาช่วยยกระดับการทำงานและการใช้ชีวิต ตลอดจนขับเคลื่อนภาคธุรกิจในทุกประเภทอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยและประเทศไทย
‘การต่อยอดฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ทรู เฮลท์ ให้สามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่าย ผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ และยังคงได้รับบริการเหมือนกับที่โรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ’
จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการนำเครือข่าย 5G ไปใช้งานในลักษณะต่างๆ เริ่มเห็นได้ชัดเจนและสร้างคุณค่าให้สังคมมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.