สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่ารายงานระบุว่า มูลค่าการค้าทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศของจีนพุ่งสูงเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.21 ล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2564 คิดเป็นอัตราเติบโต 38.7% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี
นายหลี่ เจียซาน รองประธานบริหารสถาบันการค้าบริการของจีน อธิบายว่า การค้าทางวัฒนธรรมหมายถึงการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
การส่งออกผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของจีนก้าวสู่แถวหน้าของโลกมานานหลายปี โดยมีผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลระดับสากลจำนวนมาก
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของจีน เมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าสูงถึง 156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.62 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 43.4% ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกบริการทางวัฒนธรรมของจีนในปีเดียวกัน สูงแตะ 44,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.59 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 24.3%
นอกจากนั้น การส่งออกภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ วรรณกรรมออนไลน์ และผลิตภัณฑ์จากความคิดสร้างสรรค์อื่น ๆ ของผู้ประกอบการจีน ยังมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
สหรัฐ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจีนชั้นนำ ขณะที่เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐ และญี่ปุ่น เป็นตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมหลักของจีน
การค้าทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศและภูมิภาค ตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออกสิ่งพิมพ์ งานศิลป์-งานฝีมือ ของสะสม ฯลฯ ขนาดและโครงสร้างการค้าทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และการปรับปรุงโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ
การค้าทางวัฒนธรรมดิจิทัลมุ่งสู่ระดับโลก
เกมออนไลน์และผลิตภัณฑ์อีสปอร์ต (E-sports) กลายเป็นกองหน้าของการส่งออกผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจีน ดังเช่น “เกมจีน” โดยเฉพาะเกมที่สอดแทรกสไตล์ความเป็นจีน มียอดจำหน่ายที่ดีในต่างประเทศ
รายงานระบุว่า รายได้ที่แท้จริงจากการจำหน่ายเกมจีนในต่างประเทศ เฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สูงถึง 8,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 324,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.16% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี
อุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยอานิสงส์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ทางดิจิทัลขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่บรรดาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจีนสะท้อนความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกในด้านวัฒนธรรมดิจิทัล เช่น เกมออนไลน์ แอนิเมชันบนสมาร์ทโฟน และงานศิลป์ดิจิทัล ที่มีมาตรฐานระดับสากล
การค้าทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการค้าบริการทางวัฒนธรรม มีความเป็นดิจิทัลโดยธรรมชาติ และกำลังเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจวัฒนธรรมระดับโลก
จีนออกสารพัดมาตรการสนับสนุนการพัฒนาการค้าทางวัฒนธรรมดิจิทัล และบ่มเพาะจุดแข็งทางการแข่งขันในการส่งออกวรรณกรรมออนไลน์ สิ่งพิมพ์ดิจิทัล การแพร่ภาพออนไลน์ และอีสปอร์ต
ขณะเดียวกัน จีนยังกระตุ้นเหล่าผู้ประกอบการจัดสรรการบริการต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ การแปล การพากย์ การตัดต่อ การผลิตหลังถ่ายทำ และอื่น ๆ สำหรับภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และเกมที่ผลิตในต่างประเทศ
การเพิ่มนโยบายหนุนผู้ประกอบการการค้าทางวัฒนธรรม
จีนวางแผนออกมาตรการแบบมุ่งเป้าสำหรับผู้ประกอบการการค้าทางวัฒนธรรมเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการค้าทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นโยบายระดมทุนที่มุ่งพัฒนากลไกการลงทุน จะสนับสนุนการสร้างฐานส่งออกทางวัฒนธรรมระดับชาติ การพัฒนาตลาดในต่างประเทศ และการขยายการส่งออกบริการทางวัฒนธรรม
จีนจะกระตุ้นสถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ยกระดับเป็นบริษัทมหาชน เพื่อการระดมทุนด้วย
นอกจากนั้น จีนจะออกนโยบายปลอดภาษีหรือภาษีเป็นศูนย์ สำหรับการส่งออกบริการทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการการค้าบริการขั้นสูงในทางเทคโนโลยี
หน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องของจีนยังจะสนับสนุนผู้ประกอบการการค้าทางวัฒนธรรมดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินหยวน และส่งเสริมธนาคารให้บริการชำระเงินหยวนข้ามพรมแดนที่ดียิ่งขึ้น.
(เรียบเรียงโดย Gu Shanshan, Xinhua Silk Road — https://en.imsilkroad.com/p/329353.html)
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA