ภาครัฐ-เอกชนร่วมมือจัดงานอีอีซี แฟร์ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดึงดูดการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เน้น 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเติบโตสูง หวังผลักดันเศรษฐกิจขยายตัว 10% ใน 5 ปี พร้อมขยายความร่วมมือซาอุฯ สร้างฮับคู่ขนานพลังงานสะอาด
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Re-design Thailand’s sustainable future together: อีอีซี โอกาส การเติบโต และศักยภาพของประเทศไทย” ว่า ภาครัฐและเอกชน นำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ (องค์การมหาชน) เตรียมจัดงานอีอีซี แฟร์ ในปี 2024 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน การแบ่งขั้วทางการเมืองของโลก และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการย้ายฐานผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก
“ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก การแบ่งขั้วทางการเมือง สงครามที่เกิดขึ้น กระทบต่อราคาพลังงานโลก ทำให้เกิดวิกฤตไปทั่วโลก เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการย้ายฐานผลิต ซึ่งไทยมีศักยภาพไม่แพ้เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเป้าหมายของรัฐบาลในการดึงการลงทุน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Better and Green Thailand 2030 และการจัดงานอีอีซี แฟร์จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 10% ภายใน 3-5 ปี”
สำหรับยุทธศาสตร์ Better and Green Thailand 2030 มีเป้าหมายเพิ่มจีดีพีประเทศไทยอีก 1.7 ล้านล้านบาท ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาท สร้างงาน 625,000 คน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 13% โดยให้ความสำคัญต่อ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างการเติบโตใหม่ให้แก่ประเทศ (เอสเคิร์ฟ) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยว ดิจิทัล
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแผนขยายความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้ากับซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะการเป็นฐานพลังงานสะอาดเพื่อรองรับไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้กระตุ้นกำลังซื้อยานยนต์ไฟฟ้ามีจำนวน 1.8 หมื่นคัน ซาอุฯ เห็นโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ในการเป็นทวินฮับระหว่างไทยกับซาอุฯ เป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งญี่ปุ่นจะมีความร่วมมือกับไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตไฮโดรเจนในภูมิภาค
นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังสนใจลงทุนด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอีสปอร์ต ซึ่งไทยถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกด้านอีสปอร์ต โดยมีผู้เล่นกว่า 30 ล้านคน รวมถึงมีผู้สนใจลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิสในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่อีอีซีจะสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ตามเป้าหมาย
นายคณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านการพัฒนาขับเคลื่อนอีอีซี กล่าวว่า ปัจจุบันอีอีซีมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคาดว่ารัฐจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2566 และเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2569 ขณะที่สนามบินพร้อมเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวได้ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ปีละ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยอีก 10 ล้านคน
“แนวคิดในการจัดงานอีอีซี แฟร์ จะคล้ายบีโอไอ แฟร์ ที่มีการโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อที่บอกว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกันในการพัฒนาประเทศ เหมือนตอนจัดงานบีโอไอ แฟร์ เศรษฐกิจประเทศขยายตัว 10% ซึ่งอีอีซีน่าจะดีกว่า เพราะอีอีซีจะมีความต่อเนื่อง มีกฎหมาย ทำงานครบวงจร ดึงกลไกการทำงานกับทุกภาคส่วน ร่วมกับสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ โชว์วิสัยทัศน์ระยะยาว 10 ปี การพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาคน” นายคณิศกล่าว
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภายในปี 2570 จะมีการจัดงานในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 27 งาน ซึ่งจะสร้างผลทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 7,020 ล้านบาท โดยปี 2566 จะมีการจัดงานอินเตอร์เนชันแนล แอร์ โชว์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ที่ใช้เงินลงทุนเกือบ 2,599 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 4,777 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 18,760 ล้านบาท ก่อนจะนำไปสู่การจัดงานอีอีซี แฟร์ ในปี 2567 ที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนการจัดงานบีโอไอ แฟร์ เมื่อปี 1995
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าพร้อมจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดงานอีอีซี แฟร์ โดยเฉพาะการขยายการรับรู้และโอกาสของอีอีซีไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ และอีอีซีจะช่วยเพิ่มโอกาสของประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.