มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน–ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ถก “ปราบพนันออนไลน์ เรื่องพูดง่ายที่ทำไม่สำเร็จ” หลังพบโควิด-19 ทำพนันออนไลน์โตขึ้น 135% เงินหมุนเวียน 107 แสนล้าน แนะรัฐ บูรณาการทำงานร่วมกันหยุดพนัน “ทศกัณฐ์” สอดส่อง-เฝ้าระวัง-ขับเคลื่อนการทำงานทุกมิติ
รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์การพนัน ของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 แสดงให้เห็นว่าโควิด-19 ทำให้การพนันในบ่อนมีขนาดเล็กลง แต่ยังพบผู้เล่นพนันในบ่อนถึง 4.18 ล้านคน ลดลง 16.1% และมีวงเงินพนัน 108,805 ล้านบาท ลดลง 12.6% ส่วนการพนันออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ยังมีขนาดเล็กกว่าการพนันในบ่อน จำนวนนักพนันออนไลน์ 1.12 ล้านคน เพิ่มขึ้น 135% และมีวงเงินหมุนเวียน 107,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 431.3% ประเภทการพนันออนไลน์ที่เป็นที่นิยม คือ 1.บาคาร่า ป๊อกเด้ง 78.8% 2.สล็อตแมชชีน ตู้เกม 36.8% 3.ไฮโล โปปั่น น้ำเต้าปูปลา 20.8% และ 4.เกมไพ่อื่นๆ เช่น ผสมสิบ เสือมังกร
“สาเหตุที่ทำให้นักพนันหันมาเล่นพนันออนไลน์ คือ 1)สะดวก ง่าย เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา 92.4%, 2)มีรูปแบบการแทงพนันที่หลากหลาย 45.6% 3)ฝาก-ถอนเงินจากระบบได้อย่างรวดเร็ว 39.6% 4)เพื่อนชวน 38% 5)โปรโมชั่นจูงใจ 36% และ 6)19.6% ระบุว่า ช่วงโควิดระบาด บ่อนการพนันปิดจึงหันมาเล่นออนไลน์ที่สามารถเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา คนที่เล่นการพนันในปี 2564 ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายว่าจะเป็น Problem Gamblers หรือ นักพนันที่มีปัญหามีมากถึง 3.512 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน อายุ 15-25 ปี 6 แสนคน และผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป 2 แสนคน แต่ในแง่สัดส่วน พนันบ่อนออนไลน์ทำให้พบนักพนันที่เป็นปัญหามากที่สุด 37.1% ไล่ตามมาติดๆ คือ หวยอื่นๆ 35.6% พนันทายผลฟุตบอล 33.5% และพนันในบ่อน 31.3%” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว
รศ. ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า ด้านพนันทายผลฟุตบอล ตลาดเติบโตขึ้นประมาณ 10% มีคนเล่นพนัน 3.83 ล้านคน และมีวงเงินพนัน 181,168 ล้านบาท แต่น่าสังเกตว่า วงเงินหมุนเวียนในช่องทางออนไลน์มีเพียง 24,274 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% แปลว่าตลาดหลักของพนันทายผลฟุตบอลยังเป็นโต๊ะบอล คนรับแทง คนเดินโพย ส่วนหวยอื่นๆ โดยเฉพาะหวยต่างประเทศ หวยออนไลน์ เติบโตขึ้นมาก คือมีคนเล่นพนัน 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 100% และมีวงเงินพนัน 58,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 117% ในจำนวนนี้เป็นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 38% หรือ 22,460 ล้านบาท
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พบการระบาดโควิด-19 ที่สัมพันธ์กับการพนัน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.มาตรการควบคุมโรคของประเทศต่าง ๆ ส่งผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมการพนันแบบดั้งเดิม 2.ตลาดการพนันออนไลน์ฉกฉวยโอกาส ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด 3. ผู้คนย้ายฐานจากการพนันโลกจริงไปสู่การพนันออนไลน์เพิ่มขึ้น และเกิดนักพนันหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นจากการพนันออนไลน์ 4.การพนันออนไลน์มีผลด้านลบต่อผู้เล่นมากกว่าการพนันแบบเดิม เช่น กลุ่มนักพนันอายุน้อย รายได้ต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจะติดการพนันได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น 5.การยกเลิกการแข่งขันกีฬารายการสำคัญทำให้เกิดตลาดทดแทน บางคนหันไปเล่นพนันกีฬาชนิดอื่นที่ยังมีการแข่งขันหรือพนันอีสปอร์ต 6.หลังการระบาดของโควิด-19 คาสิโนจะกลับมาฟื้นตัว 7.ผู้คนหันเข้าหาการพนันออนไลน์ข้ามชาติมากขึ้น
“สถานการณ์ของไทย พบว่า การปิดด่านพรมแดนทำให้บ่อนคาสิโนชายแดนต้องหยุดกิจการชั่วคราว จึงเกิดรูปแบบออนไลน์เข้ามาตอบสนองความต้องการแทน และช่วงเริ่มผ่อนคลายก็พบบ่อนเถื่อนลักลอบเปิด จึงเกิดบ่อนการพนันเป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 และเกิดรูปแบบการเล่นในชุมชน บ่อนวิ่ง เป็นลักษณะการพนันที่ใกล้ตัวอย่างเห็นได้ชัด” ดร.ณัฐกร
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการพนัน ยังขาดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำงานแบบแมวไล่จับหนู ในลักษณะ“ต่างแมวต่างทำ” สิ่งที่ควรต้องทำ คือ ปรับโครงสร้างการทำงานแบบ “ต่างแมวต่างทำ” มาเป็น “ทศกัณฐ์” ช่วยกันสอดส่องและบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานกลางในประสานขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน โดยเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมาร่วมด้วย เพราะปัญหาการพนันที่มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ขณะนี้มีแนวโน้มการขยายตัวของปัญหาที่จะมีมากขึ้น ทำให้ต้องการการทำงานที่มีมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
“เสนอให้รัฐ ตั้งศูนย์อำนวยการจัดการปัญหาการพนัน ให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมเพื่อเป็นกลไกการควบคุมดูแลปัญหาจากการพนันที่ชัดเจน และให้ความสำคัญกับเรื่องสร้างการรู้เท่าทันเรื่องการพนัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจหลงผิดเชื่อคำโฆษณาและการชักชวนเล่นการพนัน” นายธนากร กล่าว
นายธนากร กล่าวต่อว่า ปัญหาการพนันจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการร่วมมือการหยุดพนัน โดย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันเสนอให้มีการแก้ปัญหา ดังนี้ 1.กรมสุขภาพจิต ด้วยการพนันมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อสุขภาพจิต 2.กลุ่มสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ในการช่วยเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดปกติ และร่วมกับค่ายบริการโทรศัพท์มือถือในการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดปกติของบุคคลที่อาจหลงเป็นเหยื่อของเว็บพนัน 3.สื่อและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพราะเว็บพนันใช้ช่องทางออนไลน์ในการหลอกล่อเพื่อชักชวนให้คนไปหลงเล่นพนัน และ 4.ความร่วมมือของประชาชน ในการเฝ้าระวังชุมชน ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันสังคมเพื่อการรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของการพนันที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอด