รวมมิตร “ทวิภาคี” เอเปค 2022 ไทยคุย 4 แขกพิเศษของรัฐบาล และ 6 ผู้นำเอเปค ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจ-การค้า เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์เพื่อชาติ
จบลงไปแล้วอย่างราบรื่นสำหรับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยเวียนกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 19 ปี และเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี หลังยุคโควิด
ชนิดที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา ถึงกับประกาศว่าเป็น “ความสำเร็จอย่างงดงาม” ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
เพราะในภาพรวมนั้น ที่ประชุม 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค “สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ทั้งในระดับผู้นำเอเปค (Leaders’ Declaration) และในระดับการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (Ministerial Joint Statement)” ท่ามกลางสถานการณ์เรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคุกรุ่นอยู่ ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองนี่เองเคยทำให้ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อต้นปีนี้ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับที่ประชุมระดับผู้นำเอเปค เมื่อปี 2018 ที่ปาปัวนิวกินี ซึ่งไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำได้เช่นกัน จากความขัดแย้งของจีนและสหรัฐในขณะนั้น
ที่สำคัญก็คือ ผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ยังได้ให้การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งโอกาสนี้ เอเปคได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังได้ใช้โอกาสในฐานะเจ้าภาพเอเปคจัดการประชุมแบบ “ทวิภาคี” หรือการประชุม 2 ฝ่ายกับบรรดาผู้นำเอเปค และแขกพิเศษของรัฐบาล เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเจรจาด้านการค้า การลงทุน และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วย
ทีมข่าว Spotlight ได้ประมวลการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำของไทยและผู้นำ 10 เขตเศรษฐกิจและแขกพิเศษของรัฐบาล มารวมไว้ที่นี่ ดังนี้
4 แขกพิเศษของรัฐบาล และ 6 ผู้นำเอเปค
การหารือทวิภาคีของผู้นำไทยนอกรอบการประชุมเอเปค 2022 อาจแบ่งได้หลักๆ เป็นการหารือในระดับ “แขกของรัฐบาลไทย” กับในฐานะ “ผู้นำประเทศเอเปค” ดังนี้
แขกของรัฐบาลไทย
หมายเหตุ: ผู้นำกัมพูชาไม่ได้มาร่วมประชุม
ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
*หมายเหตุ: เป็นการหารือทวิภาคีแบบสั้น (pull-aside) นอกรอบการประชุมเอเปค ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ไทย-เวียดนาม: ตั้งเป้าการค้า 2 ชาติทะลุ 8 แสนล้าน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ได้หารือแบบทวิภาคี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการลงนามข้อตกลง 5 ฉบับ และมีข้อสรุป 5 ด้าน ในการเจรจาทวิภาคี ดังนี้
ความตกลง 5 ฉบับ
ข้อสรุปการเจรจา 5 ด้าน
– ตั้งเป้าหมายการค้าทวิภาคี ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 875,000 ล้านบาท) ภายในปี 2568
– ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้กระบวนการการนำเข้าและส่งออกง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกการค้า ข้ามแดนและการนำผ่านสินค้าไปยังประเทศที่สาม แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน และศึกษาโอกาสความร่วมมือใหม่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code)
– ส่งเสริมการอำนวยความสะดวก และคุ้มครองการลงทุนในทั้งสองประเทศ โดยนายกฯ ยินดีต่อความสนใจของนักลงทุนเวียดนามที่จะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และหวังว่าจะเห็นการลงทุนจากเวียดนามในไทยเพิ่มขึ้น
3. เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างไทย และเวียดนาม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ รองทั้งสองประเทศผ่านยุทธศาสตร์ “การเชื่อมโยงสามด้าน” ได้แก่
– การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ เช่น ปิโตรเคมี การเกษตร เครื่องจักร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
– การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากของทั้งสองประเทศ
– การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างโมเดล BCG ของไทย และยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวของเวียดนาม
4. ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
5. เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ไทย-ฝรั่งเศส: เร่งฟื้นเจรจา FTA ไทย–อียู
การหารือทวิภาคีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคี กับ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะแขกพิเศษของไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 มีสาระสำคัญ ดังนี้
ไทย-ซาอุฯ: ทวิภาคี 3 ฉบับ ฟื้นสัมพันธ์การทูต-ร่วมมือเศรษฐกิจ
การหารือทวิภาคีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีข้อสรุป ดังนี้
1.แผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้ง 3 ส่วน คือ
– ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางพิเศษ และหนังสือเดินทางราชการ และจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับสถานเอกอัครราชทูต และทำเนียบเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ
– ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ศึกษาประเด็นความร่วมมือในภาคพลังงาน เพิ่มการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการลงทุนหรือการเงิน และจัดทำความตกลง 2 ฉบับเกี่ยวกับการรับสมัครแรงงานไทย
– ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในด้านศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และแสวงหาความร่วมมือด้านกีฬา อีสปอร์ต และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันด้วย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อน
2.บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย
3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ
– การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ
– การแลกเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศ
– การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศ
ไทย-จีน: ย้ำความสัมพันธ์อันดี เชื่อมยุทธศาสตร์ร่วมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะแขกของรัฐบาล และได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยทั้งสองฝ่ายมีการหารือเต็มคณะ และมีการประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเยือนไทยของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการกระชับความสัมพันธ์ ที่จะได้ร่วมกันกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ และมุ่งไปสู่การฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน รู้สึกยินดีเป็นเกียรติที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการจัดการต้อนรับ ทั้งนี้ มิตรภาพจีน-ไทยสืบทอดกันมาหลายพันปี ประชาชนมีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้องกัน
โดยจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย เพราะจีนและไทยไม่ใช่อื่นไกลคือพี่น้องกัน จีนพร้อมร่วมมือกันสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตร่วมกัน เปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือ เพื่อผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ
สาระสำคัญของการหารือ สรุปได้ดังนี้
ด้านการสร้างความมั่นคง – ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง นายกรัฐมนตรีเสนอให้เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และหารือยุทธศาสตร์ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ และกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ซึ่งจีนยินดีร่วมมือกับไทย เพื่อผลประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อภูมิภาคโดยรวม
ประธานาธิบดีจีน ยินดีร่วมมือเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม
ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน – ไทยและจีนเห็นพ้องการเพิ่มพูนมูลค่า และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจีนยังขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ให้เป็นไปตามที่กำหนด
ประธานาธิบดีจีนเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมทั้งเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือแบบใหม่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
พร้อมชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มองว่า ควรจะเร่งความร่วมมือสามฝ่ายไทย-จีน-ลาว ในเรื่องการเชื่อมโยงระบบรถไฟ โดยไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน
สำหรับในขั้นต่อไปจีนหวังว่า จะมีการเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบศุลกากรเพื่อขยายการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ทุเรียนและมังคุด
ด้านความยั่งยืน – ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเสริมสร้างมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ประธานาธิบดีจีนชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย และมีแนวคิดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จีนยินดีร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาชนบท
โดยรัฐบาลจีนมีภาระหน้าที่สำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน และสร้างสรรค์บ้านเมืองในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้านโดยมีอัตลักษณ์ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของไทย จีนเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรจะเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่สอดคล้องกันของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านการศึกษา การท่องเที่ยว – นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณจีนที่อนุญาตให้นักศึกษาไทยทยอยกลับไปศึกษาต่อในจีนได้ รวมทั้งพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า จีนและไทยเป็นเหมือนพี่น้องและญาติมิตร จีนส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ได้สำเร็จด้วยดี เชื่อว่าหากทุกฝ่ายสามัคคีร่วมมือกัน จะนำไปสู่ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้ในระยะยาว
ด้านความร่วมมือในกรอบพหุภาคี – ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า สถานการณ์โลกและภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความท้าทายจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้ไทยและจีนต้องร่วมมือรับความท้าทาย เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีนยืนยันที่จะแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ ทั้งเวทีอาเซียน ACMECS รวมถึงกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
ไทย-สหรัฐฯ: ย้ำความเป็นพันธมิตร หุ้นส่วนยุทธศาสตร์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำ APEC 2022
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทย-สหรัฐฯ เป็นมิตรประเทศที่สำคัญกันมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2566 จะครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติและมีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เชื่อมั่นว่าการเยือนไทยในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ด้านสหรัฐฯ พร้อมร่วมมือกับไทยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยได้ชื่นชมบทบาทการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของนายกรัฐมนตรี และของไทย ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี โดย สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า พร้อมสานต่อประเด็นและผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมฯ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ BCG ของไทยซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ
สำหรับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน มีดังนี้
ด้านความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมาย – ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิด และมีส่วนช่วยรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคมายาวนาน โดยเห็นพ้องจะเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันมากขึ้น
รวมทั้ง อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและการป้องกัน/ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ 5 โครงการ ครอบคลุมความร่วมมือป้องกัน/ปราบปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติดตามแนวชายแดน การเพิ่มศักยภาพการลาดตระเวนของตำรวจน้ำ และการต่อต้านการฟอกเงิน
ด้านรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอบคุณไทยสำหรับการสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างกัน
ด้านเศรษฐกิจ – ไทยเป็นฐานการลงทุนและการผลิตที่สำคัญของภาคเอกชนสหรัฐฯ มายาวนาน และมีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิทัล ขยายความร่วมมือเชื่อมธุรกิจของสหรัฐฯ สู่ภูมิภาคผ่าน Thailand+1
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยินดีขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับไทยผ่านข้อตกลงต่าง ๆ ที่ได้มีการผลักดันร่วมกัน
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาพลังงานสะอาด – ทั้งสองประเทศมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน รวมถึงความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม Net Zero World
ด้านรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชื่นชมความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของไทย โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมข้อริเริ่มความต้องการพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ โดยทั้งสองหวังว่าไทยกับสหรัฐฯ จะมีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ได้
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยในการสนับสนุนและเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างรอบด้าน มีความสัมพันธ์แบบในรูปแบบ “ใจถึงใจ” เพื่อเดินหน้าสู่ 2 ศตวรรษแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.