eSport Sponsored

รู้จักกับ MkLeo หนุ่มวัย 20 ผู้พลิกชีวิตยากจน สู่เกมเมอร์ระดับโลก รายได้นับสิบล้านบาท – Brand Inside

eSport Sponsored
eSport Sponsored

ทำความรู้จัก Leonardo Lopez Perez หรือ “MkLeo” เกมเมอร์มืออาชีพจากเม็กซิโก ผู้สะสมรายได้กว่า 16 ล้านบาทจากชนะการแข่งขันเกมระดับโลก ผลักตัวเองและครอบครัวออกจากความยากจน

ความสำคัญของเกมสำหรับ Leonardo

Leonardo เกิดและเติบโตในเขต Naucalpan ใน Mexico City ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตที่อันตรายที่สุดของประเทศ โดยอาศัยอยู่กับพ่อแม่และพี่ชายของเขา

Leonardo เล่าว่า “ตอนนั้นพวกเราไม่มีอะไรเลย ผมจำได้ว่าพวกเราต้องขายของตั้งมากมายเพื่อจะมีเงินพอสำหรับอาหารแค่หนึ่งมื้อต่อสัปดาห์”

ตัว Leonardo เองก็เล่นเกมมาตั้งแต่จำความได้ ด้วยความที่ครอบครัวของเขาชอบเล่นเกมด้วยกัน โดยได้เล่น “Smash Bros” ครั้งแรกตอนอายุ 7 ปี และชนะการแข่งขันแรกด้วยเกมนี้ตอนอายุ 8 ปี

ตั้งแต่นั้นมา Leonardo ก็เข้าร่วมการแข่งขันของเกมดังกล่าวมาเรื่อยๆ โดยเน้นแข่งขันภายในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำ ช่วงนั้นเขาจะได้เงินรางวัลประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งคราว (ประมาณ 6,600 บาท) จากการแข่งขันเล็กๆ เหล่านี้

แต่เงินจำนวนนี้ก็ช่วยเหลือครอบครัวเขาได้อย่างมาก Leonardo อธิบายว่า เขาสามารถเดินไปบอกครอบครัวเขาได้ว่า “เฮ้ อยากไปกินข้าวที่ไหนไหม? อยากกินอะไรกัน? หรือเอาเงินไปซื้อของที่ต้องใช้ก็ได้”

Leonardo ยอมรับว่า “ถ้าให้พูดตามตรง มันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผมไปโดยสิ้นเชิง”

ปัจจุบัน Leonardo วัย 20 ปี เป็นหนึ่งในโปรเกมเมอร์แนวหน้าของโลก และเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดของ “Super Smash Bros. Ultimate” หลังชนะการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในปี 2019 

การเล่นเกมเป็นอาชีพ

Leonardo ในฐานะเกมเมอร์ระดับโลก ให้ข้อมูลว่าเขามีเงินออมสะสมจากการเป็นเกมเมอร์ประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16.5 ล้านบาท) ซึ่งมีช่องทางรายได้จากการชนะการแข่งขัน เงินเดือนจากทีมอีสปอร์ต T1 ที่เซ็นสัญญาด้วย รายได้จากวิดีโอบน YouTube และการสตรีมเกมบน Twitch

ในปี 2015 เมื่อตอนที่ Leonardo ยังอายุ 14 ปี เขาได้รางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันระดับนานาชาติในเม็กซิโก ทำให้ Jason Zimmerman หรือ “Mew2King” ผู้เล่นมืออาชีพระดับ “ตำนาน” ของเกม Smash Bros สนใจในตัวเขา พร้อมบอกให้เขาเดินทางไปแข่งขันที่สหรัฐอเมริกาและเสนอตัวเป็นโค้ชให้

ทาง Leonardo เองก็ยอมรับข้อเสนอและฝึกฝนภายใต้การดูแลของ Jason ไปอีกหลายปีข้างหน้า นอกจากการพ่ายแพ้บางครั้งในเดือนแรกๆ ที่เริ่มแข่งขันในสหรัฐ Leonardo ก็ชนะในการแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด จนกลายเป็นแชมเปี้ยนที่เก่งที่สุดในปี 2019

ด้วยรายได้จากการแข่งขันเหล่านั้น Leonardo ก็สามารถซื้ออพาร์ทเม้นท์ให้ครอบครัวใน Mexico City ได้ และเขาก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จในฐานะโปรเกมเมอร์คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของทุกคนในครอบครัวของเขาดีขึ้น

ผลกระทบของโควิดและการปรับตัว

อาชีพการเป็นโปรเกมเมอร์ของ Leonardo อยู่ในช่วงขาขึ้นมาโดยตลอด แต่วิกฤตโควิดทำให้การแข่งขันออฟไลน์ทั่วโลกต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้หลักของเขา 

Leonardo เล่าว่ารายได้จากการแข่งขันของเขาในปี 2020 เหลือแค่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 330,000 บาท) ซึ่งน้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 109,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 ล้านบาท) ในปี 2019

เพื่อหารายได้ทางอื่น Leonardo ก็เริ่มลงคอนเท้นท์ในช่อง YouTube และสตรีมเกมบน Twitch มากขึ้น แต่เขาก็ค้นพบว่าการเป็นโค้ชสอนคนอื่นเล่นเกมก็รายได้ดีเหมือนกัน

Leonardo สมัครเป็นโค้ชบนแพลตฟอร์ม Metafy ซึ่งรวบรวมเกมเมอร์มืออาชีพมาเปิดสอนตัวต่อตัวให้คนที่สนใจ โดยนักเรียนสามารถเลือกกิจกรรมที่อยากเรียนได้ เช่น เล่นเกมกับผู้สอน ให้ผู้สอนแนะนำการเล่นเกมของตัวเอง หรือ การถามคำถามผู้สอน เป็นต้น

ปกติ Leonardo จะเก็บค่าบริการรายชั่วโมง ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 65 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,100 บาท) ไปจนถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,300 บาท) ต่อชั่วโมง

ตัวอย่างเว็บไซต์จองเวลาเรียนกับ MkLeo บน Metafy

โดย Leonardo ให้ข้อมูลว่า ปกติเขาจะทำรายได้จากการแข่งขันได้เฉลี่ยปีละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) และเขาวางเป้าหมายว่าจะทำเงินจำนวนเดียวกันได้จากการโค้ชในปีนี้ ซึ่งเขาทำเงินไปได้กว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐในต้นปีแรกแล้ว

Leonardo บอกว่า “การเป็นโค้ชช่วยชีวิตผมไว้” เพราะนอกจากจะได้เงินแล้ว การเล่นเกมกับนักเรียนยังทำให้เขาได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เขากลับไปแข่งขันต่อในปีหน้า (หรือปีถัดไป) ได้โดยฝีมือไม่ตก

ถึงแม้ว่าการแข่งขันออฟไลน์จะเริ่มกลับมาจัดได้แล้วในช่วงท้ายปีหลัง แต่ Leonardo ก็จะไม่ทอดทิ้งการโค้ชแน่นอน 

วงการอีสปอร์ตในไทย

ในปี 2020 มูลค่าของตลาดอีสปอร์ตไทยอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และมูลค่าตลาดเกมในไทยอยู่ที่ 9.56 แสนล้านบาท ด้วยสถานการณ์โควิด อีสปอร์ตได้รับผลกระทบโดยตรงและจัดงานได้น้อยลง แต่วงการเกมเติบโตจากการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในด้านของเกมเมอร์มืออาชีพ โปรเกมเมอร์ที่มีรายได้สูงที่สุดในประเทศไทยคือ อนุชา จิระวงศ์ หรือ “Jabz” ผู้เล่น Dota 2 สัญชาติไทยคนเดียวในการแข่งขันระดับโลกของเกมนี้ มีรายได้สะสมจากการแข่งขันกว่า 520,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านบาท) โดยเริ่มเข้าร่วมวงการแข่งขันตั้งแต่อายุ 14 ปี จนถึงปัจจุบัน และเซ็นสัญญากับทีมระดับโลก Fnatic อยู่

การสนับสนุนวงการอีสปอร์ตในไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การตั้งสโมสร ไปจนถึงศูนย์ฝึกและการจัดทีมแข่งขันเองจากหลายองค์กร และมูลค่าของอีสปอร์ตในไทยคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องแน่นอน

  • ธนาคารออมสิน เดินสาย GSB ESPORTS หนุนเยาวชนสู่ eSports ปลูกฝังวินัยการออมเงิน
  • รู้จัก AIS eSports แพลตฟอร์มใหม่ที่เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมเกมของประเทศไทย

สรุป

ยิ่งอุตสาหกรรมเกมเติบโตและนิยมมากเท่าไหร่ อีสปอร์ตก็จะนิยมตามกันไปเช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ธุรกิจควรให้ความสนใจ ด้วยโอกาสที่จะส่งแบรนด์ตัวเองไประดับโลกได้

ที่มา – CNBC 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

eSport Sponsored
อีสปอร์ต

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.