มาถึงบทส่งท้าย เราจะไปคุยกันว่าจีนมี “เคล็ดลับ” อย่างไรในการค้นหาเด็กพรสวรรค์และพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬา …
ทุกคนคงเห็นด้วยกับผมว่า บุคลากรด้านการกีฬาที่พร้อมพรั่งนับเป็นจุดเด่นของจีนอย่างแท้จริง แต่ไม่ใช่เพราะจีนมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่ส่วนสำคัญเป็นเพราะจีนมีการจัดตั้งโรงเรียนการกีฬาในระดับเมือง มณฑล/มหานคร และระดับชาติขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศในโลก
ปัจจุบัน จีนมีโรงเรียนกีฬาระดับดังกล่าวจำนวนรวมกว่า 3,000 แห่ง อาทิ สถาบันด้านพลศึกษาแห่งเมืองอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Physical Education) มณฑลหู่เป่ย และโรงเรียนด้านการกีฬาและพลศึกษาแห่งมณฑลเจ้อเจียง (Zheijiang PRoVincial Physical Education and Sports School) ในนครหังโจว
สถาบันการศึกษาดังกล่าวมีนักเรียนราว 360,000 คนต่อปีที่จัดแบ่งเวลาเพื่อการเรียนด้านวิชาการในยามเช้า และด้านการฝึกซ้อมกีฬาในช่วงบ่าย จากสถิติพบว่า ราว 1 ใน 8 เด็กนักเรียนเหล่านี้จะได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติตามความพร้อม ขณะที่ประมาณ 30% จะถูกคัดสรรเป็นนักกีฬาทีมชาติจีน
นักกีฬาชั้นนำเหล่านี้จะได้รับการคัดเลือกเข้าศูนย์ฝีกกีฬาชั้นนำเพื่อแข่งขันระดับระหว่างประเทศต่อไป ศูนย์ฝึกกีฬาระดับนี้มีอยู่ราว 150 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายฝึกฝนกีฬาไฮเกนแห่งนครคุนหมิง (Kunming Haigen Sports Training Base) มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกซ้อมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของจีน ศูนย์ฝึกซ้อมแห่งชาติที่กรุงปักกิ่ง และยังมีค่ายฝึกซ้อมเฉพาะทางอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ว่ายน้ำที่กวางโจว วิ่งระยะไกลที่ทิเบต และวิ่งระยะสั้นที่เซี่ยงไฮ้
นอกจากนี้ จีนยังมีโรงเรียนกีฬาอีกราว 3,000 แห่งที่มุ่งเน้นการค้นหาเด็กพรสวรรค์และฟูมฟักดาวรุ่งด้านการกีฬา และมีศูนย์ฝึกอบรมด้านการกีฬาขนาดเล็กอีกนับหมื่นแห่งกระจายอยู่ทั่วจีน
หลายคนอาจสงสัยว่า โดยที่จีนมีผู้คนมากมายในพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ฝึกสอนที่มีอยู่อย่างจำกัด กอปรกับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาก็ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แล้วจีนทำอย่างไรจึงสามารถค้นหาเด็กพรสวรรค์เข้าสู่เวทีโอลิมปิกได้ดี มากมาย และต่อเนื่องดังเช่นที่เป็นอยู่
จีนทำเรื่องนี้อย่างเป็น “กระบวนการ” เริ่มตั้งแต่รัฐบาลระดับเขตได้รับมอบหมายให้ทดสอบและประเมินความพร้อมและศักยภาพของเด็กที่มีอายุระหว่าง 8-13 ปีเพื่อคัดสรรเข้าสู่โรงเรียนกีฬา อาทิ การวัดส่วนสูง ช่วงแขน ความยืดหยุ่น ความหนาแน่นของกระดูกด้วยการเอ็กซ์เรย์และทดสอบกระดูก และอื่นๆ ที่เป็นตัวชี้ศักยภาพของเด็กในอนาคต
แต่ละปัจจัยดังกล่าวอาจสะท้อนถึงศักยภาพและความเหมาะสมกับกีฬาแต่ละประเภท ความยืดหยุ่นและการทรงตัวเหมาะกับยิมนาสติกและกระโดดน้ำ ความสูงอาจดีกับวอลเลย์บอลและบาสเกตบอล ปฏิกิริยาที่ดีอาจต่อยอดเป็นนักปิงปอง ช่วงแขนที่ยาวเหมาะกับกีฬาว่ายน้ำและขว้างจักร ช่วงแขนที่สั้นก็พัฒนาเป็นนักยกน้ำหนัก และหัวไหล่ที่ทรงพลัง สายตาที่ดี และความนิ่ง อาจเหมาะกับกีฬายิงธนู
ภายหลังการเข้าโรงเรียนกีฬาด้วยค่าเล่าเรียนที่ต่ำมากแล้ว โรงเรียนจะติดตามดูพัฒนาการด้านสรีระและทักษาด้านการกีฬาอย่างต่อเนื่อง จีนยังสร้างระบบการบันทึกและส่งผ่านข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะและศักยภาพของเด็กนักเรียนขึ้นสู่ระดับบน เพื่อจัดส่ง “แมวมอง” มืออาชีพลงไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อจับตามองและคัดเลือกเด็กพรสวรรค์เข้าสู่ระบบ ก่อนส่งไปเข้าศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติ
เพื่อพัฒนานักกีฬาจีนให้อยู่ในมาตรฐานโอลิมปิก หน่วยงานอย่าง SGAS และการกีฬาระดับมณฑลก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนากีฬาในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาแห่งชาติจีน (Chinese National Games) ซึ่งถือเป็นเวทีการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของจีน เพราะเป็นเสมือนการมีตัวแทนจาก 30 ประเทศ/ภูมิภาคมาประชันขันแข่งกันก่อนคัดเลือกเข้าเป็นตัวแทนของจีนในเวทีระหว่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ จีนยังมองไกลถึงการสร้างนักกีฬาอาชีพในระยะยาว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นนักกีฬาจีนก้าวขึ้นสู่วงการกีฬาระดับโลกขึ้นอย่างดาษดื่น ยกตัวอย่างเช่น เหยา หมิง นักบาสเก็ตบอลชื่อดังของจีนในทีมฮิวสตัน ร็อคเก็ต ซึ่งตอนนี้ก็ก้าวขึ้นเป็นนายกสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติจีนแล้ว และมีรุ่นน้องตามเข้าสู่วงการบาสเกตบอลอาชีพอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นักฟุตบอลจีนก็เริ่มเป็นที่นิยมและถูกซื้อตัวเข้าไปเล่นในลีกชั้นนำในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรีเมียร์ลีกของอังกฤษมากขึ้น ในช่วงแรก หลายฝ่ายมองว่าการดึงนักเตะจีนเข้าสู่ทีมสโมสรฟุตบอลของยุโรปเป็นเหตุผล
ในเชิงการตลาดที่ต้องการสร้างฐานแฟนบอลในจีนเป็นสำคัญ แต่นักฟุตบอลจีนหลายคนก็พัฒนาฝีเท้าได้ดีและก้าวไปมีรายชื่อเป็นผู้เล่นหลักของทีมได้อย่างมั่นคงในเวลาต่อมา
ในกีฬาประเภทอื่น นักกีฬาจีนอย่างจาง เหลียนเหว่ย (Zhang Lianwei) ยังเริ่มสร้างชื่อเสียงในวงการกอล์ฟอาชีพ รวมทั้งเรายังได้เห็นนักสนุกเกอร์หน้าเปื้อนสิวอย่างติง จุ้นฮุย (Ding Junhui) ที่มีทั้งความแม่นและชั้นเชิง ลงขับเคี่ยวในการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกอย่างสนุก
ความสำเร็จของนักกีฬาจีนทำให้เกิดกระแสความนิยมในกีฬาที่เกี่ยวข้อง และยังส่งผลให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย เราเห็นเวทีนักกีฬาอาชีพผุดขึ้นมากมายในจีน อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน และปิงปอง ร้านขายเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาของจีนเติบโตไปกับกระแส “กีฬาและสุขภาพ” นี้ได้อย่างรวดเร็ว
บางรายลงทุนรับจ้างผลิต (OEM) และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง โดยประมาณว่ามีบริษัทจีนที่จัดจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาอยู่มากกว่า 20,000 ราย ทั้งนี้ ตราสินค้าที่คุ้นหูคุ้นตาก็ได้แก่ หลี่หนิง (Li Ning) ผู้นำเชิงปริมาณ (Volume Leader) ที่มีจุดขายว่า “ของดี ราคาถูก”
ภายหลังการ “จุดพลุใหญ่” ในงานโอลิมปิคฤดูร้อนที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008 แบรนด์หลี่หนิงก็ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ เพิ่มจุดจำหน่าย และเปิดช่องทางจัดจำหน่ายของตนเองในจีนและต่างประเทศอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” และยกระดับแบรนด์จนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยในระยะหลังยังได้พัฒนาความร่วมมือก้าวเป็นผู้สนับสนุนและพันธมิตรกับหลายองค์กรและสมาพันธ์กีฬาในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ กิจการบางรายก็เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาและเครื่องออกกำลังกายของผู้ผลิตชั้นแนวหน้าของโลกในตลาดจีน รวมทั้งเปิดธุรกิจฟิตเนสในหัวเมืองใหญ่ของจีน
รัฐบาลจีนยัง “คิดนอกกรอบ” ด้วยการส่งเสริมให้มีการลงทุนจัดตั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ Olympic Garden Group เพื่อดำเนินธุรกิจก่อสร้างสนามกีฬาและพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ใช้กีฬาเป็น “แนวคิดหลัก” กล่าวคือ มีการสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดเตรียมอุปกรณ์กีฬาหลากหลายประเภทไว้ให้แก่ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ห่วงใยเรื่องสุขภาพเข้ามาเป็นลูกค้า
ผลปรากฏว่าแนวคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้บริษัทฯ เดินหน้าหลายสิบโครงการในหลายเมืองใหญ่จนก้าวขึ้นเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของจีนในชั่วพริบตา
ขณะเดียวกัน กิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้รับอานิสงค์จากการพัฒนาวงการกีฬาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังที่เราเห็นโทรทัศน์ความละเอียดระดับ 8K อี-สปอร์ตและอี-เกมส์ และซอฟท์แวร์การฝึกทักษะด้านการกีฬาและการออกกำลังกายทั่วไป ได้รับความนิยมในวงกว้างในจีน
นอกจากนี้ นับแต่ปี 2005 ยังถือเป็นก้าวย่างใหม่ของวงการกีฬาจีนสู่ระบบตลาดเสรี เพราะจีนได้เปิดกว้างให้กิจการต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมกีฬาได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว การร่วมทุน การร่วมมือ การร่วมบริหาร การร่วมถือหุ้น และแฟรนไชส์
การลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้าจีนกันอย่างไม่เว้นแต่ละวัน ในด้านการบริหารจัดการ กลุ่มธุรกิจเครือเออีจี (AEG Group) ผู้นำวงการพัฒนาด้านสันทนาการและการจัดการสนามกีฬาจากสหรัฐฯ ก็จัดตั้งสำนักภูมิภาคเอเชีย ณ กรุงปักกิ่ง และลงทุนซื้อสนามกีฬาชั้นนำในจีนหลายแห่ง ขณะเดียวกันก็มีทุนต่างชาติที่เทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลและกีฬาอื่นในจีนเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ SGAS ยังวางแผนที่จะสร้าง “เมืองกีฬา” จำนวน 100 แห่งทั่วจีน และมีเมืองกีฬาเชิงนิเวศ 5-6 แห่งในกุ้ยโจวที่อยู่ในความร่วมมือกับสโมสรเวสต์บรอมวิชอัลเบี้ยน (West Bromwich Albion) ของสหราชอาณาจักร
ในกิจการร้านจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ก็มียักษ์ใหญ่ในวงการเสื้อผ้าและเครื่องกีฬาโลกอย่างอาดิดาส (Adidas) ไนกี้ (Nike) พูมา (Puma) รีบอค (Reebok) และอันเดอร์อาร์เมอร์ (Under Armour) ที่มีจุดเด่นในการเป็นผู้นำด้านคุณค่า (Value Leader) รวมทั้งแบรนด์เฉพาะทางอย่างโยเน็กซ์ (Yonex) และสปอลดิ้งส์ (Spaldings) ในกีฬาแบดมินตันและบาสเกตบอล ตามลำดับ ต่างขยายจุดจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อยั่วยวนใจและเข้าถึงผู้บริโภคจีนที่มีทั้งกำลังซื้อและคลั่งไคล้ในแบรนด์นอกอย่างตาเป็นมัน
แต่ก็ไม่รู้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้แบรนด์ต่างชาติดังกล่าวจะขยายธุรกิจในจีนได้อย่างหวังหรือไม่ เพราะในด้านหนึ่ง สินค้าของแบรนด์เหล่านี้ต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมของจีนเป็นหลักในการป้อนตลาดใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป นั่นหมายความว่า แบรนด์ชั้นนำดังกล่าวอาจต้องหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระดับหนึ่งในการปรับแผน หรือมิฉะนั้นแล้ว ผู้บริโภคในสหรัฐฯ และยุโรปก็ต้องจ่ายเงินมากขึ้นในการซื้อหาสินค้าจากจีน
แต่เรื่องอาจไม่จบแค่นั้น เพราะในอีกด้านหนึ่ง แบรนด์เหล่านั้นก็คงไม่อยากทิ้งตลาดจีนที่เติบใหญ่อย่างต่อเนื่องเป็นแน่ เพียงแต่จากนี้ไป แบรนด์เหล่านี้อาจต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีและมิใช่ภาษีที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเปิดช่องให้แบรนด์จีนสามารถแทรกตัวเข้ามาแย่งเค้กก้อนใหญ่นี้ได้มากขึ้นในอนาคต
การปฏิวัติวงการกีฬาของจีนไปสู่ระบบตลาดเสรียังอาจขยายไปในภาคส่วนอื่นเพื่อสนับสนุนส่งเสริมวงการกีฬาและขยายมูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมกีฬาของจีนได้อย่างแท้จริง ไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อสารมวลชนที่ China Central Television หรือที่รู้จักกันนามของซีซีทีวี (CCTV) แทบจะผูกขาดการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาทั้งของจีนและเทศ ก็ถูกคาดหมายว่าจะต้องแข่งขันกับกิจการสื่อต่างชาติและสื่อสังคมออนไลน์ของจีนในอนาคต
นอกจากนี้ กิจการเอกชนจำนวนมากของจีนและเทศก็ยังให้การสนับสนุนและเป็นพันธมิตรกับผู้จัดงานแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มว่านต๋า (Wanda Group) แห่งกรุงปักกิ่ง ร่วมมือกับฟีฟ่า (FIFA) และยูเนี่ยนไซครีสต์อินเตอร์เนชันแนล (Union Cycliste International) ในการจัดกิจกรรมสุดพิเศษในจีน
กิจการรายใหญ่ของไทยที่เข้ามาลงทุนในจีน อาทิ ซีพี กระทิงแดง และบ้านปู ก็ร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมนี้เช่นกัน โดยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬา และเป็นสปอนเซอร์สโมสรกีฬาของจีน จึงไม่น่าแปลกใจที่ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นโลโก้ของกิจการชั้นนำของไทยที่เข้าลุยตลาดจีนบนหน้าอกเสื้อนักกีฬาและป้ายโฆษณาของสโมสรกีฬาชั้นนำของจีน
อุตสาหกรรมกีฬาของจีนกำลังถูกยกระดับสู่เวทีโลก เราน่าจะเห็นชื่อนักกีฬาจีนในสนามแข่งขันระดับโลกมากขึ้น แล้วไทยเราจะเรียนลัดจากโมเดลการพัฒนาของจีนได้บ้างไหม อย่างน้อยให้คนไทยได้มีโอกาสฟังเพลงชาติในระหว่างพิธีรับเหรียญรางวัล สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และนำรายได้จากการแข่งขันเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว …
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.