This image is not belong to us

อว.ไม่หวั่นโควิด-19 พร้อมเดินหน้าโครงการ U2T ต่อ “เอนก” ปรับการทำงานใหม่ให้ทำงานเป็น “จิตอาสา” ช่วยงานโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.แถลงข่าว “3 เดือน U2T ความสำเร็จและก้าวต่อไป” ว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตนยินดีที่จะได้มาสรุปความสำเร็จในเบื้องต้นของงานซึ่งเป็นเวลาเดียวที่มีการระบาดของโควิด – 19 รอบ 3 อว.จะดำเนินโครงการ U2T ต่อไป ไม่หยุด ไม่ชะงัก เพราะโครงการ U2T เกิดจากโควิด – 19 อยู่แล้ว รัฐบาลต้องจ้างงานเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โครงการทำให้ตำบลต่างๆ มีความเข้มแข็ง มีรากแก้วหยั่งลงไปในดินได้ ความสำเร็จประการแรก คือ อว.ทำให้เกิดการจ้างเกือบ 6 หมื่นคนซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดในเวลาไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ต่อมาทำให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้ถึงเดือนละกว่า 700 ล้านบาท เกือบ 3 เดือนที่ผ่านมาตนลงพื้นที่ไปติดตามการจ้างงานเหนือสุดที่ จ.ลำปาง ภาคอีสานที่สุดที่ จ.บึงกาฬ และภาคใต้สุดที่ จ.นราธิวาส ได้พูดคุยกับชาวบ้าน พวกเขาดีใจมาก ที่หมู่บ้านกลับมาคึกคัก ในตำบลมีคนเดินมาจับจ่ายใช้สอย นักเศรษฐศาสตร์ ของ อว.คำนวณว่าไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่ผู้จ้างงานได้รับ ตกอยู่ใน 3 พันตำบลนั่นเอง

รมว.อว.กล่าวต่อมา ประการต่อมาการจ้างงานทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ได้รับการจ้างงานกับชุมชนเกือบ 1 หมื่นโครงการ เฉลี่ยตำบลละ 30 โครงการ มีหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ใน 12 วัดในชุมชนวอแก้ว จ.ลำปาง ซึ่งทำให้คนในชุมชนกลับมาอนุรักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนตนเองเพื่อยกระดับเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน หรือ การอบรมชาวบ้านทำ สปาสมุนไพรในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ในชุมชนภูเขาทอง จ.นราธิวาส เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหรือการนำเทคโนโลยีด้าน IoT ไปใช้ในด้านการเกษตร เปลี่ยนแปลงเกษตรดั้งเดิมให้เป็น Smart Farming รวมถึงการทำเกษตรปลอดภัยในอีกหลายๆ ตำบล ที่บึงกาฬ เอาศิลปะโบราณเกี่ยวกับพญานาค ครูขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ได้นำเด็กมาฝึกทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ทำศิลปะพญานาคแต่ปรับให้เป็นสมัยใหม่ มี มรภ.อุดรธานี มาช่วยพัฒนา มีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดามาช่วยด้วย เป็นต้น ที่สำคัญ ผู้ได้รับการจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา บัณฑิตสามารถทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ได้อย่างกลมกลืน กลมเกลียว เป็นการสนธิกำลังกัน

ศ.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ผู้ได้รับการจ้างงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานตำบล เพื่อสำรวจปัญหาและประเมินศักยภาพตำบล ได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้รู้ว่ามีตำบล 31 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ และมี 66 เปอร์เซ็นต์ที่พึ่งพาตัวเองได้หรือก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้ จากนี้ไปผู้ได้รับการจ้างงานจะเก็บข้อมูลความหลากหลายของสังคมและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุนโครงการ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ของรัฐบาล นอกจากผู้ได้รับการจ้างงานจะทำงานกับชุมชนแล้ว ยังต้องเรียนไปด้วย เพื่อเพิ่มทักษะการเงิน ดิจิทัล ภาษาอังกฤษ และทักษะทางสังคม

This image is not belong to us

“ที่ผมพูดมา อาจจะมีคำถามว่าคุยโวหรือเปล่า ขอตอบว่าโครงการที่จะสำเร็จจริงหรือไม่ ดูไม่ยาก คือ ดูว่ามีคนสนใจเข้ามาร่วมกับเราหรือไม่ โครงการ U2T ถ้าไม่สำเร็จคงจะไม่มีภาคเอกชนมากมายเข้ามาร่วม เช่น เซ็นทรัลกรุ๊ป ให้ใช้พื้นที่ที่หาดใหญ่สำหรับ U2T และในอนาคตจะให้ใช้พื้นที่อีก 40 แห่งทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แจ้งว่ากลุ่มซีพี จะสนับสนุนจะให้นำสินค้าเกษตรที่ชุมชนในโครงการ U2T มาจัดจำหน่ายในเครือ ยังมีเบทาโกร มิตรผล ธนาคารออมสิน รวมทั้งกูเกิ้ลที่ให้ใช้แอคเคาน์ฟรีถึง 1 แสนแอคเคาน์ด้วย ที่สำคัญเอกชนอยากจะให้เราเพิ่มพื้นที่ตำบลให้ครบทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้ผมได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒน์เพื่อขอขยายโครงการ U2T อีก กว่า 4 พันตำบลแล้ว” ศ.ดร.เอนก กล่าวและว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าเราจะเอาเด็กในโครงการ U2T มาแข่งขันในโครงการ U2T Hackathon เพื่อให้เด็กช่วยกันคิดหาแนวทางการพัฒนาตำบลของตัวเองให้ดีที่สุดและจะเพิ่มการแข่งขันอี – สปอร์ตเข้าไปด้วย และทำเรื่อง Foresight หรือการคาดการณ์เพื่อสร้างอนาคตด้วย ตนคิดว่าเด็กรุ่นนี้โชคดีมาก ที่ได้เรียนรู้สิ่งที่พิเศษและวิเศษมากๆ

“ที่สำคัญ อว.จะปรับการทำงานของโครงการ U2T ไปเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยโรงพยาบาลสนามเพื่อสู้ภัยโควิด -19 ไปด้วย เราจะไม่หยุด ไม่ท้อ ไม่ถอย ไม่สะดุดเพราะโควิด-19 เพราะ U2T นั้น เกิดมาจากโควิด เราจะทำไปจนถึงเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศ” ศ.เอนก กล่าว