จากการที่ภาคเอกชนเตรียมจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการพิเศษ “THE MACT Bangkok Century Cup 2022” หรือ ศึกแดงเดือด ด้วยการเชิญ 2 สโมสรดังจากประเทศอังกฤษ ประกอบด้วย สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และสโมสรลิเวอร์พูล มาแข่งขันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นั้น เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและส่งเสริมการมีส่วนของประชาชนที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขันในรายการดังกล่าว เคบียู สปอร์ต โพล ( KBU SPORT POLL) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ปรากฎการณ์ศึกแดงเดือดกับมุมมองของแฟนลูกหนัง”
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,383 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 825 คน คิดเป็น ร้อยละ 59.66 เพศหญิง 558 คนคิดเป็น ร้อยละ 40.34 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า ความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 89.93 สนใจ รองลงมาร้อยละ 7.46 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 2.61 ไม่สนใจ
ส่วนช่องทางที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.11 ระบุว่าจะติดตามผ่านการถ่ายทอดสดทางวิทยุโทรทัศน์ รองลงมาร้อยละ 30.47 ติดตามผ่านทางโซเชียลมีเดีย และร้อยละ 28.42 ติดตามที่สนามการแข่งขัน และอื่นๆร้อยละ 3.01 ส่วนคำถามถึงความเหมาะสมของการกำหนดราคาบัตรเข้าชมกับภาพเศรษฐกิจสังคมไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.81 ไม่เหมาะสม รองลงมาร้อยละ 35.93 เหมาะสม และร้อยละ 26.26 ไม่แสดงความคิดเห็น
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการจัดการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.13 มองว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและสิทธิประโยชน์ รองลงมาร้อยละ 25.29 การเผยแพร่ชื่อเสียงของประทศ ร้อยละ 16.13 การสร้างแรงบันดาลใจในมิติของกีฬาฟุตบอลให้กับเด็กและเยาวชน ร้อยละ 14.08 การสร้างความสุขและความสนใจในมิติของกีฬาให้กับประชาชน ร้อยละ 12.57 การยอมรับจากนานาประเทศ และอื่นๆร้อยละ 2.80
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เผยว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจที่จะติดตามการแข่งขันรายการดังกล่าวทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าการที่สองสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งวงการลูกหนังระดับโลกจะออกมาดวลแข้งกันนอกเกาะอังกฤษคงจะไม่ง่ายนัก และประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของความเหมาะสมในการกำหนดราคาบัตรเข้าชมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยนั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีมุมมองที่ใกล้เคียงกันถึงแม้ว่าจะเอนเอียงไปในทางที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้างก็ตาม
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ เผยอีกว่า ต่อกรณีดังกล่าว หากวิเคราะห์จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการเข้าถึงด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัลด้วยแล้วคงจะชี้ให้เห็นว่ารายได้ของประชน ณ ปัจจุบันอาจจะยังมีไม่มากพอสำหรับการซื้อตั๋วเข้าไปชมที่สนาม แต่ในทางกลับกันส่วนใหญ่ต่างมุ่งที่จะติดตามชมการแข่งขันผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียตามลำดับ
“แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองในมิติของการลงทุนที่ภาคเอกชนทุ่มลงไปนั้นต้องยอมรับว่าประโยชน์ต่างๆที่ประเทศไทยจะได้จากการจัดศึกแดงเดือดในครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าประโยชน์จะเกิดกับประเทศและสังคมอย่างเต็มๆในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวหรือชื่อเสียงของประเทศและอื่นๆที่จะตามมาอีกมากมาย”
“ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอีเวนต์กีฬาระดับโลกของประเทศโดยเฉพาะรายการดังกล่าวซึ่งไม่ง่ายนักที่จะจัดได้บ่อยครั้งหากรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะจัดสรรงบประมาณบางส่วนที่สามารถดำเนินการได้เข้าไปสนับสนุนบ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสร้างขวัญกำลังใจให้กับภาคเอกชนที่มุ่งมั่นเพื่อสังคมและชื่อเสียงของประเทศ”
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.