ในยุคปัจจุบัน สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (Streaming Platform) ได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆของคนไทย ในการเสพคอนเทนต์ ออนไลน์ แทนการดูโทรทัศน์แบบเดิมๆ
เนื่องจากมีอิสระในการเลือกดูคอนเทนต์ที่สนใจในเวลาไหนที่สะดวก หรือจะดูย้อนหลังก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น หนัง ละคร กีฬา เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่คนส่วยใหญ่มีเวลาว่างที่ไม่แน่นอน!!
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ที่ให้บริการในไทยส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ มาจากต่างประเทศ อาทิ เน็ตฟลิกซ์, ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์, ยูทูบ และ สปอติฟาย ฯลฯ
ขณะที่ผู้ให้บริการสัญชาติไทย ก็พยายามจะลงตลาดแข่งขันเพื่อดึงฐานผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นช่องทีวีดิจิทัล อาทิ monomax ของโมโนเน็กซ์ เจ้าของช่อง โมโน 29, oneD ที่รวมคอนเทนต์บันเทิงจาก จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, bugaboo tv ของ ช่อง 7 เอชดี ฯลฯ
ทิศทางของอุตสาหกรรม สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ทางผู้ประกอบการไทย จะมีโอกาสแจ้งเกิดได้มากน้อยแค่ไหน?
ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ก็ได้ร่วมกับ บริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด ทำการศึกษา บิซซิเนส โมเดล ของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการไทย ได้มีโอกาสเติบโตในตลาดนี้!!
โดยพบว่าคนไทยนิยมสื่อออนไลน์พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบัน คนไทยกว่า 26 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ใช้รับชมคอนเทนต์ผ่าน โอทีที (Over-The-Top) หรือบริการสื่อสารและแพร่ภาพ และเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่สามารถรับชมวิดีโอตามความต้องการ (Video on Demand) โดยใช้เวลาดูเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ 92% ของคนไทยใช้ โอทีที มากกว่า 1 แพลตฟอร์มด้วย!!
เมื่อศึกษาถึงกลุ่มคอนเทนต์ ที่มีโอกาส เติบโตแบบก้าวกระโดด บนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม มากที่สุด พบว่า มี 3 กลุ่ม คือ “บันเทิง-กีฬา-ข่าว” โดยในส่วนของบันเทิง จะเป็น กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เพลง รายการวาไรตี้ จากผลสำรวจ พบว่า ในปี 2563 รายได้ภาพยนตร์และวีดิทัศน์เฉพาะสตรีมมิ่ง มากกว่า 38,003 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของอุตสาหกรรม ส่วนรายได้เพลง เฉพาะสตรีมมิ่งทั้งไทย เกาหลี มีมากกว่า 1,700 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของอุตสาหกรรม
ขณะที่กลุ่มกีฬา การท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกม อี-สปอร์ต เช่น ฟุตบอลไทยลีก ก็ได้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ ผ่านช่องทางสตรีมมิ่ง ในช่วงระหว่างปี 2560-2563 ไปมากกว่า 4,200 ล้านบาท หรือในปี 2563 กีฬาเกม อี-สปอร์ต มีรายได้อยู่ที่ราว 2.4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจัยที่ดึงดูดผู้ชมคือ เนื้อหาหรือผู้ดำเนินรายการ ที่ให้ความสนุกสนานบันเทิง แก่ผู้ชม
ส่วนกลุ่มข่าว การศึกษา ความรู้ทั่วไป ก็มีการเปิดตัว สตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มใหม่ๆที่นำเสนอรายการสาระต่างๆ อย่างเช่น VIPA (วิภา) ของ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ฯลฯ โดยปัจจัยที่ดึงดูดผู้ชม คือ ตรงกับความสงสัยหรือใครรู่ เช่น การทำอาหาร การทำธุรกิจ ฯลฯ
เมื่อเทรนด์มาแนวนี้ แน่นอนว่าจำนวนผู้ชมสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ในไทยยังคงเติบโต โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดคนไทยดูสตรีมมิ่ง จะเติบโตขึ้น 2.10 ล้านราย คิดเป็น 3.04% ของประชากรไทยทั้งหมด
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถสู้กับแพลตฟอร์มรายใหญ่ ดังนั้นการใช้โมเดลธุรกิจ ด้วยการ “ชูเสน่ห์ท้องถิ่น” ผลิตด้วยกลยุทธ์ Long Tail ที่ไม่เจาะจงกลุ่มลูกค้า ในรูปแบบแพลตฟอร์มท้องถิ่น และคอนเทนต์ท้องถิ่น (Local Content) จึงเหมาะกับการขับเคลื่อนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการไทย
ด้วยนำเสนอเนื้อหา ที่มีความแตกต่างเฉพาะ มีเสน่ห์เฉพาะตัวและเป็นกระแสความต้องการ ในด้านมุมมอง ความสนใจ วัฒนธรรม และภาษา เช่น สร้างภาพยนตร์เป็นภาษาเหนือ ภาษาอีสาน และการทำคอนเทนต์ แปลงภาษากลาง ให้เป็นภาษาเหนือหรือภาษาอีสานผสมกัน เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมป้อนสู่ตลาดหลัก
นอกจากนี้การทำเนื้อหาคอนเทนต์ต่างๆ ที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีร่วมด้วย คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี และที่สำคัญที่สุดคือ ลดเงินหลั่งไหลออกต่างประเทศได้ปีละ 2 แสนล้านบาท!!
อีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ คือ การใช้ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่นำเสนอคอนเทนต์เชิงการศึกษา และสาระความรู้นอกห้องเรียน ที่เด็กทั่วประเทศจะได้สนุกสนานกับการเรียนรู้เนื้อหาผ่านมุมมองของครูที่แตกต่างกัน ช่วยให้เด็กมีความรู้เชิงลึกขึ้น และครูก็ได้รับรายได้เสริมจากค่าโฆษณาที่ส่งกลับมา ฯลฯ
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการมีสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ก็คือต้องมี ระบบนิเวศของอุตสาหกรรม หรือ อีโคซิสเต็มส์ที่เกื้อหนุน อาทิ ผู้ผลิตอุปกรณ์รับส่งฮาร์ตแวร์ สื่อกลางสัญญาณ สื่อกลางผู้กระจายและรวบรวมเนื้อหา ผู้ผลิตสื่อและเนื้อหา และที่สำคัญตือ การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ และ สมาคมเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยยกระดับขึ้นสู้กับแพลตฟอร์มต่างชาติได้มากขึ้น!?!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.