eSport Sponsored

เทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม ยึดโยง สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022 – มติชน

eSport Sponsored
eSport Sponsored

เปิดศักราชใหม่ 2565 มาพร้อมกับความผ่อนคลายและความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อยู่ระดับทรงตัวต่อวัน 7,000-8,000 คน เกิดคลัสเตอร์ติดเชื้อที่รุนแรงก็ลดลง ทำให้รัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายตามมาตรการด้านสาธารณสุข หวังเพิ่มน้ำหนักการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ และล่าสุดเกิดข่าวดีในโลก ที่หลายประเทศไม่พบเชื้อสายพันธ์โอมิครอน ดังนั้น เชื่อว่าอีกไม่นานจะเห็นการเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจ การเคลื่อนไหวของประเทศในทุกมิติ

หนังสือพิมพ์มติชน เล็งเห็นถึงโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นสื่อสะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงจัดสัมมนาประจำปีในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ขึ้นในวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” โดยมี นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรยายพิเศษ “ศักยภาพใหม่ เพื่อธุรกิจใหม่” และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea Thailand และนายจิรายุส
ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมเสวนา “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” โดยนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บริหารเครือมติชน ให้การต้อนรับ ณ อาคารสำนักงานมติชน

6ขั้นบันไดพัฒนาThailand2022

งานสัมมนาครั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมา ณ อาคารหนังสือพิมพ์มติชน เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” จากนั้น นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรยายพิเศษ “ศักยภาพใหม่ เพื่อธุรกิจใหม่” ก่อนเข้าเสวนา “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” เต็มอิ่มกับมุมมองของ 3 ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea Thailand และนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน บนความมั่นใจของภาวการณ์ด้านต่างๆ “ขอให้มั่นใจว่าด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ได้ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ที่ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว ดูจากการส่งออกได้มากขึ้น กิจกรรมเริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง สํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปีนี้จะขยายตัว 4-5% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5% แต่เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจําเป็นต้องเร่งปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ขณะที่ภาครัฐทําหน้าที่หลักสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออํานวยต่อการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ …”

อีกทั้ง กางแผนพัฒนาสําคัญ 6 ด้านของนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) ที่บรรจุในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-70) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ 3.พัฒนาผู้ประกอบการและภาคผลิตสู่ 4.0 เน้นลดขั้นตอน และเร่งเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4.พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG 5.จัดตั้งและส่งเสริมลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 6.การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

มารู้กัน! อะไรคือ3D 4ศักยภาพใหม่

อีกหน่วยงานรัฐ นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คนใหม่ต้นเดือนมกราคมปีนี้ ขึ้นเวทีพร้อมข้อมูลรอบด้านและบรรยายเข้าประเด็นทันที โดยมุ่งเน้นฉายภาพให้เห็นถึงศักยภาพใหม่ ใน 4 มิติ ที่จะเป็นพลังกู้เศรษฐกิจประเทศได้ “ศักยภาพที่ 1 จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามฐานข้อมูล บสย.มีถึง 6 ล้านราย เพียง 3 ล้านราย อยู่ในบัญชี แต่ส่วนนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 22.35% อีกเกือบ 80% ยังเข้าไม่ถึง บสย.จึงเกิดแนวคิดใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นตัวขับเคลื่อน โดยใช้ 3ดี (D) เป็นเครื่องมือ คือ 1.ดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ใช้แอพพลิเคชั่นทางการเงิน 2.ดิจิทัล เลนดิ้ง (Digital Lending) การให้บริการสินเชื่อบนออนไลน์ 3.ดิจิทัล เครดิต การันตี (Digital Credit Guarantee) ลดปัญหาหลักประกัน “ขอย้ำว่า ตัวขับเคลื่อน 3ดี จะเข้ามาช่วยปิดช่องว่างให้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น”

จากนั้น ก็บรรยายศักยภาพที่ 2 นั่นคือ ต้องดันเอสเอ็มอีให้เกิดการเรียนรู้เรื่องดิจิทัล จูงใจให้เอสเอ็มอี เข้าใจทั้งการผลิตสินค้า การให้บริการการตลาด การจัดการธุรกิจ หรือการใช้นวัตกรรม การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อลดจุดอ่อนทางธุรกิจ ศักยภาพที่ 3 คือ ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอี ดู SMART S คือ สื่อสังคมออนไลน์ในการขายสินค้า เพื่อทำไปสู่การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ศักยภาพที่ 4 คือ ย้อนดูโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของ บสย. ซึ่งกำลังเดินหน้า ในเรื่องการยึดโยงเข้ากับระบบดิจิทัลประเทศ ยึดโยงกับระบบของสถาบันการเงิน ยึดโยงกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ถือเป็นการเตรียมให้กับประเทศไทย ในการสร้าง ศักยภาพใหม่ ไทยแลนด์ 2022

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรยายพิเศษ “ศักยภาพใหม่ เพื่อธุรกิจใหม่” ลงลึกแผนปฏิบัติกู้ธุรกิจกู้เศรษฐกิจ ผ่าน 3D 4 ศักยภาพใหม่

3มุมมอง3ธุรกิจในโลกดิจิทัล

ในการเสวนา “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” เพลิดเพลินเต็มอิ่มไปกับ 3 ผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจที่กำลังขยายตัวอย่างแรงในปัจจุบัน ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์และเผยเคล็ดลับของการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไรไม่ให้ตกเทรนด์

ตอนหนึ่งของ ดร.บุรณินกล่าวว่า “ปี 2565 เป็นสถานการณ์ที่เอื้อมากๆ ที่จะขับเคลื่อนศักยภาพใหม่ของประเทศไทย มองว่าโอมิครอนน่าจะถึงปลายทางโควิด-19 ควรใช้โอกาสนี้ปรับตัว ปีก่อนแม้เจอปัญหาโควิดระบาดกระทบซัพพลายเชน แต่ส่งออกไทยกลับโต 17-18% พร้อมกับเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เห็นการปรับตัวด้านเทคโนโลยีใหม่ใช้ดิจิทัลหาศักยภาพใหม่ๆ ธุรกิจในโลกดิจิทัลยุคเทคโนโลยีเบ่งบาน การเติบโตไม่ได้พูดถึง 5% 10% แต่พูดถึงกระโดดเป็นเท่า 3 เท่า 5 เท่า 10 เท่า ทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยโตปีละ 3-5% อาจตามไม่ทันโลก เป็นที่มาประเทศต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ถ้าไม่ปรับตัวใช้นวัตกรรม จะมีปัญหา พร้อมกับสร้างคนรุ่นใหม่ ธุรกิจใหม่ ยุทธศาสตร์ชาติพูดถึง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) มา 3-4 ปีแล้ว แต่ยังไม่เกิด ถัดจากนี้ต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ส่งเสริมคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญผลักเข้ายุค 4.0 ในส่วน ปตท.ปรับจากเดิม OLD-NEW-NOW เป็น NOW-NEW-BETTER และเพิ่งเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากบริษัทพลังงานไทยที่ใช้มา 14 ปี เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

“วิธีคิดจะไปต่อยอดทำธุรกิจอื่น โดย ปตท.ขอเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างความเป็นรัฐและเอกชน เชื่อว่าการตั้งโออีเอ็ม ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยจริงๆ เพราะเชื่อว่า 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ถ้าประเทศไทยไม่ขยับเราคงตามหลังคนอื่น”

ดังนั้น ในวันนี้เราจะได้เห็นความหลากหลายของนวัตกรรมที่ ปตท.กำลังขับเคลื่อน นายบุรณินเล่าในวงเสวนาว่า “เราโฟกัสที่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ผสมผสานกันหลายเทคโนโลยี ด้านการแพทย์ เภสัชกรรม ชีวะ เคมี ดิจิทัล ลงถึงระดับพันธุกรรม มองว่าโอกาสของประเทศไทยสูงมาก เราแข็งแรงทางการแพทย์ กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ถ้าโฟกัสเรื่องนี้ดีๆ ทำวิจัยหนักๆจนสามารถถอดพิมพ์เขียวร่างกายมนุษย์ได้ จะเป็นประโยชน์การแพทย์ เป็นจุดที่ประเทศไทยเราน่าจะใช้จังหวะนี้เป็นเซ็นเตอร์ ที่สำคัญในกระแสสุขภาพผ่านช่วงโควิดมา ทุกคนยอมรับแล้วว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นความจำเป็นของมนุษยชาติ ถ้าให้เลือกจริงๆ อยากให้ประเทศไทยลุกขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน Life Science อย่างน้อยเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพและอย่างน้อยเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในอนาคต”

อีกคนในวงเสวนา ดร.ศรุตกล่าวถึงแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไว้ว่า “2 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่ลำบากของประเทศไทย ต้องต่อสู้กับสถานการณ์โควิด และสร้างบาลานซ์ระหว่างเศรษฐกิจและสาธารณสุข แต่ในแง่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมาต่อเนื่อง 2 ปี เศรษฐกิจดิจิทัลไทยใหญ่ติดอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะสถานการณ์โควิด คนหันใช้งานทางด้านดิจิทัล ใช้แอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งหรือสั่งอาหาร การใช้ดิจิทัลถือกระแสหลักในแง่ของธุรกิจ เรื่องของ Digital Lifestyle เรื่องของดิจิทัลต่างๆ เป็นโอกาสนำมาขับเคลื่อนได้เลยตอนนี้

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea Thailandและนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมเสวนา “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” สะท้อนมุมมอง แนวคิด ต่อการผลักดันเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“เมื่อพูดถึงเครื่องยนต์เศรษฐกิจปัจจุบัน คือ การท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุน การบริโภค แต่ช่วง 2 ปี ที่ผ่านบนสถานการณ์โควิดเหมือนมาเปิดแผลเครื่องยนต์ปัจจุบัน เมื่อเจอสถานการณ์ปุ๊บ เกิดการหยุดชะงัก อย่างการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม ทั้งรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ต้องมองไปอนาคต การลงทุนต้องเปลี่ยนแปลง ตรงกับเทรนด์ของโลกมากขึ้น เครื่องยนต์ก็ยังวิ่งอยู่ แต่จะ Modify ยังไงให้มันวิ่งต่อไปได้ดีในอนาคต ดังนั้น เรื่องเศรษฐกิจใหม่ กลุ่ม Sea เอง มองหลายด้านเป็นเทรนด์ อันแรก คือ Digitalization เศรษฐกิจดิจิทัล ทำยังไงให้คนเข้าถึงเทคโนโลยี นำตรงนี้มาสร้างเป็นอาชีพ เป็นรายได้ มาสร้างชีวิตที่ดีกว่า ส่งผลต่อการช่วยดันเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับ Sustainability และ Creative Economy ซึ่งที่เราทำอยู่คือ E-sport เป็นโอกาสอันหนึ่งของประเทศไทยที่ว่า E-sport เติบโต 10% ทุกปี มีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ต่อปีทั่วโลก E-sport ของเราแข็งแรงในเรื่องของการพัฒนานักกีฬา การจัดการแข่งขัน มองว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตมากขึ้นได้”

จากนั้น ดร.ศรุตโชว์ให้เห็นว่า Sea Thailand เห็นความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย อาทิ การสร้าง Ecosystems (ระบบนิเวศ) ด้านดิจิทัล สร้างระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแรง สร้างคนที่มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลมาร่วมงานและพัฒนาองค์กร หนุนสร้างด้านความพร้อมตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่เข้าสู่ทักษะแห่งอนาคตด้านดิจิทัล โดยมุ่งเต็มที่กับเรื่อง Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ที่มีเกมและ E-sport (อีสปอร์ต) เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่ประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นการช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็น E-sport Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ลดเรื่องเดิมๆ ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย แต่มีผู้ประกอบการที่ส่งออกได้ 30,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ด้วยเทคโนโลยี โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ ทำให้เราเชื่อมต่อไปต่างประเทศได้มากขึ้น ช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีก้าวเข้าสู่คอมเมิร์ซ และให้ส่งออกไปมากขึ้น

ดร.ศรุตกล่าวเสริมไว้ตอนหนึ่งว่า “จะมองไป 10 ปีนั้น ไกลมาก ขอถอยมาใน 2-3 ปีข้างหน้า ผมว่า Creative Economy ของประเทศไทยมีความแข็งแรง เรามีทุนวัฒนธรรม ทุนทางด้านศิลปะ เอกลักษณ์ความเป็นไทย ตรงนี้เราจะสร้างยังไงให้เติบโต แล้วเป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ส่งออกไปได้ อย่างมุมที่ Garena ทำอยู่ เรื่องเกมและ E-sport เป็นสิ่งที่เมืองไทยมีความแข็งแรง เราเชื่อว่าปัจจุบันคนมองประเทศไทยเป็น Destination (จุดหมายปลายทาง) มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ มีทีมสโมสรต่างประเทศดัง เพราะเขาเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการสร้าง E-sport มีมาตรฐานที่ดีเทียบเท่ากับนานาชาติ ตรงนี้เราจะมาช่วยกันสร้างเรื่อง Creative Economy ให้เป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจใหม่ ศักยภาพใหม่ของไทย”

ชี้อนาคต10ปีเศรษฐกิจไทย

จากนั้นก็ได้รับฟังอีกมุมมองของผู้บริหารใหญ่ นายจิรายุสกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า การระบาดโควิด-19 บริษัทที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ (นิวอิโคโนมี) จะเป็นบริษัทที่สามารถเติบโตได้อย่างมหาศาล เพราะเป็นบริษัทที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ ได้ประโยชน์จากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่การระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้นและเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ทิศทางของประเทศไทย คือ ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นนิวอีโคโนมีบิซิเนส หรือรูปแบบธุรกิจอิงเศรษฐกิจใหม่ ควรนำกำไรมาใช้ลงทุนในด้านเทคโนโลยี เห็นได้ชัดว่า โลกเรากำลังขับเคลื่อนเข้าสู่เว็บ 3.0 ต่อเนื่องจากเว็บ 1.0 และ 2.0 ที่ผ่านมา ทั้งการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บิ๊กดาต้า บล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเว็บ 3.0 ซึ่งกำลังจะเกิดในอีก 10 ปีต่อจากนี้ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีอีกเรื่องเกิดขึ้น เรียกว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ที่ไทยต้องปรับให้ทัน

นายจิรายุสได้แนะนำให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และไม่ตกขบวน “คนทุกคนไม่ควรหยุดการเรียนรู้ ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงเร็วเราก็ต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้นเช่นกัน สิ่งสำคัญคือความสามารถแก้ความเข้าใจผิด หรือการลืมสิ่งที่เรียนรู้มาในอดีต เพราะกฎของการทำธุรกิจ หรือกฎของโลกจะเปลี่ยนในทุก 10 ปี การเชื่อมโยงกับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้เราต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ และปรับตัวให้ได้ แม้อาจเป็นดาบสองคม ขอแนะนำคนรุ่นใหม่ ให้ออกมาทำสิ่งใหม่ ผลักดันเทคโนโลยี และโลกเดินไปข้างหน้า เชื่อว่ายังมีทักษะและความสามารถอีกจำนวนมากที่ขาดแคลน คนรุ่นใหม่จะเรียนรู้ได้เร็วกว่า และไม่ต้องใช้ความสามารถในการแก้ความเข้าใจผิด หรือการลืมสิ่งที่เรียนรู้มาในอดีต เนื่องจากการลืมการเรียนรู้ที่ผ่านมา ยากกว่าการเรียนรู้ใหม่

“บิทคับ ก็อยู่ระหว่างวางให้เป็นโครงสร้างหลักของเว็บ 3.0 และในอีก 10 ปีข้างหน้า มองว่าในอนาคตไม่ใช่ยุคที่เทคโนโลยีเพียงตัวเดียว จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก แต่เป็นการผสมผสานกันของหลายๆ เทคโนโลยีมากกว่า อาทิ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความเข้าใจบล็อกเชนมากขึ้น จึงสามารถนำเทคโนโลยี 1 ตัว เข้ามาหาโอกาสได้ แต่อันนี้เป็นยุคเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในอนาคตอีก 10 ปีต่อจากนี้ ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จคือ คนที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีหลายตัวทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทรานส์ฟอร์มรูปแบบธุรกิจใหม่ในโลกอนาคต”

มุมมองจากรัฐและเอกชนในงานสัมมนา สะท้อนได้ว่า ปี 2565 ยังมีแนวทางจะเพิ่มศักยภาพให้แก่ประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทยหลายตัว เป็นเครื่องยนต์เก่า จำเป็นต้องเสาะหาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งการจะทำให้สำเร็จลงได้ จำเป็นต้องสร้างศักยภาพใหม่ในทุกมิติ

นวลนิตย์ บัวด้วง

eSport Sponsored
อีสปอร์ต

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.