สถานการณ์ความผันผวนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จากภาวะที่โลกต้องเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งการระบาดโควิด-19 ไม่จบสิ้น แถมมาบวกกับความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ดูแล้วได้สร้างผลกระทบไว้มากมาย และอาจยืดเยื้อจนกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ แล้วอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร โดยได้เปิดมุมมองของ 2 ซีอีโอธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย จากงาน ดินเนอร์ ทอล์กของเนชั่น กรุ๊ป หัวข้อ “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ อนาคตประเทศไทย 2022”
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริการ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ได้เกริ่นก่อนว่า 2 ปีกว่าที่โลกต้องเจอกับโควิด-19 ซึ่งในฐานะที่เป็นนายธนาคารมีโอกาสได้สัมผัสผลกระทบลูกค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม และทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยผลกระทบกว้างขวาง และสถานการณ์โควิดยังเปลี่ยนรูปแบบไปถึงจุดที่บอกไม่ได้ว่าโลกจะกลับเข้าสู่ก่อนโควิดเมื่อไร
คิดว่าการตั้งความหวังว่าโลกจะกลับมาเหมือนเดิม จะเป็นความเสี่ยงมากเกินไป แต่ละประเทศต้องอยู่ให้ได้ และเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้ความผันผวนความไม่แน่นอน โดยในแต่ละประเทศต้องฉวยโอกาสให้ได้ เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อมเพราะต้องเจอความผันผวน ทวีความเหลื่อมล้ำ ทวีความได้เปรียบเสียเปรียบมากขึ้น เป็นโจทย์ท้าทายประเทศไทยของทุกคน อยู่ในสถานการณ์น่ากังวลมาก
สิ่งสำคัญ คือ จะทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ยังทวีความผันผวนและไม่แน่นอนต่อไป ทั้งโควิดไม่จบ และยังมีเรื่องสงครามระหว่างประเทศ ความขัดแย้งภูมิภาคต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำอย่าไรให้ไทยจะสามารถอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ผันผวนและไม่แน่นอน และทำให้คนในประเทศมีโอกาสฉกฉวยโอกาสภายใต้ความผันผวนได้ โดยเฉพาะผู้นำประเทศ ต้องชี้และสร้างทิศทางที่ชัดเจนให้คนในประเทศได้ฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นได้
จากข้อมูลกูเกิลที่ได้สำรวจ ดิจิทัลคอนซูมเมอร์มีผู้ใช้มากถึง 350 ล้านคนเป็นคนใช้อินเทอร์เน็ตและบริโภคผ่านดิจิทัล ซึ่งในส่วนของคนไทยมีดิจิทัลคอนซูมเมอร์สูงถึง 90% ไม่ว่าจะไทยหรือประเทศอื่นๆ มีดิจิทัลคอนซูมเมอร์สูงมาก เกือบทุกอุตสาหกรรม การพัฒนาดิจิทัลสามารถสร้างหรือเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการทำธุรกิจ ทำให้ความผันผวนมีโอกาสและสร้างโอกาสใหม่
มาถึงอนาคตประเทศไทย ควรจะสร้างเป้าหมายให้ไทยเป็น “ดิจิทัลฮับ เซาท์อีสเอเชีย” โดยอยากเห็นเป้าหมาย คือ ผลักดัน “ภูเก็ต” เป็นดิจิทัลฮับของไทย เป็นสถานที่แทนที่สิงคโปร์ เป็นจุดมุ่งหมายหลักของคนที่ต้องการเดินทางทำงานได้ทุกที่ ทำให้ภูเก็ตเป็นที่อยู่อาศัยหลัก ซึ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหลังจากโควิด และสร้างเมืองโดยรอบภูเก็ตเป็นจุดดิจิทัลฮับ เซาท์อีสเอเชีย
นอกจากนี้อยากเห็น “เชียงใหม่” และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” เปลี่ยนเป็นพื้นที่ด้านเทคโนโลยี ให้คนมีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้เข้ามา เชื่อว่าประเทศไทยมีความพร้อมเหมาะสมด้านภูมิภาคหลายสิ่ง โดยตั้งเป้าหมายเป็น “ไทยแลนด์ ดิจิทัลฮับ เซาท์อีสเชีย”
“ซีอีโอ อาทิตย์” ยังบอกอีกว่า ที่อยากพูดถึงให้เมืองภูเก็ต เชียงใม่ อีอีซี เป็นศูนย์กลางเป็นแซนด์บ็อกซ์ดิจิทัลฮับ คือ ต้องเน้นสร้างความร่วมมือ พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างต่างๆที่ยังเป็นภาระหนักให้กับประเทศไทย คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งไทยควรเปลี่ยนความคิด ขอสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อรถ ต้องถึงเวลาเปลี่ยน เปลี่ยนวิธีแนวทางเพื่อให้คนไทยเอาเงินออม มาออมเพื่อการลงทุน มากกว่าเอาเงินออมไปกู้หนี้ยืมสิน
“คำถามคือจะเปลี่ยนอย่างไรให้กระบวนการเปลี่ยน โดยเฉพาะระบบระเบียบของทางราชการ ซึ่งมองว่าควรมีความร่วมมือกันทั้งชาติให้ไปด้วยกัน และกระบวนการกฎระเบียบต้องรวดเร็วพอ มีความรู้มากพอ ทดลองมากพอ ซึ่งเข้าใจว่าการเปลี่ยนกฎระเบียบใช้เวลาในการพิจาณา แต่คิดว่าไม่มีเวลามากพอ เพราะทุกอย่างคิดไว้แล้ว ถี่ถ้วนแล้ว และโลกไปเปลี่ยนไปรวดเร็ว จำเป็นต้องสร้าง ต้องเปลี่ยน อาจไม่ใช่ว่าต้องทำตามกฎหมาย แต่ต้องสร้างกฎหมายให้ตรงกับวิชั่นประเทศ”
“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. พูดถึงอนาคตประเทศไทย กับสิ่งที่อยากเห็น แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเติบโตชะลอลงกว่าปีก่อน ยกเว้นประเทศไทยกับญี่ปุ่นที่ปี 65 จะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่เรื่องที่จะอยู่กันไปหลังโควิด คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จะอยู่กับโลกไปอีกระยะ ลักษณะการทำงานเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาซัพพลายเชนเปลี่ยนโฉม เช่น บางค่ายรถยนต์ มีปัญหาด้านการผลิต ผลิตไม่ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ และเรื่องสุขภาพต้องดูให้มาก รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งองค์กร ประเทศและโลก
อนาคตประเทศไทยเป็นอย่างไร? หากดูศักยภาพที่ไทยมีอยู่ ที่ไม่ปรับตัวไม่ได้ คือ พัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวจากขยะ แสงแดดแสงลม ให้ไปสู่ กรีนอีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสีเขียวให้ได้ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว หรือกรีนโปรดักท์ ต้องพัฒนาสินค้าที่กรีนมากกว่านี้ และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ไม่ได้หมายถึงแปรรูปอย่างเดียว แต่ต้องเป็นสินค้ามูลค่าสูง หลายภาคส่วนต้องช่วยทำให้เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ในเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ไทยต้องตั้งเป้าให้เป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชียให้ได้ จากไทยเป็นดีทรอยต์รถยนต์สันดาปแล้ว ซึ่งประเทศไทยต้องผลักดันให้ไปรถอีวีให้ได้ ต้องเดินคู่ขนานในขณะที่ยีงมีโรงงานผลิตรถสันดาปภายในอยู่ และผลักดันไปสู่โรงงานรถอีวี เป็นดีทรอยต์ออพเอเชีย
ขณะเดียวกันต้องตั้งเป้าหมายเป็น เวิลด์คลาส เมดิคัลฮับให้ได้ เพราะบุคลากรทางการแพทย์สำคัญและไทยค่อนข้างพร้อม การแพทย์ไทยถือเป็นจุดแข็งให้ประเทศไทยพัฒนาเป็น เวิลด์คลาส เมดิคัลฮับ
“อยากให้สร้างไทย เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนดิจิทัล เอไอ โรโบติก แบ่งเป็น อีเอ็นเตอร์เทนเมนท์ อีสปอร์ต เมต้าเวิร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็ก เชื่อว่าจะทำให้รวมคนเก่งเข้ามาในไทยได้ สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจเป็นสิ่งต้องทำ เพราะไทยยังช้ากว่าประเทศอื่น และอยากเห็นไทยแลนด์ทีม สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรุกตลาดต่างประเทศ”
“ซีอีโอ อรรถพล” บอกว่า ถ้ารัฐบาลช่วยส่งเสริมไปกันเป็นทีม จะช่วยได้เยอะ ยกตัวอย่าง ปตท.ได้เดินหน้าประมูลแหล่งก๊าซพม่า แต่จีนชนะไป จึงได้ถามว่าทำไมให้จีน แม้ราคาใกล้เคียงแต่จีนมาพร้อมกับการเสนอว่าจีนจะวางท่อให้ เอาทีมมาสร้างถนนให้ด้วย สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ซึ่งนี่คือตัวอย่างของการทำงานเป็นทีม!
ดังนั้นข้อเสนออนาคตประเทศไทยคือ ภาคเอกชนและรัฐบาลควรคิดถึงฟอร์มเป็น “ไทยแลนด์ทีม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรช่วยกันทำ ไม่สามารถมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำ ถ้าอยากจะช่วยผลักดันประเทศไทยสร้างนิวเอสเคิร์ฟ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต
สำหรับงานของ ปตท. วิสัยทัศน์คือ พาวเวอร์ริ่ง ไลฟ์ วิท ฟิวเจอร์ เอ็นเนอร์ยี แอนด์ บียอนด์ จะขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ได้เตรียมเงินลงทุนระยะ 5 ปีไว้กว่า 9 แสนล้านบาท เช่น พัฒนาในด้านพลังงานทดแทน, เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่, อีวีแวลูเชน, ไฮโดเจน ซึ่งมองว่าจะเป็นพลังงานอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะเป็นพลังงานสะอาด, มุ่งสู่หลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฟฟ้า, สร้างเอ็นเนอร์ยีแพลตฟอร์ม, สร้างพลังงานทดแทน, สร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้า, แพลตฟอร์มเช่ารถอีวี และมีบริการต่างๆเกี่วกับรถไฟฟ้า รวมทั้งโรงงานเครื่องมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ตั้งโรงงานผลิตไส้กรองหน้ากากอนามัยตัวเทคโนโลยี เป็นต้น
ซีอีโอ ปตท. ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าถามว่าอยากเห็นประเทศไทยอย่างไร ก็อยากเห็นประเทศไทยสามัคคี และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน”
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.