ปี 2563-2564 เป็นปีที่ยากลำบากในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลังจากทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวครั้งสำคัญ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในอัตราเร่งจากภาวะ “นิวนอร์มอล” ที่เกิดขึ้น
การขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบันมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมาก โดยเฉพาะผู้บริหารหญิงในไทยที่ได้รับบทบาทเป็น “ซีอีโอ” มากว่าหลายประเทศ ซึ่งในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้คัดเลือกนักธุรกิจเด่น 5 คนขึ้นมาในวาระ วันสตรีสากล 8 มี.ค.2564 โดยพิจารณาจากวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนองค์กรและแนวทางการก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเลือกมาจาก 5 ธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจค้าปลีก 2.ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม 3.ธุรกิจการเงิน 4.ธุรกิจดิจิทัล 5.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน
ภายหลังจากที่ “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขึ้นเป็นประธานกรรมการดับบลิวเอชเอ เมื่อปี 2558 ได้ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรเพื่อนำไปสู่ “เทค คอมพานี” ในทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจสาธารณูปโภค ซึ่งแผนงานปี 2564 เริ่มต้นด้วยการเปิดตัว WHA Tower อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนเทพรัตน์ (ถนนบางนา-ตราด) ที่เป็นเหมือนประตูเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
จรีพร กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอ เป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว เพราะเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า คลังสินค้า โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นผู้หญิงที่เป็นเบอร์ 1 องค์กรลักษณะนี้จะต้องชัดเจนในการบริหาร ใช้หลักการและเหตุผล และอย่าใช้อารมณ์เด็ดขาด เพราะคนทั่วไปมองว่าผู้หญิงมักจะใช้อารมณ์ทำงาน ดังนั้นหากไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนแล้วผู้ใต้บังคับบัญชาจะมองว่าใช้อารมณ์บริหาร
“ดับบลิวเอชเอแตกต่างทั้งเพศอายุและความรู้จึงได้ความเห็นหลากหลาย การบริหารคนต้องใช้ความเข้าใจ ต้องมองแต่ละคนมีจุดเด่นตรงไหนและดึงออกมาใช้งานให้มากที่สุด”
ทั้งนี้ การที่ผู้หญิงขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ขององค์กรจะไม่เสียเปรียบ เพราะผู้หญิงทุกคนดึงจุดเด่นตัวเองออกมาได้ เชื่อมั่นว่าผู้หญิงทำได้ทุกอย่างหากมีสมองและความมุ่งมั่นจะทำงานได้ราบรื่น โดยส่วนตัวแล้วเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้อ่อนหวานและออกจะแข็งด้วยซ้ำ จึงทำงานร่วมกับทุกเพศทุกวัยได้ดี แต่ความเป็นผู้หญิงทำให้มีความยืดหยุ่น และความละเอียดอ่อนสูง รับฟังคนได้ดีกว่า จึงนำมาผสมกับการทำงานได้ดีกว่าการใช้ความแข็งแกร่งอย่างเดียว
“บริษัทไทยให้โอกาสกับผู้หญิงขึ้นเป็นผู้บริหารองค์กรเป็นอันดับต้นของโลก ทำให้ไทยมีซีอีโอหญิงจำนวนมาก”
ดับบลิวเอชเอมีผู้บริหารระดับรองจากซีอีโอเป็นชาย แต่ระดับไดเร็กเตอร์ส่วนใหญ่เป็นหญิงกว่าครึ่ง และผู้หญิงเหล่านี้จะทยอยขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้น
ซีอีโอหญิงแกร่งแห่งวงการศูนย์การค้า นำทัพเคลื่อนธุรกิจมากว่า 30 ปี วันนี้สร้างชื่อระดับโลก สำหรับ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการระดับโลก สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ในชื่อ วันสยาม และพันธมิตร “ไอคอนสยาม” อภิมหาโครงการเมืองริมเจ้าพระยา
ชฎาทิพ รับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ-สยามพิวรรธน์” ในปี 2540 ที่ไทยเผชิญพิษไอเอ็มเอฟ ภายใต้ภารกิจและความท้าทายของงานที่ต้องดูแลธุรกิจของคู่ค้าหลายพันรายให้ดีที่สุดต้องบริการลูกค้าในศูนย์การค้าซึ่งมีจำนวนมหาศาลต่อวัน ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทยแต่มีนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้พอใจและได้รับประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย
“เป็นความรับผิดชอบที่ต้องเพื่อบริหารให้เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า ซึ่งไม่ง่าย ยิ่งไปกว่านั้น ย่านสยาม คือ ศูนย์กลางของธุรกิจ เป็นหัวใจของกรุงเทพฯ และสยามพิวรรธน์เป็นบริษัทแรกที่บุกเบิกทำเลนี้กว่า 60 ปี เราจึงเผชิญทุกวิกฤติของไทยและทุกสถานการณ์ที่เกิดในย่านนี้ การจะนำพาคู่ค้าให้รอดวิกฤติทุกรูปแบบจนถึงวันนี้นับเป็นเรื่องยากแต่เราก็ทำได้”
นั่นเป็นเพราะกฎเหล็กของ ชฎาทิพ ที่ยึดมั่นหลักการ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ปรับตัวให้เร็ว” โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เรายึดติดความสำเร็จในอดีตไม่ได้ แต่ต้องคิดไปข้างหน้า เปิดใจรับฟัง กล้าทำสิ่งที่แตกต่าง คนเก่งวันนี้ไม่ใช่แค่ทำงานเก่ง แต่ต้องพร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่ตลอด
การเคลื่อนธุรกิจของสยามพิวรรธน์ไม่แข่งกับใคร แต่ยึดกลยุทธ์ Blue ocean strategy สร้างความต่างเป็นจุดขาย และเป็นคนแรกที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ระดับโลกให้ลูกค้าก่อนใคร ซึ่งทำได้สำเร็จสะท้อนผ่านผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกหลายสาขา แน่นอนว่าบรรทัดฐานการทำงานจึงสูงขึ้น
“เราต้องแข่งกับตัวเองเพื่อให้ผลงานวันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ให้ได้ การทำงานเช่นนี้นับเป็นความท้าทายของพนักงานทุกคนในองค์กร”
ในฐานะ CEO ย้ำบทบาทหน้าที่สำคัญของตัวเองว่า ต้องสร้างทีมงานหัวใจเกินร้อย พวกเขาต้องทำงานรวดเร็ว พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง พัฒนาความรู้ตลอด ภายใต้เป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนด้วยแบบอย่าง คือ การร่วมรังสรรค์ และการสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งเป็นคอนเซปต์หลักในการพัฒนาทุกโครงการของสยามพิวรรธน์
หากเปรียบองค์กรเป็นวงออร์เคสตรา วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เจ้าของธุรกิจโรงแรม บริการ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2563 กว่า 1.24 แสนล้านบาท ภายใต้เครือทีซีซีกรุ๊ป กำลังสวมบทวาทยากรร่ายไม้บาตองกำกับทุกภาคส่วนขององค์กรให้วิกฤติโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวมากว่า 1 ปี
ซีอีโอหญิงผู้เป็นบุตรสาวคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จึงต้องงัดทุกกระบวนท่า เฟ้นหลักบริหารทุกสูตรเพื่อตั้งรับ รอจังหวะเดินเกมบุกอีกครั้ง ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยว่าจะฟื้นตัวได้และเติบโตในระยะยาว
วัลลภา กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลักการบริหารสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กร เริ่มจากตั้งเป้าหมายและวิสัยทัศน์ AWC ให้ชัดเจน มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Building A Better Future” หรือการร่วมสร้างอนาคตที่ดีกว่าด้วยกัน เป็นจุดตั้งต้นของทุกอย่างที่เราทำ และต่อเนื่องถึงกระบวนการสร้างองค์กร ความเชื่อมั่นในคุณค่าระยะยาวและความยั่งยืน
สิ่งที่ AWC สร้างขึ้นนอกจากสร้างการเติบโตและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงสร้างคุณค่าให้ลูกค้าแล้ว เรามองว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่ให้กับชุมชนและประเทศชาติ นี่คือจุดยืนสำคัญในการพัฒนาเพื่อสร้าง Corporate Transformation ขับเคลื่อนองค์กรด้วยกัน
เมื่อมานั่งเก้าอี้ซีอีโอ AWC นอกจากต้องแบ่งเวลาให้ดีเพราะดูหลายด้านแล้ว ยังเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างจากตอนเริ่มต้นที่มองทีมเวิร์กเป็นหลัก ต่อมาเรียนรู้ Meaningful Purpose หรือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก คือ สิ่งที่เสริมความแข็งแกร่งและขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น ต่อจากนั้นเป็นกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรเป็นองค์รวมมากขึ้นไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ทางธุรกิจ
“ความท้าทาย” ในยุคระหว่างและหลังโควิด-19 ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องวางกลยุทธ์รอบด้าน ตอบรับ Dynamic Change ได้เร็ว ตอบโจทย์หลายทางเพราะหลังเกิดวิกฤติ สถานการณ์ท่องเที่ยวโลกเปลี่ยนไป ไม่เหมือนช่วงที่เห็นดีมานด์ชัดเจน ซึ่งตอนนั้นเราวางแผนธุรกิจได้ง่าย แต่วันนี้เราต้องเตรียมป้องกันความเสี่ยงและรับมือผลกระทบที่อาจมองไม่เห็น
“วันนี้โชคดีที่วางกลยุทธ์หลายอย่างไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอ การสร้างสมดุลของกระแสเงินสด การสร้างความต่อเนื่องของธุรกิจ แต่ไม่เคยนึกเลยว่าต้องเอามาใช้ทันทีแบบนี้”
ผู้บริหารหญิงในธุรกิจธนาคารมีไม่กี่คนที่ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เล่าให้ฟังว่า การเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทบริหารองค์กรใหญ่นั้น เราปฏิบัติต่อกันโดยไม่แบ่งเพศการทำงานทุกคนยึดเป้าหมายรวมเป็นสำคัญ
หากถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในปัจจุบัน คือ Business Environment เปลี่ยนตลอดและคาดเดายาก ซึ่งเป้าหมายธุรกิจของธนาคารไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยน คือ วิธีทำงานให้ถึงเป้าหมาย โจทย์คือ ต้องทำให้องค์กรยืดหยุ่นและคล่องตัวสูงมาก เพื่อตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงและแปลงเป็นยุทธศาสตร์
สำหรับแนวคิดการบริหารธนาคารกสิกรไทย สิ่งสำคัญ คือ ธนาคารยังดำเนินธุรกิจบนหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและวางแนวทาง 4 ด้าน
1.เป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล เพื่อเข้าถึงและให้บริการลูกค้าที่เหมาะสม
2.ยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล เพื่อสร้างรายได้ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ธุรกิจ และใช้ข้อมูลธุรกรรมที่ได้จากคู่ค้าใน Value Chain มาวิเคราะห์หาลูกค้าใหม่
3.ขยายการให้บริการลงทุนและประกันไปกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทุนและประกันด้วยผลิตภัณฑ์ของธนาคารฯ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ด้วยแพลตฟอร์มการลงทุนที่ช่วยให้ลูกค้าสะดวกและมีข้อมูลในการตัดสินใจได้
4.รุกตลาดภูมิภาค AEC เพื่อให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและทำธุรกิจใน AEC ที่กำลังเติบโตทั้งทางด้านประชากรและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 3-5 ปีข้างหน้า คือ เป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค ยกระดับศักยภาพของธนาคารให้แข่งขันได้ระยะยาว สร้างกำไรและผลตอบแทนมั่นคงยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น ดูแลชุมชน สังคม พนักงานและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้หากถามวิชั่นขับเคลื่อนองค์กร คำตอบ คือ แลนด์สเคปการทำธุรกิจเปลี่ยนไปมาก การคาดการณ์ทำได้ยาก สิ่งที่ต้องทำคือ ปรับตัวได้เร็ว สร้างองค์กรที่ Change Mindset เพื่อทำให้ธนาคารกสิกรไทยที่เป็นสถาบันหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์และบริการการเงินที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและทำธุรกิจในทุกที่ทุกเวลา
ทั้งนี้หากมองธุรกิจธนาคารระยะข้างหน้าเชื่อว่า การแข่งขันและเทคโนโลยีจะทำให้ขอบเขตการแข่งขันไม่ชัดเจน คู่แข่งมาจากทุกทิศไม่มีเส้นแบ่งแยกทางธุรกิจอีก
Sea (ประเทศไทย) เป็นส่วนหนึ่งของ Sea Group ดิจิทัลคอมพานีชั้นนำในอาเซียน ซึ่งเติบโตจากสตาร์ทอัพเป็นยูนิคอร์น และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยหนึ่งในผู้ถือหุ้น คือ เทนเซนต์ ยักษ์อินเทอร์เน็ตของจีน ขณะที่ในไทยมีธุรกิจสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ดิจิทัล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (เกม อีสปอร์ต) อีคอมเมิร์ซ (ช้อปปี้) และดิจิทัล ไฟแนนเชียล เซอร์วิส (Seamoney)
“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า สังคมเปลี่ยนเร็วทั้งจากเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมอื่น ส่งผลให้บทบาทคนในสังคมแทบไม่แบ่งแยกความเป็นหญิงชาย โดยเชื่อว่า “ความสามารถและศักยภาพ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกคนทุกเพศ อายุเท่าไหร่ก็ได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำองค์กรได้
“การพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นเสมอ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง เพื่อพร้อมรับโอกาสใหม่ของธุรกิจหรือรับมืออุปสรรค เป็นสิ่งจำเป็นที่ให้ความสำคัญและส่งต่อ mindset นี้ให้พนักงาน”
การนำองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้านั้น ยิ่งเป็นองค์กรใหญ่ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดสื่อสารไปยังทีมงานอย่างชัดเจนมีประสิทธิภาพ ลดกระบวนการความซับซ้อนการทำงาน
“สุดท้ายผู้นำองค์กรไม่ว่าจะเป็นหญิงชายจะทำให้องค์กรก้าวตามเป้าหมาย ต้องพาทีมงานก้าวไปพร้อมองค์กร นั่นหมายถึงการพัฒนาความสามารถพนักงาน การกำหนดแนวทางการเติบโตในอาชีพของพวกเขา เพื่อให้พนักงานทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร”
ส่วนแผนธุรกิจจากนี้ ซีอีโอ Sea ประเทศไทย ระบุว่า 9 ปีที่ผ่านมาบริษัทขยายตัวก้าวกระโดด แต่ทุกธุรกิจที่ให้บริการอยู่ยังเติบโตและมีพัฒนาการทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่หยุดนิ่งของผู้บริโภคได้อีกมาก ดังนั้นจึงโฟกัสที่การทำธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจคือ การีน่า , ช้อปปี้ และซีมันนี่ มุ่งขยายบริการให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทั่วประเทศ
“เรามุ่งพัฒนาให้บริการตอบโจทย์ Unmet need และที่ให้ความสำคัญมาก คือ การสร้างการเติบโตร่วมกับธุรกิจอื่นภายในอีโคซิสเต็มโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี”
เธอย้ำว่า เรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่อง คือ การพัฒนาบุคลากรและเสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิทัลให้พนักงานในองค์กรได้ อัพสกิล และรีสกิลต่อเนื่อง เพื่อทันกับเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงช่วยสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้คนภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน ผู้ประกอบการ ผู้สูงอายุเพื่อให้เกิด digital inclusion ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ไทยก้าวสู่ Digital nation และเสริมให้ Digital economy รวมถึง Digital industry เติบโตรวดเร็ว
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.