eSport Sponsored

เมื่อ ‘Soft Power’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แล้วประเทศไทยจะหยิบไอเท็มไหนส่งออกไปสู้? [ADVERTORIAL] – THE STANDARD – thestandard.co

eSport Sponsored
eSport Sponsored

“วัฒนธรรม ค่านิยมการเมือง และนโยบายต่างประเทศ” ถ้า 3 สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ Soft Power ทำงานตามที่ โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้กล่าวไว้

แล้ว Soft Power ของไทยมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้คน หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือยัง?

ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เพลง ศิลปะ หรืออาหาร มักถูกใช้เป็นเครื่องมือแฝงตัวอย่างแนบเนียนเพื่อสร้าง Soft Power เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทำให้ผู้คนอยากมีส่วนร่วม ไปจนถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ

หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงหันมาสนใจแนวคิด Creative Economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยพุ่งเป้าไปที่การสร้าง Soft Power เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศ ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมหลัก สร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ จนเกิดการจ้างงานและอาชีพใหม่ให้กับคนในประเทศ  

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พลังของ Soft Power ที่ชัดที่สุดในตอนนี้ต้องยกให้แดนกิมจิ จริงจังถึงขั้นจัดตั้งหน่วยงาน Korea Culture and Content Agency (KOCCA) เพื่อส่งออกความเป็นเกาหลีสู่สายตาโลก สร้างกระแส Korean Wave ด้วยพลัง K-Pop จนเกิดเทรนด์สินค้าเกาหลี อาหารเกาหลี ภาษาเกาหลี ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก 

Korean Wave ถูกปลุกอีกครั้งด้วยการเวฟแบบซอฟต์ๆ แต่สะเทือนไปทั่วโลกจากซีรีส์เกาหลี ล่าสุด Squid Game ซีรีส์สัญชาติเกาหลีที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักวัฒนธรรมของเกาหลีมากขึ้น และยกระดับวงการซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีไปอีกขั้น 

รายงานจาก The Korea Economic Daily พบว่าในปี 2019 มูลค่าการส่งออกเนื้อหาทางวัฒนธรรมผ่านซีรีส์อยู่ที่ 10.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากในปี 2014 ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ในรายงานของ Bloomberg ยังชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปในเกาหลีใต้ในปี 2019 กว่า 13% เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ของเกาหลี สร้างรายได้ให้กับเกาหลีใต้ประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.1 หมื่นล้านบาท  

ประเทศญี่ปุ่นก็มี Soft Power ที่ทรงพลังไม่น้อย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ มองภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นเปลี่ยนไป ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศผ่านการทำ Soft Power เริ่มจากนำเสนอมุมมองการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นในมุมที่ต่างไปผ่านสื่อทุกรูปแบบ ทั้งรายการทีวี เพลง หนังสือการ์ตูนหรือมังงะ ภาพยนตร์อนิเมะ ภายใต้นโยบาย ‘Cool Japan’ ในปี 2012 เพื่อสนับสนุนการส่งออกวัฒนธรรม และเผยแพร่ความคิดสร้างสรรค์แบบญี่ปุ่นไปสู่ชาวโลก ทุกวันนี้ โดเรมอน การ์ตูนมังงะ ภาพยนตร์อนิเมะ J-Pop และ AKB48 คือ Soft Power ที่สร้างรายได้มหาศาล 

กลับไปที่คำถามแรก แล้ว Soft Power ของไทยมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้คน หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือยัง? 

จริงๆ แล้วประเทศไทยมีนโยบายและริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันการใช้ Soft Power เช่น โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก และโครงการ Thai SELECT ที่มุ่งยกระดับอาหารไทยและร้านอาหารไทย นำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก 

ภาพยนตร์ไทย ละครไทย ก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก โกอินเตอร์บุกตลาดสร้างฐานแฟนคลับชาวจีนก็ไม่น้อย ภาพยนตร์วัยรุ่นสะท้อนสังคมอย่าง ฉลาดเกมส์โกง ก็คว้ารางวัลและได้เสียงชื่นชมจากนานาประเทศ เรียกได้ว่าถ้าจะสู้กันที่คอนเทนต์ก็สู้ได้ไม่อายใคร  

ด้านสื่อบันเทิงดิจิทัล (Digital Entertainment) ก็เป็นอีกช่องทางในการส่งเสริม Soft Power เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างอุตสาหกรรมอีสปอร์ตที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง โดยอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในปี 2020 มีมูลค่าถึง 28,900 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 14% ในปี 2021 นอกจากนี้จำนวนผู้ชมการแข่งขันอีสปอร์ตก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปี 2021 คาดว่าจะมีผู้ชมอีสปอร์ตทั่วโลกถึง 474 ล้านคน นั่นหมายถึงโอกาสในการสอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมเข้าไปในอุตสาหกรรมนี้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฉากในเกม ตัวละคร เครื่องแต่งกาย หรือดนตรีที่ใช้

ถ้าพอจำได้ลางๆ Free Fire สุดยอดเกมเอาตัวรอดบนมือถือที่พัฒนาโดย Garena เคยหยิบเอารถตุ๊กตุ๊กมาทำเป็นยานพาหนะในเกม หรือการทำแผนที่ชื่อ ‘บ้านริมน้ำ’ แล้วเอาบ้านเรือนไทย บรรยากาศป่ากล้วยที่สื่อถึงความเป็นอาเซียนเข้าไปใส่ นอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับผู้เล่น นี่คือวิธีกระตุ้นความทรงจำและเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สายตาชาวโลกได้อย่างแนบเนียน 

กฤตย์ พัฒนเตชะ Senior Director, Head of Garena Online (Thailand) บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำ เชื่อมั่นว่าการที่เกมและอีสปอร์ตเป็นที่ยอมรับในวงกว้างอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพลังของ Soft Power “เรามองว่าเกมและอีสปอร์ตมีศักยภาพในการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยรวมถึงทัศนคติที่ดีสู่สังคม ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมา การีนา (ประเทศไทย) จึงริเริ่มโครงการและแคมเปญต่างๆ ที่ผนวกวัฒนธรรมไทยเข้ามาสู่โลกของ Digital Entertainment เช่น RoV Skin Design Contest โครงการแข่งขันออกแบบชุดตัวละครหรือสกิน (Skin) ในเกม RoV (Arena of Valor) เพื่อผลักดันเยาวชนไทยที่มีความสามารถด้านการออกแบบ นำเสนออัตลักษณ์ไทยผ่านตัวละครในเกม หรือการผลักดันการสร้างสังคมออนไลน์ที่เป็นมิตรและปลอดการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในโปรเจกต์ Respect Your Game ที่รณรงค์ให้เกมเมอร์ไทยภูมิใจในตัวเองและเคารพผู้อื่น”

กฤตย์ยังกล่าวเสริมว่า การจะใช้ Digital Entertainment เป็นสื่อกลางนำ Soft Power ไปสู่สายตาชาวโลกได้นั้น ต้องมีผู้ผลิต Digital Content ที่มีความสามารถและความพร้อมที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศเสียก่อน 

“วงการเกมไทยยังขาดบุคลากรในสายงาน Game Development อีกมาก การที่เราสามารถสร้างคอนเทนต์เองได้แทนที่จะต้องนำเข้าเนื้อหาจากต่างประเทศเป็นหลักจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้าง Soft Power รวมไปถึงการสร้างการเติบโตของ Creative Economy ด้วย การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสายการผลิตจึงมีความสำคัญ เพราะเรากำลังจะเอาความเป็นไทยไปแข่งในเวทีโลก”

ล่าสุด การีนา (ประเทศไทย) จับมือกับ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย และอินโฟเฟด เปิดตัวโครงการ ‘depa Game Accelerator Program Batch 2’ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมเกมไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลก ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมใน 4 หมวดเกมยอดนิยม ได้แก่ Action, Adventure, Strategy และ Sport (Casual Game) พร้อมเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ววันนี้ถึงวันที่ 3 มกราคม 2022  

ผู้ที่ได้รับคัดเลือกในรอบสุดท้ายของแต่ละหมวดเกม ยังได้รับโอกาสต่อยอดไอเดียและหาประสบการณ์เพิ่มเติมกับ Nintendo (Licensed Developer) พร้อมรับการสนับสนุนค่าชุดพัฒนาเกม รวมถึงโอกาสเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนและได้ทดลองเกมในตลาดจริง

“โครงการนี้จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเกมไทย ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกมมีศักยภาพในการพัฒนาเกม เพิ่มขีดความสามารถให้เทียบเคียงกับผู้ประกอบการระดับโลก ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะหันมาสร้าง Soft Power อย่างจริงจัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวดีๆ ในสังคม สร้างเม็ดเงินให้ไหลเข้าประเทศ พร้อมนำเสนอความเป็นไทยให้ทั่วโลกได้เห็นบ้าง” กฤตย์กล่าวทิ้งท้าย

eSport Sponsored
อีสปอร์ต

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.