โครงการพัฒนากีฬาชาติ จุฬาฯ หนุนเยาวชนไทยพุ่งสู่ระดับโลก ปลื้มผลงานศิษย์เก่าพิสูจน์ความมุ่งมั่นในสนามโอลิมปิก เดินหน้ารับนักกีฬาเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความทักษะการกีฬากว่า 30 ชนิดทุกปี ล่าสุดเปิดรับนิสิตที่เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตเป็นปีแรก พร้อมแนะแนวทางสร้างอนาคตที่มั่นคงทั้งกีฬาและอาชีพ
ศิษย์เก่าจากโครงการพัฒนากีฬาชาติ จุฬาฯ ทำผลงานน่าภาคภูมิใจให้ประเทศในการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 และอีกหลายรายการการแข่งขันในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา บทพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการส่งเสริมเยาวชนให้พัฒนาความเป็นเลิศด้านการกีฬาและวิชาการคณะต่างๆ ในรั้วจามจุรี เปิดรับเยาวชนที่มีความทักษะการกีฬากว่า 30 ชนิดกีฬา เข้าร่วมโครงการทุกปี
ผลงานของทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมา เผยให้เห็นความก้าวหน้าด้านการกีฬาของประเทศไทยที่นับวันจะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีโลก ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจที่ศิษย์เก่าจากโครงการพัฒนากีฬาชาติ จุฬาฯ จำนวน 9 คน ได้เข้าร่วมการแข่งขันและทำผลงานได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (เทนนิส) ที่คว้าเหรียญทองเทควันโดเหรียญแรกมาให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ
ส่วนอีก 8 คน แม้จะไม่ได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขัน แต่ก็แสดงให้เห็นทักษะการกีฬาอันโดดเด่นที่เข้าใกล้ฝันโอลิมปิกขึ้นเรื่อยๆ อาทิ อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข (วอร์ม) นักกีฬายิงปืน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ที่เข้าร่วมการแข่งขันในกีฬายิงเป้าบิน จนผ่านเข้ารอบสุดท้ายและจบที่อันดับที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ธันยพร พฤกษากร (ธันย่า) นักกีฬายิงปืน ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย (ปอป้อ) นักกีฬาแบดมินตัน ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ที่ผ่านเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายในรายการแบดมินตันประเภทคู่ผสม บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ (ครีม) นักกีฬาแบดมินตัน ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ รวินดา ประจงใจ (วิว) นักกีฬาแบดมินตัน ศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี นวพรรษ วงค์เจริญ (ไวน์) นักกีฬาว่ายน้ำ ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา เจนจิรา ศรีสอาด (จอย) นักกีฬาว่ายน้ำ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ และ กรธวัช สำราญ (นัท) นักกีฬาขี่ม้า ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
รายชื่อนักกีฬาดาวรุ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนักกีฬาจำนวนมากที่โครงการพัฒนากีฬาชาติ จุฬาฯ ได้ดูแลและส่งเสริมความเป็นเลิศเชิงกีฬาและการศึกษามาตลอดกว่าสามทศวรรษ
๐ “นักกีฬาผู้นำแห่งอนาคต” วันนี้ มาจากวิสัยทัศน์ในวันวาน
เหรียญทองโอลิมปิกในวันนี้และความสำเร็จอีกมากมายด้านกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลกไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หากแต่มาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องอย่างยาวนาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธนะ ติงศภัทิย์ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการพัฒนานิสิตในภารกิจด้านกีฬา เล่าที่มาของโครงการพัฒนากีฬาชาติว่า “ในปี 2528 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และประสบความสำเร็จได้เป็นเจ้าเหรียญทอง ปีนั้น มีเยาวชนดาวรุ่งมากมายฉายแวว อาจารย์ปาณสาร (ม.ล.ปาณสาร หัสดินทร) ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ดูแลด้านกิจกรรมกีฬาของฝ่ายกิจการนิสิตในสมัยนั้น จึงเสนอศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดีในตอนนั้น ให้สนับสนุนโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนโครงการกีฬาชาติ”
จุฬาฯ จึงได้ก่อตั้งเป็นโครงการพัฒนากีฬาชาติขึ้นในปี 2528 และเริ่มเปิดรับนิสิตเข้าร่วมโครงการครั้งแรกในปี 2529 โดยมีนิสิตเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 คนในภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน โครงการเปิดรับนิสิตที่มีความสามารถด้านกีฬาจำนวนประมาณ 65 คนต่อปี ให้เข้าเรียนในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยกว่า 12 คณะ
“จุฬาฯ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถทางด้านกีฬามาเรียนที่จุฬาฯ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเพิ่มความสามารถให้กับนักกีฬาด้วยวิชาความรู้ในมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้ประเทศชาติ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังต้องการให้นิสิตนักกีฬาเป็นแบบอย่างของนิสิตที่มีสุขภาพดี มีคุณธรรม รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจกระตุ้นให้นิสิตจุฬาฯ คนอื่นๆ หันมาสนใจการเล่นกีฬามากขึ้นด้วย” ผศ.ดร.สุธนะ กล่าว
๐ ส่งเสริมรอบด้าน เพื่อกีฬาก้าวหน้า ความรู้ก้าวไกล
แม้ความสำเร็จของนิสิตแต่ละคนขึ้นอยู่กับความพยายาม ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และฝึกซ้อม แต่การสนับสนุนอย่างจริงจังและรอบด้านจากจุฬาฯ ก็จะมีส่วนช่วยให้นิสิตพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ด้วย สิ่งที่โครงการสนับสนุนนิสิตนักกีฬา อาทิ
๐๐ ด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกทักษะการกีฬา
ภายในจุฬาฯ มีสนามกีฬามาตรฐาน อุปกรณ์กีฬา และเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับการฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพตามชนิดกีฬาที่ทางโครงการได้รับสมัครมากกว่า 30 ชนิดกีฬา เช่น สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สนามกรีฑา สนามฟุตบอล สนามกีฬาประเภทต่อสู้ สนามเปตอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีชมรมกีฬาเพื่อให้นักกีฬาได้พบปะพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา โค้ช และเพื่อนนักกีฬาตามชนิดกีฬาที่ตนเองสนใจ
๐๐ ด้านบุคลากร โค้ช อาจารย์ที่ปรึกษา ชมรมกีฬา
จุฬาฯ มีการสนับสนุนบุคลากรทางด้านการกีฬาสำหรับนิสิตในโครงการ ได้แก่ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมและโค้ช อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมจะเป็นผู้ดูแลวางแผนการฝึกซ้อมร่วมกับโค้ช นิสิต และผู้ปกครอง รวมถึงดูแลเรื่องการใช้ชีวิตโดยทั่วไปในรั้วมหาวิทยาลัยและวางแผนการเรียน สำหรับนิสิตที่ไม่มีโค้ชประจำตัว ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีโค้ชช่วยดูแลให้ ส่วนนิสิตที่มีโค้ชส่วนตัวอยู่แล้วก็จะมีโค้ชของจุฬาฯ คอยดูแลเรื่องการฝึกซ้อมร่วมด้วย
นอกจากนี้ โครงการพัฒนากีฬาชาติ จุฬาฯ มีแผนที่จะนำบุคลากร อาทิ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักจิตวิทยา มาดูแลนักกีฬานอกเหนือจากบุคลากรทางด้านการกีฬาด้วย
๐๐ ด้านที่พัก
นิสิตในโครงการที่ประสงค์จะอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย ก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกให้อยู่ได้เพื่อให้นิสิตสามารถใช้เวลาในการฝึกซ้อมและการเรียนอย่างเต็มที่
๐๐ ด้านการแข่งขัน
จุฬาฯ สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับรายการที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ได้แก่ ค่าสมัครเข้าแข่งขัน ค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าอาหาร เป็นต้น
๐๐ ด้านวิชาการ
นิสิตในโครงการพัฒนากีฬาชาติ จุฬาฯ จะได้เรียนเหมือนนิสิตทั่วไปทุกประการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่านิสิตในโครงการที่เรียนจนจบจะมีความสามารถทางวิชาการเทียบเท่ากับมาตรฐานของนิสิตจุฬาฯ
“นิสิตในโครงการพัฒนากีฬาชาติต้องทำหน้าที่ทั้งเรียนและฝึกฝนการกีฬา บางครั้งการเล่นกีฬาอาจจะกระทบไปถึงการเรียน ทางโครงการได้มีอาจารย์ที่ปรึกษาวิชาการประจำคณะมาคอยดูแลนิสิตที่มีปัญหาด้านการเรียนโดยเฉพาะ เช่น อาจจะหารุ่นพี่มาช่วยติวเสริมให้ นอกจากนี้สถาบันภาษา จุฬาฯ ยังมีการสอนเสริมภาษาอังกฤษสำหรับนิสิตในโครงการด้วย” ผศ.ดร.สุธนะ กล่าว
สำหรับนิสิตในโครงการที่ทำผลงานโดดเด่นหรือได้รางวัลจากการแข่งขัน จุฬาฯ ก็จะมอบทุนการศึกษาให้เพื่อตอบแทนความตั้งใจฝึกซ้อมและแข่งขันอย่างเต็มที่
๐ สร้างอนาคตที่มั่นคงทั้งกีฬาและอาชีพ
ผศ.ดร.สุธนะ กล่าวว่า นักกีฬาที่เข้าร่วมโครงการมักเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือนักกีฬาเยาวชนระดับชาติ ซึ่งสิ่งที่ทางโครงการคาดหวัง คือ หลังจากที่นิสิตเรียนจบจากจุฬาฯ แล้ว จะยังคงเล่นกีฬาต่อไปเพื่อชาติ โดยนำความรู้ที่ได้จากรั้วจุฬาฯ ไปใช้พัฒนาตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“นักกีฬาของเราส่วนมากเข้ามาตอนอายุ 18-19 ปี ก็ยังทำผลงานด้านกีฬาได้ไม่โดดเด่นนักเพราะมีหลายหน้าที่ต้องทำ แต่เมื่อเรียนจบแล้วในช่วงอายุ 21-22 ปี ก็จะเป็นโอกาสให้พัฒนาทักษะกีฬาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องเรียนแล้ว แถมมีใบปริญญาจากจุฬาฯ การันตีความสามารถในการประกอบวิชาชีพตามสาขาที่เรียนมา ช่วงเรียนจบไปแล้ว นักกีฬาจะมีศักยภาพสูงสุด”
ศิษย์เก่าในโครงการพัฒนากีฬาชาติจำนวนมาก เมื่อจบการศึกษาไปแล้วได้ทำหน้าที่เป็นนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยต่อไปในการแข่งขันหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ รวมถึงรายการแข่งขันระดับชาติและระดับนานาชาติ ศิษย์เก่าบางคน แม้จะไม่ได้เป็นนักกีฬาแล้ว แต่ก็ยังมีบทบาทด้านอื่นๆ เกี่ยวกับการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา อาทิ ธีรัช โพธิ์พานิช ศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์ อดีตนักกีฬายิมนาสติกเหรียญทองซีเกมส์ปี 2528 และ 2530 อาจารย์ ดร.ธนากร ศรีชาพันธ์ ศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์ อดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติไทย อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ อดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติไทย เป็นต้น
๐ รั้วจามจุรีพร้อมรับนักกีฬาเยาวชนรุ่นใหม่ทุกปี
ปัจจุบันแวดวงกีฬาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปไกลอย่างต่อเนื่อง แม้แต่การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านมา ก็มีกีฬาชนิดใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา เช่น สเกตบอร์ด ปีนหน้าผา ผศ.ดร.สุธนะ กล่าวว่าในอนาคต จุฬาฯ มีแผนจะขยายการสนับสนุนกีฬาชนิดกีฬาใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน โดยในปีการศึกษา 2564 นี้ จะเปิดรับนิสิตที่เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตเข้ามาเป็นปีแรก หลังจากที่มีการตั้งชมรม Chula Esports ไปก่อนหน้านี้
“น้องๆ นักเรียนที่สนใจ มีความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาตัวเองทั้งด้านการเรียนและการเล่นกีฬา ถ้าได้มาเรียนที่จุฬาฯ ทางจุฬาฯ จะสนับสนุนทั้งสองด้านอย่างเต็มที่ อยากให้มาเรียนและเล่นกีฬาไปด้วยกัน เราเชื่อว่าคนที่ทั้งเรียนและเล่นกีฬาได้จะประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะตอนนี้สังคมต้องการคนที่ทำได้หลากหลาย ซึ่งทางจุฬาฯ มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนานักกีฬาและการสนับสนุนนักกีฬาสำหรับนิสิตในโครงการ” ผศ.ดร.สุธนะ กล่าวเชิญชวนนักกีฬาเยาวชน
โครงการพัฒนากีฬาชาติ จะเปิดรับสมัครเยาวชนนักกีฬาในระบบ TCAS รอบที่ 1 และ 2 โดยเริ่มรับสมัครรอบที่ 1 ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี และรอบที่ 2 ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.atc.chula.ac.th/TCAS/home.html หรือ http://www.admissions.chula.ac.th/