eSport Sponsored

โควิดเขย่ากีฬาไทย พลิกแผน-ลุยแข่ง – มติชน

eSport Sponsored
eSport Sponsored

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในประเทศไทย ยังคงน่าเป็นห่วง ในแต่ละวันตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจึงทำให้หลายๆ ภาคส่วนได้รับผล กระทบอย่างหนักหน่วง

วงการกีฬาของไทยเองก็เช่นกันได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลากหลายกิจกรรมการแข่งขันต้องหยุดชะงักไป บางมหกรรมการแข่งขันต้องประกาศเลื่อน หรือยกเลิกการแข่งขันในปี 2564 เพื่อปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ของรัฐบาลออกมาตรการต่างๆ มาเป็นระยะๆ

มหกรรมการแข่งขันกีฬาในประเทศประกาศยกเลิกจัดชิงชัยไปแล้ว ได้แก่ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 “ช้างขาวเกมส์” ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม-5 มิถุนายน ที่จังหวัดตราด/กีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 “เทียนนกแก้วเกมส์”

นี่ยังไม่รวมการแข่งขันระดับชิงแชมป์ประเทศไทย ของหลากหลายชนิดกีฬา บางสมาคมกีฬาก็รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับชิงแชมป์อาเซียน, ชิงแชมป์เอเชีย หรือชิงแชมป์โลก เอาไว้

ส่วนใหญ่หลายๆ สมาคมกีฬาทยอยกันออกมาประกาศเลื่อนการแข่งขันออกไปทั้งหมด แต่ก็มีบางการแข่งขันกีฬาที่ได้หารือกับ ศบค. และอนุญาตให้ดำเนินการจัดการแข่งขันได้เนื่องจากไม่สามารถขยับโปรแกรมการแข่งขันออกไปได้ ซึ่งก็ได้จัดการแข่งขันในรูปแบบ “นิว นอร์มอล” หลายๆ การแข่งขัน อาทิ การแข่งขันแบดมินตันระดับเวิลด์ทัวร์ 3 รายการใหญ่ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา,การแข่งขันจักรยานฯ

และที่เพิ่งจบลงไปหมาดๆ คือ การแข่งขันกอล์ฟ “ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2021” การแข่งขันทั้งหมดจัดแข่งขันแบบนิว นอร์มอลในรูปแบบบับเบิล คือ การแข่งขันแบบปิดทุกกรณี ไม่อนุญาตให้มีแฟนกีฬาเข้าชม ส่วนนักกีฬาต่างชาติที่มาแข่งขันต้องผ่านการกักตัว และปฏิบัติตามระเบียบการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด อยู่ในพื้นที่ควบคุมพิเศษ ทั้งสนามซ้อมและสนามแข่งขัน สวมใส่หน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์เช็ดมือบ่อยครั้ง มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกวัน ทำให้เป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันกีฬาแบบนิวนอร์มอล

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 หนักหนาสาหัสกว่าทุกๆ ครั้ง วงการกีฬาต้องปรับตัวรับมือกันขนานใหญ่เหมือนเช่นภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม นักกีฬาไทย มีภารกิจจำเป็นต้องเข้าแคมป์เก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ปลายปีนี้ รวมไปถึงการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2020 “โตเกียวเกมส์” (เลื่อนมาจัดปี 2021) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

การเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาดูเหมือนว่าจะราบรื่น แต่แล้วจู่ๆ ก็เริ่มมีนักกีฬาติดเชื้อไวรัส “โควิด-19” เริ่มตั้งแต่ กีฬาคิวสปอร์ต อย่าง “รมย์ สุรินทร์” ประพฤติ ชัยธนสกุล, “ต่าย พิจิตร” ชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ ที่สำคัญรวมไปถึง “เฮียฮง” สุนทร จารุมนต์ นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแแห่งประเทศไทย ด้วยที่ได้รับเชื้อไวรัส “โควิด-19”

ทำให้แคมป์เก็บตัวทีมชาติต้องเบรกการฝึกซ้อมและให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงทั้งแคมป์เข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อเพื่อคอนเฟิร์มผลการตรวจทุกคน ส่วนนักกีฬาที่และผู้บริหารที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามขั้นตอนทั่วไป

สำหรับกีฬาคิวสปอร์ตไทย แม้จะได้ตรวจพบว่า มีผู้ติดเชื้อแต่ยังมีเวลาอีกนานในการเตรียมทีมเพราะแข่งขันซีเกมส์ปลายปี ต่อมาวงการฟุตบอลไทยต้องสั่นสะเทือนเมื่อนักฟุตบอลทีมชาติไทยภายใต้การนำของ อากิระ นิชิโนะ ที่กำลังเตรียมไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 โซนเอเชีย กลุ่มจี ที่สนามกลางประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีนักเตะถูกตรวจพบเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในแคมป์เก็บตัวฝึกซ้อมจำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่ประจำทีม 4 คน รวมเป็น 6 คน

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ สั่งการทันทีนักเตะทุกคน พร้อมสต๊าฟโค้ช และอากิระ นิชิโนะ กักตัวทันที ส่วน นักเตะ 2 คน เจ้าหน้าที่ 4 คนที่พบเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาของภาครัฐทันที

หลายคนเป็นห่วงว่า ทีมฟุตบอล “ช้างศึก” จะไปแข่งขันไม่ได้ แท้ที่จริงแล้ว ประเด็นโควิด-19 กับฟุตบอลไทยนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ บริหารจัดการได้ดีมากตั้งแต่แรกเริ่มเข้าแคมป์เซตแล้ว เพราะด้วยไทม์มิ่งเวลาเข้าแคมป์ถูกแยกเป็น 2 ชุดอยู่แล้ว ดังนั้นตอนนี้นักเตะชุดที่ 2 ซึ่งมีนักเตะจาก 4 สโมสร สิงห์ เชียงราย, แบงค็อก, ชลบุรี และบุรีรัมย์ โยกมาเข้าแคมป์ซ้อมที่บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ดังนั้น หากไม่มีอะไรผิดพลาดทีมบอล “ช้างศึก” จะรับการตรวจยืนยันผลโควิด-19 พร้อมรับวัคซีนโดสที่ 2 และจะออกเดิน ทางไปยูเออี ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ได้อย่างแน่นอน

ล่าสุด ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยชุดใหญ่ ภายใต้การดูแลของ “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ที่เรียกดาวรุ่งยกทีมมาเข้าแคมป์ซ้อม ที่ จ.นครปฐม เพื่อเตรียมทีมเข้าร่วมแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นส์ ลีก 2021 ที่ประเทศอิตาลี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตกเป็นข่าวใหญ่เพราะตรวจพบว่านักกีฬา และเจ้าหน้าที่ทีม รวม 22 คน ติดเชื้อ “โควิด-19” และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปิยะเวท เรียบร้อยตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบเชื้อ

สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ตัดสินใจทำหนังสือแจ้งสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (เอฟไอวีบี) ขอถอนทีมจากการแข่งขัน แต่เอฟไอวีบี อยากให้ไทยเข้าร่วมและพร้อมช่วยเหลือทุกทาง โดยยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อนักกีฬาได้ สุดท้ายสมาคม เลือกที่จะส่งทีมชุดใหม่ไปแข่งขันโดยเรียกผู้เล่นตัวเก๋ามารวมทีม เฉพาะกิจ ภายใต้การดูแลของ “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตโค้ชชื่อดัง และนักกีฬาดาวดัง นำโดย “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว, “นุช” นุศรา ต้อมคำ, “ปู” มลิกา กันทอง, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์, “แจ๊ค” อำพร หญ้าผา, “บะหมี่” ฐาปไพพรรณ ไชยศรี ฯลฯ

แต่ทั้งหมดก็ต้องเข้ารับการตรวจไวรัส “โควิด-19” และฉีดวัคซีน ตามกระบวนการเช่นกัน ดังนั้นในศึกวอลเลย์บอล “เนชั่นส์ ลีก 2021” ทีมนักตบลูกยางสาวไทยจะไปร่วมแข่งขันแน่นอน…

เมื่อ “โควิด-19” คืบคลานสู่วงการ กีฬาของไทยทำให้หน่วยงานภาครัฐอย่างการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เตรียมการรับมือพร้อมๆ กับลดภาระให้กับรัฐบาลไทยด้วย

การดำเนินการจัดตั้ง “สปอร์ต ควอรันทีน” และการร่วมมือกับรัฐบาลในการ ใช้โรงยิมเนเซียมของสนามกีฬาที่ กกท. ดูแลอยู่ทั่วประเทศ ปรับโฉมเป็น “โรงพยาบาลสนาม” ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจความเรียบร้อยของ “สปอร์ต ควอรันทีน” เตรียมพร้อมที่จะเปิดใช้งานประมาณเดือนพฤษภาคม 2564

ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.

โดย กกท. ต้องจัดคิวและลำดับของนักกีฬาแต่ละประเภทแต่ละชนิดที่จะต้องเดินทางออกไปแข่งที่ต่างประเทศให้ดี เพราะจะได้รองรับนักกีฬาได้อย่างเพียงพอ ตอนนี้มีรายการแข่งขันต่างประเทศยกเลิกไปอยู่พอสมควรจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงคิดว่า ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพียงพอกับนักกีฬา

แต่ถ้าหากว่ามีรายการแข่งขันไหนที่ซ้อนกัน นักกีฬาต้องออกไปแข่งแล้วทำการ กักตัวพร้อมกันก็จะดูลำดับสำคัญ เรามีที่พัก เรามีสนามฝึกซ้อมให้กับนักกีฬา เรามีอุปกรณ์กีฬาที่ทันสมัย รองรับในช่วงที่นักกีฬาต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ นักกีฬาเหล่านี้จะได้ฝึกซ้อมกีฬาพร้อมๆ กับการกักตัวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และยังเป็นการรักษาสภาพร่างกายนักกีฬาด้วย

นี่คือสถานการณ์ล่าสุดของไวรัส “โควิด-19” กับวงการกีฬาของเมืองไทย ที่คนกีฬาของไทยต้องปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์

eSport Sponsored
อีสปอร์ต

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.