• หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

บุคลากรทางการแพทย์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

“ทุกวันนี้ เวลาจะแอดมิทใคร เราเลือกแล้วเลือกอีก และต้องแอดมิทโดยไม่ไปกระทบกับคนไข้โรคอื่นด้วย… แล้วถ้าห้องเต็ม เราจะทำยังไง จะเอาคนไข้ที่นั่งหอบอยู่หน้าห้องฉุกเฉินไปไว้ไหน จะให้เขานั่งรอเตียงอยู่ตรงนั้นหรือ” นายแพทย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อสังกัดโรงพยาบาล (รพ.) รัฐแห่งหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ กล่าวกับบีบีซีไทย

ภาพผู้ป่วยโควิด-19 ชาวอินเดีย ที่ต้องสลับกันใช้เครื่องช่วยหายใจเตียงละ 2 คน หลังพบผู้ติดเชื้อหน้าใหม่วันละกว่า 2-3 แสนรายนับจากกลางเดือน เม.ย. เป็นภาพสะเทือนใจใครหลายคน โดยนายแพทย์วัย 30 ปีเศษ ไม่ต้องการเห็นมันเกิดขึ้นในไทย

ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมแผน “เบ่งเตียง” เพื่อรองรับผู้ป่วยหน้าใหม่ในประเทศ ซึ่งทะลุหลักพันติดต่อกัน 13 วัน (14-26 เม.ย.) บุคลากรด่านหน้าที่ใช้นามแฝงว่า “หมอเอ” เห็นว่า “ทันทีที่มีคนไข้ตกค้างที่บ้าน แสดงว่าเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือได้แล้ว เพียงแต่ไม่มีการแถลงออกมา”

“ผมต้องการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและครบถ้วน” นี่คือเหตุผลที่ทำให้แพทย์รายนี้ไม่ขอเปิดเผยตัวตนและต้นสังกัด

การทำงานแบบ “24/14” ของ “หัวหน้าทีมโควิด”

นับจากเกิดการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทย พื้นที่บางส่วนของ รพ. ต้นสังกัดของหมอเอ ถูกดัดแปลงให้เป็นจุดคัดกรองผู้ป่วย ตั้งแต่ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา จนถึงกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 แล้วมาขอรับการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากหลังโพรงจมูก (Swab) เพื่อป้องกันไม่ให้ปะปนกับคนไข้ประเภทอื่น โดยมีเจ้าหน้าที่ 4-6 รายปฏิบัติหน้าที่ “แนวหน้า” ตั้งแต่สอบประวัติ จนถึงขั้นทำหัตถการคือการเก็บตัวอย่าง ได้วันละ 60-100 ราย

ขณะที่หมอเอเข้าประจำการในฐานะ “หัวหน้าทีมโควิด” ภายใต้การทำงานแบบ “24/14” ต้องพร้อมเสมอในการปฏิบัติหน้าที่และรับโทรศัพท์ตลอด 24 ชม. เป็นเวลาติดต่อกัน 2 สัปดาห์

ในแต่ละวัน เขาออกตรวจอาการของคนไข้ราว 40-50 คนในหอผู้ป่วยรวมแยกโรคโควิด-19 (Cohort Ward) และคนไข้หนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยวิกฤต (Cohort Intensive Case Unit – Cohort ICU) รวมถึงร่วมบริหารจัดการเตียงของส่วนกลาง และเตียงผู้ป่วยภายในที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับทาง รพ. เอง

ส่วนกลางคืน หัวหน้าทีมโควิดก็มิอาจพักผ่อนได้เต็มตื่น ต้องเปิดทุกช่องทางการสื่อสารรอรับการขอคำปรึกษาจากแพทย์ประจำบ้านที่อาจส่งเข้ามา หรือรุดไปยัง รพ. หากอาการของผู้ป่วยในวอร์ดโควิดทรุดลงอย่างฉับพลัน

เช่นเดียวกับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ไม่มีคำว่า “เวลานอกราชการ” เพราะหมอหนุ่มต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ชม. แวะเวียนไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการอีกหลายสิบคน ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ภายในสถานพยาบาลทางเลือก

กิจวัตรของหมอเอดำเนินมาเช่นนี้ตลอด 2 สัปดาห์ ก่อนที่เพื่อนหมออีก 4 คนจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ “หัวหน้าทีมโควิด” ของ รพ. ทำให้พอมีจังหวะ “เว้นวรรค” 2 เดือน ก่อนกลับเข้าประจำการในบทบาทเดิมอีกครั้ง

นอกจากบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 แพทย์แต่ละคนยังมีภาระหน้าที่ประจำ นั่นทำให้เวลา 24 ชม. ที่ทุกคนมีเท่ากันคล้ายไม่เพียงพอ อย่างหมอเอต้องลงตรวจคนไข้โรคติดเชื้อทั่วไปในแผนกผู้ป่วยนอก (Out-Patient Department – OPD) และสอนหนังสือให้แก่นักเรียนแพทย์ด้วย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ความเข้าใจโรค กับ จิตสำนึกสาธารณะ

หมอเอเลือกศึกษาต่อเฉพาะทางในสาขาอายุรกรรมโรคติดเชื้อ ก่อนได้เป็น “แพทย์เต็มตัว” เมื่อปี 2561

จากนั้นไม่ถึง 2 ปี ไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่พร้อม ๆ กับคนทั้งโลก วิชาความรู้ที่ศึกษา-สั่งสมมาทั้งหมด จึงถูกงัดออกใช้เพื่อวางแผนงานและบริหารจัดการสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า

การตรวจผู้ป่วยโควิดรายแรกของแพทย์หนุ่มเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งเขายอมรับว่าทุกคนยังใหม่กับโรคมาก ยังไม่มีระบบรองรับ อีกทั้งส่วนตัวก็เพิ่งจบได้ไม่นาน เรียกว่าประสบการณ์ไม่มี

“ตอนทำครั้งแรก เจ้าหน้าที่เรากลัวมาก เพราะไม่รู้จักโรค ติดแล้วจะตายหรือเปล่า แม้แต่หมอเราก็กลัว ก็ต้องระวังตัว” หมอเอย้อนความหลัง

หนึ่งปีผ่านไป ไทยเจอกับการระบาดระลอก 2 (17 ธ.ค. 2563-31 มี.ค. 2564) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ตามด้วยการระบาดระลอก 3 (1 เม.ย.2564 ถึงปัจจุบัน) จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ ก่อนที่เชื้อจะลุกลามไปครบ 77 จังหวัดทั้งประเทศ

แพทย์โรคติดเชื้อวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเคยชินกับโรคมากขึ้นและคิดว่าป้องกันได้ เพราะเมื่อตัวเลขผู้ป่วยทะยานขึ้นสู่หลักร้อย เราก็ช่วยกันกดมันลงมาได้จนเหลือหลักสิบ เมื่อเกิดการระบาดระลอกนี้ การป้องกันจึงหละหลวมขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อจึงมากขึ้น สะท้อนว่าประชาชนอาจยังเข้าใจโรคไม่ชัดเจนนัก หรือไม่เข้าใจความสำคัญในการเว้นระยะห่างทางสังคม และสวมใส่หน้ากากอนามัย

ประสบการณ์ตรงของแพทย์หนุ่มเกิดขึ้นในระหว่างต่อสายตรงถึงผู้ป่วยรุ่น “คุณย่า” เพื่อแจ้งผลการตรวจเชื้อ ในฐานะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากสามีซึ่งเวลานั้นนอนอยู่ในวอร์ดโควิดแล้ว

“ผมโทรไปแจ้งผลกับคุณย่า แล้วได้ยินเสียงเด็กเล็กลอดเข้ามา ตกใจมาก ก็เลยถามไปว่าคุณย่าอยู่กับใคร ปกติแกอยู่คนเดียว แต่วันนั้นลูกสาวต้องไปธุระ ไปเอาของ เลยเอาหลานมาฝากเลี้ยง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าคุณย่ามีความเสี่ยง จากเด็กปกติคนหนึ่งที่ควรปลอดภัย ก็เลยกลายเป็นผู้มีความเสี่ยงระดับสูงไป” เขากล่าว

อีกประสบการณ์ของหมอเอที่สะท้อนปัญหา “จิตสำนึกสาธารณะ” ของคนไทยบางส่วน เกิดจากคนไข้ชายที่เข้ารัรบการตรวจหาเชื้อจาก รพ. อื่นและยืนยันผลเป็นบวก อยู่ระหว่างรอการติดต่อกลับเพื่อรับแอดมิท แต่กลับเดินทางด้วยรถสาธารณะมาขอตรวจซ้ำที่ รพ. ของหมอเอ

“พอพยาบาลป้อนข้อมูลใส่ระบบ ปรากฏมันเด้งขึ้นมาเลยว่าชายคนนั้นมีผลเป็นบวก เราเลยถามว่าทำไมต้องมาตรวจซ้ำอีก เขาตอบว่า ‘ก็ผมไม่มั่นใจว่าเป็นบวกจริงไหม เลยอยากมาตรวจซ้ำ’ ซึ่งนอกจากทำให้เสียงบประมาณของรัฐแล้ว ยังเป็นการขาดจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวมว่าบางอย่างคุณทำตามใจตัวเองไม่ได้ ทำแล้วคนอื่นเดือดร้อน การเดินทางมา รพ. ทำให้คนที่นั่งรถคันเดียวกับเขาต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง” หมอเอกล่าว

“การปล่อยให้คนไข้ตายโดยที่เราทำอะไรไม่ได้ มันซัฟเฟอร์”

การต่อสู้กับไวรัสร้ายที่การแพร่กระจายเชื้อยังไปไม่ถึง “จุดสูงสุด” และไม่มีใครคาดเดาว่า “จุดสิ้นสุด” จะอยู่ตรงไหนหลังเกิดการกลายพันธุ์ ได้สะสมความเครียดให้แก่บรรดา “นักรบเสื้อกาวน์” แบบข้ามปี

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ขนโลงศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ขึ้นเมรุที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.

“ครั้งแรก เราเครียดเพราะไม่รู้จะจัดการมันอย่างไร แต่ครั้งนี้เครียดเพราะกลัวว่าเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นในแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ ที่มีข่าวว่ามีศพถูกใส่ถุงวางไว้ข้างถนน หรือมีผู้ป่วยต้องตายอยู่ที่บ้านเพราะไม่มีเตียง แล้วเราจะทำอย่างไร วันนี้ถ้ายังป้องกันได้ไม่ดี ไม่ตระหนักว่าต้องป้องกันอย่างเต็มที่ สถานการณ์แบบนั้นอาจโผล่ในไทยในวันที่ระบบสาธารณสุขของเรารองรับไม่ไหวแล้ว เรากลัวว่าเราจะไม่มีอะไรไปช่วยเหลือคนไข้ แล้วต้องปล่อยให้คนไข้ตายไปโดยที่เราทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อทรัพยากรของเราเต็มหมดแล้ว” หมอเอกล่าวด้วยน้ำเสียงอัดอั้น

ในที่สุดความกลัวของหมอเอก็เริ่มเกิดขึ้นในไทย เมื่อปรากฏข่าว “อาม่า” เสียชีวิตภายในบ้านพักระหว่างรอเตียง ตามด้วยอดีตนักกีฬาอีสปอร์ตรุ่นบุกเบิกของไทยเสียชีวิต เพราะไปถึงมือหมอช้าเกินไป

“วันที่เราไม่มีห้องเหลือแล้ว การปล่อยให้คนไข้ตายโดยที่เราทำอะไรไม่ได้ มันซัฟเฟอร์ (ทุกข์ทรมาน) สำหรับคนเป็นหมอ ผมเชื่อว่าหมอหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน” เขาระบายความในใจ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศบค. แถลงยืนยันว่ามีเตียงเหลือว่างกว่า 2 หมื่นเตียงทั้งประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็แจ้งว่ามียอดผู้ป่วยกว่า 2 พันรายอยู่ระหว่างรอการติดต่อจาก รพ. เพื่อแอดมิท (ข้อมูลเมื่อ 24 เม.ย.) ทำให้บรรดาแพทย์ที่อยู่หน้างานจริง ๆ ออกมาตั้งคำถามกับชุดข้อมูลที่รัฐจงใจป้อนออกสู่สังคม

นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ “พวกที่ไม่ได้ทำเวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยแล้ว แต่ไปปรนนิบัตินักการเมืองเพื่อหวังผล ให้ข้อมูลที่เป็นจริงและสอดคล้องกับศักยภาพการแพทย์ของประเทศไทย”

ที่มาของภาพ, Facebook/นิธิพัฒน์ เจียรกุล

เช่นเดียวกับหมอเอที่ชี้ให้เห็นวงจรของปัญหาที่กำลังหมุนวนอยู่ในเวลานี้

ยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 หน้าใหม่ >> ยิ่งรักษาเร็ว คนไข้ยิ่งดี >> เกิดปัญหาเตียงไม่พอ ทำให้คนไข้ตกค้างอยู่ที่บ้าน >> เมื่อการรักษาล่าช้า เวลาคนไข้แย่ลง อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว >> เมื่อไปถึง รพ. ต้องเข้าไอซียู เพื่อหยุดอาการอักเสบของปอด >> แต่หยุดไม่อยู่แล้ว รักษาไม่ทัน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ๆ

การตัดสินใจของหมอ

นอกจากปล่อยคนไข้ไว้นอก รพ. อีกความกลัวของแพทย์รายนี้คือการตัดสินใจผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ อาจนำคนไข้บวกไปนอนหอผู้ป่วยธรรมดา เพราะสถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่วง 2 และวง 3 แล้ว ทำให้ไม่รู้เลยว่าต้นตออยู่ที่ไหน ใครเป็นโควิด-19 บ้าง คนไข้บางคนเดินมา รพ. ด้วยโรคอื่น หรือมาเพราะอุบัติเหตุ ไม่มีประวัติโควิด ข้อมูลที่มีก็มาจากปากคำของคนไข้ที่ได้จากการสอบโรคเท่านั้น

“เมื่อเตียงไม่พอ รองรับไม่ได้ทุกคน ที่สุดเราก็ต้องทำการคัดเลือกคนตามอาการว่าเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมาก เราอาจจะเอาคนนั้นไปหอผู้ป่วยรวม และทำให้คนไข้ธรรมดาและบุคลากรการแพทย์อื่น ๆ กลายเป็นผู้เสี่ยงอีก ชีวิตมันแย่มากนะถ้าเกิดกรณีแบบนั้น” หมอเอจินตนาการถึงอีกความกลัวที่ผุดขึ้นในหัว

เขายกตัวอย่างหลักสากลว่าด้วยการกู้ภัย ซึ่งต้องไม่ทำให้เกิดผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้น สถานที่กู้ภัยต้องมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง ถึงจะเข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ใช่จะช่วยคน 1 คน แล้วส่งคนอีก 10 คนเข้าไปตาย “เรากำลังรักษาโรคโควิด เราอยากให้คนไข้หาย ก็ไม่อยากเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ของเรา เพราะถ้าเขาต้องกักตัวเพราะการตัดสินใจของเรา ก็จะทำให้ต้องเสียบุคลากรไปถึง 14 วัน”

ท้ายที่สุดจึงเป็นหมอนั่นเองที่ต้องทำหน้าที่ “จิ้ม” ว่าจะให้ผู้ป่วยคนใดได้แอดมิทใน รพ. ภายใต้ข้อมูลอันจำกัดและแรงกดดันจากรอบด้าน นั่นหมายถึงความเป็นและความตายของคนที่ถูกเลือก

“ทรัพยากรเราไม่พอ มันล่มสลายไปแล้ว ตอนเลือกผู้ป่วยเข้ามา ก็ต้องเลือกคนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ถ้ารักษาช้าก็อาจจะตายได้ ยอมรับว่าการเลือกของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ… เรารู้สึก… (เงียบพักหนึ่ง) เราเสียใจกับความผิดพลาดบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ถ้าเราเลือกถูก คนไข้บางคนอาจไม่ต้องใส่ท่อ (ช่วยหายใจ) แต่ตอนนี้เราต้องเลือกจากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนหมู่มากของประเทศ เช่น ถ้ามีผู้ป่วยอายุ 20 ปี กับ 80 ปี ต้องใส่ท่อ ผมก็ต้องเลือกใส่ท่อให้คนอายุ 20 ปี มันคือการตัดสินใจบนหลักเหตุผลล้วน ๆ เพราะถ้าคนอายุ 20 รอด เขาจะมีอายุต่อไปอีกนาน ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง เมื่อถึงจุดที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ทุกคน หมอก็ต้องตัดสินใจด้วยหลักเหตุผล ไม่มี emotional (อารมณ์ความรู้สึก) ส่วนตัว” หมอเอระบุ

ชีวิตที่หายไป

ไม่ใช่เวลาเพียง 14 วันที่ รพ. ต้นสังกัดจัดทีมเวรโควิดแบบ “24/14” ที่ทำให้หมอเอต้องทำงานโดยไม่หยุดพัก แต่มันเป็นเช่นนี้มากว่าปีแล้วนับจากไวรัสร้ายเดินทางมาถึงไทย

ในขณะที่ผู้ป่วย/ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใช้เวลากักตัว 14 วันก็ได้หวนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องเก็บตัวตลอดไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โรคอุบัติใหม่ไม่เพียงทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสีย แต่ทำให้ชีวิตส่วนตัวของผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อถอดเสื้อกาวน์แล้วเขายังเป็น “สามี” “ลูก” และ “เพื่อน” ต้องหายไป

“แต่ก่อนเรานัดกินข้าวกับที่บ้าน มันก็เปลี่ยนไป แต่ด้วยความที่พ่อ แม่ และภรรยาผมเป็นหมอ เราก็เคยชินกับชีวิตแบบนี้ตามสมควร สมัยเป็นแพทย์ประจำบ้าน เรียนต่อยอด หนักกว่านี้ เจอครอบครัวน้อยกว่านี้ เราก็พอยอมรับได้ แต่ไม่มีอะไร 100%ทุกครั้งที่กลับบ้านก็ต้องรีบอาบน้ำ ดูแลตัวเองให้ดี”

เขาไม่ได้กังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือไม่ แต่กลัวจะเป็นพาหะนำพาให้คนอื่น ๆ กลายเป็นผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะครอบครัวและเพื่อนร่วมงานที่เป็นด่านหน้าเหมือนกัน

“อารมณ์มันเหมือนกับบรรดาลูก ๆ ที่ไปเที่ยว แล้วเอาโควิดกลับไปติดคนทั้งบ้าน ถ้ามองในทางกลับกัน เราเป็นหมอ เราทำงานด่านหน้า แล้วไปติดจากคนไข้ที่ไม่ยอมบอกความจริงแก่เรา แล้วเราก็กลับไปบ้าน มันจะแย่กว่านะ เพราะเรามีคนข้างหลังที่ต้องดูแล”

หากไม่มีโควิดระลอก 3 หมอหนุ่มวางแผนว่าปีนี้จะหาโอกาสไปพักผ่อนท่องเที่ยวในต่างประเทศ หลังมุมานะเรียน ๆ ๆ และทำงาน ๆ ๆ จนแทบจะไม่รู้จักคำว่า “วันหยุด” แต่แล้วทุกอย่างก็หายไปหมด

“มันคงดีไม่น้อย หากปีนี้เราสามารถจัดการชีวิตตัวเอง มีเวลาพักร้อนแบบคนในอาชีพอื่น ๆ บ้าง ได้ออกไปท่องเที่ยวสวิสฯ หรือญี่ปุ่นบ้าง หรือได้เรียนเสริมเพิ่มขึ้น หรือสามารถทำงานหาเงินได้มากขึ้น แต่พอโควิดมา ทุกอย่างเปลี่ยนไป เราก็ต้องวางแผนใหม่ และคงไม่หยุดแค่ 1-2 ปีนี้ คงเป็นอย่างนี้ไปสักพัก” เขายอมรับสภาพ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ทีมงานจิตอาสาสายด่วน 1668 ให้คำแนะนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางโทรศัพท์

รางวัลของการทำงานหนัก

ความเครียดตึงจากสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดา การทำงานหนักชนิดที่ยังไม่เห็นจุดหยุดพัก และความกลัวการสูญเสียทั้งกับผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของหมอในฐานะปุถุชนอย่างไม่อาจปฏิเสธ

สำหรับหมอเอ เขายอมรับภาวะความเครียดได้ดี มีงานอดิเรกบ้าง และมีครอบครัวให้บ่นเล็กน้อย (หัวเราะเบา ๆ) แต่ก็สัมผัสรับรู้ได้ว่าทุกคนเหนื่อยมาก ทว่าหากสามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ นั่นคือรางวัลสำหรับการทำหน้าที่แล้ว

“วันนี้เราส่งคนไข้ไป hospitel (รพ.เฉพาะกิจที่ดัดแปลงจากโรงแรม) ได้ 6 คน ก็ทำให้เราดีใจมากแล้ว เพราะนั่นหมายถึงเราจะมีเตียงรับคนไข้ที่อาจแย่ลง ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าบั่นทอนอะไรมากมาย แต่ถ้าต้องปล่อยคนให้ตายอยู่ข้างนอก อันนั้นคือซัฟเฟอร์” เขาย้ำคำนี้อีกครั้ง

ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาอยากสื่อสารถึงผู้ป่วย ซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมากขึ้น และมีอำนาจต่อรองมากขึ้นหากเทียบกับการระบาดระลอกก่อน ในขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยรองรับการต่อรองได้น้อยลง

“ตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่อาจไม่พอใจห้องของ รพ. รัฐ ไม่พอใจในสิ่งที่รัฐจัดให้ แต่มันสถานการณ์ที่คนมากมายกำลังจะตายอยู่ข้างนอก ไม่อยากให้มาต่อล้อต่อเถียงเรื่องห้องไม่ดี เรื่องไม่อยากอยู่รวมกับคนอื่น ขออยู่คนเดียว นี่เป็นสถานการณ์ที่ต้องให้ผู้อื่นด้วย เพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน” หมอเอวิงวอน

ส่วนสิ่งที่นักรบเสื้อกาวน์ฝากถึงคนไทยทั่วไปคือ เชื้อโรคไม่มีขา ถูกพาไปด้วยคน ซึ่งการระบาดหนักหน่วงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อในหมู่คนใกล้ชิดและแพร่เชื้อไปโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้การที่ไทยจะต่อสู้กับโรคได้ ประชาชนต้องเข้าใจและตระหนักว่ามันรุนแรง ไม่ใช่แค่เป็นหวัด

“ความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยมีเราเป็นต้นตอ มันไม่เหมือนเวลาเราเสียบุคคลที่รักไปด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ เช่น มะเร็ง โรคโควิดหลีกเลี่ยงได้ หากเราไม่พาไปหาครอบครัว มันจะดีกว่าไหมถ้าปู่ย่าได้อยู่กับเราไปอีกเป็นสิบปี” หมอเอกล่าวส่งท้ายด้วยคำถามชวนคิด