- วัชชิรานนท์ ทองเทพ & วสวัตติ์ ลุขะรัง
- บีบีซีไทย
ภาพผู้สูงวัยนอนรอความช่วยเหลือภายในบ้านตัวเอง ภาพคนหมดสติเสียชีวิตบนท้องถนน คลิปคนเปิดเฟซบุ๊กไลฟ์ร้องไห้ขอความช่วยเหลือให้ช่วยหาเตียงหลังพบว่าติดเชื้อโควิด-19 คือ ส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19
ทว่า ในระบบราชการที่ดูเหมือนมีข้อจำกัด การสื่อสารของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนสับสนในหลายครั้ง รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องสำคัญที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ และการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติออกมาขอโทษสังคมพร้อมกับยอมรับว่ามาจากข้อจำกัดที่มี
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ประชาชนหลายกลุ่มต้องออกมารวมตัวกันเป็นฟันเฟืองเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข และเพิ่มโอกาสการมีชีวีตของพวกเขาให้รอดจากเชื้อโรคร้าย
“คนเล็ก ๆ ก็มี ‘เส้นด้าย’ ถ้าร่วมกำลังกัน”
“เส้นด้าย” ถือเป็นกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มแรก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการเตียงเพื่อเข้ารับการรักษาตัวโรงพยาบาล ในขณะที่การระบาดระลอกที่ 3 เมื่อ เม.ย. กำลังส่อเค้ารุนแรงขึ้น
จุดที่เริ่มต้นที่นำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มนี้ คือ การเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ของ กุลทรัพย์ วัฒนผล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อัพ VGB” อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังครอบครัวใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะนำส่งตัวเขาไปรักษาตัวในโรงพยาบาลในระยะแรกที่เขาเริ่มมีอาการ แม้ว่าในที่สุดเขาจะสามารถหาเตียงได้ แต่ว่าก็ช้าไปเสียแล้ว
ที่งานศพของอัพ คริส โปตระนันทน์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต 6 ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ พบกับ กุลเชษฐ พี่ชายของอัพ จึงได้ชักชวนกันมาจัดทำกลุ่มประชาชนอาสาขึ้น แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ตรงหลายเหตุการณ์ของคริส
“มีเหตุการณ์ที่สังคมกังวลรวมถึงตั้งข้อสงสัยว่าทำไมคนเด่นคนดังคนรวยถึงได้รับการรักษาโรคโควิด-19 ได้รวดเร็ว ขณะที่คนธรรมดาอย่างน้องชายของผู้ร่วมก่อตั้งของเรา หรือคุณอัพ หารถไปส่งที่โรงพยาบาลไม่ได้ หาจุดตรวจไม่เจอ โทรศัพท์หาใครก็ไม่ติด พอโทรติดหาโรงพยาบาลแล้ว แต่กลับได้รับคำแนะนำว่าให้นั่งรถสาธารณะมาสิ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น” คริสย้อนเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ถ้าไม่มีวันนั้นก็ไม่มี “กลุ่มเส้นด้าย” ในวันนี้
เขาเล่าให้ฟังอีกว่า ในวันนั้นระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ยังไม่เต็มขีดจำกัด เป็นเพียงปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ขาดการประสานงานที่ดีทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถค้นหาเตียงในโรงพยาบาลได้ อาจจะมาจากนโยบายและการบริหารจัดการของรัฐ แต่อดีตนักการเมืองรายนี้กลับมองว่าเป็นเรื่องที่จัดการได้และสามารถทลายข้อจำกัด
“เมื่อทราบว่าการติดต่อคอลเซนเตอร์เป็นเรื่องยากลำบากเพียงใด พวกเราโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจขอบริจาคโทรศัพท์ที่ไม่ใช้ให้ส่งมาที่เรา ซึ่งโพสต์วันเดียว เราได้โทรศัพท์ 20 เครื่องและนำมาทำคอลเซนเตอร์ ส่วนเรื่องจุดตรวจก็มีอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต จะเริ่มต้นบริการรับส่งผู้ป่วยในวันแรกได้ 10 กว่าเที่ยว”
จาก 26 เม.ย. ที่เส้นด้ายก่อตั้งโดยมีคนร่วมงานเพียง 3-4 คน ถัดมาเพียงวันเดียวเพิ่มเป็น 20 คน มาถึงปัจจุบันที่ราว 80 คนที่ดูแลใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล และรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปสถานพยาบาลทุกรูปแบบราว 2,200 ราย ช่วยเหลือให้คำแนะนำและแนวทางจากคอลเซนเตอร์กว่า 13,000 กรณี ใช้รถยนต์วิ่งช่วยเหลือมาแล้วกว่า 5,000 เที่ยว
“ถ้าวันนั้นมีรถแบบที่เส้นด้ายทำในวันนี้ พี่อัพจะไม่เสีย” คริสพูดแล้วถอนหายใจ
ขอเป็น “ด้ายที่สนและเย็บให้กับทุกฝั่ง”
เดิมที กลุ่มอาสาสมัครเส้นด้ายคาดว่าจะจบภารกิจการเป็นตัวช่วยรองรับส่วนงานที่ล้นออกมาจากภาครัฐเพียงระยะเวลา 1-2 เดือน เพราะคาดว่าการระบาดระลอกนี้รัฐจะบริหารจัดการได้
แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลตาที่ติดเชื้อง่ายระบาดไวเป็นวงกว้าง ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ภารกิจของเส้นด้ายก็ยังคงดำเนินอยู่คือการนำคนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อให้มากที่สุด เพราะยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยชีวิตคนได้เพิ่มขึ้น
คริสเล่าถึงกรณี “ลุงทวีป” และครอบครัวที่กลุ่มเส้นด้ายช่วยเหลือเมื่อเดือนที่แล้วเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นนี้สำคัญอย่างไร
ทวีปอายุ 60 ปีเศษ มีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อาศัยในย่านจตุจักรกับครอบครัว 3 คนซึ่งล้วนเป็นผู้สูงวัยและเป็นกลุ่มเปราะบาง ในจำนวนนั้นเป็นผู้ป่วยติดเตียงจากอาการเส้นเลือดสมองตีบ อีกคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ ส่วนอีกคนมีอาการออทิสซึม เพราะความเป็นห่วง ทวีปจึงต้องการนำพวกเขาไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยหวังว่าหากพบเชื้อได้เร็วจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
ทว่า ทวีปกลับไม่สามารถหาจุดตรวจหาเชื้อได้เลย เพราะไม่มีใครยอมตรวจให้ แม้เป็นจุดตรวจในโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม เพราะขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายว่า “ตรวจหาเชื้อเจอที่ไหน ที่นั่นต้องรักษา”
เมื่อกลุ่มเส้นด้ายทราบเรื่อง ก็พาพวกเขาไปตรวจและผลปรากฏว่าทั้ง 4 คนติดเชื้อทั้งหมดและนำส่งตัวไปยังโรงพยาบาลบุศราคัมเพื่อรักษา แต่โชคไม่เข้าข้างนัก มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่หายดีและกลับบ้านได้ ส่วนแม่ของทวีปเสียชีวิตระหว่างการรักษาตัว
“ภาพสะเทือนใจที่ผมเห็นในวันที่รับลุงทวีปกับครอบครัวคือ ลุงทวีปในวัย 60 ปี ต้องแบกคนทั้งสามลงมาจากชั้นสองเพื่อนำไปโรงพยาบาล” คริสกล่าวและเล่าต่อว่า
“เรารู้สึกว่า คน ๆ หนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์ปกติอยู่แล้ว อยู่ดี ๆ มาเจอกับโควิดอีก มันทำให้เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่โหดร้ายมาก ยิ่งเมื่อรู้ว่าลุงทวีปหาจุดตรวจหาเชื้อมาแล้ว 7 วัน ผมไม่เข้าใจว่าในสังคมไทยเราปล่อยให้สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ภาพการช่วยเหลือของกลุ่มอาสาสมัครและสภาพความเป็นจริงของกรณีต่าง ๆ ในพื้นที่ซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านเพจของกลุ่มเส้นด้ายและขยายต่อด้วยสื่อมวลชนต่าง ๆ กลายเป็นพลังทางสังคมที่ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ได้ยินเสียงของผู้ที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของรัฐได้ชัดเจนขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และการรับฟังเสียงของกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย
“เราไม่ใช่ระบบหลัก เราทำเท่าที่รัฐทำแล้วมันล้นออกมา แล้วเราเข้ามาซับส่วนที่เหลือ เราเป็นด้ายที่สนและเย็บให้กับทุกฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชนมาเจอกัน” คริสกล่าว
ล่าสุด กลุ่มเส้นด้ายได้จัดตั้งศูนย์รอยต่อเพื่อการรอคอยที่ไม่โดดเดี่ยว เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด สีเหลือง เหลืองเข้ม และสีแดง และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รอคอยจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ ศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่อาคารธัญรีย์ สถาบันพระประชาบดี รังสิต ธัญบุรี จ.ปทุมธาน
ศูนย์ดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ปทุมธานี และอาสาสมัครด้านต่าง ๆ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นักรังสีเทคนิค โภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักจิตวิทยา นักเทคนิคการแพทย์
นอกจากนี้ยังจะขยายศูนย์พักคอยไปยังจุดอื่น ๆ ด้วย เช่นที่เขตพญาไทย และยังมีโครงการรถเอ็กซ์เรย์ปอดเคลื่อนที่โดยสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยระดับต่าง ๆ เพื่อร่วมการวินิจฉัยว่าปอดติดเชื้อแล้วหรือยังจะช่วยให้สามารถส่งตัวผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะมีอาการหนักเข้าโรงพยาบาลได้ทันเวลา โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการเลวร้ายลงก่อน
คนดังรวมพลังอาสา “เราต้องรอด”
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบแบบไม่เลือกหน้า ไมว่าคนจน คนรวย หรือคนดังก็ไม่ได้รับการยกเว้น หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ไดอานา จงจินตนาการ หรือ “ได๋” พิธีกรชื่อดังที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากที่ธุรกิจจัดกิจกรรมทางการตลาดต้องยุติลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับไดอานา เธอและเพื่อนในวงการบันเทิง คือ “จ๊ะ” นงผณี มหาดไทย นักร้องลูกทุ่ง และ “นิหน่า” สุฐิตา ปัญญายงค์ พิธีกรและนักแสดงร่วมกันจัดทำเพจ “เราต้องรอด” ขึ้นเพื่อเปิดเป็นช่องทางช่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประสานงานให้กับผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือฮอสปิเทล และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญและยารักษาโรคและเครื่องวัดระดับออกซิเจนสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ก็จะประสานหาฌาปนกิจสถานให้ด้วย
ไดอานาแจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่ายังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์กับสื่อ แต่สิ่งที่ทีมงานของเธอกำลังทำงานเพื่อสังคมคือการขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้มีชื่อเสียงรายอื่น ๆ และหน่วยงานรัฐ เช่นโครงการจัดหาศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อที่รอเตียง ร่วมกับทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ “หมอแล็บแพนด้า” ซึ่งศูนย์พักคอยแห่งที่ 4 ยังได้รับความร่วมมือกับตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชื่อดัง และสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดังอีกด้วย
เมื่อโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาคนไร้บ้าน-เร่ร่อน
นอกจากผลกระทบทางตรงจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว มาตรการเข้มงวดโดยภาครัฐที่ไม่มีมาตรการเยียวยาและการรองรับอย่างเหมาะสม เช่น การล็อกดาวน์สถานประกอบการต่าง ๆ แคมป์คนงานในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงยังกลายเป็นปัจจัยผลักดันให้กลุ่มแรงงานบางส่วน และกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจต้องกลายเป็นคนไร้บ้านและเร่รอนมากขึ้น
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนบอกกับบีบีซีไทยว่านับตั้งแต่เกิดการล็อกดาวน์เป็นต้นมา พบว่ามีคนเร่ร่อนหน้าใหม่มากขึ้นราวสองเท่า โดยประเมินจากการที่มูลนิธิแจกอาหารแก่กลุ่มคนไร้บ้านและร่อนเร่ในจุดหลักจากปกติจะมีจำนวนเพียง 300 ราย แต่ตอนนี้เพิ่มเป็นราว 600 ราย
“แรงงานบางคนที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะพวกเขาถูกไล่ออกจากห้องเช่าหลังจากค่ามัดจำล่วงหน้าครบกำหนดแล้ว แต่พวกเขาต้องตกงานจากมาตรการปิดสถานประกอบการต่าง ๆ” เธอกล่าว
โดยปกติแล้วกลุ่มคนเร่ร่อนและบุคคลไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว บางคนอาศัยตามถนนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่มีเอกสารระบุตัวตน เช่น บัตรประชาชน ยิ่งสร้างความลำบากให้กับพวกเขาในช่วงการระบาดของโรคโควิดทั้งการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อรวมทั้งการจัดสรรวัคซีนต้านโควิด-19 รวมทั้งบางครั้งตราบาปที่พวกเขาจะต้องเผชิญจากการถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม
อัจฉรากล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยจำนวนอาสาสมัครเพียง 10 คนเท่านั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อสภาพการณ์ในขณะนี้ ยังต้องขอความร่วมมือกับกลุ่มอาสาสมัครอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเส้นด้ายในกรณีหาตรวจเชื้อแล้วพบว่าติดโควิด-19 ก็ต้องส่งตัวไปสถานพยาบาล
ล่าสุดมูลนิธิได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เขตกรุงเทพฯ เทศกิจ เพื่อให้คนยากไร้ คนเร่ร่อน คนด้อยโอกาส คนตกงาน อาสาข้างถนน ในละแวกราชดำเนิน ท่าน้ำนนทบุรี บางกอกน้อย ลาดพร้าว จตุจักร พหลโยธิน บางแค ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนพระราชทานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มูลนิธิกำลังเผชิญในขณะนี้ไม่ต่างจากกรณีคนทั่วไปคือ การใช้เวลานานในการประสานงานเพื่อพยายามผลักให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าสู่ศูนย์พักคอย ให้ได้ เพราะคนเร่ร่อน ไม่มีบ้าน
ทั้งหมดนี้ คือส่วนย่อย ๆ ส่วนหนึ่งของประสบการณ์และภาพสะท้อนถึงพลังของอาสาสมัครที่หวังว่าจะเป็นรอยต่อช่วยเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดของผู้คนที่อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แม้จะยังไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด