MS Chonburi กลายเป็นสโมสรอีสปอร์ตที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวบปีที่ผ่านมา พวกเขาคว้าตัวผู้เล่นชั้นนำเข้าสู่ทีม และกวาดแชมป์รายการใหญ่มากมายหลายรายการ ท่ามกลางการเติบโตของวงการอีสปอร์ต ที่เริ่มจะเห็นเด่นชัดมากขึ้นในประเทศไทย
“โรจน์ พุทธคุณ” คือ ผู้ก่อตั้ง MS Chonburi มองว่าการที่จะทำให้ “อีสปอร์ต” เติบโตเข้าไปอยู่ในสายเลือดคนไทยประกอบไปด้วยปัจจัยหลายด้าน และใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่คนไทยให้ความสนใจอีสปอร์ตสูงมาก แต่ก่อนหน้านี้เม็ดเงินหมุนเวียนยังมีจำกัด…
ทว่ายุคของอีสปอร์ต ที่แท้จริงกำลังจะเริ่มขึ้น… และเขาจะมาเปิดมุมมองต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ต รวมถึงทีมของเขาเอง หลังจากก่อตั้งมาได้ 3 ปี
“ช่วงนั้นเทรนด์ของอีสปอร์ตยังไม่เป็นที่นิยม ยังไม่มีใครที่เป็นผู้ใหญ่ลงมาสนใจ มีแต่เด็กหนุ่มที่มีแพสชั่นหาทุนกันเอง”
“เราก็ดูว่าเทรนด์โลกมันไป แต่ไทยไม่ขยับ เราก็เลยมองว่าตรงนี้น่าสนใจ ถ้าทำให้เป็นลักษณะทีมอีสปอร์ตมืออาชีพ ทำให้เป็นโปรเฟสชั่นแนลจริง ๆ มันน่าจะดี เราก็เลยมองเห็นว่าการทำแบบนี้โดยการมาหลักการสร้างทีมกีฬาอาชีพอย่างฟุตบอลมาปรับใช้ น่าจะช่วยยกระดับวงการอีสปอร์ตไทย”
“ประจวบเหมาะกับช่วง 3 ปีก่อน ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และไทยลีก จัดทำลีกเกมฟุตบอล PES (Pro Evolution) หรือ E- League ซึ่งมีทีมสโมสรฟุตบอลไทยอยู่ในเกมด้วยขึ้นมา ซึ่งเราก็เห็นว่าเราเป็นเรื่องใกล้ตัวจับต้องได้ง่าย สำหรับคนไทยที่ยังไม่มีความเข้าใจในอีสปอร์ตมากนัก”
“ฟุตบอล” กีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งคนไทย ต้องใช้ฟุตบอลสร้างวงการอีสปอร์ต
E- League ก็คือการแข่งขันเกม PES (PES – PRO EVOLUTION SOCCER) “โปร อีโวลูชั่น ซอคเกอร์ หรือ ที่เรียกอย่างคุ้นเคยว่า “วินนิ่ง” เป็นไรที่คุ้นชินกับคนไทย เพราะเป็นเรื่องฟุตบอลแล้วเราก็ทำฟุตบอลมาประกอบกับมองว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นการทำความเข้าใจกับคนอื่นได้ง่าย เพราะว่าโดยเนื้อหาของเกม รูปแบบการจัดการ น่าจะทำให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตโตได้
พูดง่ายๆ ก็คือคิดว่าเกมกีฬา น่าจะทำให้เห็นภาพชัดมากกว่าในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตไปสู่วงกว้าง ตอนนั้นถ้าจำกันได้จะมีปัญหาเด็กติดเกมกับเรื่องของการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ที่คาบเกี่ยวกันมาก แล้วก็จะมีประเด็นเกมที่มีความรุนแรงกับไม่มีความรุนแรงช่วงนั้นเป็นกระแสสังคมค่อนข้างเยอะ เราก็เลยคิดว่าถ้าทำทีมอีสปอร์ต ขึ้นมาฟุตบอลก็น่าจะตอบโจทย์เกมฟุตบอลน่าจะตอบโจทย์
ความตั้งใจแรกและความตั้งใจเดียว ไม่เกี่ยวกับเรื่องผลการแข่งขัน หรือรางวัล เราแค่ต้องการสร้างมาตรฐานการทำทีมอีสปอร์ตในไทย อันนี้คือความตั้งใจที่กระโดดเข้ามา เหตุผลที่ต้องสร้างมาตรฐานก็เพราะ สมัยนั้นทีมอีสปอร์ตเป็นการเล่นกันเองระหว่างเด็กกับเด็ก เรื่องสัญญาก็เห็นข่าวมีปัญหากันบ่อยๆ การจัดการแข่งขันมีการไม่จ่ายตังค์ เงินรางวัลไม่ได้ เด็กไปแข่งไม่ได้รับการรับรอง รู้สึกว่าไม่เข้าที่เข้าทาง ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้ายังเป็นแบบนี้ ก็จะไม่มีพื้นฐานที่ดีพอที่จะก้าวไปข้างหน้า เราก็เลยคิดว่าเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ทำเองเลยดีกว่า เริ่มทำจากตัวเราเอง คือ “ต้องเซตมาตรฐานอีสปอร์ต”
ความตั้งใจไม่ได้มองว่าเราจะต้องโด่งดังเป็นแชมป์ แต่ต้องการเอาระบบบริหารแบบโปรเฟสชั่นแนล สปอร์ต คลับมาใช้ เพื่อลองดูว่าถ้าเราบริหารแบบต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้จะดีไหม ?
ผนึกกำลังกับ “ชลบุรี เอฟซี”
ทีมแรกเลยที่ก่อตั้ง คือ “เอ็มเอส เซอร์เบอรัส” (MS Cerberus) ก่อนจะผนึกกำลังเป็น เอ็มเอส ชลบุรี (MS Chonburi)
ต้องเล่าย้อนไปก่อน ตอนนั้นโมเดลของการทำลีกที่ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยจัดตั้ง เป็นโมเดลที่ทำทีมอีปสอร์ตบวกกับทีมฟุตบอลในเมืองไทย จัดการแข่งขัน E-League เราก็มีโอกาสมากมายเข้ามาเพราะเป็นเรื่องใหม่ก็ไปคุยกับสโมสรฟุตบอลหลายสโมสร แต่ว่าเรามาชอบเห็นตรงกันกับแนวทางการทำทีมของชลบุรี เอฟซี เพราะปรัชญาของชลบุรีก็คือการสร้างรากฐานของวงการฟุตบอลเหมือนกันด้วยการสร้างอะคาเดมี, สร้างระบบความเป็นมืออาชีพ, วางรากฐานเรื่องของการเซ็นสัญญานักฟุตบอล พอได้มีโอกาสได้คุยเบื้องต้นกับ “จี” – จีระศักดิ์ โจมทอง ผอ.ฝ่ายการตลาดและสื่อ สโมสรชลบุรี เอฟซี มีอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกันก็เลยพาไปคุยกับ อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสร ชลบุรี เอฟซี ซึ่งทางพี่อรรณพ ก็เปิดกว้างให้โอกาสกับทางเอ็มเอส เซอร์เบอรัส ได้เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกันในการเข้าร่วมการแข่งขัน E-League
พอทำไปประมาณปีสองปี ก็มีการพูดคุยกันว่า เราเดินทางมาด้วยกัน ไม่มีปัญหากันเลย เป็นเรื่องที่ดีของทั้งคู่ ทางชลบุรีก็มองว่าอุตสาหกรรมอีสปอร์ตเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตอนนั้นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็เริ่มขยับขยายสร้างทีมอีสปอร์ตขึ้นมาก็เลยจับมือกันบ้าง
ประมาณ 3 ปีที่แล้ว มีสโมสรฟุตบอลในต่างประเทศหลายสโมสรก็กระโดดเข้ามาอุตสาหกรรมเกม อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง หรือแม้แต่ เดวิด เบคแคม เริ่มลงทุนอุตสาหกรรมอีสปอร์ตมากขึ้น มันก็เลยเป็นอย่างที่บอกเทรนด์โลกขยับเพราะเม็ดเงินมันเยอะมีความเจริญและอัตราเติบโตค่อนข้างสูง เข้าถึงคนรุ่นนี้ค่อนข้างมาก ผนวกกับเราไปคุยกับชลบุรีเป็นการขยายฐานแฟนบอลไปอยู่ในเจนใหม่ โดยเอาเกมฟุตบอลเป็นตัวนำร่องเข้าไปแล้วให้ทำความเข้าใจทำความรู้จักนักกีฬาสโมสร เราโตมากอีสปอร์ตได้สร้างความท้องถิ่นนิยมก็เลยไปได้ดีด้วยกัน เสียงตอบรับในขณะนั้นดีมาก อย่างเวลาเราแข่งขันตอนนั้นแข่งที่เอสพลานาด มีแฟนบอลชลบุรี เหมารถตู้มา 4 คันรถ แทบจะเต็มความจุทุกแมตช์ที่แข่งขัน นั่นจึงเป็นที่มาของการเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการร่วมกันจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นก็มีการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เราวางรากฐานได้แน่นมากพอ จึงขยายไปเกมอื่นที่มีความเป็นอีสปอร์ต และเป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้น ทั้ง PUBG, PUBG Mobile, FIFA, DOTA2, Tekken รวมไปถึง Hearthstone เรามองว่ามีทางที่จะไปได้ เราก็ไปด้วยกัน
การจับมือกับ “ชลบุรี เอฟซี”
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้น่าจะเป็นระยะเวลาที่ผ่านมา 2 ปีที่จับมือกับชลบุรี เอฟซี มองว่ามาถูกทางในเรื่องโครงสร้างการบริหารนักกีฬาเพราะมีการเซตทีมบริหารที่ชัดเจน มีโครงสร้างที่ชัด ตำแหน่งของทีมบริหาร โครงการสร้างการดูแลนักกีฬาทุกอย่าง ผู้จัดการทีม, โค้ช, นักจิตวิทยา เราจัดหาให้นักกีฬามีการทำสัญญาทุกๆคน ตรงนี้มองว่าเราทำได้ดี เชื่อว่าในเมืองไทยโครงสร้างแบบนี้มีไม่ถึง 5 ทีมในไทย ที่ทำได้และยอมรับโครงสร้างมี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต , Bacon Time, MiTH ที่มีโครงสร้างคล้ายกัน พอเราขยับเข้ามาได้มาตรฐานมากขึ้น ทีมใหญ่ก็ขยับตัว เพราะเขารู้ว่าถ้าทำแบบเดิม นักกีฬาก็สนใจเข้ามาอยู่กับเรามากกว่าเขา
ในช่วงเวลาที่จัดการคิดว่าเราทำได้ดีไม่มีอะไรบกพร่อง ส่วนการวางมาตรฐานที่ตั้งใจเข้ามา เรากับทางชลบุรีคุยกันหลายเรื่อง ถ้าไม่มีเรื่องสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะได้เห็นอะคาเดมี อีสปอร์ต ที่ชลบุรี ซึ่งอันที่จริงเป็นแผนงานในปี 2021 แต่มีโควิดจึงต้องระงับไป หรือ การสร้างสนามเหย้าอีสปอร์ต บริเวณสนามฟุตบอลของสโมสรชลบุรี เอฟซี แต่สุดท้ายกลับสู่สถานการณ์ปกติเราก็จะกลับมาทำ อย่างที่บอกเราตั้งใจจะสร้างรากฐาน และโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ คือ สิ่งสำคัญสำหรับสโมสรกีฬาอาชีพ แม้จะมีปัญหาเข้ามา ปัจจัยภายนอกไม่สามารถจะมาหยุดเป้าหมายเพราะทางเราเอง ผู้บริหารชลบุรีเห็นตรงกัน ต้องเปิดกว้างให้เด็ก ๆ และคนที่สนใจ ได้มีเส้นทางที่ชัดเจนว่าการจะเข้ามาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ควรจะต้องทำอย่างไร เริ่มต้นที่ตรงไหน เพื่อให้มีบรรทัดฐาน หรือเส้นทางที่ชัดเจน ตรงนี้เราจะสร้างเอาไว้
ชลบุรี เอฟซี ถ้าในมุมฟุตบอลมีจุดเด่นการสร้างอะคาเดมี มีโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล เป็นไอคอนในการสร้างระบบอะดาเดมี ถ้า MS Chonburi จะสร้างอะคาเดมีจะต้องดึงใครมาเป็นคนที่สร้างระบบนี้ ? นี่เป็นคำถามที่ผมเคยตั้งกับตัวเอง
ตัวผมเองพยายามขวนขวายในการทำทีม แต่ละประเภทเกมจะมีองค์ประกอบ คือ ผู้จัดการ, โค้ช, นักวิเคราะห์ 3 สิ่งนี้ประกบนักกีฬาแต่ละประเภทเกม ไม่ว่าจะเล่น FIFA online, DOTA2, PUBG เป็นโครงสร้างที่สร้างไว้
ตัวโครงสร้างหลักจริงๆ ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของจีน เพราะทางจีนมีการสร้างอะคาเดมีในลักษณะโรงเรียนสอนหลักสูตรอีสปอร์ตเอาไว้ ก็มีการพูดคุยกันไว้เอาหลักสูตรนั้นมาใช้ในประเทศไทย มีการดึงโค้ชจีนเข้ามา เพราะว่าการทำอะคาเดมีลักษณะนี้คนไทยยังไม่มีความสามารถพอในการถ่ายทอด เพราะที่ไทยเท่าที่ผมทราบยังไม่มีหลักสูตรการสร้างนักกีฬาอีสปอร์ตขึ้นมา ไม่มีแฮนด์บุ๊ก ซึ่งในต่างประเทศมีแล้วพร้อมทำเป็นอาชีพ ในจีนตอนนี้เด็กๆบางกลุ่มแทนที่จะไปเรียนฟุตบอล พ่อแม่บางกลุ่มพาลูกไปเรียนปั้นเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตโดยเฉพาะ ในหลักการเดียวกันแบบนี้
จีนจึงสามารถวางโครงสร้างได้ดีกว่า ถ้าในมุมนี้อยากจะดึงคนจากจีนมาสร้างในเมืองไทย เหตุผลก็เพราะนักกีฬาของจีนไประดับโลกในทุกเกม ถูกจริตกับเกมฝั่งเอเชีย ตรงนี้สามารถต่อยอด เป็นการโยนความสัมพันธ์เส้นทางของนักกีฬา เป็นเรื่องของการวางรากฐานสร้างมาตรฐาน ไม่ใช่แค่ว่าเล่นเกมเก่งและเป็นโค้ช จริงๆคนที่เป็นโค้ชต้องลงรายละเอียดและสามารถถ่ายทอดได้ ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเก่ง ถ่ายทอดอย่างเป็นลำดับเพราะฉะนั้นจะแตกต่างกับโค้ชคนไทย ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่เก่ง คนไทยเล่นเกมเก่ง คนที่เป็นโค้ชได้ก็มีแต่ยังมีไม่มากพอ อาจจะยังไม่ได้ผ่านหลักสูตรการเป็นโค้ช ถ้าไม่เคยผ่านการรับรอง มันก็ยากที่จะทำให้คนอื่นเชื่อได้ว่าเราสามารถสร้างโดยใช้หลักสูตรนี้จริงๆ
MS Chonburi ประสบความสำเร็จแค่ไหน ?
หลังจากผ่านมาสองปี MS Chonburi แบรนด์เริ่มติด ผลงานการแข่งขันดี นักกีฬาหลายคนอยากร่วมทัพ ถ้าเปรียบกับฟุตบอลเราน่าจะเป็นลิเวอร์พูล ใช้เงินได้นะ แต่เน้นการสร้างของเราเองด้วย เราต้องการเด็กถิ่น เรารับที่ว่าอยากจะเล่นให้เรารึเปล่า และศรัทธาในทีมเรา
อย่างที่บอกไปว่า เราตั้งใจทำทีมโดยเริ่มจากรากฐาน และมีปรัชญาที่คล้ายๆ สโมสรฟุตบอลชลบุรี เรามุ่งมั่น ที่จะทำให้ทีมนี้ ในทุก ๆ เกมที่เราทำไม่ว่าจะเป็น PUBG, PUBG Mobile, FIFA Online, DOTA2, Tekken หรือ Hearthstone เราตั้งใจทำให้ดี ไม่ใช่แค่ทำเพื่อว่าบอกว่าแบรนด์ MS Chonburi มีทีมเกมหลายประเภท วันแรกที่เราเริ่ม เราต้องการทำให้โครงสร้างมันเป็นมืออาชีพ เมื่อมันประสบความสำเร็จในด้านนั้นแล้ว ต่อมาก็คือ เรื่องของการทำให้ผลงานของทีมมันดีตามไปด้วย เพราะการสร้างแบรนด์กีฬาให้แข็งแกร่ง ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าผลการแข่งขัน
สิ่งที่ยังขาด และเป็นปัญหา คือ 1.สื่อ ผมมองว่าเรายังมีสื่อเกี่ยวกับเกมน้อยเกินไป ผมไม่ได้หมายถึงเพจต่างๆ ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ทำเนื้อหาเองอะไรเองนะ ผมหมายถึงสื่อจริงๆ ซึ่งยังมีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น กีฬาฟุตบอล ส่วนของเกมหรืออีสปอร์ต ที่มีอยู่ในตลาด และทำได้ดีก็มี Gaming Dose, แวดวงอีสปอร์ต ซึ่งผมก็ชื่นชมพวกเขามาก ๆ แต่โดยรวมมันยังมีจำนวนน้อยไป การยิ่งมีสื่อเข้ามามากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น คนสนใจมากขึ้น และนั่นแหละท้ายที่สุดมันจะช่วยปรับเปลี่ยนแนวคิดของเหล่าสปอนเซอร์ได้เอง ซึ่งวันนี้ผมก็ลงทุนกับเพจเกม และอีสปอร์ต เพิ่มขึ้นมาในชื่อ เล่นเกม (Len.game) ด้วย
2. สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตในไทยครบถ้วน ตัวแปรสำคัญ คือ อีสปอร์ตออแกไนซ์เซอร์ หรือเกมมิงออร์แกไนเซอร์ ที่จะจัดแข่งขันให้สนุก มีเงินรางวัลภายในประเทศสูง ๆ สร้างความจูงใจให้คนทั่วไปมากขึ้น แน่นอนว่ารวมถึงแบรนด์ต่างๆ
ทุกๆ อย่างเหล่านี้ ทั้งนักกีฬา, ทีมที่มีความเป็นมืออาชีพ, สื่อที่ให้ความสำคัญสนใจอย่างแข็งขัน, ผู้จัดการการแข่งขันที่หลากหลาย และพร้อมสู้กันด้วยกลยุทธ์ที่จะทำให้ทัวร์นาเมนต์ของตัวเองน่าสนใจ ดึงดูดคนและแบรนด์ต่างๆ หากทำงานร่วมกันครบ Eco – System มันจะทำให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตไทยเติบโต อิมแพคแบบวงกว้างแน่นอน และผมเห็นว่ามันกำลังจะเป็นแบบนั้น
จากวันแรกที่เข้ามาคุ้มค่ากับสิ่งที่ทุ่มเทไปหรือยัง
ถ้าถามว่า ปัจจุบัน มันคุ้มค่าไหม ทางด้านเม็ดเงินยังบอกไม่ได้ แต่คุ้มค่าทางจิตใจคุ้มค่าแน่นอนแต่อนาคตเม็ดเงินจะกลับมาไหม ผมว่ามีแน่นอนเพราะตัวอุตสาหกรรมมันขยาย แล้วสิ่งที่เราทำรอไว้มันตอบโจทย์ในการเติบโตได้แน่นอน มันเป็นการคุ้มค่าในระยะยาวสิ่งที่ทำอยู่มันเท่ากับว่า ผมได้คุ้มค่าทางจิตใจแล้ว ผมทำตามแนวทางที่ต้องการตั้งแต่ต้นกับสิ่งที่มันจะทำให้ธุรกิจที่มีความยั่งยืนในตัวของมันเองได้ ในอนาคตพี่ว่ามันทำได้แน่นอน