มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติกำลังจะกลับมาแล้ว (แม้ว่าจะกระท่อนกระแท่นมากหน่อย) หลังต้องเลื่อนการแข่งขันมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มด้วยกัน
ระยะเวลาที่ทิ้งห่างนานขนาดนี้ บางทีอาจจะทำให้เราลืมรายละเอียดของการแข่งขันไปบ้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรามาทบทวนรายละเอียดและเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยกันอีกสักครั้งดีไหม
準備はいいですか? (จุมบิวะ อิเดสกะ?)
พร้อมแล้วหรือยัง?
แม้จะใกล้ถึงวันแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามที่ยังมีหลายคนสงสัยว่า ตกลงแล้วโอลิมปิกเกมส์ยังมีการแข่งขันกันอยู่ใช่ไหม
คำตอบคือใช่สิ! และจะเริ่มในวันศุกร์นี้แล้วด้วย!
โดยกำหนดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 (Games of the XXXII Olympiad) นั้นมีขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม ซึ่งเป็นพิธีเปิดการแข่งขันและจะไปสิ้นสุดการแข่งขันในพิธีปิดวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคมนี้ กินระยะเวลารวมทั้งสิ้น 17 วัน
เพียงแต่ก็จะมีกีฬาบางประเภทที่เริ่มแข่งขันกันก่อน เช่น ฟุตบอลหรือซอฟต์บอล เพราะถ้าแข่งตามโปรแกรมแล้วเกรงว่าจะไม่ทันการ
สำหรับโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 2 หลังเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 1964 ซึ่งการเป็นเจ้าภาพครั้งนั้นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว ที่พลิกชะตาชีวิตจากประเทศที่แพ้สงครามให้กลายมาเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าที่สุดชาติหนึ่งของโลก
ส่วนกีฬาพาราลิมปิกหรือกีฬาคนพิการจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม จนถึงวันที่ 5 กันยายน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นช่วงที่โควิดยังคงระบาดรุนแรง ทำให้ทางการญี่ปุ่นประกาศห้ามไม่ให้มีผู้ชมเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ ทำให้เป็นโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะไม่มีผู้ชมแม้แต่คนเดียว…
เกือบทั้งหมดการแข่งขันจะมีขึ้นที่โตเกียวเป็นหลัก โดยหัวใจหลักคือสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ที่จะใช้ในพิธีเปิดการแข่งขัน แข่งกรีฑา และฟุตบอล รวมถึงพิธีปิดการแข่งขัน โดยสนามแห่งนี้สร้างด้วยวัสดุผสมระหว่างเหล็กและไม้ โดยไม้ที่ใช้ในการสร้างหลังคานั้นนำมาจากทั้ง 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้จะมีสนามกีฬาอาริอาเกะ เออร์บาน สปอร์ต ปาร์ก สำหรับแข่งจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์และสเกตบอร์ด, สนามกีฬา อาโอมิ เออร์บาน สปอร์ต ปาร์ก แข่งกีฬาปีนเขาและบาสเกตบอล 3×3 (กีฬาใหม่)
สนามที่เคยใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี 1964 ก็ยังคงใช้อยู่ถึง 4 แห่ง ได้แก่ โตเกียว เนชันนัล ยิมเนเซียม (เทเบิลเทนนิส), โยโยงิ เนชันนัล สเตเดียม (แฮนด์บอล), นิปปอน บูโดกัน (ยูโดและคาราเต้) และ Equestrian หรือสนามขี่ม้า
ยังมีการกระจายไปแข่งต่างจังหวัดด้วย โดยเบสบอลและซอฟต์บอลจะแข่งที่สนามฟุกุชิมะ อาซุมะ เบสบอล สเตเดียม จังหวัดทางตะวันออกของญี่ปุ่นที่เคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2011
ฟุตบอลยังกระจายไปแข่งที่จังหวัดมิยางิ อีกเมืองที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ รวมถึงที่คาชิมาซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียว 100 กิโลเมตรด้วย
ส่วนไกลที่สุดคือการแข่งขันฟุตบอลในรอบแบ่งกลุ่มและการแข่งกรีฑาประเภทการเดินและการแข่งวิ่งมาราธอน จะจัดที่เมืองซัปโปโร ทางตอนเหนือของประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นเหมาะสมมากกว่าจะแข่งที่โตเกียวซึ่งร้อนจัดในเวลานี้
เพราะเป็นสุดยอดมหกรรมกีฬาของโลก เราจึงจะได้ดูการแข่งขันกีฬาเยอะแยะมากมายที่เป็นกีฬาในระดับสากล (ไม่ใช่กีฬาพื้นบ้าน) มากถึง 33 ชนิดกีฬา และ 339 ประเภทการแข่งขัน
โดยในจำนวนนี้มีกีฬาใหม่ถึง 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ กีฬาสเกตบอร์ด, เซิร์ฟ, ปีนหน้าผา, คาราเต้, เบสบอล และซอฟต์บอล (อ่าน ‘รู้จัก 6 ชนิดกีฬาใหม่ที่จะแข่งขันในโตเกียวโอลิมปิก 2021’)
สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ มีนักกีฬาไทยได้สิทธิ์ผ่านเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 37 โควตา รวมจำนวนนักกีฬาทั้งหมด 42 คน (บางโควตาเป็นประเภทคู่หรือทีม), 14 ชนิดกีฬา
ในจำนวนนี้คนที่ถูกจับตามองในฐานะความหวัง ได้แก่ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดหญิงรุ่น 49 กิโลกรัม, ทีมแบดมินตันไทย เมย์-รัชนก อินทนนท์, ครีม-บุศนันท์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ ประเภทหญิงเดี่ยว, จงกลพรรณ กิติธรากุล และ รวินดา ประจงใจ ประเภทหญิงคู่, เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ประเภทคู่ผสม, กันตภณ หวังเจริญ ประเภทชายเดี่ยว
ยังมี ปภังกร ธวัชธนกิจ, เอรียา จุฑานุกาล สองโปรกอล์ฟสาวระดับโลกของไทยที่จะลงแข่งขันลุ้นเหรียญทองในครั้งนี้ด้วย สำหรับแฟนกรีฑามาเชียร์ คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งปอดเหล็กหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่จะลงแข่งในการวิ่ง 10,000 เมตร
แต่ให้ดีที่สุดอยากให้ทุกคนได้รู้จักนักกีฬาของเราทุกคนเลย สามารถเช็กรายชื่อนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ปี 2021 ได้ตรงนี้เลย! (อ่าน ‘เช็กรายชื่อนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ปี 2021’)
ส่วนตำนานของนักกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์ มาเปิดกล่องความทรงจำไปด้วยกันตรงนี้ (อ่าน ‘เปิดกล่องความทรงจำกับ 5 โอลิมปิกเกมส์ ‘ที่สุด’ ในใจคนไทย’)
เพราะนี่คือโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นจากคนทั้งโลกว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งตลอดกาล…ถ้าไม่มีโควิด
แต่ถึงจะมีโรคระบาด การตระเตรียมความพร้อมต่างๆ ของโอลิมปิกครั้งนี้ก็ถือว่าสุดยอดอยู่ดี โดยเจ้าภาพกรุงโตเกียวนั้นมีการวางคอนเซปต์ แนวคิด แนวทางต่างๆ เอาไว้อย่างเรียกว่าสมบูรณ์แบบ และเป็นโอลิมปิกที่ไม่ได้คิดว่าจะจัดขึ้นมาแล้วจบลงไปในครั้งเดียว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำนั้นจะสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้ในอนาคต
แฟนๆ กีฬาชาวไทยทุกคนสามารถติดตามเชียร์ทัพนักกีฬาไทยกันแบบสดๆ จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผ่าน 7 ช่องฟรีทีวี ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2564 ได้แก่ Thai PBS, NBT, PPTV, JKN, True4U, GMM25, T Sports และแอปพลิเคชัน AIS PLAY
อ้างอิง:
“เครือซีพี” เบื้องหล…
This website uses cookies.