ซี หรือ Sea (ประเทศไทย) เพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งการเติบโตของ 3 ธุรกิจหลัก การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) ซีมันนี่ (SeaMoney) ในตลาดไทย ความน่าสนใจคือเมื่อขอให้ซีอีโอประเมินผลงานตัวเองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คะแนนที่ได้คือ 9 เต็ม 10 โดย 1 แต้มที่ถูกหักไปนั้นเป็นเพราะบริษัทมีส่วนที่พลาดและล้มเหลว ซึ่งบริษัทพยายามเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น
แม้จะไม่บอกว่าความผิดพลาดนั้นคืออะไร แต่ข่าวด้านลบล่าสุดที่โหมกระหน่ำบริษัทอยู่คือข่าวว่า Shopee ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Sea Group นั้นกำลังอยู่ระหว่างการเลิกจ้างพนักงานในหลายตลาด ทั้งอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยบริการด้านการเงินอย่าง ShopeePay และบริการส่งอาหาร ShopeeFood นั้นมีแนวโน้มว่ากำลังเผชิญกับการลดค่าใช้จ่าย จุดนี้แม้รายงานจากสำนักข่าวดีลสตรีทเอเชีย พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของทีมบริการชำระเงินและจัดส่งอาหารของ Shopee ในประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ผู้บริหารย้ำว่าบริษัทแม่ในไทยจะยังคงดำเนินธุรกิจ ShopeePay และ ShopeeFood ตามที่วางแผนไว้ในระยะยาว
สำหรับความสำเร็จ 9 คะแนนที่ซีอีโอประเมินไว้นั้นมาจาก 3 ธุรกิจหลักของ Sea (ประเทศไทย) ที่เติบโตโดดเด่นในฐานะตลาดหลักระดับ Top 3 ของกลุ่ม กลายเป็นส่วนสำคัญให้ Sea Group แสดงสัญญาณทำกำไรได้ดีขึ้นโดยรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจาก Garena ซึ่งเป็นบริการด้านเกม โดยข้อมูลทางการเงินสำหรับไตรมาสแรกของปี 2022 ของ Sea Group พบว่ารายรับของบริษัทเพิ่มขึ้น 64.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี มีมูลค่าทะลุ 2.9 พันล้านดอลลาร์ บนตัวเลขกำไรขั้นต้นที่พุ่งขึ้น 81.3% เป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
***ความสำเร็จทั่วไทย
“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวบนเวทีงานฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งการเติบโตของบริษัทว่าให้คะแนนภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทที่ 9 เต็ม 10 เนื่องจากประเมินว่าทีมงานของบริษัทสามารถดำเนินการได้ดีในระดับหนึ่ง พนักงานรุ่นใหม่มีความตั้งใจและมีแนวคิดเพื่อพัฒนาสดใหม่ตลอดเวลา ทำให้บริษัทสามารถสร้างฟีเจอร์ใหม่ขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการ
“แต่เราก็มีพาร์ทที่พลาดและล้มหลว ซึ่งเราพยายามเรียนรู้จากประสบการณ์ คะแนนที่ให้คือ 9 เพื่อให้พนักงานมีกำลังใจและร่วมกันทำงานต่อไป เป็น 1 คะแนนที่หักเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาไปต่อ”
มณีรัตน์ เล่าถึงความสำเร็จของ Sea (ประเทศไทย) ผ่าน 3 แกนธุรกิจหลัก ส่วนแรกคือ Garena ซึ่งเป็นบริการที่เปิดตัวบริษัท Sea ประเทศไทย หลังจากที่ตั้งในสิงคโปร์ช่วงปี 2012 โดยบอกว่าภาพรวมธุรกิจในขณะนั้นกับ 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็น “หนังคนละม้วน” โดยเกมเคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่จริงจัง ผู้เล่นใช้งานแบบผิดกฎหมาย บน “เซิร์ฟเถื่อน” Sea จึงเป็นเจ้าแรกที่เอาเกมระดับโลกมาให้บริการในไทย บนความต้องการยกระดับมตรฐานให้ไทยเท่าระดับสากล
จากเกมแรกที่นำเข้ามาสู่ตลาดไทย จนขยายไปสู่อีสปอร์ตที่ยกระดับให้วงการเกมไทยเป็นสากลมากขึ้น ปัจจุบัน เกมจากการีนาเข้าถึงผู้เล่นกว่า 654 ล้านคนจาก 130 ตลาดทั่วโลก และหากมองการเติบโตย้อนหลังปี 2017-2021 พบว่าจำนวนแอ็กทีฟยูสเซอร์มีการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 65% ต่อปี โดย RoV เป็นเกมเด่นที่ทำยอดทะลุ 10 ล้านดาวน์โหลดในช่วง 6 เดือนแรกที่เริ่มให้บริการในปี 2016
หลักคิดของ Sea ประเทศไทยคือมองว่าเกมไม่ใช่แค่เกม แต่สามารถเป็นกีฬา หารายได้ และเป็นอนาคต มีการเริ่มจับมือกับภาคการศึกษา ร่วมมือจัดหลักสูตรอออกแบบและรองรับอาชีพในอนาคตที่จะเกิดขึ้น นอกจากภาพของธุรกิจเกมที่เปลี่ยนไป เฟสต่อไปที่ Sea ประเทศไทยมองคือการต่อยอดจากการสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลโดยต่อยอดจากข้อมูลที่รู้ว่า “คนเล่นเกมในอาเซียนอยากเล่นเกมอะไร” และเกมไหนเหมาะกับอุปกรณ์ที่คนในภูมิภาคนี้มีเป็นส่วนใหญ่
ไม่เพียงพัฒนาเกมที่เหมาะกับผู้เล่นในพื้นที่ บริษัทวางแผนจะจัดการแข่งขันให้ไทยเป็นศูนย์กลางดึงนักกีฬาระดับโลกเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายไปจัดในพื้นที่อื่น ขณะเดียวกัน บริษัทวางเป้าหมายสร้างอาชีพดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในไทย นำไปสู่การสร้างอีโคซิสเต็มอีสปอร์ตบนยอดคนเล่นเกมในไทย 32 ล้านคน มูลค่าตลาดเกม 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 14% จากปี 2020
แกนธุรกิจที่ 2 นั้นยิ่งแมสยิ่งกว่าเกม นั่นคือ Shopee ที่เริ่มให้บริการในไทยช่วงปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อีคอมเมิร์ซมีพัฒนาการต่อเนื่องไม่แพ้เกม จากที่เริ่มพัฒนาระบบในปี 2014 ซึ่งการซื้อสินค้าออนไลน์ยังเป็นแบบกระจายบนคอมพิวเตอร์พีซี ขณะเดียวกันยังมีความไม่แน่ใจในการซื้อขาย เมื่อ Sea วางเป้าหมายต้องการตอบโจทย์ผู้ใช้ให้อิงบนอุปกรณ์มือถือเป็นหลัก บริษัทจึงให้บริการ 7 ตลาดอาเซียนพร้อมกันโดยแยกแอปพลิเคชันในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็รวมทุกฟีเจอร์ที่ใช้ในการขาย เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องข้ามไปใช้บริการรอบด้านที่แอปพลิเคชันอื่น
มุมมองของ Sea คือเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มหลัก ทำให้เกิดโมเดล C2C ซึ่งผู้ขายรายย่อยจำหน่ายสินค้าโดยตรงถึงผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม ภาวะการขายที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้เกิดโครงการอบรมผู้ขาย และการพัฒนาระบบจัดการร้านเพื่อช่วยเหลือผู้ขาย รวมถึงระบบจัดการกำไรขาดทุนเพื่อยกระดับการจัดการ ซึ่งในฝั่งนักชอปก็มีการพัฒนาระบบให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมมากกว่าการซื้อสินค้า ทำให้โมเดลจาก C2C เริ่มเปลี่ยนมาเป็น B2C หรือการจำหน่ายจากธุรกิจต่อผู้บริโภคมีจำนวนมากขึ้น
เมื่อถามว่าธุรกิจ Shopee จะไปต่ออย่างไรในอนาคต ผู้บริหารชี้ว่าจะคล้ายกับธุรกิจเกม นั่นคือการเน้นทำ personalization และ customization เนื่องจากผู้คนปัจจุบันต้องการสิ่งที่เฉพาะเจาะจง โดยจะเน้นพัฒนาระบบเสิร์ชที่ครอบคลุมและปรับบริการแนะนำสินค้าให้รองรับประวัติการซื้อมากขึ้น เป็นการพัฒนาให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าได้พบสินค้าที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด และในฝั่งผู้ขายจะมีข้อมูลวิเคราะห์ประสิทธิภาพการขาย และมีรายงานที่ทำให้เห็นภาพว่าจะยกระดับการขายได้อย่างไรบ้าง
ปัจจุบัน Shopee เริ่มชิมลางให้ผู้ค้าไทยส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มนำร่องที่สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เชื่อว่าจะขยายโอกาสให้ผู้ขายในไทยต่อยอดขึ้นไปได้อีกหลังจากภาพรวมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง โดยสถิติพบว่า 38% ของคนไทยตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอันดับ 1 ทำให้ตลาดมีแนวโน้มเติบโตเกิน 3.5 พันล้านเหรียญในปี 2025
สำหรับสถิติของ Shopee พบว่า 40% ของผู้ใช้งานอยู่นอกเขตเมืองใหญ่ ขณะที่ผู้ขาย 70% เป็นผู้อยู่นอกเมืองบนจำนวนผู้ค้าที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และจำนวนแบรนด์ที่ขายบนแพลตฟอร์มซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว
ไม่แค่ไทยยอดขายอีคอมเมิร์ซในอาเซียนก็เติบโตก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดขายรวมของ Shopee มูลค่ารวม 2 พันล้านคำสั่งซื้อจากทั่วโลก มูลค่ายอดขายเติบโตต่อปีกว่า 83%
แกนที่ 3 คือ SeaMoney ซึ่งเริ่มต้นในปี 2014 ด้วยแบรนด์แอร์เพย์ (AirPay) ธุรกิจในช่วงแรกถูกมองว่าเป็นช่วงจับแพะชนแกะ เนื่องจากผู้คนยังไม่แน่ใจกับการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่บริษัทเล็งเห็นว่าต้องใช้เวลาจึงเริ่มจากการทำระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยผูกกับเกมของ Garena ก่อนเพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับผู้ที่ใช้บริการของ Sea อยู่ จากนั้นเริ่มขยับมาบริการจองตั๋วภาพยนตร์ จ่ายค่าน้ำไฟ จนปี 2015 เมื่อออกบริการ Shopee จึงนำเอา AirPay มาเป็นหลังบ้านให้ทั้งหมด นำไปสู่การรีแบรนด์เป็น ShopeePay ซึ่งให้บริการลักษณะเดียวกันไม่ได้เปลี่ยนแปลง
หลังจากใช้เวลาให้คนคุ้นชินกับการซื้อและจับจ่ายออนไลน์ จากนี้ Sea จะมองไปที่ความต้องการใช้งาน เนื่องจากการร่วมงานกับเอสเอ็มอีทำให้บริษัทเห็นความต้องการกู้เงินของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ไม่มีหลักฐานกู้ยืมเงินเพียงพอ โดยปัจจุบันบริษัทได้รับใบอนุญาตให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในแพลตฟอร์มแล้ว จึงเริ่มให้บริการกับผู้ขายบนแพลตฟอร์มมานานเกิน 1 ปี และเริ่มปล่อยสินเชื่อที่ผู้ซื้อจนเกิดเป็นบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL) แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือผู้คนเริ่มใช้บริการมากขึ้น ซึ่งในอนาคต บริษัทจะเพิ่มฟีเจอร์ใน SeaMoney ต่อไป
“บริการชำระเงินนั้นเติบโตเร็วมาก ปี 2020 มีผู้ใช้ 18.6 ล้านคน และอาจขยายเป็น 41.9 ล้านคนในปี 2025 ไม่แค่ในตัวเมือง แต่จะขยายไปเมืองใหญ่ สัดส่วนการใช้งานเพิ่มขึ้น 50% ทำให้ผู้ใช้ SeaMoney เพิ่มจำนวนเกิน 45.8 ล้านคนแล้วในปี 2021”
บทสรุป 10 ปีของ Sea ประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การหาโอกาสเติบโตเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การสร้างสมดุลที่ดีให้สังคมและเศรษฐกิจไทย บริษัทย้ำว่าจะยังทำโครงการที่เน้นให้ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลฟรี เพื่อให้เกิดการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งหมดนี้ ซีอีโอให้เครดิตบุคลากรภายในบริษัทว่าทีมมีความสำคัญมาก ทำให้บริษัทให้ความสำคัญด้วยการเปิดโอกาสให้เป็นเจ้าของโครงการ ขณะเดียวกัน ก็มีการสื่อสารที่เปิดกว้างทั้งคนรุ่นใหม่และหัวหน้างาน ให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสการเติบโตไปพร้อมกับองค์กร
***อนาคตยังวางแผนเดือนต่อเดือน
ผู้บริหาร Sea ประเทศไทยย้ำว่า บริการถัดไปที่วางแผนจะทำต่อนั้นมีหลายบริการ ซึ่งยังต้องดูไลเซนส์หรือใบอนุญาตที่หน่วยงานไทยกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ เบื้องต้น บริษัทมีความพร้อมให้บริการไลเซนส์ดิจิทัลแบงกิ้งเช่นเดียวกับที่ให้บริการในอินโดนีเซียแล้ว
ในส่วนของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดนโยบายลดค่าใช้จ่ายทั่วธุรกิจของ Sea Group ผู้บริหารมองว่าวิกฤตนี้เกิดขึ้นนาน 2-3 ปีแล้ว และประเมินว่าบริษัทสามารถรับมือได้ดีระดับหนึ่ง เบื้องต้น บริษัทยังมีแผนงานชัดเจนและมุ่งให้บริการปกติทุกส่วนเป็นการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะบริการ ShopeeFood ที่จะเติมเต็มความต้องการต่อไป
สำหรับแนวโน้มการให้บริการบนเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นบริษัทมีความสนใจและกำลังศึกษาโดยกำลังดูความเหมาะสมหลายด้านและอาจจะยังเร็วเกินไปกับผู้ใช้งาน ดังนั้น จึงยังรอเวลาที่เหมาะสมและคัดเฉพาะบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการหรือเพิ่มความสะดวกสบายมาให้บริการก่อน
“10 ปีเป็นการเดินทางที่ยาวนานจากที่ไม่รู้จักในวงกว้าง เรายินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการขยาย ตอบโจทย์ สร้างงานให้ผู้ประกอบการไทย เราคาดหวังจะอยู่ที่นี่ต่อไป จะพัฒนา 3 ธุรกิจหลักเพื่อให้คนไทยใช้งานดิจิทัลได้สะดวกสบาย” มณีรัตน์ ระบุ “การปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความเป็นไปของตลาดปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่การลดตุ้นทุนแต่เป็นการชะลอการขยายบริการทั้งในส่วนของ ShopeeFood และ ShopeePay ซึ่งถ้าแนวโน้มดี เราก็ยังกลับมาขยายต่อไป”
ไม่แน่ ผลคะแนน 9 เต็ม 10 อาจจะเพิ่มเป็น 10 เต็มได้ในอีก 10 ปีถัดไปก็ได้!!