2 นักพัฒนาเกมทีม Quantum Peaks เปิดเคล็ดไม่ลับ อยากปั้นเกมให้ปัง ต้องหมั่นศึกษา คว้าโอกาส – มติชน

คนไทยเล่นเกมเก่งไม่แพ้ชาติไหนในโลก จนทีมอีสปอร์ตของไทยคว้าแชมป์ระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการ แต่ในแง่การพัฒนาเกม อาจมีข้อจำกัดบางประการที่ยังรอการปลดล็อก เพื่อให้ก้าวไปทัดเทียมกับต่างชาติได้

ใน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE มหกรรมอีสปอร์ตครั้งใหญ่รับปีเสือ จัดขึ้นวันที่ 21-23 มกราคมนี้ นอกจากการแข่งขันอีสปอร์ตชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท ยังมีเวทีเสวนาแบบคลุกวงในวงการอีสปอร์ตที่ชวนติดตามมากมาย

หนึ่งในเวทีที่น่าสนใจของวันแรก คือ “Future of Game Producer in Thailand & Education” ที่ได้ ภูมิ ทิพย์อาภากุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ รวิศร์ มโนมัยวิบูลย์ เจ้าของเพจเกม JumpZ Journey มาร่วมสนทนา

ทั้งคู่ยังเป็นนักพัฒนาเกมทีม Quantum Peaks ที่อยู่ภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการออกแบบดิจิทัลและเทคโนโลยี (DIDTC) มีประสบการณ์ในการทำเกมเด่น อาทิ Divey Jones, Bloody Bunny The Game และ การผจญภัยของจู้จี้ ซึ่งฮิตทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

อนาคตการพัฒนาเกมของไทยจะเป็นอย่างไร และต้องทำอย่างไรถึงจะสร้างเกมที่ดังและปังไปทั่วโลก มั่นใจได้ว่า คำตอบของทั้งคู่จะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจ และอยากเป็นนักพัฒนาเกมมืออาชีพในภายหน้าได้ไม่น้อย

เทคโนโลยีเปลี่ยน แก่นของเกมไม่เปลี่ยน

แม้ปัจจุบัน แวดวงเกมจะพัฒนามาไกล แต่ในความคิดของภูมิ ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน เกมจะคงคอนเซ็ปต์สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง สร้างเพื่อฝึกทักษะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความต่างอาจอยู่ที่ความหลากหลายในการนำเสนอ รวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จนดึงดูดให้คนเกิดความว้าว อยากเล่น

“สมัยก่อน มีเกมเล็กๆ อย่าง Tetris เป็นเกมบล็อกตัวต่อภาพขาวดำ 2 มิติ แต่ปัจจุบันด้วยการประมวลผลที่เร็วขึ้น กราฟิกสวยขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาเป็นเกม 3 มิติที่อลังการขึ้น ในอนาคตถ้ามีเทคโนโลยีดีขึ้น น่าจับตาว่าการมาถึงของเมตาเวิร์ส น่าจะยิ่งช่วยให้เทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตขึ้นได้อีกมากทีเดียว” 

ด้านรวิศร์เสริมประเด็นเมตาเวิร์สว่า หลังจากกระแสจักรวาลนฤมิตบูมไปทั่วโลก ทำให้บริษัทผลิตเกม และบริษัทใหญ่ๆ อยากลงสนามมาพัฒนาเกมแนว Play to Earn หรือเกมคริปโตเคอร์เรนซี ที่ยิ่งเล่นก็ยิ่งได้เงินมากขึ้น ซึ่งอาจแย่งชิงความสนใจผู้คนไปจากการเล่นเกมตามปกติ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเกมแบบดั้งเดิมกับเกมรูปแบบใหม่จะพากันเติบโต ไม่ฆ่ากันเองจนตายไปข้างหนึ่ง

“ส่วนตัวผมยังเชื่อว่า อีก 5-10 ปีข้างหน้า เกมรูปแบบปกติที่มีให้ดาวน์โหลดเล่นแบบทุกวันนี้จะยังมีอยู่ เพราะน่าจะยังมีผู้คนไม่น้อยที่ไม่มีงบซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ และอย่าลืมว่า บางคนเล่นเกมเพื่อความบันเทิง ไม่ได้อยากเล่นเกมเพื่อหาเงิน ถ้าจะพัฒนาเกม ไม่ต้องกลัวการมาถึงของเมตาเวิร์ส เพราะมันจะเติบโตไปด้วยกัน”

ความรักและหลงใหล สำคัญกว่าการเรียนจบอะไรมา

หากคิดจะเป็นนักพัฒนาเกม ต้องเรียนจบสาขาอะไร? คือประเด็นสำคัญของหัวข้อเสวนาวันนี้ ซึ่งรวิศร์มองว่า ไม่ว่าจะเรียนจบสาขาไหนก็สามารถทำเกมได้ เพราะการทำเกมต้องอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ จำนวนมากประกอบกัน

“คนอยากทำเกม ถ้าสนใจด้านการเขียนโปรแกรม สามารถเลือกเรียนสายไอที หรือสายวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้ ถ้าอยากเป็นแอนิเมเตอร์ ก็เรียนต่อด้านศิลปะ ถ้าอยากเป็นนักเขียนบทเกม ก็เรียนนิเทศศาสตร์ นอกจากนั้นการทำเกมก็ต้องการคนทำการตลาด ต้องการคนที่มีความรู้ด้านการบริหารธุรกิจเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าการเรียนจบในสายไหนคือ ต้องรัก ชื่นชอบ และหลงใหลในการทำเกมจริงๆ!

“งานสายนี้ไม่ใช่งานที่เริ่ม 8 โมง เลิก 4 โมง แต่เราต้องอยู่กับมันตลอดเวลา บางทีเราต้องทำงาน 48 ชั่วโมงติดกัน หรือต้องทำงานทั้งอาทิตย์แทบไม่ได้พัก ดังนั้นถ้าไม่รักในเกมจริงๆ จะลำบาก” ภูมิเสริม

อีกสิ่งที่สำคัญคือ ความรู้ ต้องรู้จักเกม ศึกษาเกมที่มีในท้องตลาดว่าเล่นอย่างไร ถ้าออกแบบเกมที่เล่นยากไป ก็ไม่ชวนให้คนอยากเล่น

“เราต้องเรียนรู้ว่า เกมปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากเกมอื่นๆ อย่างไรบ้าง ต้องศึกษาพื้นฐาน ถ้าเราทำเกมขึ้นมา เราคลิกเมาส์ซ้ายคือยิง กดสเปซบาร์คือกระโดด จุดนี้ต้องไม่แตกต่างจากเกมอื่นๆ ถ้าออกแบบเกมที่เล่นแตกต่างไปจากนี้ อาจไม่เชิญชวนให้คนอยากเล่นเกมต่อ” ภูมิกล่าว

หากมุ่งมั่น มีฝีมือในการทำเกมระดับแถวหน้าจริงๆ แล้วล่ะก็ อาจทำรายได้ต่อเดือนได้กว่า 1 แสนบาทเลยทีเดียว!

ต่างประเทศ vs ไทย ในวิกฤตย่อมมีโอกาส

แม้กระแสความนิยมในเกมจะมากขึ้นทั่วโลก มีคนทำเกมชื่อดังเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่สำหรับคนที่มองลู่ทางจะเอาดีด้านนี้อยู่ ผู้ร่วมเสวนาทั้งคู่ก็ไม่อยากขายฝันเกินไป

“มองในมุมกลับ การพัฒนาเกมยากกว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์สายอื่นๆ เพราะต้องทำให้คนใช้งานสนุก แล้วยอมจ่ายเงินซื้อเรื่อยๆ แม้คนไทยใช้จ่ายเกี่ยวกับเกมติด Top 10 ของโลก แต่ต้องเจอกับอุปสรรคจากเกมต่างประเทศที่มาตีตลาดไทย และเขามีงบมหาศาล ทำให้สู้กันยาก” รวิศร์ เจ้าของเพจ JumpZ Journey เผยถึงอีกด้านหนึ่งของวงการ

ภูมิเสริมต่อว่า ไม่เพียงแค่ต้องทำเกมสนุก แต่ต้องมีทีมการตลาดที่ปังด้วย จุดนี้เป็นข้อเสียเปรียบของบริษัทพัฒนาเกมในไทยที่มักจะมองข้ามไป ไม่เหมือนบริษัทต่างชาติที่จะวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเดินเครื่องสร้างเกมว่าจะขายอย่างไร และสามารถขายอะไรได้อีกบ้างนอกจากเกม เช่น ของสะสม ของที่ระลึก หรือจะดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อย่างไร

“บริษัทต่างประเทศยังทุ่มเงินมากกว่า สามารถเร่งให้เกมเสร็จก่อนได้ ถ้าเราทำเกมคล้ายกัน แต่เกมเราออกทีหลัง โอกาสดึงดูดคนให้มาเล่นเกมก็น้อยลง ไม่รวมรายได้ของนักพัฒนาเกม เมื่อเทียบกับสายอื่นก็ต่างกันเยอะ พอคนไทยเจอปัญหานี้เลยไปต่างประเทศกัน ย้ายออกไปอยู่ตามสตูดิโอดังๆ ทั่วโลกแทน”

แต่ท่ามกลางอุปสรรคทั้งปวง หัวเรือใหญ่ทีม Quantum Peaks ก็พบเห็นมาตลอดว่า ความสามารถของนักพัฒนาเกมไทยสามารถดึงดูดให้บริษัทต่างประเทศมั่นใจ และจ้างให้ทำงานพัฒนาเกมเป็นเอาท์ซอร์สเป็นประจำ เกิดประโยชน์โดยตรงต่อคนทำงานในสายนี้

“ต่างชาติจะส่งงานมาที่เราช่วยพัฒนา แต่ห้ามเปิดเผยว่าเป็นคนทำ เขาจะส่งคนมาฝึกสอน แนะนำวิธีการ เทคนิคต่างๆ ทำให้เราเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้โดยตรง สมัยก่อนมีบริษัทเกมไทยพัฒนาเกม Play Station 2 บางเกมแบบเงียบๆ เพียงแค่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้”

ทำเกมอย่างไรให้ปัง คำถามนามธรรมที่ชวนหาคำตอบ

ต้องทำเกมอย่างไรถึงจะปังและโดนใจผู้คน ถือเป็นคำถามเงินล้านอีกคำถามสำหรับการเสวนานี้ รวิศร์เชื่อว่า ก่อนความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องผ่านความล้มเหลวก่อนเสมอ แต่ต้องห้ามยอมแพ้เด็ดขาด

“ตอนทำเกมแรก ให้ทำใจไว้ว่ามีโอกาสไม่ปัง แต่ต้องไม่ยอมแพ้ กว่าจะมีวันนี้ได้ผมผ่านความล้มเหลวมาหลายรอบ ก็จะวิเคราะห์เสมอว่าทำไมถึงล้มเหลว เอามาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาต่อ”

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับภูมิ เพราะหากรู้สูตรสำเร็จ ทุกคนคงทำเกมยอดขายดี มีคนเล่นเยอะกันหมดทั้งโลกแล้ว

“แต่ละเกมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนทั่วโลกได้ แต่หากอยากจับเคล็ดว่า เกมที่ประสบความสำเร็จในวงกว้างเป็นแบบไหน ผมแนะนำว่า ให้ลองศึกษาจากคอมมูนิตี้ของคนเล่นเกมที่มีอยู่ไม่น้อย ดูว่าคนเล่นเกมแบบไหน มีแคสเตอร์เล่นเกมอะไรบ้าง และหากเกมฮิตในหมู่คนเล่น ก็อาจเกิดเกมแบบนั้นตามมาอีกเรื่อยๆ 

“อย่างตอนนี้ เราเลี่ยงไม่ได้ว่าเกม NFT เกม Play to earn เป็นเกมยอดฮิต แต่เราก็เห็นทั้งโปรเจกต์ที่สำเร็จและล้มเหลว แต่หากเราจับกระแสดีๆ จะพบว่า คนจ่ายเงินก็อยู่ในคอมมูนิตี้นี้ด้วย ถ้าทำสำเร็จได้ ดึงดูดใจได้ ก็น่าจะประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้วครับ” ภูมิ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มจธ. ทิ้งท้าย