eSport Sponsored

3 เทคนิค เพิ่มยอดการเข้าถึงเพจ (Reach) รูปแบบ Home, Feed ของ Facebook ใหม่ 2022

eSport Sponsored
eSport Sponsored

จากข่าวล่าสุดที่ระบุว่า Facebook จะปรับอัลกอริทึมการแสดงผลใหม่ โดยมีหน้า Home และหน้า Feed แยกกัน สำหรับหน้า Home จะแสดงผลสิ่งที่ Facebook เรียกว่า “Creators” คาดว่าจะรวมทั้ง เพจ บุคคลที่เราติดตาม คลิปวิดีโอ Reels และเนื้อหาลักษณะต่าง ๆ ที่เรียกรวม ๆ ว่า “คอนเทนต์” โดยใช้  Discovery Engine แสดงผลคอนเทนต์แบบสุ่ม และใช้อัลกอริทึมประมวลผลแสดงสิ่งที่เราสนใจ เหมือน For You ใน TikTok และหน้า Home ของ YouTube (จะเลียนแบบคู่แข่งทั้งที่ก็เอาให้ครบทุกเจ้า) ที่เราคงนึกภาพออกว่า มันจะไม่แสดงสิ่งที่เรากำลังติดตามอยู่ หรือไม่แสดงเพจที่เรากดไลค์ แต่แสดงสิ่งที่เราสนใจจากพฤติกรรมการเสพของเรา (ที่ผ่านมามีการทดลองในหน้า Feed ของเราแล้ว ที่มันจะแสดงผลเกี่ยวกับคอนเทนต์ของเพจที่เราไม่ได้กดไลค์แต่อัลกอริทึมคาดว่าเราจะสนใจ)

ส่วนคอนเทนต์ของเพื่อน กลุ่ม และเพจที่เราติดตามทั้งหมด อยู่จะถูกย้ายไปอยู่ในแถบใหม่ที่ชื่อว่า Feed แทน แต่ยังสามารถเลือก Favorites เพื่อแยกคอนเทนต์ที่เราชื่นชอบพิเศษไปไว้ในแถบ Favorite นี้ ความสามารถนี้ Facebook เริ่มทยอยอัพเดตให้ได้ใช้งานกันบ้างแล้ว และคาดว่าจะได้ใช้พร้อมกันทั่วโลกภายในสัปดาห์หน้า เรามาดูว่ามีสิ่งที่เราต้องรู้หรือมีเทคนิคอะไรบ้าง เพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึง (Reach) สำหรับ แฟนเพจ! เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงหน้า Home และ Feed ของ Facebook ในปี 2022 นี้

เราลองนึกภาพเวลาที่เราใช้งาน YouTube หากเราดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับซีรี่ย์กำลังภายใน ของช่องยอดยุทธ์ จนจบ หลังจากนั้นอัลกอริทึมจะแสดงผลหน้า Home ของเราเป็นคลิปวิดีโอเกี่ยวกับซีรี่ย์กำลังภายในอีกหลายคลิปเลย โดยไม่สนใจยอดการติดตามของช่องนั้น ๆ จะเน้นความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจมากกว่า แต่มันก็จะไม่พลาดที่จะแสดงผลสิ่งที่เราสนใจจากช่องที่เราดูจนจบนะครับ กล่าวคือ ถ้าช่องยอดยุทธ์มีการอัพโหลดคลิปวิดีโอเกี่ยวกับซีรี่ย์กำลังภายในอีก มันก็จะแสดงผลแน่นอน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหน้า Home ของ Facebook ดังนั้นต่อไปนี้ เราไม่ต้องเป็นกังวลกับยอดไลค์หรือยอดการติดตามมากเกินไป การจะทำให้โพสของเราแสดงในหน้า Home ของผู้ใช้งาน เราเพียงสร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจ ตรงใจผู้ใช้งาน และดักทางอัลกอริทึมให้ได้ก็พอ ซึ่งจะขอขยายความต่อดังต่อไปนี้

แคปชั่นมีส่วนสำคัญมาก พื้นฐานแล้วต้องน่าดึงดูด ความยาวของแคปชั่นพอดี จะมา 1-2 บรรทัดจบไม่เอานะ! ถ้าแคปชั่นดี ยาวพอสมควร มีปุ่มดูเพิ่มเติม แล้วชวนให้คนกดอ่าน อันนี้จะไร้ที่ติเลย แต่สำหรับเทคนิคนั้น เราควรโพสแคปชั่นที่มีคีย์เวิร์ด หรือคำสำคัญ ที่เราต้องการสื่อกับผู้อ่าน เหมือนเดิมอยู่ในทุก ๆ โพส ไม่ใช่เปลี่ยนไปเรื่อย ตัวอย่างเช่น เพจร้านคาเฟ่ ทุกโพสจะมีชื่อร้าน ชื่อเมนูที่กำลังโพส ที่ตั้งของร้าน เป็นต้น และใส่ แฮชแท็ก (#) ที่เหมือน ๆ กันด้วย ก็จะช่วยในการจัดการการโพสได้มาก หากเช็คอินก็ควรเช็คอินทุกครั้งที่โพส อาจใช้อิโมจิ emoji มาใส่ในแคปชั่น แต่ก็ไม่ใช่ว่ารกจนเกินไป

นอกจากนี้ ลองนึกภาพว่า เวลาโพสแคปชั่น ผู้ใช้งานอ่านไปจนถึงคำว่า “ดูเพิ่มเติม” ประมาณบรรทัดที่ 8-10 (ใช่ . มาแทรกระหว่างบรรทัดได้) หากเนื้อหามันค้างคาก็อดใจไม่ได้ที่จะคลิกอ่านต่อ อันนี้หละสำคัญต่ออัลกอริทึมใหม่มาก เราต้องทำให้ผู้อ่านคลิกคำว่า “ดูเพิ่มเติม หรือ see more” ให้ได้

เมื่อมีการปรับอัลกอริทึมให้เฟ้นหาคอนเทนต์เพื่อแสดงผลตามความสนใจของผู้ใช้งาน Facebook แล้ว ดังนั้นเราสามารถนำหลักการโพสโฆษณาบน Facebook มาใช้งานได้เลย (ไม่ใช่แค่เรื่องรูปภาพ) กล่าวคือ รูปภาพต้องดึงดูสายตาของผู้ใช้งาน ให้ตอนเลื่อนผ่านเร็ว ๆ เขาต้องหยุดดูให้ได้ อันนี้รวมทั้งภาพปกของลิงก์ที่เราแชร์ และรูปภาพที่เราโพส ตัวหนังสือต้องไม่เยอะจนเกินไป ไม่ควรเกิน 20 % ของพื้นที่ทั้งหมด หรือไม่มีเลยก็จะดีมาก รูปภาพต้องมีจุดรวมสายตา รายละเอียดไม่เยอะ ไม่ใช่รูปภาพที่ถ่ายแบบกว้างๆ ไม่มีจุดให้ผู้เห็นได้โฟกัสอะไรเลย

แนะนำเครื่องมือตรวจสอบพื้นที่ตัวหนังสือบนภาพที่ ไม่ควรเกิน 20 % >>คลิก

ตัวอย่างรูปภาพที่เหมาะสมในการโพสบน Facebook

หากเพจมีแอดมินหลายคน แนะนำว่าให้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น เพจเกี่ยวกับร้านคาเฟ่ คนที่ 1 โพสเฉพาะเรื่องอาหารคาว คนที่ 2 โพสเรื่องอาหารหวานและเบเกอรี่ คนที่ 3 โพสเฉพาะเครื่องดื่ม เป็นต้น จะทำให้รูปแบบและภาษาไม่ต่างกันมากนัก ไม่เช่นนั้นอัลกอริทึมอาจแสดงผลไม่ซ้ำคนไปเรื่อย ๆ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่รู้จักหรือเห็นเราน้อย สุดท้ายร้านเราไม่ติดตลาดบน Facebook สักที หากมีคนเดียวก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรแบ่งเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ และหลากหลาย ไม่ใช่โพสแต่เรื่องเดิม ๆ เช่น เมนูอาหารของร้าน วนไปเรื่อย ๆ แล้วมีแทรกเรื่องอื่นเป็นประปราย อันนี้ไม่เหมาะสม ควรโพสในอัตราความถี่เท่า ๆ กัน เช่น สลับวันโพส หรือหากมี 3 หมวดหมู่ ในหนึ่งวันก็โพสให้ครบทั้ง 3 หมวดหมู่ ตามเวลาที่เหมาะสม (เช่น เช้าเครื่องดื่ม+เบเกอรี่ เที่ยงอาหาร เย็นเรื่องทั่วไป เป็นต้น) ความสม่ำเสมอมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมมาก กล่าวคือ ต้องโพสทุกวันให้ครบทุกหมวดหมู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับเราไปเริ่มต้นใหม่

สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ หมดยุดแล้วที่จะมาโพสเรียกยอดไลค์ ยอดการเข้าถึง จากโพสคำคม กดโหวตนั่นนี่ แล้วหวังจะทำให้คอนเทนต์หลักของเพจมียอดการเข้าถึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ให้เราโพสเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายของเพจจริง ๆ และหากเรามีคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอที่ต่างจากเพื่อนจนเกินไป ก็ไปตั้งเพจใหม่เลย ตัวอย่างเช่น เพจข่าวของ Appdisqus ที่เน้นข่าวสารไอที หากเว็บไซต์ต้องการสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับอีสปอร์ต หรือเกม ก็อาจแยกเพจไปเลย แต่ดึงคนเข้าเว็บไซต์เดิม แบบนี้จะเรียกยอดคนเข้าอ่านเว็บไซต์ได้มากกว่า เพราะยังไงอัลกอริทึมใหม่ก็ไม่สนใจเรื่องยอดการติดตามของเพจอยู่แล้ว

สำหรับเทคนิคที่กล่าวมาข้างต้น ก็มาจากประสบการณ์และความรู้ที่ผู้เขียนได้รวบรวมมานะครับ ซึ่งอัลกอริทึมใหม่ยังไม่เปิดใช้งาน แม้เปิดใช้แล้วก็ตามการจะรู้ใจมันได้คงเป็นเรื่องยาก และระบบมันเป็น AI ที่มีการพัฒนาตัวเองได้ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจมัน เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นตามไปด้วย หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์เพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ

LoAxiOm

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความสุขที่ได้ส่งต่อความรู้ให้คนอื่น ไม่อยากจำกัดเฉพาะนักศึกษาตัวเอง จึงได้ลงมือเขียนสิ่งที่ตนเองรู้ลงในเว็บไซต์ AppDisqus แห่งนี้ ด้วยความสุขและยินดีที่ได้เป็นส่งต่อและรับความรู้เพื่มจากผู้อ่าน มันช่างเป็นสถานที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจริง ๆ //ขอบคุณ AppDisqus นะครับ

eSport Sponsored
อีสปอร์ต

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.