Acerคิดใหญ่!! ขายเครื่องดื่มชูกำลังควบพีซี

เผยแพร่:
  ปรับปรุง:
  



ต้องยอมรับว่ายุคนี้คือช่วงเวลาทองแห่งการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจใหญ่ หากไม่นับการบินไทยที่เริ่มธุรกิจขายครัวซองต์ปาท่องโก๋ หรือค่ายเพลงอย่างจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจขายตรง ก็ยังมี ‘เอเซอร์ คอมพิวเตอร์’ (Acer) ผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอันดับ 5 ของโลกที่ฉีกไปเปิดตัวเครื่องดื่มชูกำลังของตัวเอง

หลังจากเริ่มประกาศให้โลกรู้ครั้งแรกเมื่อกลางปี 63 ล่าสุด เอเซอร์ประกาศแล้วว่าเครื่องดื่มชูกำลังของบริษัทในชื่อ ‘พรีเดเตอร์ช็อต’ (Predator Shot) จะเริ่มทำตลาดผ่านร้านสะดวกซื้อในไทยภายในเดือนพฤษภาคม 64 โดยไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดจำหน่ายไปยังตลาดอื่นทั่วอาเซียน

การใช้ชื่อที่ตรงกับคอมพิวเตอร์พีซีแบรนด์ Predator ที่เอเซอร์ตั้งใจเจาะกลุ่มคนเล่นเกมอยู่แล้ว ทำให้ชัดเจนว่าเครื่องดื่มนี้มีเป้าหมายเจาะกลุ่มเกมเมอร์ผู้ใส่ใจกับร่างกาย เพราะเอเซอร์ระบุว่าเครื่องดื่มนี้อัดแน่นด้วยวิตามินและแร่ธาตุเช่นวิตามินบีและลูทีน ซึ่งแม้ว่าจะยังมีการถกเถียงเรื่องประโยชน์ของเครื่องดื่มชูกำลัง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเครื่องดื่มในกลุ่ม Energy drink นั้นได้รับความนิยมสูงมากในวงการอีสปอร์ต (eSport)

นอกจากแนวโน้มอัตรากำไรสูง เอเซอร์ยอมรับว่าสนใจตลาดเครื่องดื่มชูกำลังหลังจากได้ทำการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของเกมเมอร์ ซึ่งพบว่ามีการเคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงใช้งานอีกหลายผลิตภัณฑ์คู่ไปด้วย ทำให้เอเซอร์เห็นโอกาสเพื่อสร้างฐานในการเป็น ‘แบรนด์ไลฟ์สไตล์’ ที่ตอบรับวิถีชีวิตนิว นอร์มอลของผู้คน

***ก้าวข้ามพีซี ท้าชนไลฟ์สไตล์



การเปิดตัว Predator Shot จะทำให้เอเซอร์เป็นคู่แข่งกับเรดบูล (Red Bull) ซึ่งเป็นพันธมิตรของเอเซอร์ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกา ที่ผ่านมา Red Bull ถูกทำตลาดจนปักหลักในวงการกีฬาผาดโผน แล้วจึงขยายอิทธิพลมาสู่โลก eSport อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกัน Red Bull ก็เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและกิจกรรมต่างๆมากมาย รวมถึงเป็นสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนนักกีฬาeSportในประเภทเกมต่างๆ ซึ่งมักเป็นผู้เล่นที่มีฐานแฟนคลับหนาตา

ในมุมของเอเซอร์การเปิดตัวPredator Shotอาจทำให้เอเซอร์มีโอกาสคว้าเม็ดเงินในวงการeSportมากขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวโฟร์บส์ การสำรวจช่วงปลายปี 62 พบว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรม eSport สูงเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางผู้ชมมากกว่า 443 ล้านคนทั่วโลก

แม้ว่าอุตสาหกรรมeSportจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ผู้เล่นหลักอย่างเทนเซ็นต์(Tencent)ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนที่รู้กันว่าทำเงินเป็นกอบเป็นกำในตลาดeSportนั้นไม่ได้มีบาดแผลให้บอบช้ำเลย ตรงกันข้าม บริษัทกลับรายงานว่ารายรับรวมไตรมาส 1 ปี 2563 นั้นเพิ่มขึ้น 26% เป็น 1.08 แสนล้านหยวน จากเดิมที่ทำได้ 8.55 หมื่นล้านหยวนในปีก่อนหน้า

นักวิเคราะห์ยังมองว่าไม่น่าแปลกใจเลยที่เอเซอร์ตัดสินใจหยิบแบรนด์ Predator มาต่อยอดธุรกิจ เพราะ Predator เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะฮาร์ดแวร์เกมรายหลักของตลาด ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดแข่งขัน Predator League ประจำปีทั่วภูมิภาค และในประเทศไทยก็เคยมีการจัดแข่งขันที่สนามกีฬานิมิบุตร แต่ขณะนี้เปลี่ยนมาแข่งขันแบบออนไลน์แทน

ส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังก้าวใหม่ครั้งนี้ คือเจสัน เฉิน (Jason Chen) ประธานเอเซอร์ ผู้กระตือรือร้นที่จะนำเอเซอร์เข้าสู่อุตสาหกรรม ‘ที่ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพีซี’ เรื่องนี้ เฉิน อธิบายในสื่อไต้หวันอย่างไทเปไทมส์ว่า เมื่อ 40 ปีก่อน อุตสาหกรรมพีซีถือเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปเอเซอร์จึงไม่สามารถที่จะอยู่ในตลาดที่เติบโตเต็มที่เช่นนี้ และคาดหวังว่าสิ่งต่างๆจะดีขึ้นได้ด้วยการก้าวข้ามตลาดพีซี เพื่อไปตั้งหลักในตลาดไลฟ์สไตล์

อลัน เจียง กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาสินค้าไอทีขาดตลาดทั่วโลกเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่ขยายตัวเท่าที่ควรในปี 63 เป็นผลให้เอเซอร์มีการเติบโตเป็นเลข 1 หลัก ขณะที่เอเซอร์ประเทศไทยมีอัตราเติบโตที่ดีกว่าเป็นเลข 2 หลัก ภาวะนี้สะท้อนว่าตลาดยังคงมีความต้องการและกำลังซื้อ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะทำเงินได้ดีขึ้นหากเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้รองรับกับชีวิตและไลฟ์สไตล์วิถีใหม่ ซึ่งเป็นชีวิตที่ระบบไอทีทั้ง 5G, VR หรือ IoT เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานจากบ้าน การเรียนออนไลน์ และบริการด้านสุขภาพจากระยะไกล

‘ธุรกิจPCนั้นมีทิศทางชะลอตัวมานานหลายปี การโฟกัสที่หน่วยธุรกิจใหม่จะเป็นการผลักดันให้บริษัทเติบโตได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งมีอัตราการเติบโตรวดเร็วมาก สินค้าใหม่เหล่านี้ยังต้องใช้เวลาในการทำตลาด เอเซอร์จึงยังไม่ได้ตั้งเป้าหมาย แต่สิ่งที่จะเน้นคือการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นแผนระยะยาวต่อเนื่องของบริษัท ไม่แค่ 5 หรือ 10 ปี แต่จะไปในระยะยาวมากกว่านั้น’

เอเซอร์ตั้งชื่อกลยุทธ์ล่าสุดว่า ดูอัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Dual Transformation) หรือการปรับเปลี่ยนธุรกิจแบบ 2 ทางที่ตอกย้ำจุดยืนซึ่งบริษัทจะมุ่งไปในอนาคต โดยแม้จะยังคงเตรียมวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มคอมพิวเตอร์พีซีที่ตอบโจทย์เกมเมอร์ ครีเอเตอร์ และผู้ใช้ที่นิยมเครื่องกลุ่มบางและเบาเช่นเดิม แต่ก็จะตอบสนองไลฟ์สไตล์หลากหลายแบบที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เพียงเครื่องดื่มชูกำลังที่วางจำหน่ายแล้วในไต้หวัน เอเซอร์ยังมีแผนปลุกปั้นแพลตฟอร์มโซเชียลที่จะทำให้เกมเมอร์สามารถมีตัวตนด้วย

แพลตฟอร์มนี้มีชื่อเรียกว่า ‘แพลนเน็ตไนน์’ (Planet 9) เกมเมอร์ทุกคนสามารถลงทะเบียนและเก็บสถิติการเล่นได้ ผู้ใช้จะสามารถเล่นเกมที่รองรับบนแพลตฟอร์ม หรือสามารถจัดตั้งลีกการแข่งขัน เพื่อนัดเจอและท้าแข่งขันกันได้ พร้อมกับสามารถสอนโค้ชชิ่งเพื่อพัฒนาฝีมือการเล่นได้ด้วย ซึ่งอาจนำรายได้มาสู่กระเป๋าทั้งเอเซอร์ที่จะได้รับเพิ่มเติมจากรายได้ค่าโฆษณา และเหล่าเกมเมอร์ที่จะสร้างอาชีพได้จากการสอนเทคนิกให้คนที่สนใจ ขณะนี้ Planet 9 สามารถสร้างรายได้แล้วที่ไต้หวัน เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะมีเงินสะพัดในตลาดไทย

***ขายหลายสิ่งควบพีซี



นอกจากตลาดเกม เอเซอร์ยังพร้อมลุยตลาดไลฟ์สไตล์ในเซกเมนต์อื่นให้ครอบคลุม โดยปีนี้จะเป็นปีแรกที่เอเซอร์จำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ ‘เอเซอร์เพียว’ (acerpure) ซึ่งถูกการันตีว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศยี่ห้อเดียวที่มีบริการถึงบ้าน on site service 1ปี (ราคาเริ่มต้น7,900บาท)

ยังมีแก็ดเจ็ทหลากหลายที่จะถูกวางจำหน่ายมากขึ้นในปี64เช่นเครื่องปรับสภาพอากาศแบบห้อยคอ และแบบ USB, ลำโพง, หูฟัง True Wireless, Wireless Charger ที่มีดีไซน์เก๋ สีสันสดใส ขณะเดียวกันเอเซอร์ก็จะทำตลาดสินค้ากลุ่ม ‘เพาโบ้’ (Pawbo) อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีทั้งเครื่องให้อาหารอัจฉริยะ อุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหว น้ำพุอัจริยะ รวมถึงสินค้ากลุ่ม’เอ็กซ์พลอว่า’ (Xplova) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกปั่นจักรยานนอกบ้าน เพราะสามารถถอดล้อหลังของจักรยานแล้วต่อกับระบบ เพื่อให้ซอฟต์แวร์สามารถติดตามรอบปั่นได้แม้จะปั่นอยู่ในบ้าน

นอกจากนี้ ยังมี’ฮาโลสมาร์ทสปีกเกอร์’ (Acer Halo smart speaker) ลำโพงที่สามารถฟังเพลงหรือเป็นspeakerที่แจ้งเตือนปฏิทินงานผ่านหน้าจอบนลำโพง สามารถใช้ระบบ Google Assistant ซึ่งรองรับคำสั่งเสียงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ผู้ใช้สามารถถามผลบอลคู่โปรดได้แบบรวดเร็ว

สำหรับฝั่งธุรกิจคอมเมอร์เชียลเอเซอร์เผยว่าจะวางตัวเป็นผู้ให้บริการโซลูชันครบวงจรที่จะไม่จำหน่ายสินค้าเป็นชิ้นหรือเป็นอันอีกต่อไป ไฮไลท์ที่จะถูกชูในปีนี้คือ3ส่วนได้แก่โซลูชันด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านอุตสาหกรรม

โซลูชันที่โดดเด่นที่สุดคือด้านการศึกษา เพราะเอเซอร์มีฐานตลาดฮาร์ดแวร์ในกลุ่มโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่แน่นมากอยู่แล้ว ในเมื่อวันนี้ภาคการศึกษาของโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากเอเซอร์จึงวางแผนเน้นเรื่องการศึกษาSTEAMเพื่อสร้างเยาวชนยุคดิจิทัลที่คิดแก้ปัญหา สื่อสาร และทำงานร่วมกันได้ โจทย์ที่เอเซอร์มองคือการทำให้โรงเรียนมีเครื่องมือเพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม

หนึ่งในเครื่องมือนั้นคือโซลูชันชื่อ Acer Smart Education ที่มีการประยุกต์ใช้ระบบไอโอทีเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การทำงานในฟาร์มอัจฉริยะ เบื้องต้นมีการติดตั้งและทดสอบจริงในโรงเรียนราชประชาสมาสัยแล้ว ถึงแม้จะเป็นโครงการนำร่องในชั้นมัธยม1 และมัธยม4 แต่เอเซอร์วางเป้าหมายคลุมลูกค้าทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับเด็กเล็กจนถึงมหาวิทยาลัย

ตรงนี้เป็นกลยุทธ์ของเอเซอร์ที่จะไม่เจาะตลาดการเกษตรโดยตรง แต่จะเลือกเจาะที่ภาคการศึกษา หนึ่งในสาเหตุเป็นเพราะภาคการเกษตรไทยนั้นไม่เติบโตมากนักแต่ภาคการศึกษามีแนวโน้มเติบโตมาก มีโอกาสที่จะรอให้เด็กไทยเติบโตเพื่อเป็นกำลังสำคัญในภาคการเกษตรที่จะพัฒนายิ่งขึ้นในอนาคต

***พีซีหืดจับ



นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ย้ำว่าภาพรวมตลาดคอมพิวเตอร์พีซีปี 63 มียอดขายลดลง 6% ปัจจัยหลักเป็นเพราะสินค้าขาดตลาด เนื่องจากสินค้าที่ขายได้ในปีที่ผ่านมาเป็นสินค้าค้างสต็อก จึงเชื่อว่าถ้ามีสินค้าใหม่ในสายการผลิตมากกว่านี้ ก็จะยังขายได้ดีแน่นอน โดยกลุ่มพีซีที่ยังเติบโตได้ดีคือกลุ่มเครื่องเล่นเกมและเครื่องบางเบา คาดว่าสถานการณ์ของตลาดจะยังเป็นบวกโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น

ส่วนตัวผู้บริหารเอเซอร์เชื่อว่าโควิค-19 มีส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวโลก การต้องใช้ฮาร์ดแวร์ร่วมกับซอฟต์แวร์โซลูชันจะทำให้เกิดเป็นเค้กก้อนใหญ่ขึ้น จะเป็นการขยายตลาดสู่อีกระดับ โดยมีผู้เล่นในตลาดจำนวนเท่าเดิม เนื่องจากยังไม่มีแนวโน้มที่แบรนด์ใหม่จะสามารถเข้ามาเล่นในตลาดพีซีได้ในอนาคตอันใกล้

สำหรับสัดส่วนรายได้พีซีดั้งเดิมเมื่อเทียบกับธุรกิจไร้พีซี เอเซอร์ยังถ่อมตัวว่าอาจจะเพิ่มเป็น 70:30 ใน 5 ปี หรืออาจขยายเป็น 50:50 ภายใน 10 ปี ปัจจัยหลักคือสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพีซีในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่จะทรงตัว ขณะที่รายได้ในโซลูชันฝั่งคอมเมอร์เชียลอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 15-20 % ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้พีซีของเอเซอร์นั้นปีที่ผ่านมายังประเมินได้ยาก เนื่องจากมีปัญหาภาวะสินค้าขาดตลาดโดยเฉพาะในส่วนประกอบสำคัญ

ปี64ยังเป็นปีที่เอเซอร์พร้อมขยายช่องทางจำหน่ายออนไลน์อย่างจริงจัง ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายออนไลน์ของเอเซอร์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ทาง ทางแรกคือทางพาร์ทเนอร์หรือร้านเชนสโตร์ (chain store) ที่มีช่องทางออนไลน์หลากหลาย สัดส่วนการขายจากพันธมิตรกลุ่มนี้ครอบคลุม 21% ของทั้งหมด ทำให้เอเซอร์เป็นแบรนด์โน้ตบุ๊กที่จำหน่ายบนออนไลน์สูงเป็นอันดับ 1-2 ของไทย

ช่องทางที่ 2 คือการขายตรงผ่าน Acer Store ช่องทางนี้เอเซอร์เพิ่งเริ่มทำตลาดในช่วงมกราคมที่ผ่านมา เป้าหมายคือการเติบโตไปด้วยกันกับพันธมิตร โดยจะวางจำหน่ายสินค้าในราคาเท่ากับหน้าร้าน แต่อาจจะมีสินค้าที่ครบถ้วนกว่า รายการสินค้าเน้นที่กลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น หูฟัง ขณะนี้มีการเพิ่มสินค้าต่อเนื่องโดยไม่มีการตัดราคา เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาเท่ากับที่ดีลเลอร์จำหน่าย

‘ผู้บริโภคบางรายพอใจซื่อตรงกับแบรนด์ หรืออาจจะไม่สามารถหาสินค้าได้ตรงตามต้องการ Acer Store ยังตัดปัญหาการสต๊อกสินค้าของพาร์ทเนอร์ ทำให้ดีลเลอร์ไม่จำเป็นต้องเก็บสินค้าคงคลังไว้กับตัว ขณะที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้าสู่ Acer Store เพื่อให้ได้สินค้าที่ครบ เราจะไม่เน้นแข่งขัน แต่จะเน้นเป็นส่วนส่งเสริมทุกฝ่าย’

ในภาพรวม ต้องยอมรับว่าวันนี้เอเซอร์กำลังคิดการใหญ่ ด้วยการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของตัวเองโดยเน้นต่อยอดจากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ กลายเป็นนานาสินค้าที่สามารถขยายฐานจากกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเติบโต สิ่งที่ต้องรอลุ้นคือหากแผนนี้มีศักยภาพมากจนโดดเด่น ชาวโลกอาจได้เห็นยักษ์ใหญ่พีซีรายอื่นลุกขึ้นมาขายของอื่นคู่กับพีซีบ้างก็ได้.