‘AIS’ ผนึก ‘MSIG’ สานต่อเทรนด์ประกัน ‘ออนดีมานด์’ ใช้ AI คำนวณเบี้ย ‘จ่ายเท่าที่ขับ

ในปี 63 ที่ COVID-19 ระบาดหนัก ๆ จนประเทศไทยต้องล็อกดาวน์ หลายคนคงได้สัมผัสกับประสบการณ์การ Work from Home ไปหลายเดือน (หรืออาจจะนานกว่านั้น) จนเกิดเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค New Normal ไปแล้ว เมื่อไม่ต้องเดินทางไปทำงานเหมือนเดิมหรือเดินทางน้อยลง การใช้รถก็น้อยลงตามไปด้วย

ด้วยเทรนด์ดังกล่าวทำให้ ‘MSIG’ ผนึกกำลังกับ ‘AIS Insurance Service’ ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดทำแผนประกันภัยรถยนต์ที่มีเบี้ยสมเหตุสมผล จ่ายเมื่อขับ ไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย รวมทั้งวัดจากพฤติกรรมการขับขี่ตามคอนเซ็ปต์ “ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน”

จนเกิดเป็น “ประกันขับดี” ประกันภัยรถยนต์ที่ใช้ InsurTech เต็มรูปแบบซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ให้เข้าร่วมโครงการทดสอบที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox)

This image is not belong to us

ต่างจากประกันปกติอย่างไร

ประกันขับดี เป็นการประกันภัยรถยนต์ที่มีการคำนวณเบี้ยประกันภัยจากพฤติกรรมการขับขี่โดยใช้นวัตกรรมจาก IoT จ่ายเมื่อขับ หากไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย คิดค่าเบี้ยประกันตามพฤติกรรมการใช้งาน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data โดยมีอุปกรณ์ MSIG Car Informatics หรือ OBD II (On-Board Diagnostic) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กใช้ติดรถ สามารถเก็บค่าตัวแปรและค่าพฤติกรรมการขับรถในเชิงลึก และละเอียดกว่า Telematics ที่เก็บเฉพาะค่าระยะทางหรือชั่วโมง โดยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยผ่าน 5 ตัวแปร ได้แก่

  • ระยะทาง : คิดตามระยะทางที่ขับจริง ไม่ขับก็จะไม่คิดเบี้ยประกัน
  • ความเร็ว : คิดเป็นหลักกิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระยะเวลาการขับขี่ : ยิ่งอยู่บนท้องถนนนานก็ยิ่งเสี่ยง
  • ช่วงเวลาการขับขี่ : แต่ละช่วงเวลาในการขับขี่มีความเสี่ยงต่างกัน การคำนวณจึงขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา
  • พื้นที่การขับขี่ : คิดเบี้ยต่างกันตามจังหวัดที่ขับ ซึ่งแบ่งเป็นจังหวัดเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยตามสถิติการเกิดอุบัติเหตุ

“สถิติการขับขี่ในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ผู้ขับขี่รถที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลยมีอยู่ถึง 60% กลายเป็นผู้ขับขี่ที่มีประวัติดี แต่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเท่า ๆ กับคนอื่น ๆ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิด ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน” รัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว

This image is not belong to us

เหมาะกับใคร

ประกันขับดี เหมาะสำหรับผู้ขับรถที่ใช้รถน้อย หรือกลุ่มคนที่ใช้รถเป็นช่วงเวลา โดยกับผู้ขับขี่ที่ขับรถดี โดยประกันขับดี จะแบ่งค่าเบี้ยประกันออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นค่าเบี้ยประกันพื้นฐานที่ต้องชำระในขั้นตอนซื้อครั้งแรก โดยจะได้รับอุปกรณ์ (MSIG Car Informatics) จากบริษัทฯ เพื่อนำไปติดตั้งในรถยนต์

ส่วนที่สอง เมื่อติดตั้งอุปกรณ์กับตัวรถและทำการ Activate ในแอปพลิเคชัน “ประกันขับดี” หลังจากเริ่มใช้งาน จะมีการคำนวณเบี้ยประกันจากค่าชี้วัดต่าง ๆ ตามพฤติกรรมการขับขี่เป็นรายวัน โดยค่าเบี้ยจะถูกรวบรวมและตัดบัตรเครดิตที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้โดยอัตโนมัติเป็นรายเดือน โดยจะตัดบัญชีทุกวันที่ 6 ทุกเดือน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนให้เลือกสองแบบ ได้แก่ ประกันรถยนต์ชั้น 1 เริ่มต้นที่ 6,499 บาท และประกันรถยนต์ 2+ ราคา 3,299 บาท โดยใช้กับทุกทุนประกันภัย และรถทุกรุ่น เบื้องต้น AIS Insurance Service และ MSIG ตั้งเป้ายอดกรมธรรม์ดังกล่าวในปีนี้เอาไว้ที่ 20,000 กรมธรรม์ คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกัน 160 ล้านบาท

This image is not belong to us

ไม่ใช่เรื่องใหม่ เเต่เทรนด์กำลังมา

ย้อนไปปี 2562 เอไอเอส เองก็เคยได้เข้ามาในตลาดประกันภัยรถยนต์เเล้ว โดยได้นำโซลูชัน NB-IoT Motor Tracker เข้ามาเสริมขีดความสามารถให้กับธุรกิจประกันภัยรถยนต์ โดยร่วมกับบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) มาเสริมบริการประกันรถเปิด-ปิด ช่วยให้ลูกค้าจ่ายค่าเบี้ยประกันตามการใช้งานจริง (Pay As You Drive) ทำให้ลดค่าใช้จ่ายค่าเบี้ยประกันได้ถึง 40% นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ทำ ประกันรถเปิด-ปิด อย่าง TQM ก็เป็นหนึ่งในนั้น

จะเห็นว่าที่ประกันเปิด-ปิดหรือประกันที่จ่ายตามการใช้งานจริงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นวงกว้างนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเหมือนตอนที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ราคาถูกลง จึงทำให้บริษัทประกันเริ่มนำอินชัวร์เทคมาใช้งานเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

This image is not belong to us

อย่างในต่างประเทศนั้นล้ำหน้าไปมาก โดยสามารถเลือกคุ้มครองทรัพย์สินเป็นรายชิ้น และเลือกเปิด-ปิดความคุ้มครองเองได้ผ่านแอปฯ บนมือถือ หรือให้ลูกค้าเลือกจ่ายได้เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็มี ดังนั้นในตลาดอินชัวรันซ์บ้านเราน่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค New Normal มากกว่านี้แน่นอน

และไม่ใช่เเค่ตลาดประกันที่น่าจับตา เเต่เป็น เอไอเอส ที่กำลังรุกคืบในธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากเทเลคอมของตัวเอง โดยที่ผ่านมามีธุรกิจ เกม-อีสปอร์ต เเพลตฟอร์มวิดีโอ รวมถึง เพย์เมนต์ ดังนั้น คงต้องรอดูว่าเอไอเอสจะเหยียบขาไปในธุรกิจไหนอีกบ้าง