Mecca of eSport: ชำแหละวงการ ‘เกมเมอร์เกาหลี’ อาชีพในฝันเด็กยุคใหม่ที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด! – Dek-D.COM


อันยองน้องๆ Dek-D ทุกคนค่า~ ทุกคนทราบมั้ยคะว่าประเทศเกาหลีใต้นั้นนับเป็น ‘เมืองหลวงแห่งกีฬาอีสปอร์ต (eSport)’ ของโลกเลยก็ว่าได้ และผู้เล่นชาวเกาหลีใต้หลายคนก็เป็นมือฉมังของ Dota, League of Legends, และ Blizzard’s StarCraft ทั้งนั้น บางคนฝีมือปังจนมีรายได้เฉลี่ยรวมแล้วเท่าๆ กับไอดอล K-POP ระดับท็อปเลยค่ะ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กีฬาอีสปอร์ตได้กลายเป็นอาชีพในฝันระดับต้นๆ ของวัยรุ่นเกาหลี 

Photo Credit: Robert Paul for Blizzard Entertainment
Photo Credit: Robert Paul for Blizzard Entertainment

แต่อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ วันนี้พีชีตาร์จะพามาเปิดประสบการณ์อีกด้านของวงการกีฬาอีสปอร์ตในประเทศเกาหลีใต้กันค่ะ จะดุเดือด เผ็ดมันส์ เคล้าน้ำตากันขนาดไหน ตามไปดูกันเลย!

“ผมได้นอนแค่วันละ 3-4 ชั่วโมง แต่ผมอยากเป็นดาวเด่นของวงการ ผมฝันถึงสนามกีฬาอีสปอร์ตที่อัดแน่นไปด้วยแฟนๆ ที่คอยส่งเสียงเชียร์ให้กับผม” —คิมมินซู, เด็กหนุ่มวัย 17 ที่ต้องสวมเหล็กดัดข้อมือเพื่อลดความเจ็บปวดจากการฝึกซ้อมเล่นเกมที่มากเกินไป 

….

จุดเริ่มต้นของกีฬาอีสปอร์ตที่เกาหลีใต้ 

League of Legends Champions Korea (LCK) 
League of Legends Champions Korea (LCK) 

Photo Credit: Esports Observer

จุดเริ่มต้นของเกมออนไลน์ที่เกาหลีใต้เริ่มขึ้นเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ซึ่งมาก่อนประเทศอื่นๆ บนโลก เกาหลีใต้เริ่มเปิดตัวอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ทำให้  ‘PC bangs’ หรือกิจการร้านกาแฟเกมที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

เกมออนไลน์ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปกับวิถีชีวิตของประชาชน เริ่มจากการเล่นเองในห้องใต้ดินมืดๆ เพื่อเป็นแหล่งเพาะวัฒนธรรมใหม่ (Pop Culture) จนมีการจัดการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปี 2000 ช่องเคเบิลของประเทศเกาหลีใต้เป็นช่องแรกในโลกที่ออกอากาศการแข่งขันเกมออนไลน์! 

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กีฬาอีสปอร์ตได้รับความสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ‘การมีอยู่ของสื่อ’ เพราะที่ไหนมีการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต ที่นั่นจะมีการถ่ายทอดสด การรายงาน และจัดกิจกรรมโดยเฉพาะ และหนึ่งในช่องที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ ‘OnGameNet (OGN)’ นั่นเอง 

ความย้อนแย้งของวงการ

Photo Credit: Inven Global
Photo Credit: Inven Global

จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2020 ในปัจจุบันนักกีฬาอีสปอร์ตกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับที่ 5 ในหมู่นักเรียนชาวเกาหลีใต้ รองจากนักกีฬา แพทย์ ครู และผู้สร้างเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content Creator) เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม ก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองมากมายที่ต้องพาลูกหลานไปเข้ารับคำปรึกษาหรือค่ายบำบัด เพื่อฟื้นฟูจากอาการติดเกม ที่ส่งผลทั้งทางด้านจิตใจและผลการเรียนที่โรงเรียน เด็กนักเรียนหลายคนเลือกที่จะหยุดเรียนไปกลางคัน เพื่อที่จะได้ทุ่มเทให้กับการฝึกเล่นเกม แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำสำเร็จและประสบความสำเร็จในวงการอีสปอร์ต 

ต่างกับในสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยส่วนมากจะมีโควตาพิเศษในการเข้าเรียนต่อให้กับนักกีฬาอีสปอร์ต ดังนั้น หากนักล่าฝันในวงเกมออนไลน์ที่เกาหลีใต้มีเกรดที่ไม่สู้ดีนัก หนทางในการหางานของพวกเขาก็จะถูกจำกัดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่าหลายพันล้านดอลลาร์ไม่ถูกสนับสนุนโดยคนจำนวนมากในประเทศ… 

ฝึกโหดเหมือนเทรนนี่ไอดอล K-POP

Photo Credit: Inven Global
Photo Credit: Inven Global

ด้วยความที่เกาหลีใต้ยังคงถือว่าเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในวงการอีสปอร์ต จึงทำให้บริษัทต่างชาติมากมายเข้ามาลงทุนเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ และให้โอกาสคนหนุ่มสาวได้นำการเล่นเกมที่เป็นส่วนหนึ่งในชีิวิตประจำวัน ให้ต่อยอดเป็นการประกอบอาชีพเพื่อสร้างชื่อในอนาคตได้ หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท ‘Gen.G’ จากสหรัฐอเมริกา ที่มาเปิด ‘Gen.G Elite eSports Academy’ สถาบันสำหรับฝึกหัดนักกีฬาอีสปอร์ตโดยเฉพาะ  ที่กรุงโซลของเกาหลีใต้

“เกาหลีใต้คือศูนย์รวมของคนที่มีพรสวรรค์มากที่สุด และที่นี่ยังคงเป็นศูนย์กลางแห่งกีฬาอีสปอร์ต —แพค โจเซฟ, ผู้อำนวยการหลักสูตรของสถาบัน Gen.G 

ที่สถาบันแห่งนี้ นักล่าฝันสายเกมออนไลน์ไม่ได้ถูกบ่มเพาะเพื่อเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพเท่านั้น แต่ทางสถาบันยังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งในฐานะสตรีมเมอร์ นักการตลาด และนักวิเคราะห์ข้อมูลเกมออนไลน์อีกด้วย พร้อมทำความร่วมมือกับบริษัทด้านการศึกษา ‘Elite Open School’ เพื่อวางโปรแกรมหลักสูตรภาษาอังกฤษให้เด็กฝึกในสังกัดได้รับประกาศนียบัตรมัธยมปลายของอเมริกา และสามารถสมัครทุนการศึกษาด้านอีสปอร์ตกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาได้ ความปังคือ ห้องเรียนจะถูกแบ่งและตั้งชื่อตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ เช่น Columbia, MIT และ Duke ภายในห้องนั้นพวกเขาจะได้เรียนภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์อเมริกัน และวิชาบังคับอื่นๆ  ควบคู่กันด้วย

Photo Credit: New York Times
Photo Credit: New York Times

และพอถึงช่วงบ่าย การฝึกเพื่อเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพก็เริ่มขึ้น… 

‘มินซู’ หนึ่งในเด็กฝึกของ Gen. G ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า ใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการเดินทางโดยรถบัสและรถไฟใต้ดินเพื่อไปยังสถาบัน เรียนในช่วงเช้า และใช้เวลาฝึกตั้งแต่บ่าย จนได้กลับบ้านเวลา 23.30 น. พร้อมกลับมาฝึกต่อจนถึงตี 3 ของทุกวัน จนในปีนี้ เขาก็แสดงฝีมือได้อย่างดีจนถูกเลือกเป็น “เด็กฝึกในทีมมืออาชีพ”

นอกจากเด็กฝึกชาวเกาหลีใต้แล้ว นักเรียนจากต่างประเทศต่างก็เลือกมาฝึกเพื่อให้กลายเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตที่กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยให้เหตุผลว่าที่นี่มีผู้เล่นที่เก่งที่สุด อย่างผู้ชนะรางวัลสูงสุดใน League of Legends’, ‘Overwatch’ หรือStarCraft II ส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นชาวเกาหลี และที่นี่ยังฝึกหนักถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าผู้เล่นที่เขารู้จักในประเทศของตัวเองถึง 60% ถึง 70%

Photo Credit: New York Times
Photo Credit: New York Times

“เวลาที่เราเห็นคนอื่นซ้อมอย่างหนัก มันผลักดันให้เราฝึกฝนหนักมากขึ้น” —แอนโทนี่ บาซีร์, อดีตเด็กฝึกของ Gen G. วัย 22 จากประเทศฝรั่งเศส  

อ่ายรายละเอียดที่เว็บไซต์

 ‘Mecca of eSport’ 

นอกจากกีฬาเทควันโดแล้ว หลายคนยังมองว่า ‘StarCraft’ ก็เป็น “กีฬาประจำชาติของเกาหลี” เช่นกัน อีกทั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตของเกาหลีก็ยังเป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ  ดังนั้นจึงเป็นปกติที่นักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพในเกาหลีต้องฝึกหนักถึงวันละ 12 ชั่วโมง เพราะทุกคนล้วนหวังว่าจะได้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้น ผลที่ตามมาคือได้ผลตอบแทนมากขึ้น  อย่างผู้เล่นมืออาชีพจำนวนมากมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า $100,000/ ปี (หรือประมาณ 3,216,400 บาทไทย) จากสปอนเซอร์ชื่อดังมากมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, ธนาคาร Shinhan หรือแม้แต่กองทัพอากาศ 

แต่ในความสำเร็จก็ต้องแลกมาซึ่ง ‘วัยเยาว์’ 

‘อียองโฮ’ หรือที่เป็นที่รู้จักในนาม ‘Flash’ ผู้เล่น StarCraft ชาวเกาหลีผู้เป็นมือหนึ่งของโลกให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Shin-Dong-A ว่า พวกเขาต้องยอมทิ้งหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เคยเป็นของพวกเขา ไม่ต้องพูดถึงเรื่องจะหาคนรู้ใจสักคน เพื่อนก็ยังแทบไม่ได้เจอ จะเจอในบางโอกาสช่วงวันหยุดยาวเท่านั้น เพราะทุกวันคือการซ้อม!

Photo Credit: New York Times
Photo Credit: New York Times

….

เพราะความฝันมีราคาที่ต้องจ่าย เหล่าเกมเมอร์นักล่าฝันชาวเกาหลีจึงทุ่มกันสุดตัวเพื่อไล่ตามความฝันแล้ว ถึงแม้จะต้องเสียอะไรไปมากมาย แต่ทุกคนก็ยังไม่ยอมแพ้และไม่คิดเสียใจกับการตัดสินของตัวเอง : ) 

Sources:  https://www.nytimes.com/2021/06/19/world/asia/south-korea-esports.html https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2010/07/koreas-national-sport/59136/ https://www.ispo.com/en/markets/seoul-how-city-addicted-esports