ทุกวันนี้ ‘อีสปอร์ต’ คือกีฬามาแรง มีปัจจัยหนุนจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะ ‘สัญญาณอินเทอร์เน็ต’ ที่หากสัญญาณเกิดปัญหา ขาดความเสถียรแม้เพียงนิดเดียว นอกจากทำให้หงุดหงิดข้องใจ ยังอาจส่งผลต่อการแพ้ชนะ แถมอาจลุกลามส่งผลต่ออุตสาหกรรมอีสปอร์ตโดยรวมอีกด้วย
เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการสื่อสารและอุตสาหกรรม ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงย้ำหนักแน่นว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ กสทช. คือ การดูแลให้ทุกคนเข้าถึงบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างไร้รอยต่อ อย่างในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต ที่หน่วยงานภาครัฐพร้อมหนุนเต็มที่ เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศ ทั้งยังเปิดประตูสู่โอกาสอื่นๆ ได้อีกด้วย
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เปิดประตูสู่โอกาส
ดร.ประถมพงศ์ เผยว่า หนึ่งในหน้าที่ของ กสทช. คือการดูแลให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เพียงแค่มีความเร็วสูง แต่ต้องมีความเสถียร และมีความดีเลย์ต่ำ ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G ไม่เพียงช่วยให้ผู้คนใช้งานอินเทอร์เน็ตได้สะดวกสบาย แต่ปัจจัยเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่อย่างไม่เคยเจอมาก่อน
“ช่วงยุค 2G จะมีริงโทน เสียงรอสาย แอนิเมชันเล็กๆ น้อยๆ บนมือถือ ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้พอสมควร แต่ด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ตยุคนั้นทำให้สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้จำกัด แต่พอมาถึงยุค 5G ผู้ผลิตสื่อสามารถสร้างรายได้จากการทำลูกเล่นต่างๆ ได้เยอะขึ้น
“ปัจจุบัน ค่ายมือถือเริ่มให้ใช้แพ็คเกจ AR-VR เพื่อเข้าถึงโลกเสมือนได้ฟรีแล้ว และต่อไปถ้าซื้อแพ็คเกจอาจจะแถมแว่นมาด้วย เพราะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจาก กสทช. ชี้ว่า ค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ตามบ้านเรือนมีราคาแพงพอสมควรเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ หากมีกลไกจากภาครัฐช่วยอุดหนุนครัวเรือนที่มีความต้องการใช้งาน แต่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนไม่น้อย
เล็งใช้ศูนย์อินเทอร์เน็ต กสทช. พัฒนานักกีฬาอีสปอร์ต
หากจะหาแวดวงใดที่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีความเสถียร และสัญญาณดีเลย์น้อยที่สุด หนึ่งในนั้นคือแวดวงอีสปอร์ต เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการแข่งขันไม่แพ้ความสามารถของนักกีฬา
ดร.ประถมพงศ์ เชื่อว่า กสทช. สามารถสนับสนุนแวดวงอีสปอร์ตได้ด้วยการใช้ศูนย์อินเทอร์เน็ตของ กสทช. ทั่วประเทศ เป็นแหล่งพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตและอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักพากย์ เกมแคสเตอร์ เป็นต้น
“ตอนนี้ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพียงพอต่อการใช้งานที่แรงประมาณหนึ่ง สามารถใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย ต่อไปอาจใช้เป็นพื้นที่แข่งขันอีสปอร์ตระดับจังหวัด เพื่อเฟ้นหาช้างเผือกที่แฝงตัวอยู่ในต่างจังหวัดมาพัฒนาและต่อยอดต่อไปได้เช่นกัน”
ดร.ประถมพงศ์ เสริมด้วยว่า เป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สนับสนุนและส่งเสริมแวดวงอีสปอร์ต แต่จะดียิ่งกว่านั้นหากสนับสนุนวงการเทคโนโลยีที่โอบล้อมวงการเกมไว้ด้วย
“ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่ามีบริษัทในไทยรับงานให้ฮอลลีวูด มีตัวการ์ตูนหลายตัวพัฒนาในประเทศไทย แต่อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ ถ้าเราสามารถส่งเสริมแอนิเมเตอร์ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเกมของไทยเอง แล้วส่งเสริมให้เล่นอย่างแพร่หลายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศได้ จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่เสียดุลให้ต่างชาติทั้งหมด” เศรษฐกรเชี่ยวชาญ กสทช. อธิบาย
ไม่เล่นเกม ก็เรียนรู้เรื่องเกมได้
ถึงจะเข้าใจ ผลักดัน และสนับสนุนแวดวงเกม แต่ ดร.ประถมพงศ์ ยอมรับว่า เขาไม่ใช่เกมเมอร์ตัวยง และช่วงที่เล่นเกมบ่อยสุด ต้องย้อนไปถึงสมัยเป็นเด็กตัวน้อยๆ เลยทีเดียว
“ที่บ้านผมมีพี่น้อง 4 คน คุณตาคุณยายจะซื้อเครื่องเกมคอนโซลไว้ให้เล่นเฉพาะช่วงปิดเทอมเท่านั้น พอถึงเวลาเราจะมานั่งรวมกัน จัดคิวกันว่าแต่ละคนจะเล่นคนละกี่นาที เกมที่เล่นก็มีหลากหลาย ทั้งเกมผู้ชายและเกมของผู้หญิง”
แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้เล่นเกมเท่าไหร่ แต่ ดร.ประถมพงศ์ เผยว่า ยังติดตามความเคลื่อนไหวเสมอผ่านการติดตามแคสเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์บางราย แต่คนที่ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับเกมมากที่สุดกลับเป็นภรรยาของเขาเอง ที่ทำให้เห็นว่า การเล่นเกมมีประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ด้วย
“ภรรยาผมชอบเล่นเกม Diner Dash บนสมาร์ทโฟน เกมนี้ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นผู้จัดการร้านอาหาร ต้องบริหารจัดการลูกค้าที่มาร้าน ถ้าเสิร์ฟอาหารช้าไป ลูกค้าจะหงุดหงิด ดังนั้นต้องรีบเสิร์ฟให้เร็ว แล้วความพึงพอใจของลูกค้าจะสะท้อนกลับมาเป็นแต้มให้เราซื้อไอเทมอื่นๆ มาใช้พัฒนาปรับปรุงร้าน เป็นตัวอย่างว่าเขาเล่นเกมแล้วได้พัฒนาหลายทักษะด้านบริหารจัดการ สามารถเอามาใช้ในชีวิตจริง ใช้ในการทำงานได้”
สื่อกลาง เชื่อมคนรุ่นใหม่และครอบครัว
การที่หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนแวดวงอีสปอร์ตเป็นเรื่องดี แต่ ดร.ประถมพงศ์ พบว่า ปัญหาสำคัญยังอยู่ที่ทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มองว่าการติดเกมเป็นเรื่องลบ เป็นทัศนคติที่ควรรณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงเสียที
“เราไม่ควรมองว่าเกมเป็นสิ่งมอมเมาประชาชน เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่า เกมช่วยพัฒนาทักษะได้หลายอย่าง แต่ต้องส่งเสริมให้เด็กรู้จักการบริหารเวลาในการเล่นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การฝึกฝนที่เหมาะสม และการใช้งานที่เป็นประโยชน์”
ในวันที่ 21-23 มกราคมที่จะถึงนี้ มหกรรมการแข่งขันอีสปอร์ตในงาน META THAILAND 2022: ESPORTS & DIGITAL LIFE จะอุบัติขึ้น ไฮไลท์ของงานนอกจากการแข่งเกมยอดฮิตอย่าง RoV และ Free Fire แต่ยังได้เหล่ากูรูเทคโนโลยีมาให้ความรู้ และทัศนะในหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญต่ออนาคต
ดร.ประถมพงศ์ มั่นใจว่างานดังกล่าวไม่เพียงน่าสนใจในหมู่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ แต่ยังรวมถึงครอบครัวของเด็กเหล่านั้นด้วยที่จะได้ร่วมเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจ และเปลี่ยนมุมมองไปพร้อมกัน
“ผมมองว่างาน META THAILAND 2022 น่าจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเปิดใจยอมรับ และทำความเข้าใจกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกม หรือเรื่องของเทคโนโลยี อย่างน้อยงานนี้น่าจะทำให้คนในครอบครัวรู้ว่ามีกิจกรรมเหล่านี้อยู่ ได้พูดคุยกัน และหากมองเห็นความน่าสนใจก็จะไม่ปิดกั้นกิจกรรมเหล่านี้จากคนรุ่นใหม่ครับ” ตัวแทน กสทช. มั่นใจ
META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มกราคมนี้ อัดแน่นความสนุกสุดมันส์จากเกมเมอร์ทั่วไทย และเต็มอิ่มกับสาระความรู้สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/metathailand2022/